Release Date
02/12/2021
ความยาว
97 นาที
Our score
6.5Venom: Let There Be Carnage
จุดเด่น
- ดูง่าย มีส่วนประสมที่น่าจะทำให้หนังสนุกมากมาย ฉากซีจียังคงทำได้ดี เป็นหนังภาคต่อและเชื่อมไปเรื่องอื่นที่น่าสนใจ
จุดสังเกต
- เล่นท่าง่ายจนทำลายองค์ประกอบดี ๆ ที่มีจนหมด และไม่สามารถเป็นได้สักทาง ทั้งหนังเรตแรงเข้มข้นที่ผู้ใหญ่สนุก หรือหนังฮีโร่เรตทั่วไปที่เด็กสามารถดูได้ไร้มลพิษ
-
บท
7.0
-
โปรดักชัน
7.5
-
การแสดง
5.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
6.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
7.0
เรื่องย่อ: สานต่อเรื่องราวจากภาคแรก หลังจาก เอ็ดดี บล็อก อดีตนักข่าวชื่อดังได้ร่วมใช้ชีวิตในฐานะคู่หูปราบอาชญากรรมกับ เวนอม ปรสิตจากต่างดาว โดยหน้าที่การงานและความสัมพันธ์กับ แอนน์ อดีตคู่หมั้นสาวยังคงดิ่งลงเหวเช่นเดิม ในภาคนี้เหมือนเขาจะมีโอกาสกลับมารุ่งอีกครั้งเมื่อเขาได้รับการติดต่อจาก คลีตัส แคสซาดี ฆาตกรต่อเนื่องชื่อดังให้สัมภาษณ์พิเศษถึงในคุก และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความวายป่วงที่ตามมาไม่สิ้นสุด
ในภาคแรก ‘Venom’ (2018) เป็นผลงานการกำกับของ รูเบน เฟลสเชอร์ (Ruben Fleischer) ผู้กำกับที่สร้างชื่อจากงานอย่าง ‘Zombieland’ (2009) โดยเป็นความพยายามที่จะสร้างตัวร้ายจากจักรวาลหนังสไปเดอร์-แมนที่โซนี่ถือสิทธิ์สร้างภาพยนตร์เอาไว้ให้ภาพลักษณ์เป็นแอนตี้ฮีโร่ เพื่อที่จะนำมาเจอกับ ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ หรือ สไปเดอร์-แมน ฉบับของ ทอม ฮอลแลนด์ (Tom Holland) หรืออาจจะนำมาทำหนังรวมดาวร้ายอย่าง แก๊ง Sinister Six ในจักรวาลหนังสไปเดอร์เวิร์สของตนเองโกยเงินรับทรัพย์ต่อไป
และในภาพรวมถือว่าหนังภาคแรกก็ไม่ได้เล่นท่ายากในการเล่าเรื่องเพื่อรับประกันความสำเร็จไปแล้ว พอมาภาคนี้ได้มีการเปลี่ยนผู้กำกับมาเป็น แอนดี้ เซอร์คิส (Andy Serkis) นักแสดงที่มีชื่อเสียงด้านการแสดงตัวละครโมชันแคปเจอร์ อย่าง กอลลัม หรือ ซีซาร์ แต่สำหรับผลงานด้านการกำกับยังต้องพิสูจน์ตัวต่อไป เพราะผลงานอย่าง ‘Mowgli’ (2018) นั้นยังเทียบความสนุกกับฝั่ง ‘The Jungle Book’ (2016) ของดิสนีย์ที่ออกฉายก่อนแทบไม่ได้เลย
