Release Date
02/12/2021
แนว
แอ็กชัน/ดราม่า
ความยาว
2.00 ชม. (120 นาที)
เรตผู้ชม
น 15+
ผู้กำกับ
ภวัต พนังคศิริ
Our score
5.2อโยธยา มหาละลวย | Om! Crush on Me
จุดเด่น
- ตัวธีมหนังแปลกใหม่ เป็นหนังมูเตลูสายสว่าง
- หยิบเอาเกร็ดประวัติศาสตร์มาต่อยอดได้น่าสนใจ
- แอ็กชันถือว่าโอเค ตัวละครรองมีสีสันดี ส่วนเจมส์จิ-โบว์ เคมีถือว่าโอเค
- โบว์ เมลดา ขึ้นกล้องมาก
- โปรดักชันพอใช้ได้ มีความน่าสงสัยและเหมือนละครทีวีบ้างในบางจุด
จุดสังเกต
- บทพูดและคำศัพท์แกะคำอ่านแบบโบราณมาเลย ทำให้ไดอะล็อกหลาย ๆ จุดดูแข็ง ๆ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ บางครั้งก็พานักแสดงบางคนให้เล่นแข็งไปด้วย
- พล็อตเรื่องธรรมดาไม่ได้หวือหวา
- การเล่าเรื่องค่อนข้างช้า พล็อต บท และการตัดต่อยังมีรอยโหว่ เนื้อเรื่องโดยรวมห้วนไม่ค่อยกลม
- เสียดายธีมความเป็นสายมู ที่น่าจะสอดแทรกได้มากและน่าสนใจกว่านี้
- ฉากต่อเพลงฉ่อยดูแปร่ง ๆ ไม่ต้องมีก็ได้
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
5.5
-
คุณภาพงานสร้าง
6.2
-
คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง
5.2
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
3.7
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
5.4
เรื่องย่อ ในยุคสมัยแห่งการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ อโยธยาตกอยู่ในความวุ่นวาย และการเข้ามาของต่างชาติ ยังมีตำนานความรักที่ไม่เคยถูกบอกเล่าที่ไหน ‘เรียวสึ’ (จิรายุ ตั้งศรีสุข) ชายหนุ่มผู้ออกตามหาชาติกำเนิดอันคลุมเครือ โดยมีคมดาบและคาถาเป็นศาสตราคู่กาย ระหว่างทางเขาได้พบรักกับ ‘ออสายสร้อย’ (เมลดา สุศรี) หญิงงามที่กำลังจะตกไปเป็นคู่ครองของ ชายสูงศักดิ์ผู้เป็นหน่อเชื้อชนชั้นสูงในราชสำนัก ผู้เพียบพร้อมทั้งอำนาจ บริวาร ศิลปะการต่อสู้และมนตร์อาคมระดับพระกาฬ ทำให้เรียวสึต้องต่อสู้ด้วยทั้งชีวิตและศักดิ์ศรี เพื่อให้ได้มาซึ่งรักแท้หนึ่งเดียว และคำตอบว่า เขาคือใคร
‘อโยธยา มหาละลวย’ ผลงานการกำกับของ ‘ภวัต พนังคศิริ’ ที่แจ้งเกิดจากการกำกับละครพีเรียด ‘บุพเพสันนิวาส’ และ ‘เฮ้ย!ลูกเพ่ นี่ลูกพ่อ’ (2563) ตัวเรื่องเล่าเรื่องในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ปลายราชวงศ์ปราสาททอง) ที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติมากมายที่เข้ามาอาศัยและทำงานถวายบนแผ่นดินอโยธยา ‘ออกญาคชบาล’ (ศรุต วิจิตรานนท์) ได้กระทำตามสัจจะที่ให้ไว้แก่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ต้นราชวงศ์ปราสาททอง) ว่าจะออกกวาดล้างตระกูลชาวญี่ปุ่น ‘ยามาดะ’ ที่ถวายความจงรักภักดีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ราชวงศ์สุโขทัย) เพื่อหวังไม่ให้ก่อการกบฏ
เหลือแต่เพียงเด็กน้อย ‘เรียวสึ’ (จิรายุ ตั้งศรีสุข) ที่รอดชีวิตมาได้ และได้รับการชุบเลี้ยง สอนวิชาคาถาอาคมให้ เมื่อโตเป็นหนุ่ม เขาและ ‘ทอง’ (สพล อัศวมั่นคง) วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่หลวงตามอบให้ จึงต้องออกตามหาแม่ที่แท้จริง พร้อมกับตามหา ‘ออสายสร้อย’ (เมลดา สุศรี) อี้จี (คณิกาชั้นสูง) ผู้งดงามประจำโรงชำเรา ที่กำลังถูก ‘ขวัญ’ (ธนบดี ใจเย็น) บุตรของออกญาคชบาลชิงตัวไป โดยมีชาวอินเดียอย่าง ‘อาซิม’ (พงศกร วงศ์เพียร) และ ‘จีนล้ง’ (วิศรุต หิมรัตน์) เพื่อนชาวจีนคอยตามติดไปช่วยเหลือเรียวสึด้วย
จริง ๆ แล้วจะเห็นว่าตัวหนังมีจุดเด่นสำคัญคือเรื่องของการหยิบเอาเกร็ดประวัติศาสตร์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีบันทึกอยู่จริงมาต่อยอดได้อย่างน่าสนใจครับ อย่างเช่นเรื่องของชาวต่างชาติที่ติดต่ออาศัยมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม จนกลายเป็นชุมชนใหญ่ในแผ่นดินพระนารายณ์ รวมทั้งตัวละครที่สร้างขึ้นจากบุคคลจริง เช่น ‘ออกญาคชบาล’ ที่จะครองราชย์เป็น ‘สมเด็จพระเพทราชา’ (ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง) (พระเพทราชาในละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ก็แสดงโดย ศรุต วิจิตรานนท์ ด้วยเช่นกัน) ส่วน ‘ขวัญ’ (ธนบดี ใจเย็น) บุตรชาย ก็หยิบเอาคาแรกเตอร์มาจาก ‘เดื่อ’ ที่จะขึ้นครองราชย์เป็น ‘สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8’ หรือ ‘พระเจ้าเสือ’ ที่ครองราชย์ต่อจากผู้เป็นพ่อนั่นเอง
โดยที่ผู้กำกับ (ภวัต พนังคศิริ) เองได้หยิบเอาเกร็ดเบี้ยบ้ายรายทางจากในละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่เคยกำกับเอาไว้ และที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์มารวมกัน พร้อมกับแต่งเรื่องขึ้นใหม่ ซึ่งเกร็ดประวัติศาสตร์นี่แหละที่ผู้เขียนมองว่าเป็นจุดเด่นที่ทำได้ค่อนข้างดีเลยครับ เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ น่าค้นหาเรื่องอ่านต่อเลยแหละ โดยเฉพาะเกร็ดเกี่ยวกับชาวต่างชาติในอโยธยา หรือการเรียก ‘ออสายสร้อย’ ว่าเป็น ‘อี้จี’ ที่เป็นคณิกาชั้นสูงที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์จีนมาผสมผสานใหม่ รวมทั้งการผสมผสานเรื่องของคาถาอาคม คาถา รอยสัก ของขลัง อย่างที่หน้าหนัง จั่วหัวเอาไว้ว่าหนังเรื่องนี้เป็น ‘ภาพยนตร์รักสายมู’ (มูเตลู) ซึ่งมันก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
เพราะเรามักจะคุ้นเคยกับหนังไทยที่มักจะเล่าเรื่องไสยศาสตร์ คาถาอาคม เล่ห์กลมนตร์ขลังในโทนและเรื่องราวด้านมืดทั้งนั้น น้อยมากที่จะเห็นใครเอาไสยศาสตร์แบบไทย ๆ มาเล่าในมุมมองของความเป็นแอ็กชันโรแมนติกคอเมดี เป็นแนวมูเตลูสายขาวว่างั้นเถอะ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ตัวธีมมูเตลูนั้นกลับไม่ได้ถูกพูดถึงหรือให้ความสำคัญใน 2 องก์แรกของหนังเสียอย่างนั้น ต้องรอจนถึงตอนไคลแมกซ์จริง ๆ ถึงจะรู้ว่าสายมูในหนังมันสำคัญอย่างไรต่อเนื้อเรื่องบ้าง ซึ่งผู้เขียนมองว่า ค่อนข้างน่าเสียดายที่น่าจะเอาธีม ‘หนังรักสายมู’ มาใช้ให้ได้มากกว่านี้
การดีไซน์การนำเสนอมูเตลูอีกอย่างที่ผู้เขียนมองว่าแปลก ๆ ดีนั่นก็คือ การให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นหนุ่มหล่อที่ชื่อว่า ‘ทอง’ ที่ไม่ใช่แค่ห้อยคอ แต่ออกมาเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่มีตัวตน เป็นเพื่อนคุย และบางครั้งก็คอยเตือนคอยห้ามเรียวสึไม่ให้ทำอะไรห่าม ๆ ได้ ซึ่งผู้เขียนยอมรับว่าแอบคิดถึง ‘โดเรมอน’ นิดหน่อยเหมือนกันนะครับ (555) โดยเฉพาะที่ทองที่คอยเตือน และแอบมาช่วยเหลือเรียวสึในยามขับขัน นี่มันโดเรมอนกับโนบิตะ แบตแมนกับโรบินชัด ๆ (555) ผู้เขียนคิดว่าทองเป็นคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจครับ แต่เสียดายที่ตัวบททำให้ทองมีบทบาทในหนังน้อยไปหน่อย และก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธีมสายมูของหนังถูกลดบทบาทลงใน 2 องก์แรกไปด้วย
ส่วนในแง่ตัวละคร จริง ๆ ผู้เขียนเองแอบเทความประทับใจให้กับตัวละครรองมากกว่าตัวละครหลักครับ โดยเฉพาะ ‘อาซิม’ และ ‘จีนล้ง’ ที่สร้างสีสันได้ดี ส่วนตัวละครหลักอย่าง ‘โบว์ เมลดา’ และ ‘เจมส์ จิรายุ’ นั้นถือว่าเคมีเข้ากันได้ค่อนข้างโอเคครับ แม้ว่าจะมีเกร็ง ๆ บ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนเองมองว่า น้องโบว์นี่ขึ้นกล้องดีแฮะ ส่วนเรื่องแอ็กชัน ก็ถือว่าทำได้ตามมาตรฐาน
แต่สิ่งที่ผู้เขียนเองรู้สึกว่าไม่ค่อยเวิร์กก็คือ การแสดงโดยใช้บทพูดแนวพีเรียด ที่ดันใช้คำอ่านมาแทนคำพูด แถมยังใช้ในหนังแบบไม่สม่ำเสมออีกต่างหาก ผลก็คือมันทำให้การแสดงโดยรวมดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาตินัก ซ้ำร้าย ยิ่งพาให้ตัวละครบางตัวที่คาแรกเตอร์จัด ๆ เช่นเป็นคนจีนพูดไทย หรือนักแสดงสมทบที่ฝีมือการแสดงยังไม่แน่นพอนี่ถึงกับกลายเป็น “เล่นแข็ง” โดยไม่เจตนาซะงั้น ลำพังเล่นแข็งอยู่แล้ว เจอภาษาโบราณเข้าไปนี่คือเหมือนอ่านพงศาวดารให้ฟังเลย รวมทั้งบทบาทในหลาย ๆ ฉากที่ไม่เมกเซนส์ และฉากที่ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าไม่ต้องมีก็ได้คือ ฉากมิวสิคัลต่อเพลงฉ่อยในโรงชำเรา คือเนื้อเพลงกับการร้องมันดูแปร่งจริง ๆ นะครับ
แต่สิ่งที่ทำให้มนตร์คาถาของหนังเรื่องนี้จะดูไม่ค่อยขลังเท่าไหร่ก็คือบท พล็อต และการตัดต่อครับ แม้ว่าตัวหนังเองจะมีธีมที่น่าสนใจ แต่ด้วยตัวบทเองกลับมีปัญหา นอกจากเรื่องธีมที่ยังนำเสนอได้ไม่ค่อยสุดแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องพล็อตที่จริง ๆ แล้วมีอยู่ประมาณหนึ่ง แต่ตัวบทกลับจับจุดหนังได้ไม่ดีพอ ทำให้ตัวหนังเกิดอาการมนตร์คาถาเสื่อมจนไม่รู้ว่าจะโฟกัสว่าจะเล่าเรื่องรัก ๆ ดี จะเล่าเรื่องการตามหาแม่ดี หรือจะเล่าเรื่องการแก้แค้นระหว่างเรียวสึกับออกญาคชบาลกันแน่
รวมถึงตัวบทที่เล่าอย่างเนิบช้าและไม่ได้ให้ส่งให้คนดูเห็นว่าตัวละครแต่ละตัวเป็นอย่างไร ก็ยิ่งทำให้ตัวละครขับเคลื่อนไปแบบแห้งและเนิบช้า และยิ่งกระหน่ำซ้ำด้วยการตัดต่อที่ทำให้การเล่าเรื่องไม่ลื่นไหลเลย ทำให้ตัวหนังเล่าเรื่องแบบตัดปะ ถ้าดูเจาะเป็นซีน ๆ ก็โอเค แต่มันทำให้การเดินเรื่องในภาพรวมติดขัดมาก ๆ ทั้งหมดนี้ก็เลยทำให้ตัวหนังยังมีรอยโหว่ และทำให้เนื้อเรื่องโดยรวมเกิดอาการขาดห้วงและเล่าเรื่องได้ไม่กลมเท่าไหร่
โดยรวมแล้ว สำหรับแฟน ๆ ของ ‘เจมส์ จิรายุ’ และ ‘โบว์ เมลดา’ ก็น่าจะชื่นชอบการแสดงของทั้งคู่นะครับ เพราะโดยรวม ๆ ก็ถือว่าเป็นหนังที่ดูเอาเพลิน ๆ หรือดูแล้วก็อาจจะเกิดความอยากไปศึกษาด้านประวัติศาสตร์อยุธยาต่อ อะไรแบบนี้ แต่ด้วยบทและการตัดต่อที่มีปัญหา ธีมสายมูที่ดูจะยังไม่ค่อยจริงจังลงลึกเท่าที่ควร รวมทั้งไดอะล็อกและการแสดงที่ยังขาด ๆ เกิน ๆ ก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังมูเตลู ที่ยังไม่ทันท่องมนต์จบ ก็ดันเป่าเสกคาถาโอมเพี้ยงเสียก่อนแล้ว