Release Date
25/12/2024
แนว
แอ็กชัน/ผจญภัย/แอนิเมชัน
ความยาว
1.50 ช.ม. (110 นาที)
เรตผู้ชม
PG
ผู้กำกับ
เจฟฟ์ ฟาวเลอร์ (Jeff Fowler)
Our score
8.5Sonic the Hedgehog 3 | โซนิค เดอะ เฮดจ์ฮ็อก 3
จุดเด่น
- ขยายสเกลตัวหนังใหญ่ขึ้นในทุกด้าน ทั้งงานสร้าง CGI พล็อต
- ฉากแอ็กชันมันมากเหมือนดูหนังซูเปอร์ฮีโร หรือดูฉากแอ็กชันในการ์ตูนแนวโชเน็น
- เสียงพากย์ของคีอานู รีฟส์ ช่วยให้ตัวละครชาโดว์ดูเท่ขึ้นอีก 3000%
- จิม แคร์รีย์ คือ MVP ฝั่งตัวละครมนุษย์ที่ไม่ได้แค่แบกหนัง แต่ยังเรียกเสียงฮาและกระตุกน้ำตาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
- ประเด็นสอดแทรกในหนังมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ประเด็นมีความหนักหน่วงมากขึ้น
จุดสังเกต
- พล็อตยังเน้นความเป็นหนังเด็กแบบที่ดูง่าย เดาง่าย ผ่านอุปสรรคได้ง่าย ตรรกะบางอย่างไม่สมจริงบ้าง แต่ยังพอมองข้ามได้
- CGI บางจุดยังแอบไม่เรียบร้อย แต่พอจะมองข้ามไปได้
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.6
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.4
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
8.2
-
ความบันเทิง
9.0
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
9.5
คงไม่เกร่อเกินไป หากจะพูดว่า จากการแก้ดีไซน์ตัวละครเจ้าเม่นโซนิคตามคำเรียกร้องของแฟน ๆ รวมทั้งหลาย ๆ องค์ประกอบ ทำให้ ‘Sonic the Hedgehog’ กลายมาเป็นอีก 1 ไตรภาคที่ดัดแปลงจากเกมและการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จ จนกลายมาเป็นแฟรนไชส์ (หนัง 3 ภาค+ซีรีส์ Spin-Off) ที่เชิดหน้าชูตาของค่ายดาวภูเขา Paramount Pictures และเจ้าของลิขสิทธิ์อย่าง SEGA ได้ยิ้มแป้น หลังจากประสบความสำเร็จงาม ๆ ไปในภาค 2 เมื่อปี 2022 มาปีนี้ ‘Sonic the Hedgehog 3’ ยังคงได้ เจฟฟ์ ฟาวเลอร์ (Jeff Fowler) ผู้กำกับจาก 2 ภาคแรก รวมทั้งทีมนักแสดง และทีมพากย์เสียงชุดเดิมจากทั้ง 2 ภาคกลับมาสานต่อความสนุกแบบครบถ้วนไม่มีขาดตกบกพร่อง
เนื้อเรื่องของ ‘Sonic the Hedgehog 3’ จะต่อมาจากฉาก Mid-Credits ของ ‘Sonic the Hedgehog 2’ (2022) นะครับ จริง ๆ ถ้ายังไม่ได้ดูก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าดูแล้วก็จะปะติดปะต่อรายละเอียดได้ครบกว่าหน่อย โดยในภาคนี้ โซนิค (พากย์เสียงโดย เบน ชวาร์ตซ์ – Ben Schwartz), เทลส์ (พากย์เสียงโดย คอลลีน โอชอกเนสซีย์ – Collen O’Shanussy) และนักเคิลส์ (พากย์เสียงโดย อิดริส เอลบา – Idris Elba) ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของทอม วาชอวสกี (เจมส์ มาร์สเดน – James Marsden) นายอำเภอเมืองกรีนฮิลล์ และภรรยา แมดดีย์ (ทิกา ซัมป์เตอร์ – Tika Sumpter)
ในระหว่างแคมป์ฉลองครบรอบการเหยียบโลกของโซนิคของครอบครัว เจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Guardian Units of Nations (G.U.N.) ได้เดินทางมาขอความช่วยเหลือจากโซนิค, เทลส์ และนัคเคิลส์ เพื่อรับมือกับชาโดว์ (พากย์เสียงโดย คีอานู รีฟส์ – Keanu Reeves) เจ้าเม่นทรงพลังที่ถูกจับแช่แข็งมานานกว่า 50 ปี ที่หลุดออกมาอาละวาดเพื่อแก้แค้นจากการสูญเสียเพื่อนสนิท มาเรีย โรบอตนิก (เอไลลา บราวน์ – Alyla Browne) โซนิคและพรรคพวกจึงต้องเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากเอ้กแมน หรือ ดร.ไอโว โรบอตนิก (จิม แคร์รีย์ – Jim Carrey) เพื่อหยุดยั้งแผนการอันตราย นอกจากนี้ พวกเขายังจะได้พบกับการกลับมาของเจอรัลด์ โรบอตนิก (แคร์รีย์) คุณปู่ของดร.โรบอตนิกอีกต่างหาก