หนังใช้เรื่องราวจากไอเดียของ เคลลี มาร์เซล (Kelly Marcel) ที่ร่วมเขียนบทในภาคแรก กับ ทอม ฮาร์ดี้ (Tom Hardy) ที่ควบตำแหน่งนักแสดงนำและผู้อำนวยการสร้างของหนัง โดยดัดแปลงเนื้อหาในคอมมิกช่วง ‘Maximum Carnage’ ที่คาร์เนจร่วมมือกับชรีก อาชญากรสาวที่ใช้พลังเสียงตั้งตนเป็นพ่อแม่ของแก๊งวายร้ายออกจู่โจมเมืองนิวยอร์กและต้องปะทะกับกลุ่มฮีโร ซึ่งรวมถึงสไปเดอร์-แมนและเวนอมด้วย โดยปรับความสัมพันธ์ของคาร์เนจกับชรีกให้เป็นคู่รักในโรงเรียนดัดสันดานที่ถูกจับให้พลัดพรากกันแทน ซึ่งเอาจริงก็ดูน่าสนใจขึ้น ตัวละครมีมิติมากขึ้น ทว่าก็ยังติดปัญหาบางอย่างที่จะขอยกยอดสรุปในทีเดียว
และเนื้อหาในส่วนของฝั่งบล็อกกับเวน่อมนั้น ใช้สืบเนื่องจากหนังในภาคแรกมาต่อทันที โดยแทบไม่ได้ปูพื้นใหม่จึงควรดูหนังในภาคแรกมาก่อน แต่ในภาคนี้ก็จะลดเรื่องราวปลีกย่อยลง โลกในหนังดูเล็กลงและอยู่ในสถานที่ไม่กี่แห่ง ตัวละครไม่กี่คน แม้แต่ช่วงที่คาร์เนจอาละวาดหนักสุด เราก็ไม่ได้เห็นความหวาดผวาของเมืองมากเท่าที่ควร ราวกับว่าไม่มีใครรู้เลยว่ามีปีศาจระดับภัยพิบัติอาละวาดอยู่กลางเมืองนอกจากพวกตัวเอกที่เกี่ยวข้องโดยตรง
แต่ที่ต่างจากภาคแรกมากสุดคือ ดูเหมือนเซอร์คิสก็อาจจะมีไอเดียที่อยากยกระดับการเล่าเรื่องเวนอมให้หนักขึ้น ซับซ้อนขึ้น เป็นหนังสำหรับผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ต้องใช้คำว่า อาจจะ เพราะเราเห็นร่องรอยการปะผุแก้การเล่าเรื่องอยู่หลายครั้ง ที่พอเดาได้ว่าหนังเคยมีอีกเวอร์ชันที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องในอีกแบบ ซึ่งเดาว่าในตอนแรก ฟรานเซส บาร์ริสัน ตัวละครของ นาโอมี แฮร์ริส (Naomie Harris) น่าจะไม่ได้ถูกเปิดเผยตั้งแต่ต้นเรื่อง และทำให้การกระทำของตัวละคร คลีตัส แคสซาดี ของ วูดดี ฮาร์เรลสัน (Woody Harrelson) ที่เชื้อเชิญบล็อกให้มาทำข่าวนั้นชวนเป็นปริศนาและลึกลับ คล้ายการต้อนเล่นของฆาตกรอัจฉริยะกับผู้สัมภาษณ์ใน ‘The Silence of the Lambs’ (1991) และจะทำให้การกระทำของ นักสืบมัลลิแกน ที่รับบทโดย สตีเฟน กราแฮม (Stephen Graham) ที่ดูผิดแปลกในบางฉากอยู่ในหนังตอนนี้นั้นดูสมเหตุสมผลขึ้นทันที (และเป็นจุดที่ทำให้เดาว่าหนังน่าจะเคยเล่าอีกแบบมาก่อน)
และแม้หนังจะมีศักยภาพที่หนักขึ้นได้ โหดขึ้นได้ เป็นหนังเรต R เต็มตัว เพราะเมื่อรวมกับเรื่องที่เวนอมกับคาร์เนจนั้นต้องมีการเขมือบหัวคนสด ๆ โชว์หน้ากล้องตั้งแต่ภาคแรกอยู่แล้ว ยิ่งในภาคนี้ร่างหลักของคาร์เนจเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่บารมีความน่ากลัวน่าจะมีมากกว่าตัวร้ายอย่าง ไรออต ในภาคแรกที่อย่างน้อยฉากการต่อสู้ของไรออตกับเวนอมมันก็ดุดัน ยิ่งใหญ่ และเร้าใจ
แต่สุดท้าย ‘Venom: Let There Be Carnage’ ก็ยังติดกับเรต PG-13 และความพยายามเป็นหนังตามสูตรที่ใครก็เข้าใจง่ายจนมากเกินไป จึงทำให้หนังไม่พยายามทำตัวมีเหตุมีผล มีความเป็นคนที่มีชีวิตจิตใจจริง ๆ เท่าไร เหมือนเรากำลังดูตัวการ์ตูนที่ทำสิ่งต่าง ๆ เพราะมันเขียนอยู่ในบท เพื่อให้มันเกิดฉากถัดไปและถัดไปอยู่เสมอ จนเหมือนฉากชนฉาก ไม่มีเวลาให้กับการเล่าความคิดจิตใจตัวละครอย่างจริงจัง จนหนังมีความยาวเพียง 97 นาที น้อยที่สุดในบรรดาหนังฮีโรในปัจจุบันกันเลยทีเดียว และน่าเสียดายที่หนังได้นักแสดงมากฝีมือมามากมาย แต่แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากจุดนี้
หลายการกระทำอย่างการย้อนคิดถึงอดีตก็ดูเชยและยัดเยียดเกินจำเป็นอย่างเห็นได้ชัด ฉากต่อสู้ก็ไม่ได้โดดเด่นจนรู้สึกคาร์เนจมีเอกลักษณ์อะไรน่าจดจำนัก นอกไปจากฉากการเปลี่ยนร่างที่ดูน่าสยดสยองขึ้น เมื่อเทียบกับไรออตที่เปลี่ยนอวัยวะเป็นอาวุธหลายรูปแบบขณะสู้ยังดูมีอะไรให้เล่นได้มากกว่า
มุกที่พยายามใส่เข้ามาก็ออกทางฝืดเสียส่วนมาก เหมือนเอาผู้ใหญ่ที่ไม่ทันมุกสมัยใหม่มาคิดบทให้คนดูหนังรุ่นใหม่ขำ ดูแค่วัตถุดิบของหนังจริงแล้วมันน่าจะเป็นหนังคู่หูตลกร้ายที่มีตัวชงตัวตบได้ตลอดเวลาแบบสนุก ๆ เลย แต่มันก็ไปไม่ถึง กลายเป็นหนังแอนตี้ฮีโรที่ดูเพลิน ๆ ให้มันจบไป เพื่อเอาข้อมูลไปดูเรื่องอื่นในจักรวาลสไปเดอร์เวิร์สต่อเท่านั้น
และทำให้ส่วนที่เจ๋งที่สุดของหนังอาจเป็นการเผยรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ส่งผลต่อในหนังเรื่องอื่นอย่าง ฉากหนึ่งของนักสืบมัลลิแกนในช่วงหลัง หรือฉากหลังเครดิตของหนังที่ยาวเพียงไม่กี่วินาทีแต่น่าตื่นเต้นได้มากกว่าหนังทั้งเรื่องเสียอีก และไอ้ไม่กี่วินาทีที่ว่านี้ล่ะก็อาจเพียงพอแล้วที่ทำให้ต้องดูหนังเรื่องนี้ และอาจสำคัญมากสำหรับใครที่รอดู ‘Spider-Man: No Way Home’ (2021) ด้วย
หนังเข้ารอบพิเศษตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ก่อนเข้าฉายจริงวันที่ 2 ธันวาคม ใครกลัวสปอยล์ต้องรีบไปชมเลยครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส