Release Date
07/10/2021
แนว
สารคดี
ความยาว
1 ชั่วโมง 38 นาที (97 นาที)
เรตผู้ชม
G (มีภาพสยดสยอง)
ผู้กำกับ
'Mark Landsman' (มาร์ก แลนดส์แมน)
Our score
8.8Scandalous: The Untold Story of the National Enquirer | แฉแท็บลอยด์ฉาว
จุดเด่น
- ดำเนินเรื่องกระชับฉับไว ไม่มีจุดเยิ่นเย้อ
- มีบทสัมภาษณ์จากนักข่าวตัวจริงหลายชีวิต ทำให้ได้มุมมองที่หลากหลาย
- ใช้ฟุตเตจประกอบเรื่องได้เยอะดี
จุดสังเกต
- แอบรำคาญกราฟิก โดยเฉพาะพวกซูเปอร์ขึ้นชื่อผู้ให้สัมภาษณ์ที่ขึ้นใหญ่เต็มจอทุกครั้ง ทำให้ดูขัดตาตลอดเรื่อง
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
10.0
-
คุณภาพงานสร้าง
6.7
-
คุณภาพของบทสัมภาษณ์ / ประเด็น
8.7
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
9.3
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
9.2
เรื่องย่อ ‘Scandalous: The True Story of the National Enquirer’ หรือในชื่ิอไทย ‘แฉแท็บลอยด์ฉาว’ คือภาพยนตร์สารคดีที่จะพาไปล้วงลึกเบื้ืองหลังและประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งของ ‘National Enquirer’ หนังสือพิมพ์ที่ได้ชื่อว่าฉาวโฉ่ เปี่ยมไปด้วยอิทธิพลและมียอดขายสูงสุดในอเมริกา ที่เคยลงข่าวฉาวของสหรัฐฯ ตั้งแต่ ‘งานศพของเอลวิส เพรสลีย์’, ข่าว ‘โมนิกา ลูวินสกี’ รวมถึงหาหลักฐานมัดตัว ‘โอ.เจ.ซิมป์สัน’ พาไปล้วงลึกกลโกงและกลเม็ดเด็ดพรายทุกรูปแบบเพื่อให้ได้ข่าวมาตีพิมพ์ และความหมกมุ่นในเงินทอง อำนาจ และเซ็กซ์ ที่ส่งต่อให้คนอเมริกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า จากปากของนักข่าวตัวจริง
แม้เราจะรู้ดีแก่ใจว่า การยุ่งหรือรู้เรื่องของคนอื่นมากเกินไปมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไป แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ หลายคนก็ยังอยากรู้เรื่องของชาวบ้านอยู่ดี โดยเฉพาะเรื่องของคนดัง และยิ่งถ้าคนดังมัีเรื่องลึกลับ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ เราก็จะเรียกมันว่า ‘เรื่องฉาว’ (Scandalous) และยิ่งคนเราหิวเรื่องฉาว หนังสือพิมพ์หรือสื่อก็ยิ่งต้องขุดเรื่องฉาว มาทำให้กลายเป็น “ข่าวฉาว” ข่าวยิ่งฉาวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งบันเทิงเริงใจมากเท่านั้น แล้วข่่าวฉาวนี่แหละที่จะเป็นตัวนำพาไปสู่เรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่อาจคาดไม่ถึง ซึ่งผู้กำกับอย่าง ‘มาร์ก แลนด์สแมน’ (Mark Landsman) ได้นำเสนอเรื่องราวผ่านสารคดี ‘Scandalous: The True Story of the National Enquirer’ หรือ ‘แฉแท็บลอยด์ฉาว’ ซึ่งจริง ๆ เป็นสารคดีทีี่ปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 2019 แล้วนะครับ แต่เพิ่งได้มาเข้าฉายในเมืองไทยก็ปีนี้นี่แหละ
