Release Date
11/11/2021
แนว
แอ็กชัน/ไซไฟ/ระทึกขวัญ
ความยาว
1.48 ชม. (108 นาที)
เรตผู้ชม
น 18+ (ความรุนแรง/คำหยาบคาย/เพศ)
ผู้กำกับ
จิตต์สินธ์ ผ่องอินทรกุล
Our score
5.4Dark World | เกม ล่า ฆ่า รอด
จุดเด่น
จุดสังเกต
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
5.5
-
คุณภาพงานสร้าง
8.0
-
คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง
4.4
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
5.0
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
3.9
เรื่องย่อ ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นและจบลงด้วยความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ ผู้คนอยู่อย่างไร้กฎเกณฑ์ คนรวยคือพระเจ้า คนจนเป็นเพียงทาสรับใช้ คนแข็งแกร่งเท่านั้นที่มีชีวิตรอด ‘เฟียร์’ (ดลลชา ภูวิจารย์ เคาวเวลล์) , ‘ไอรีน’ (อริสรา ทองบริสุทธิ์) และ ‘รัน’ (รักษ์ณภัค วงศ์ธนทัศน์) ในวัยเด็ก ต่างถูกจับให้ลงเล่นในเกมที่จัดขึ้นมาเพื่อสนองความสนุก ความบ้าคลั่งของคนรวย กติกามีเพียงใครแพ้ต้องตาย เฟียร์โดนเพื่อนรักหักหลังจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด 20 ปีผ่านไป โลกที่พวกเธอรู้จักยังโหดร้ายไม่เปลี่ยน 3 สาวต่างมีชีวิตและเส้นทางที่แตกต่างกัน แต่โชคชะตานำพาให้ทั้งหมดโคจรมาพบกันและต้องลงแข่งในเล่นเกมที่เดิมพันด้วยชีวิตอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ใครจะเป็นผู้ชนะ!
หลังจากเคี่ยวกรำประสบการณ์การกำกับหนังแนวตลก ตั้งแต่การร่วมกำกับเป็นครั้งแรกใน ‘ลูกตลกตกไม่ไกลต้น’ (2006) , ‘คู่ก๊วนป่วนเมษา’ (2008) และหนังเรื่องก่อนหน้าอย่าง ‘อีส้มสมหวัง ชะชะช่า’ (2009) มาถึงปีนี้ ‘โน้ตจูเนียร์’ (จิตต์สินธ์ ผ่องอินทรกุล) บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของนักแสดงตลกในตำนาน ‘โน้ต เชิญยิ้ม’ ก็กลับมากำกับภาพยนตร์อีกครั้ง โดยคราวนี้เลือกที่จะแหวกแนวมากำกับหนังแนวไซไฟแอ็กชันกลิ่นอายดิสโทเปียใน ‘Dark World’ ‘เกม ล่า ฆ่า รอด’ เป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี
แถมตัวหนังเองก็ยังมีดีกรีได้ไปเดินสายประกวดก่อนฉายจริงในเทศกาลหนังระดับโลก ทั้ง ‘เทศกาลภาพยนตร์แฟนตาสติกนานาชาติปูชอนครั้งที่ 25’ (Bucheon International Fantastic Flim Festival 2021) ที่จัดฉายให้คนเกาหลีใต้ได้ชมพร้อมกับ Q&A แถมยังได้เป็น 1 ใน 9 เรื่องที่ได้เข้าชิงรางวัล ‘Méliès International Festivals Federation (MIFF) Award for Best Asian Film’ (รางวัลภาพยนตร์เอเชียยอดเยี่ยม สมาพันธ์เทศกาลภาพยนตร์แฟนตาสติกนานาชาติ) ก่อนจะได้กลับมาฉายให้คนไทยได้ชมกัน
ตัวหนังว่าด้วยเรื่องของโลกดิสโทเปียหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 3 จบลง ทำให้เมืองล่มสลาย ผู้คนอยู่อย่างไร้กฏเกณฑ์ คนรวยกลายเป็นพระเจ้า ส่วนคนจนกลายเป็นเพียงของเล่นของคนรวย ‘เฟียร์’ (ดลลชา ภูวิจารย์ เคาวเวลล์) , ‘ไอรีน’ (อริสรา ทองบริสุทธิ์) และ ‘รัน’ (รักษ์ณภัค วงศ์ธนทัศน์) จึงถูกจับให้ลงเล่นเกมที่มีชื่อว่า ‘การค้าประเพณี’ (ไม่ได้เขียนผิดนะครับ ในหนังใช้คำว่าประเพณี ไม่ใช่ประเวณี จริง ๆ นะ) คนที่แข็งแกร่งที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ชนะ ส่วนคนที่แพ้ก็ต้องเดิมพันด้วยชีวิต
ในแง่คอนเซปต์โดยรวม ต้องบอกเลยว่าค่อนข้างดีนะครับ สำหรับผู้เขียน หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มีความแหวกแนวมาก ๆ ทั้งในแง่ของแนวหนังที่ถือว่าแหวกแนว และไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนักในหนังไทย รวมถึงงานโปรดักชันและโทนหนัง ถือว่าทำได้ดีเลยสำหรับมาตรฐานหนังไทย
แต่ปัญหาที่ดูจะเป็นเรื่องหนักหนาที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่มีแรงก็คือตัวบทภาพยนตร์ครับ เพราะโดยรวม ๆ ทั้งเรื่อง ดูเหมือนว่าตัวหนังจะพยายามเอาหนังหลายแบบและหลายแนวมาผสมกัน จะเป็นแนว Survival ก็มี ดิสโทเปียก็เอา แอ็กชันทริลเลอร์ก็มา แนวจิตวิทยาก็มี แนวหนังเฟมินิสต์และเพศหลากหลายก็มาด้วย ก็เลยทำให้ปมหนังในองก์แรกมีหลายตัวละคร และมีปมหลายทิศทางมากเกินไป จนทำให้ปมประเด็นหลักไร้พลังและไปไม่สุดสักทาง
เอาเข้าจริง บางปมของบางตัวละครนี่แทบจะไม่จำเป็นด้วยซ้ำ หรือถ้าจะให้ผู้เขียนพูดแบบใจร้ายก็คือ ตัวละครบางตัวนี่แทบจะตัดออกไปได้เลยครับ เพราะนอกจากจะไม่มีผลต่อเส้นเรื่องแล้ว หลายครั้งปมเรื่องอันแสนยุ่บยั่บของตัวละครที่ไม่จำเป็นเหล่านั้นก็ดูจะทำให้เรื่องในองก์แรกดูสับสนปั่นป่วนไปหมด แล้วนั่นก็ส่งผลให้ตัวหนังขับเคลื่อนไปแบบสับสน และก็ไม่รู้ว่าจะเอาใจช่วยตัวละครตัวไหนได้บ้าง
ในแง่การแสดงมีให้พูดถึงเยอะมากครับ เพราะด้วยหนังเรื่องนี้มีตัวละครเยอะมากก แต่นักแสดงหลายคนกลับมีบทบาทที่ไม่เข้าที่เข้าทางเอาซะเลย ตัวละครหลายตัวมีปัญหาบ้างล้นบ้างขาด รวมทั้งไดอะล็อกที่ไม่ปะติดปะต่อ และใส่คำคมมากเกินไปจนดูฝืน ๆ ผิดที่ผิดทางไปหมด นอกจากนั้น การแสดงในพาร์ตรวม ๆ รวมถึงการแสดงในฉากแอ็กชันต่าง ๆ ทั้งเรื่องก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีพลังงานเอาซะเลย ยิ่งถ้าเป็นฉากต่อสู้ก็จะยิ่งเห็นว่าเนือยมาก ก็ยิ่งทำให้ตัวหนังดูจะขับเคลื่อนแบบไร้พลังงานซ้ำเติมเข้าไปอีก
ผู้เขียนอยากเล่าถึงนักแสดงคนหนึ่งในเรื่องมาก ๆ เลยครับ คือในองก์แรกเนี่ย บอกได้เลยว่าเป็นตัวละครที่ล้นโอเวอร์จนน่ารำคาญมาก ๆ ซึ่งพอตัวละครนี้ตายลง (ตายยังไงขอไม่สปอยล์นะครับ) ผู้เขียนกลับรู้สึกโล่งใจ และพูดกับตัวเองว่า อืม… ตายซะได้ก็ดี ขอบคุณมาก
โดยส่วนตัวผู้เขียนเองไม่ชอบ ‘วิลลี่ แมคอินทอช’ ที่เล่นเป็น ‘เสี่ยกวิน’ ในบทบาทและรูปลักษณ์นี้เลยครับ สำหรับผู้เขียนเอง ฝีมือและการแสดงของพี่วิลลี่คือความหวังหนึ่งเดียวที่ผู้เขียนแอบหวังลึก ๆ ว่าจะทำให้หนังดูดีและมีพลังขึ้นมา แต่กลายเป็นว่า ตัวบทกลับทำให้พี่วิลลี่กลายเป็นเสี่ยที่ดูงง ๆ ไม่เข้าที่เข้าทางซะอย่างนั้น แล้วการเซตให้เสี่ยกวินเป็นไบเซ็กชวล ผ่านการแต่งหน้าสไตล์ Metrosexual เครื่องสำอางหนาเตอะเลอะเต็มหน้าแบบนั้น
คือก็พอจะเข้าใจว่าอยากให้มีกลิ่นอายความหลากหลายทางเพศนั่นแหละนะครับ แต่แทนที่จะออกมาดูเท่ ก็ดันออกมาเป็นตัวร้ายเพี้ยน ๆ ที่ชวนให้นึกถึงตัวละคร ‘Dr. Frank-N-Furter’ ในหนังคัลต์คลาสสิก ‘The Rocky Horror Picture Show’ (1975) อะไรทำนองนั้นซะมากกว่า ส่วนเสี่ยหน้าฝรั่งอย่าง ‘เฮียหม่า’ (เดวิด อัศวนนท์) ก็ดูจะไม่ฉายแววเท่าที่พี่เดวิดควรจะเป็นซะอย่างนั้น
ส่วนคนที่ผู้เขียนยอมรับว่าไม่ได้หวัง แต่ก็ทำได้ค่อนข้างดี กลับเป็นแซมมี่ (ดลลชา ภูวิจารย์ เคาวเวลล์) ในบท ‘เฟียร์’ ที่ถือว่าทำได้ดีในแง่การรับบทบาทและการแสดงที่ดูขึ้นกล้อง แม้ว่าตัวพล็อตจะยุ่งเหยิงจนทำให้บทบาทของแซมมี่ดูจะมา ๆ หาย ๆ แถมยังมีความซ้ำซ้อนกับตัวละคร ‘รัน’ (รักษ์ณภัค วงศ์ธนทัศน์) ไปบ้าง แต่ก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีในบทบาทที่ได้รับ ส่วนนักแสดงคนอื่น ๆ อย่างเช่น ดิว (อริสรา ทองบริสุทธิ์) ในบท ‘ไอรีน’ แม้ว่าบทบาทจะดูน่าสนใจ ดูขึ้นกล้องที่สุดในเรื่อง และเล่นบทเลิฟซีนได้ดี แต่พอบทส่งอารมณ์กลับดูล้น ๆ ขาด ๆ อย่างน่าใจหาย ส่วนบทเลิฟซีนของทั้งคู่ในแนวเลสเบียน ผู้เขียนดูแล้วคิดว่า ออกจะ “เฉย ๆ ” นะครับ
ส่วนในการแข่งขัน ‘การค้าประเพณี’ ที่ควรจะเป็นไฮไลต์ของหนังเรื่องนี้ ก็กลับทำออกมาได้น่าผิดหวังมาก เพราะด้วยความที่ตัวหนังในองก์แรกดูเหมือนว่าจะไม่มีแรงฉุดดึงที่คอยส่งทุกปมปัญหาของทุกตัวละคร ให้เดินหน้าเข้าไปสู่การเล่นเกมเลย (เหมือนอย่างที่ซีรีส์ ‘Squid Game’ ทำได้) อย่างที่ผู้เขียนบอกนั่นแหละครับว่า พอทำให้ประเด็นง่าย ๆ กลายเป็นดูยาก ปมปัญหาของตัวละครแต่ละตัวก็ยุ่บยั่บเยอะแยะ ตัวเกมก็เลยเป็นเพียงซีนใหญ่ ๆ 3 ซีนที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีไว้รองรับและระเบิดปมปัญหาของตัวละครออกมาให้เห็น และไม่ได้ทำให้ตัวละครก้าวข้ามปมปัญหาอะไรแบบจริง ๆ จัง ๆ เป็นเพียงแค่กิจกรรมที่ให้ไปเล่นแบบผ่าน ๆ แล้ว (คนดูก็รู้ว่า) รอดเฉย ๆ
และที่สำคัญคือ ตัวเกมทำออกมาได้ไม่สนุกและไม่ชวนลุ้นเอาเสียเลยจริง ๆ ครับ ลำพังแค่กติกาของเกมเองก็ดูยุ่บยั่บและไม่ค่อยเมกเซนส์แล้ว เป็นการละเล่นที่พอนึกว่า ถ้าได้เล่นจริง ๆ คงไม่สนุกเท่าไหร่ บางกติกาก็ออกนอกลู่นอกทางซะเฉย ๆ และพอยิ่งแข่งจริง การแสดง แอ็กชันแปลก ๆ และจังหวะการตัดต่อที่ไม่รู้ว่าจะให้จับไปที่ตรงไหนกันแน่ ก็ยิ่งทำให้กติกาที่ดูยากอยู่แล้ว ยิ่งดูยากและยิ่งชวนสับสนเข้าไปอีก รวมทั้งการพากษ์ตลก ๆ ที่ดูผิดที่ผิดทางกับโทนหนังดาร์ก ๆ ก็ยิ่งทำให้ตัวเกมออกมาดูแห้ง ไม่เร้าใจ และดูไม่สนุกเลย
อีกอย่างที่เป็นปัญหามาก ๆ สำหรับหนังเรื่องนี้คือการขมวดจบท้ายเรื่องครับ แม้ว่างานเซตติงและโปรดักชันของเกมสุดท้ายจะทำได้ออกมาดูดีมาก แต่ด้วยความที่ตัวหนังมีปมยุ่บยั่บของตัวละครเต็มไปหมด และตอนท้ายก็ดูเหมือนว่าจะพยายามบิดพล็อตให้ออกมาเป็นทรงหนังแนว ‘Femme Fatale’ (เฟม เฟอตาล) หรือแนว “ผู้หญิงตัวร้าย” ไปเสียอีก ทำให้กลายเป็นว่า ตัวหนังที่ปูเรื่อง ปูพล็อต ปมปัญหาทั้งหมดของตัวละครมากมายมาตั้งนมนาน กลับล่มสลายพังทลายไปเสียสิ้น กลายเป็นการขมวดจบที่นอกจากจะดูคุ้น ๆ แล้ว ยังเป็นการขมวดจบแบบที่ทิ้งทุกสิ่งอย่างไปง่าย ๆ เหมือนโดนกดปุ่มรีเซตเสียอย่างนั้น
โดยรวม ๆ แม้ตัวหนังจะมีจุดสังเกตในหลาย ๆ แง่ จนทำให้ตัวหนังดูมีแรงพลังน้อยไปหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ “ทำถึง” ในแง่ของไอเดียและโปรดักชัน ซึ่งอย่างน้อย ๆ หนังเรื่องนี้ก็โอเคในแง่ของการแหวกตลาดหนังไทย ในแบบ (ที่คิดกันไปเองว่า) คนไทยส่วนใหญ่ชอบ
ส่วนในแง่ของชั้นเชิงในการวางบท ปั้นพล็อต เล่าเรื่อง ให้มีแรงพอที่จะฉุดหนังทั้งเรื่องให้สมบูรณ์แบบ ก็อาจจะต้องให้เวลาในการปรับเขย่าทรงกันอีกขนานใหญ่นั่นแหละนะครับ