แม้เป้าหมายของหนังเรื่องนี้จะเน้นไปที่การเป็นหนังที่ดูง่าย เข้าใจง่าย ไร้พิษภัย รวมทั้งการตอบโจทย์เหล่าคอเกมและการ์ตูนในฐานะแฟนเซอร์วิส แต่สิ่งที่แฟรนไชส์นี้ทำได้เจนจัดมาตั้งแต่ ‘Sonic the Hedgehog 2’ ก็คือการผสมพล็อตที่เน้นการผจญภัยที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ (ซะจนภาคแรกดูเด็กน้อยไปเลย) แต่เน้นการขับเคลื่อนเรื่องด้วยจังหวะง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ผสมผสานข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ และตัวตนเป็นคติสอนใจลงไปพอกรุบกริบ ผสมเข้ากับทางมุกประจำหนังที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภาค รวมทั้งมุกจิกกัดตัวเองอีกนิดหน่อย ผสานเข้ากับแฟนเซอร์วิสที่จัดวางอย่างเหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้แหละที่น่าจะเป็นหัวใจสำคัญหลัก ๆ ที่ทำให้แฟรนไชส์นี้ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้
พล็อตของตัวหนังมีการอ้างอิงจากพล็อตของเกมหลัก ๆ 2 เกมด้วยกัน นั่นก็คือ ‘Sonic Adventure 2’ (2001) ที่มีเรื่องราวของคุณปู่เจอรัลด์ โรบอตนิก และมีการพูดถึงหน่วยงาน G.U.N. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเบื้องหลังความแค้นของชาโดว์ที่ทำให้ต้องออกไปทำลายทุกสิ่งที่พรากเพื่อนสนิทอย่างมาเรียไป
รวมทั้งคาแรกเตอร์แอนตีฮีโรมาดขรึมนิสัยสันโดษของชาโดว์ ที่เป็นเหมือนกับขั้วตรงข้ามกับโซนิคโดยสิ้นเชิง ก็ยังปรากฏในเกมสปินออฟ ‘Shadow the Hedgehog’ (2005) ด้วย ตัวหนังก็ยังคงเอาใจคอเกมด้วยการสอดแทรกเส้นเรื่องและ Easter Egg จากเกมเข้ามาได้อย่างพอเหมาะพอควร ในแบบที่คนไม่ได้เล่นเกมก็ยังดูรู้เรื่องได้อย่างสนุกสนานเช่นเดียวกับ 2 ภาคก่อนหน้า
ตัวหนังยังคงขับเคลื่อนบทด้วยพล็อตที่เล่าแบบเป็นเส้นตรง ดูง่าย เล่าแบบทีเล่นทีจริง เป็นหนังที่เล่าเรื่องให้เด็กดูได้สนุกในแบบเรื่องราวการต่อสู้ของตัวละครสไตล์ขาวจัดดำจัด การแก้ conflict ต่าง ๆ ในแบบที่เด็กดูรู้เรื่อง และพอจะมองข้ามความสมจริงด้านตรรกะไปได้ ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกทางมุกในแบบเฉพาะของภาคนี้ นั่นก็คือมุกทลายกำแพงที่ 4 ด้วยการแซวป๊อปคัลเจอร์ทั้งหลาย ทั้งวงการเพลง หนัง ละคร รวมทั้งแซววัฒนธรรมและจริตแบบอเมริกันชนได้ฮาผีบ้าผีบอมาก ใครที่พอรู้อยู่แล้วจะขำตามได้ไม่ยาก อีกจุดที่ต้องชมคือ พล็อตภาคนี้กล้าที่จะเล่าการผจญภัยของโซนิคเพียงเส้นเรื่องเดียวเท่านั้น ไม่ได้มีเส้นเรื่องรองข้างเคียงและบรรดาตัวละครข้างเคียงให้วุ่นวาย ซึ่งถือว่าแก้ปัญหาการเล่าเรื่องข้างเคียงยืดยาดแบบภาคที่แล้วได้ชะงัดนัก
คือในภาค 2 ถ้าใครประทับใจจากความเล่นใหญ่ (กว่าภาคแรก) ที่มีความเป็นหนังเซนไต หรือหนังซูเปอร์ฮีโรแบบกลาย ๆ จะบอกว่าภาคนี้มันขยายไปเป็นพล็อตหนังไซไฟที่ขยายสเกล ขยายเรื่องราว งานสร้าง CGI อลังการทะลุโลกไปเลยครับ ไฮไลต์สำคัญคงอยู่ที่เรื่องราวในองก์ที่ 3 ที่ขยายใหญ่โตและอลังการมาก และที่ไม่ควรละสายตาก็คือบรรดาฉากการต่อสู้ของโซนิคกับชาโดว์ ที่ตัวหนังโชว์เทคนิคงานสร้างฉากแอ็กชันที่ชวนให้นึกถึงหนังซูเปอร์ฮีโรดาร์ก ๆ หรือการ์ตูนแนวโชเน็น ที่ขายฉากแอ็กชันแบบโชว์ซีนหวือหวาอลังการแบบนั้นเลย (นึกภาพฉากแอ็กชันใน Dragonball ตาม)
อีกจุดที่ใหญ่โตขึ้นก็คือการสอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับโซนิคและตัวละครอื่น ๆ ที่กล้าเล่นประเด็นที่หนักแน่นและเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ทั้งเรื่องของความสัมพันธ์ ความแค้น ไปจนถึงการจากลา ที่ทำให้หนังมีหัวใจและขยี้น้ำตาได้อย่างไม่น่าเชื่อว่านี่คือหนังเด็กนะเนี่ย
ในแง่การแสดงถือว่าทำได้ดีน่าประทับใจในทุก ๆ ตัวละครนะครับ แต่ถ้าต้องยก MVP ให้แต่ละฝั่ง ฝั่งของตัวละครแอนิเมชันคงต้องยกให้กับชาโดว์ โดยเฉพาะเสียงการพากย์ของเฮียรีฟส์ ที่ผู้กำกับบอกเหตุผลที่เลือกมาพากย์ตัวละครนี้ก็เพราะเขามองว่าตัวละครชาโดว์มีอะไรบางอย่างที่คล้ายกับคาแรกเตอร์ ‘John Wick’ อยู่ (ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายกันอย่างน่าบังเอิญอยู่นะ เป็นตัวละครนิ่ง ๆ เบียวนิด ๆ รักสันโดษและโคตรเก่ง แต่ต้องพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่หลวง ก็เลยต้องออกล่าล้างแค้นแบบเถรตรงมาก ๆ ) ซึ่งเสียงของเขาก็ทำให้ชาโดว์กลายเป็นตัวละครแอนตีฮีโรที่ดูมีมิติ ดูเข้มแข็งและเจ็บปวด และดูหล่อเท่อย่างกับจอห์น วิค จริง ๆ นะ
ส่วน MVP ฝั่งมนุษย์ คงต้องยกให้ลุงจิมที่สวมบทบาททั้งเอ้กแมน และคุณปู่เจอรัลด์ งานนี้เลยได้เห็นลีลาวายร้ายที่ขโมยซีนเรียกเสียงฮาด้วยลีลาเพี้ยน ๆ หลุดโลกตามสไตล์ลุงจิม ซึ่งจริง ๆ มันก็แทบจะเป็นเอกลักษณ์ของเขาแบบที่เราคุ้น ๆ กันนั่นแหละ เพียงแต่ว่ามันเหมาะกับโทนหนังแนวนี้มาก ๆ แล้วภาคนี้ก็มากันแบบคูณ 2 ไปเลย แต่สิ่งที่ภาคนี้ทำได้ดีก็คือ นอกจากตัวบทมันดีพอที่จะวางลุงในฐานะตัวละครวายร้ายที่มีที่ทางของตัวเองอย่างชัดเจน ทำให้ลุงจิมไม่ต้องคอยสร้างลีลาแบกหนังเหมือนกับ 2 ภาคแรกแล้ว ที่น่าทึ่งสุด ๆ ก็คือ ดูเหมือนจะเป็นตัวฮา แต่ตัวละครของลุงจิมนี่แหละที่เติมเต็มซีนดราม่ากระชากน้ำตาคนดูให้ไหลป้อย ๆ ได้ด้วยอีกต่างหาก บ้าไปแล้ว
คงไม่เป็นการเวอร์หรืออวยเกินไปหากจะบอกว่า ‘Sonic the Hedgehog 3’ คือความสนุกแบบคูณ 3 จริง ๆ ครับ แน่นอนแหละว่ามันก็ดูง่าย ตอบโจทย์สำหรับการเป็นหนังครอบครัวที่เด็กดูได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ตอบโจทย์ความเป็นหนังป๊อปคอร์นสนุก ๆ ที่ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะบรรดาแฟนเกม แฟนการ์ตูน และเด็กหนวด (แบบผู้เขียน) ดูได้อย่างบันเทิงเริงใจด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะด้วยการผจญภัยที่ใหญ่ขึ้นทั้งในแง่ของโปรดักชันและเรื่องราว มุกฮาแซวคนโน้นคนนี้ที่เรียกเสียงฮาได้แบบเอาเรื่อง Easter Egg หลายอันที่คอเกมต้องกรี๊ด รวมทั้งปมประเด็นที่เข้มข้นและทำให้ตัวหนังมีหัวใจมากขึ้น ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมนี่คือแฟรนไชส์หนังที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดชุดหนึ่งของยุคนี้ เอาเป็นว่า ใครก็ได้ช่วยวาร์ปพาไปดู ‘Sonic the Hedgehog 4’ ที่จะฉายในปี 2027 หน่อยครับ
ถ้าอยากรู้ว่าภาค 4 ที่กำลังจะมากำลังจะมีอะไรบ้าง ตัวหนังมีฉากกลางและท้ายเครดิตอย่างละ 1 ตัวนะครับ สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนอาจจะเฉย ๆ แหละ แต่ถ้าเป็นแฟนเจ้าเม่นโซนิคนี่คือยังไงก็กรี๊ดแน่นอน