Release Date
19/12/2024
แนว
ผจญภัย/แอนิเมชัน/ดราม่า
ความยาว
1.58 ช.ม. (118 นาที)
เรตผู้ชม
PG
ผู้กำกับ
แบร์รี เจนกินส์ (Barry Jenkins)
Our score
7.5Mufasa: The Lion King | มูฟาซา เดอะ ไลอ้อน คิง
จุดเด่น
- งานสร้าง CGI มุมกล้อง อลังการงานสร้าง สมจริงขึ้นกว่าภาคแรก
- งานพากย์เสียงยังคงทำได้อย่างทรงพลัง ดูได้ทั้งฉบับ Soundtrack และพากย์ไทย
- เส้นเรื่องการผจญภัยที่ยังคงแก่นของ 'The Lion King' ผสานเส้นเรื่องใหม่ที่ดูสนุกได้ทั้งครอบครัว
จุดสังเกต
- จังหวะการเล่าเรื่องบางจุดเร่งรีบ ทำให้ขาดพลังกระทบใจในแบบที่ 'The Lion King' เป็น
- เพลงมิวสิคัลไพเราะทุกเพลง แต่ไม่ได้มีเพลงไหนที่น่าจดจำเป็นพิเศษ
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.2
-
คุณภาพโปรดักชัน
7.9
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
7.3
-
ความบันเทิง
7.5
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
7.8
หลังจากสะดุดครั้งใหญ่จากผลงานก่อนหน้า ‘The Little Mermaid’ (2023) บ้านหนูยักษ์ Disney ก็ยังคงยึดแนวทางการหยิบทรัพย์สินของตัวเองมาทำเป็นไลฟ์แอ็กชันกันต่อไป คราวนี้พิเศษหน่อยตรงที่ไม่ใช่การรีเมกตรง ๆ แต่เป็นการสานต่อเรื่องราวของสิงโตเจ้าป่า ‘The Lion King’ ฉบับไลฟ์แอ็กชันของปี 2019 ที่ทำรายได้มหาศาล 1,657 ล้านเหรียญ ที่มาในรูปแบบหนัง Prequel เล่าย้อนตำนานเจ้าป่ารุ่นแรกแห่งผาทรนงที่ไม่เคยเล่าในเวอร์ชันใด ๆ ก่อนที่มูฟาซาจะพบจุดจบในภาคหลักใน ‘Mufasa: The Lion King’ โดยได้ผู้กำกับระดับรางวัลออสการ์ แบร์รี เจนกินส์ (Barry Jenkins) จาก ‘Moonlight’ (2016) มากุมบังเหียน และยังได้ เจฟฟ์ นาธานสัน (Jeff Nathanson) มือเขียนบทจากเวอร์ชันปี 2019 มาเขียนบทให้เช่นเคย
‘Mufasa: The Lion King’ เริ่มเรื่องราวด้วย ราฟิกิ (พากย์เสียงโดย จอห์น คานี, John Kani) ที่กำลังส่งต่อเรื่องราวตำนานของปู่มูฟาซา (พากย์เสียงโดย แอรอน ปิแอร์, Aaron Pierre) ให้แก่ เคียรา (พากย์เสียงโดย Blue Ivy Carter,บลู ไอวี คาร์เตอร์) ลูกสิงโตตัวน้อยของซิมบา (พากย์เสียงโดย โดนัลด์ โกลเวอร์, Donald Glover) และนาลา (พากย์เสียงโดย บียอนเซ โนวส์-คาร์เตอร์, Beyoncé Knowles-Carter) รวมทั้ง ทีโมน (พากย์เสียงโดย บิลลี ไอช์เนอร์, Billy Eichner) และพุมบา (พากย์เสียงโดย เซธ โรแกน, Seth Rogen) ราฟิกิได้เล่าขานตำนานของมูฟาซาในวัยเยาว์ ตั้งแต่การเป็นสิงโตกำพร้าหลงทาง ที่ได้พบกับทากา (พากย์เสียงโดย เคลวิน แฮร์ริสัน จูเนียร์, Kelvin Harrison Jr.) ลูกสิงโตผู้สืบทอดเชื้อสายแห่งเจ้าป่า ทั้งคู่ต้องพบกับการผจญภัย และบททดสอบที่นำพาสิงโตทั้ง 2 ตัวพบกับปลายทางที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว
ในแง่หนึ่ง การที่ ‘Mufasa’ อยู่ในฐานะหนังสปินออฟ มันก็มีความน่าสนใจและได้เปรียบตรงที่ มันคือเรื่องราวของ ‘The Lion King’ ที่ไม่เคยถูกเล่ามาก่อนเลย เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงสามารถแต่งเติมได้อย่างไม่มีกรอบของความเป็นหนังรีเมกมาจำกัด คืออย่างน้อยความคาดหวังในแง่ภาพรวมย่อมน้อยกว่า แต่ในอีกแง่มันก็มีความเสี่ยงอยู่ เพราะมันคือการเชื่อมโยงเรื่องราวใหม่เข้ากับสิ่งที่คนดูรู้อยู่แล้ว โจทย์ใหญ่ที่หนังต้องตีให้แตกก็คือการให้คำตอบว่า อะไรที่ทำให้สการ์แค้นถึงขนาดสังหารพี่ชายตัวเองได้ลงคอ รวมทั้งการแบกรับคำวิจารณ์จากภาคแรกที่สมจริงเกินไปจนดูเหมือนสารคดีสัตว์ป่าแอฟริกาประกอบเพลงมิวสิคัล มากกว่าจะขายบทดราม่าโศกรันทด และมิวสิคัลวิชวลชวนตะลึง ๆ เหมือนฉบับแอนิเมชัน
ถ้าเอาในแง่ของงานสร้าง ไม่ว่าจะ CGI มุมกล้อง การออกแบบคาแรกเตอร์ ก็ต้องชมครับว่าตัวหนังยังทำออกมาได้ดีไม่แพ้ภาคแรกเลย ในหลาย ๆ ส่วนดูจะทำออกมาได้ยิ่งใหญ่กว่าภาคแรกด้วย ตั้งแต่บรรยากาศฉากหลังธรรมชาติในหลากหลายสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ มาครบทั้งแห้งแล้ง ฝนตก หิมะ มุมกล้องและงานภาพที่หวือหวาขึ้น อีกจุดที่หลายคนติงในภาคที่แล้วก็คือ การออกแบบคาแรกเตอร์สัตว์ต่าง ๆ ที่สมจริงสุด ๆ แต่พอมันแสดงอารมณ์ไม่ได้ มันก็เลยเหมือนจริงเกินไปจนขาดอารมณ์ร่วม แต่ภาคนี้ดูจะเห็นการพยายามปรับให้สัตว์ดูมีสีหน้าที่แตกต่างกันตามอารมณ์ รวมทั้งการใช้มุมกล้องระยะใกล้เพื่อสื่อสารอารมณ์ให้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่ได้ดูแป้นแล้นเป็นการ์ตูน สังเกตได้จากตัวละครมูฟาซาและทากาวัยเด็ก เคียรา และราฟิกิ
สิ่งที่ ‘Mufasa’ ได้เปรียบ ‘The Lion King’ นอกจากงานสร้างที่ดีขึ้นตามยุคสมัยแล้ว เรื่องราวต่าง ๆ ก็ขยายใหญ่ขึ้นตามไปด้วยครับ ไม่ได้กระจุกแค่แถว ๆ ผาทรนงอีกต่อไป แต่ว่ากันยาว ๆ ด้วยเส้นเรื่องการผจญภัยของมูฟาซาที่ต้องเผชิญกับการพลัดพราก มิตรภาพ ศัตรู ความรัก และวัฏจักรของชีวิต ผ่านเรื่องเล่าที่ราฟิกิเล่าให้สิงโตวัยหลานอย่างเคียราฟัง ซึ่งว่ากันตามตรง ตัวบทมันขับเคลื่อนด้วยสูตรสำเร็จแบบหนัง Prequel แท้ ๆ ไม่มีบิดพลิ้วเลยครับ ตั้งแต่การย้อนเรื่องราวของมูฟาซา ทั้งการใส่ Easter Egg ลูกรายละเอียดเล็ก ๆ รวมทั้งวางเรื่องราวให้เชื่อมโยงกับ ‘The Lion King’ ในฐานะหนังต้นฉบับให้ได้แนบเนียนที่สุด
ตัวหนังมีเนื้อเรื่องที่ดีนะครับ คือถึงจะเป็นสูตรสำเร็จ แต่ก็เป็นสูตรสำเร็จหนังผจญภัยที่ผสานเรื่องความสัมพันธ์ในแบบที่เจนกินส์ถนัด มีการสำรวจในเรื่องราว ความสัมพันธ์ พื้นที่ รวมทั้งจุดกำเนิดของสิ่งต่าง ๆ ใน ‘The Lion King’ ความเจ๋งของ ‘Mufasa’ ที่ผู้เขียนชอบก็คือ การสอดแทรกเส้นเรื่องชะตาชีวิตของมูฟาซากับทากา พี่น้องต่างสายเลือด เคล้าคลอไปกับเส้นเรื่องการผจญภัยตามหาดินแดนในตำนานได้ออกมาดูสนุกน่าติดตามทีเดียว
ตัวหนังหาเหตุผลและน้ำหนักในการอธิบายว่า ทำไมลูกสิงโตพลัดหลงถึงได้กลายเป็นราชา ส่วนลูกสิงโตอีกตัวที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขราชาแท้ ๆ กลับพ่ายแพ้การกระทำและความคิดของตัวเอง ผลักให้ชะตาชีวิตของสิงโตทั้ง 2 ตัวกลายเป็นเส้นขนาน และเส้นขนานนั้นก็นำไปสู่ความแค้น และบทสรุปอย่างที่รู้กันได้อย่างน่าสนใจ (จะว่าไป ชะตาชีวิตของสการ์เองก็บัดซบและน่าสงสารพอ ๆ กับมูฟาซาเลยนะ) ส่วนตัวละครสมทบทั้งราฟิกิวัยหนุ่ม, ซาราบีวัยสาว, และซาซู ก็มีหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มสัตว์หลงฝูง ในขณะที่จอมขโมยซีนอย่างทีโมนและพุมบาก็รับหน้าที่หยอดมุก Break the 4th Wall คั่นเวลาแทน
แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องราวของ ‘รุ่นพ่อ’ ดูจะเสียเปรียบเรื่องราวของ ‘รุ่นลูก’ อยู่ก็คือ การมีสิ่งที่ต้องเล่าอยู่เป็นจำนวนมาก ภายในเวลาเกือบ ๆ ชั่วโมง ตัวหนังมีสิ่งที่ปูและต้องตามเก็บอยู่มากมายพอสมควร บรรดาตัวละครก็เยอะกว่าภาคแรกพอสมควร เส้นเรื่องของมูฟาซาก็ต้องเล่า เส้นเรื่องของซิมบากับนาลา และเรื่องเล่าตำนานของราฟิกิก็ขาดไม่ได้อีก Execute การเล่าเรื่องในบางจุดเลยเกิดอาการรีบเล่ารีบจบ ทำให้ตัวหนังขาดจังหวะและพลังที่ดีในการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะในฉากไคลแมกซ์ซีนสำคัญ ๆ ตัวหนังโดยรวมเลยเดินเรื่องไปด้วยจังหวะรีบเล่าไปเรื่อย ๆ แต่กลับขาดฉากที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออารมณ์ความรู้สึกระหว่างดูอย่างที่ ‘The Lion King’ ฉบับแอนิเมชันทำได้และทำถึงกว่า
อีกจุดที่น่าเสียดายนิดหน่อยก็คืองานมิวสิคัล ที่จริง ๆ ภาคนี้ออกแบบวิชวลทั้งงานภาพ มุมกล้องช็อตมิวสิคัลได้อลังการงานสร้าง และตื่นตาตื่นใจกว่าภาคที่แล้วอีกนะครับ ส่วนเพลงมิวสิคัลกลิ่นอายแอฟริกันที่ประพันธ์ขึ้นใหม่โดย ลิน-มานูเอล มิแรนดา (Lin-Manuel Miranda) เจ้าของงานประพันธ์เพลงหนัง ‘Moana’ (2016) และ ‘Encanto’ (2021) ก็นับว่าทำออกมาได้ไพเราะเหมาะสมกับเหตุการณ์ เพียงแค่ในภาคนี้ยังไม่มีเพลงไหนที่ติดหูและสร้างความจดจำในระดับที่คนดูจะ Sing Along หรือร้องตามฮัมตามได้แบบภาคแรก จะมีที่หูผึ่งหน่อยก็ “Hakuna Mufasa” ที่ดัดแปลงมาจาก “Hakuna Matata” แต่ก็มาแค่เป็นน้ำจิ้มเฉย ๆ (แถมยังไม่รวมในอัลบั้ม Soundtrack ด้วยนะ เฮ้อ…)
แต่อย่างน้อยสิ่งที่หนังทำได้ดีก็คืองานการพากย์เสียง ที่โดยรวมนับว่าทำได้ดีพอสมควรนะครับ เป็นสิ่งที่ช่วยส่งอารมณ์ให้กับคาแรกเตอร์ได้อย่างดี แอรอน ปิแอร์ สานต่อการพากย์เสียงมูฟาซาวัยหนุ่ม ให้อารมณ์ที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับเสียงมูฟาซาวัยผู้ใหญ่ของ เจมส์ เอิร์ล โจนส์ (James Earl Jones) ผู้ล่วงลับ ในขณะที่ตัวละครอื่น ๆ ก็ทำได้น่าสนใจ
อีกคนที่ไม่ชมไม่ได้ก็คือ ไครอส ที่พากย์เสียงโดยลุงแมดส์ มิกเกลเซน (Mads Mikkelsen) ที่เรียกได้ว่าร้ายยันน้ำเสียงจริง ๆ นะ ส่วนในฉบับพากย์ไทย ได้นักแสดงชื่อดังมาพากย์และร้องเพลงประกอบเวอร์ชันไทยทั้ง ณเดชน์ คูกิมิยะ พากย์เสียงเป็นมูฟาซา, ต้าห์อู๋ พิทยา พากย์เสียงเป็นทากา/สการ์ และแก้ม วิชญาณี พากย์เสียงเป็นนาลา ซึ่งก็ต้องชมว่าทั้ง 3 คนพากย์และร้องออกมาได้กลมกลืนและเป็นธรรมชาติมากทีเดียว เลือกดูเวอร์ชัน Soundtrack หรือพากย์ไทยได้ตามอัธยาศัย
หากหนังทั้ง 2 ภาคคือสิงโตเจ้าป่า 2 ตัวที่ต้องมาปะทะวัดพลังกัน ยอมรับว่ารุ่นพ่ออย่าง ‘Mufasa’ ถือว่ายังมีความน่าสนใจน่าเชียร์หลายอย่าง นับว่าเป็นหนัง Prequel ที่ดีในแบบที่ควรจะเป็นแทบจะทุกประการ ในแง่การเล่าเรื่องอาจเสียเปรียบบ้าง แต่ยังมีดีทั้งงานภาพและเสียงที่อลังการ เพลงมิวสิคัลที่ไพเราะ งานพากย์ที่ยอดเยี่ยม มีเส้นเรื่องการผจญภัยที่สนุกสนานครบรสตามสไตล์หนัง Disney แต่ถ้านับในแง่ของความทรงพลัง และสร้างความประทับใจหลังดูจบ ฝั่งของรุ่นลูก (‘The Lion King’) ดูจะเป็นต่อมากกว่า แต่หากมองในแง่ของการเป็นหนังที่ดูเพื่อความบันเทิง เป็นหนังที่เหมาะสำหรับครอบครัว หรือเป็นแฟนพันธ์ุแท้ ‘The Lion King’ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะพลาดหนังเรื่องนี้ครับ