ตลอดความยาว 97 นาทีของสารคดีเรื่องนี้ เล่าถึงประวัติอันยาวนานกว่า 60 ปีของหนังสือพิมพ์ ‘เนชันแนล เอนไควร์เรอร์’ (National Enquirer) หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของ ‘เจเนโรโซ โปบ จูเนียร์’ (Generoso Pope Jr.) หรือ ‘จีน โปป’ บุตรชายของมาเฟียขาใหญ่แห่งนิวยอร์ก ที่ได้เข้าซื้อ ‘New York Enquirer’ หัวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่มักลงข่าวม้าแข่งและข่าวกีฬา ก่อนจะเปลี่ยนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกระจอก ๆ ให้กลายเป็นหนังสืิอพิมพ์ยักษ์ใหญ่ขวัญใจแม่บ้านอเมริกันที่มียอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ แต่เป็นหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีคนดังคนไหนอยากขึ้นปก เพราะถ้าคนดังคนไหนได้ขึ้นปก แปลว่าข่าวนั้นต้อง “ฉาว” ชนิดที่เรียกว่าเป็น Talk of the Town อย่างแน่นอน
สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลยครับ เป็นการเล่าเรื่องแบบเส้นตรงตั้งแต่จุดกำเนิด และเบื้องหลังการได้มาของข่าวฉาว ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบด้วยการลงภาพข่าวสยดสยอง เช่น ภาพผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือฆาตกรรมแบบ “ไม่เซนเซอร์” ทำให้ได้ยอดขายกระเตื้องขึ้นในระดับหนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนไปนำเสนอข่าว ‘รีื่นรมย์’ จำพวกข่าวแปลก ข่าวเซ็กซ์ ข่าวยูเอฟโอ คนประหลาด ๆ การทดลองวิทยาศาสตร์แปลก ๆ เพื่อรองรับการวางแผงในห้างสรรพสินค้าเพื่อเอาใจแม่บ้าน ซึ่งนั่นก็ทำให้ยอดขายสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ประกอบกับการที่จีน โปป เองก็เข้าใจจิตวิทยาของชาวอเมริกันด้วยว่า พวกเขาสนใจเรื่องอะไร คนเรามีความอิจฉา และอยากเห็นความผิดพลาด เรื่องน่าอายของคนที่สูงกว่าตัวเองเสมอ อยากเห็นดาราสักคนรู้สึกผิดที่น้ำหนักขึ้น อยากเห็นดาราทะเลาะกัน ดาราดังแอบมีเมียน้อย ลวนลามผู้หญิง ฯลฯ นั่นเลยทำให้ข่าวซุบซิบ ข่าวฉาว ข่าวเซ็กส์ ที่กระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็นของชาวอเมริกันที่ตีพิมพ์อยู่ใน ‘National Enquirer’ ทุกฉบับกลายเป็นเรื่องที่ฮอตฮิตและอยากซื้ออ่านอยู่เรื่อย ๆ
และเพื่อให้ได้ข่าวฉาว การหาข่าวก็เริ่มพัฒนาตั้งแต่การสืบหาข่าวซุบซิบจากคนรอบตัวดารา หรือคนใกล้ตัว หยิบเอาข่าวประเด็นเล็ก ๆ มาขยายใหญ่ จนกระทั่งมาสู่การ “บังคับ” ให้แหล่งข่าวพูดเนื้อหาตามที่ตัวเองต้องการ ใช้สายสืบล้วงหาข่าวและภาพลับเฉพาะ ในที่สุด ก็เริ่มก้าวขาไปสู่โลกการเมือง (ที่ตอนแรกพยายามจะ ‘Tone Deaf’ (หูทวนลม) ตลอด) ด้วยการเปิดให้นักการเมืองชี้นำข่าวของตัวเอง และโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเพื่อแลกรับผลประโยชน์ หรือแม้แต่การยอมให้ ‘ดารา’ บางคนร่วมหุ้นในกิจการ เพื่อหวังใช้สื่อเป็นช่องทางปกปิดข่าวฉาวของตัวเอง หรือแม้แต่ลงไปเล่นบทนักสืบ ขุดคุุ้ยหลักฐานเพื่อให้คนในข่าวยอมจำนนเพื่อให้ได้ข่าวก็ทำมาแล้ว
หนังเรื่องนี้ยังตีแผ่ลงไปถึงรากของความเป็นคนอเมริกันโดยแท้ด้วยว่า จริง ๆ แล้ว จะโทษสื่อว่าเป็นตัวการนำเอาข่าวฉาวมาเสนอให้ประชาชนอย่างเดียวก็คงไม่น่าจะถูก (แม้สารคดีจะให้น้ำหนักไปในฝั่งนั้นเยอะหน่อย) แต่สารคดียังได้สอดแทรกสิ่งที่อาจนึกไม่ถึงก็คือ ตัวการที่ทำให้สื่อต้องทำข่าวฉาว อาจไม่ใช่เพียงแค่เพราะว่าหิวข่าว หิวเงิน หิวอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่เป็นแรงเกื้อหนุนสำคัญของหนังสือพิมพ์ (และสื่อทุกประเภท) ก็คือ “ความสอดรู้สอดเห็น” ของคนอเมริกัน (และของเราทุกคน) นี่แหละ ที่เปรียบกับเหมือนคนติดยาที่ต้องการข่าวที่แรงขึ้น ฉาวขึ้นโดยที่เราเองก็อาจไม่ทันรู้ตัว
และยิ่งคนอ่านต้องการข่าวแรงขึ้นเท่าไหร่ สื่อก็ต้องพยายามหาข่าวที่แรงขึ้น ฉาวขึ้น ด้วยวิธีการใดก็ได้เพื่อให้ได้ข่าวอย่างที่ต้องการ โดยมีบุคคลในข่าวที่ขึ้นพาดหัวเป็นเสมือนเหยื่อชั้นดีให้สื่อและคนอ่านอย่างเรา ๆ รุมแทะทึ้งด้วยความเมามันและเลือดเย็น ที่เหลือไว้ก็เพียงแค่ซากความเสียหายที่ถูกซุกไว้ด้วยอำนาจและเงิน ก่อนที่ทุกอย่างจะวนกลับมาในทุก ๆ สัปดาห์ที่วางแผง คนที่หาข่าวเด็ดได้ในสัปดาห์นี้ อาจไม่ใช่คนที่หาข่าวเด็ดได้ในสัปดาห์ต่อไป และนั่นก็หมายความว่า หลังปาร์ตี้ออฟฟิศทุก ๆ วันศุกร์ อาจมีนักข่าวบางคนที่ตะครุบข่าวฉาวไม่ทัน โดนจีน โปปไล่ออกจากงาน สิิ้นสุดเงินเดือนก้อนโต และสวัสดิการสุดหรูหราฟู่ฟ่าไปด้วย
โดยรวม ๆ แล้ว สารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่ตำราหรือตำนานด้านสื่อสารมวลชนเฉย ๆ แต่ยังเล่าออกมาได้สนุก ตื่นตาตื่นใจ ทรงพลัง เล่าทุกอย่างผ่านบทสัมภาษณ์และฟุตเตจประกอบทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้อย่างกระชับฉับไว ยิ่งดูยิ่งตื่นเต้น ยิ่งฟังนักข่่าวเล่าเรื่องกลโกงสารพัดวิธีในการไล่ล่าข่าวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งขนลุกจนแทบจะไม่อยากเชื่อว่า นี่คือวิธีการหาข่าวของหนังสือพิมพ์จริง ๆ เหรอเนี่ย
และผู้เขียนเองก็เชื่อว่า นี่คือสารคดีที่คนเสพสื่ออย่างเรา ๆ ต้องดูครับ เพื่อเข้าใจวงจรและกลไกอันฉ้อฉลและเน่าในของวงการสื่อ และอิทธิพลสื่อ ในฐานะที่เราทุกคนล้วนเสพสื่อ ที่ทุกวันนี้ Fake News (ข่าวปลอม) หรือแม้แต่ Half Truth (ข่าวที่มีความจริงเพียงแค่ครึ่งเดียว หรือเสี้ยวเดียว) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสื่อใหญ่หรือสื่อเล็ก หรือไม่ใช่แค่การตีแผ่ว่าสื่อแบบไหนดีหรือไม่ดี เพราะก็ต้องยอมรับความจริงว่า คนเสพสื่ออย่างเรา ๆ นี่แหละที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ยิ่งเชื่อ ยิ่งแชร์ ก็ยิ่งขายดี จนทำให้สื่อต้องไล่ล่าข่าวด้วยวิธีการสกปรกสารพัดวิธีเพื่อให้สื่อของตัวเองขายดี โดยไม่จำเป็นต้องสนใจว่าแหล่งข่าวจะเสียหาย ติดคุก ฉาวโฉ่ หมดอนาคตเพียงใด
แถมยังไม่ต้องสนด้วยว่า สื่อจะต้องเข้าข้างประชาชน เพราะสื่อเองก็กลายเป็นร่างทรงของนายทุนผู้ให้ผลประโยชน์ได้เสมอ ตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยังเอื้อประโยชน์ให้แก่กัน ราวกับว่าจรรยาบรรณสื่อที่ควรจะเป็นสามัญสำนึกหลักของสื่อมวลชน และความเป็นมนุษย์อาจไม่เคยมีอยู่จริง และสื่อนั้นก็กลายร่างเป็นปีศาจหิวเงิน ผู้ปล่อยผลผลิตจาก Fake News และ Half Truth สู่มวลชนผู้เสพข่าวอย่างเรา ๆ เพื่อกอบโกยรายได้จากทั้งยอดขายหน้าบ้าน และผลประโยชน์หลังบ้าน
มันอาจไม่ใช่เพียงแค่การรู้ทันว่า สื่อที่ไม่ดีนั้นเป็นอย่างไร หรือทำงานอย่างไรเท่านั้น แต่สารคดีเรื่องนี้น่าจะช่วยตอกย้ำให้เราได้เห็นว่า จรรยาบรรณของสื่อไม่ใช่เพียงแค่หมึกบนกระดาษ หรือถ้อยแถลงปากเปียกปากแฉะของผู้เคร่งครัดกฏระเบียบ แต่มันเป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ ที่ทำให้คนที่มีอำนาจและเม็ดเงิน สามารถทำอะไรก็ได้ ยืนบนอุดมการณ์ข้างไหนก็ได้ เพื่อให้ได้ข่าว เงิน และอำนาจ ในแง่นี้ การทำงานของสื่อตามจรรยาบรรณอาจหมายถึง การหาข่าวและนำเสนอข่าวที่คงไว้ซึ่งการเคารพ และดำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ของทั้งคนข่าว แหล่งข่าว และคนอ่านข่าวทั้งมวล
ส่วนคนทำสื่อ ไม่ว่าจะสื่อออฟไลน์ หรือสื่อออนไลน์ ไม่ต้องบอกก็รู้นะครับว่า นี่คือสารคดีที่คุณ “ต้องดู” ไม่่ใช่แค่จำเป็นต้องดู แต่ต้องดูเป็นกรณีศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันไม่ใช่แค่บทเรียนสอนการเป็นสื่อมวลชนที่ดีว่าควรทำอย่างไรบ้าง แต่บางทีหลังดูจบ คุณอาจรู้สึกเสียวสันหลัง ร้อนมือร้อนเท้าวูบวาบ รู้สึกร้อนในอาชีพ หรือไม่ก็รู้สึกขยะแขยงการทำงานของสื่อมวลชนด้วยกันเอง
หรือไม่ ก็อาจเริ่มรู้สึกขยะแขยงตัวเองที่จริง ๆ แล้ว คุณอาจเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงจรอุบาทว์ของสื่อฉาวหิวข่าวอยู่ก็เป็นได้!
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส