Release Date
09/12/2021
ความยาว
6 ตอน ตอนละ 90 นาที
Our score
7.5Dark App แอป ป่วน เมือง
จุดเด่น
- ไอเดียน่าสนใจ มีการสร้างตัวละครที่น่าสนใจ สร้ามปมขัดแย้งภายในและภายนอกตัวละครได้หลายระดับน่าสนใจ เลือกตัวแสดงได้ดีโดยเฉพาะกลุ่มตัวหลัก มีความจริงจังและดาร์กขึ้นจาก APP WAR และโปรดักชันที่มีคุณภาพขายเมืองนอกได้
จุดสังเกต
- ยังมีจุดบกพร่องให้เห็นบ้างทั้งรายละเอียดในพร็อพ ฉาก การคัดเลือกนักแสดงฝั่งตัวร้ายทำได้ไม่ค่อยดีนักขาดเสน่ห์และบารมีความน่ากลัว ฉากแอ็กชันใหญ่ยังมีปัญหาทั้งสเกลและความลุ้นน่าติดตาม อาจเพราะไม่ใช่ทางถนัดเท่าดราม่าหรือฉากโรแมนติกก็เป็นได้
-
บท
8.0
-
โปรดักชัน
7.5
-
การแสดง
8.5
-
ความสนุกตามแนวหนัง
7.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
7.5
เรื่องย่อ: จากอดีตเพื่อนร่วมทำแอปดาวรุ่งในสมัยเรียน เกียร์ และ พลอย ต่างต้องแยกย้ายกันไปเพราะคดีเก่าที่ทำให้พวกเขาติดแบล็กลิสต์ในวงการไอที แต่โชคชะตาก็ชักพาทั้งคู่ให้บังเอิญกลับคืนสู่สังเวียนผู้พัฒนาแอปอีกครั้ง โดยแอปของพวกเขาดันกลายเป็นคู่แข่งขั้วตรงข้ามกันอย่างไม่รู้ตัว ในขณะที่พลอยกำลังพัฒนาแอปสายสว่าง เกียร์ก็หันเข้าสู่แอปด้านมืด การปะทะกันนำสู่สงครามแอปที่สุดท้ายบานปลายกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ
ซีรีส์ไทยแท้จากค่ายโมโนเรื่องนี้เป็นโปรเจกต์ที่เราได้ยินข่าวคราวมานานพอสมควร ด้วยจั่วหัวว่าจะเป็นการพัฒนาจักรวาลของหนัง ‘APP WAR แอปชนแอป’ ในปี 2561 ให้กว้างออกไปมากขึ้น โดยตัวหนังในตอนนั้นจัดเป็นหนังม้ามืดนอกสายตาใครหลายคนด้วยดารานักแสดงที่จัดว่าไม่คุ้นหน้านัก บางคนก็นับว่าเปิดซิงการแสดงเลยอย่างเช่น อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ หรือ อร BNK48 ที่สร้างความฮือฮาในหมู่แฟนคลับได้ไม่น้อย
ในขณะที่ฝั่งหน้าหนังหรือเนื้อหานั้นก็จัดว่าโดดเด่นทีเดียว เพราะเป็นการเล่าเรื่องวงการสตาร์ทอัปแอปพลิเคชัน ซึ่งจัดเป็นเรื่องใหม่มาก ยิ่งในแวดวงสื่อบันเทิงไทยด้วยแล้ว และเอาเข้าจริงแล้วสำหรับสื่อบันเทิงเมืองนอกเองก็ยังถือว่าล้ำไม่น้อยทีเดียว เพราะซีรีส์อย่าง ‘Start-Up’ ของเน็ตฟลิกซ์ที่ดังทั่วบ้านทั่วเมืองก็ยังออกมาตามหลังจากนั้นถึง 2 ปีเลยด้วย เรียกว่าค่าย T Moment ในขณะนั้นเป็นค่ายที่วิสัยทัศน์นำหน้าอยู่ไม่น้อย และแม้คนดูทั่วไปอาจยังตั้งตัวรับของใหม่ไม่ทัน แต่ด้านเสียงคำชื่นชมของคนที่ได้ดูก็ต้องนับว่าประสบความสำเร็จไปมากทีเดียว
ซีรีส์ ‘Dark App’ เองก็สานต่อคำชื่นชมนั้นมาได้น่าสนใจ โดยยกทีมงานเดิมอย่างผู้กำกับ เสือ-ยรรยง คุรุอังกูร หวนมาร่วมกำกับกับผู้กำกับหน้าใหม่อย่าง ฉัตรชัย หงส์ศิริกุล ที่เคยร่วมงานกันใน ‘Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่’ (2563) โดยตอนนั้นฉัตรชัยร่วมเขียนบทให้ยรรยงกำกับ แต่มารอบนี้เขาทั้งนั่งแท่นเขียนบทและร่วมกำกับด้วยแล้ว โดยในทีมเขียนบทยังดึง 2 มือเขียนบทเดิมจาก ‘APP WAR’ มาสานต่อผลงานด้วย ต้องนับว่าค่ายโมโนมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานไม่น้อยในการสร้างจักรวาลของ ‘APP WAR’ ออกไป เรียกได้ว่ามีความพยายามสร้างสรรค์ซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่งของไทยทีเดียว
เนื้อหาใน ‘Dark App’ เป็นการเชื่อมต่ออย่างหลวม ๆ กับฉบับหนัง แต่มีความโตขึ้นไม่ได้พูดถึงวงการนี้อย่างสดใสสวยงามอย่างเดียวอีกแล้ว โดยใช้ตัวละครกลุ่มใหม่ที่มีปมปัญหาแตกต่างจากกลุ่มตัวละครเก่าชัดเจน กระนั้นก็ยังคงมีลายเซ็นในการเล่าผ่านการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มผู้ชายเช่นเดิม ซึ่งเพิ่มมิติไปอีกว่าทั้งคู่มีปมในอดีตร่วมกันแบบเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดมาก่อน จากเพื่อนที่รู้ใจกันแต่ต้องแตกหักเพราะเรื่องธุรกิจก่อนจะต่างเติบโตแยกย้ายกันไปแล้วกลับมาเจอกันใหม่ด้วยความบังเอิญในช่วงวัยที่โตขึ้น มองโลกสีเทาขึ้นไม่ใช่ผ้าขาวอ่อนประสบการณ์อีกแล้ว มีการลงไปหยิบใช้เรื่องความสีเทาในแวดวงธุรกิจไอที และด้านมืดของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างเช่นดาร์กเว็บมาเป็นจุดขายได้อย่างน่าสนใจ
การเกิดขึ้นของแอปของแต่ละฝั่งตัวเอกเป็นอีกไอเดียที่น่าสนใจ เมื่อเกียร์และพลอยต่างบังเอิญเห็นเหตุการณ์โจรวิ่งราวกระเป๋าคุณป้าคนหนึ่งพร้อมกันจากคนละฝั่งถนน แล้วเกิดไอเดียสร้างแอปที่แตกต่างกัน พลอยอยากทำแอปที่คนสามารถลงขอความช่วยเหลือแล้วให้คนอื่น ๆ ที่อยากเป็นฮีโร่กดรับเพื่อไปช่วยเหลือได้ในชื่อ Alliance ในขณะที่เกียร์อยากทำแอปสายเถื่อนให้เหยื่อของเหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ มาขอใครสักคนไปแก้แค้นแทนได้ในชื่อ Foeman ยิ่งการออกแบบโลโก้ที่ล้อเลียนกันอย่างไม่รู้ตัว ของพลอยเป็นตัว A ที่เหมือนสามเหลี่ยมชี้ขึ้นแสดงถึงความดี ส่วนเกียร์เป็นตัว F ที่ออกแบบเหมือนสามเหลี่ยมที่ชี้ลงล่างแสดงถึงความเลวร้าย ก็ทำให้เห็นว่าทีมงานตั้งใจคิดมาพิถีพิถันทีเดียว
ดูจากโปรดักชันทั้งการออกแบบฉาก การกำกับภาพ การคิดกราฟิกต่าง ๆ ต้องยอมรับว่านี่เป็นซีรีส์ที่มีศักยภาพในฉบับโกอินเตอร์ได้เรื่องหนึ่งเลย
ด้านนักแสดงถือว่าเลือกตัวหลักได้ดีมาก ๆ ทั้ง ญดา-นริลญา กุลมงคลเพชร ในบทพลอย ซึ่งเธอเพิ่งผ่านงานหนังข้ามชาติอย่าง ‘ร่างทรง’ มาหมาด ๆ เรียกได้ว่าจังหวะทองคำทีเดียวที่ซีรีส์ลงฉายแทบต่อจากหนัง และเธอก็สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเป็นนักแสดงสายฝีมือรุ่นใหม่คนหนึ่งด้วย ฝั่งตัวหลักฝ่ายชายอย่างเกียร์ก็ได้ จี๋-สุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตร ลูกชายของนักร้องดังอย่าง เจี๊ยบ พิสุทธิ์ มานำแสดงในฐานะผลงานเรื่องแรก ๆ ซึ่งด้วยใบหน้าที่เก๋น่ามอง ยิ่งมาในบทเท่ ๆ กวน ๆ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการตรึงสายตาผู้ชมอยู่ไม่น้อย
นอกจากนี้ยังมีนักแสดงสมทบฝีมือเยี่ยมมาแจมทั้ง เบสท์-ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์ ในบทบาท แม็กซ์ เพื่อนในแวดวงไอทีสีเทาของเกียร์ ซึ่งบทนี้ก็เรียกได้ว่าเบสท์เคยเล่นมาช่ำชองแล้วกับแนวบ้า ๆ กวน ๆ เรียกว่าหายห่วง ยิงมีช่วงให้โชว์ด้านอ่อนไหวดราม่าเบสท์ก็ยิ่งแผลงฤทธิ์ได้มากไปอีก ส่วนเพื่อนสาวฝั่งนางเอกก็ได้ นีน่า-นิชนารถ พรหมมาตร นางเอกรุ่นใหม่ที่เคยเป็นอดีตเพื่อนร่วมวงเกิร์ลกรุ๊ป Gelato ในค่ายโมโนร่วมกับ ญดา-นริลญา ตั้งแต่สมัยยังใช้ชื่อ เบนซ์-ณัฐธิดา ตรีชัยยะ อยู่ การกลับมาเล่นเป็นเพื่อนซี้กันรอบนี้ก็เลยดูเคมีเข้ากันไม่เคอะเขินกันแต่อย่างใด
และยังมีนักแสดงสมทบที่ส่วนตัวคิดว่าเจ๋งหลายคนอยากให้ไปเซอร์ไพรส์ด้วยตนเอง แต่มี 2 ตัวละครสมทบที่เป็นหัวใจของเรื่องที่ต้องพูดถึงเลย คือ จาตุรงค์ พลบูรณ์ หรือจาตุรงค์ มกจ๊ก ในบทอาสากู้ภัยที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่อง และจาตุรงค์ก็ใช้ด้านจริงจังไม่ตลกของเขาเล่นออกมาได้ถึงอารมณ์มาก ๆ และอีกหนึ่งตัวละครที่มาครองใจได้แบบม้ามืดคือตัวละคร บั๊ก เด็กซื้อของให้พวกพระเอกที่รับบทโดย ไบรท์-กษิดิศ ลิ่มรัตนะมงคล ตัวละครทั้งคู่นี้ทำให้รู้สึกได้เลยว่าซีรีส์เรื่องนี้มีของเอามาก ๆ ดีไม่ดีออกแบบตัวละครมาได้ดีกว่าตัวหลักบางตัวเสียอีก
แต่สำหรับการเลือกนักแสดงฝั่งตัวร้ายกลับเลือกมาได้ไม่ค่อยดีนักอย่างเช่นตัวละคร เสี่ยก๊อป ที่เป็นตัวร้ายดำสนิทแบบหน้าเดียวของเรื่อง แต่กลับสร้างพลังกดดันตัวพระเอกนางเอกได้น้อยไปหน่อย อาจเพราะการแสดงของ เทพ-พงศ์เทพ อนุรัตน์ ที่ไม่ค่อยเข้ากับตัวละครได้ดีนักทั้งกายภาพเขาที่ไม่ได้คุกคามคนอื่นได้ และองค์ประกอบร่วมอย่างน้ำเสียงเล็กแหลมที่ไม่ได้มีอำนาจ พอรวมกับพวกลูกน้องที่ไม่ได้รู้สึกถึงความน่ากลัว ทำให้พลังกดดันข่มขู่ใส่ฝั่งตัวเอกในเรื่องจึงต้องมาจากปมปัญหาที่พันยุ่งเหยิงมากกว่าจะมาจากตัวบุคคล และทำให้ซีรีส์ไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จที่ว่าหนังฮีโร่ที่ดีมาจากตัวร้ายที่น่าจดจำนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในซีรีส์เรื่องนี้
ส่วนที่ดีมาก ๆ ของหนังนอกจากความพิถีพิถันในการคิดรายละเอียดของเรื่อง และการให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลเรื่องไอทีกับคนดูที่ไม่คุ้นชินด้วยการขึ้นคำอธิบายศัพท์ที่ตัวละครพูดถึง รวมถึงการใช้หน้าจอโปรแกรมเมอร์ที่ดูเป็นโปรแกรมเมอร์จริง ๆ เป็นต้นนั้น ก็คือการแฝงนัยวิพากษ์สังคมยุคใหม่อยู่ในที การใช้ขั้วตรงข้ามความขัดแย้งหลายระดับสามารถสะท้อนแง่มุมต่าง ๆ ได้น่าสนใจ คนดีที่สร้างแอปให้คนชั่วใช้อย่างไม่ตั้งใจเพราะมองผลกระทบไม่ออก คนดีที่อยากทำดีแต่ด้วยวิธีการที่ผิดจนกลายเป็นความชั่วร้ายเสียเอง หรือพวกคนไม่ดีที่แฝงตัวในคราบคนดี ล้วนเป็นเรื่องที่พบเจอได้ในสังคม แต่พอมาอยู่ในเรื่องเดียวกันก็กลายเป็นความซับซ้อนที่น่าสนใจเกิดสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยากและลุ้นระทึกไม่น้อย
ยิ่งรวมถึงการนำเสนอเรื่องภัยทางไซเบอร์ใหม่ ๆ ที่ช่วยกระตุ้นเตือนคนที่ใช้เทคโนโลยีทุกวันนี้ให้รู้ว่ายังมีด้านมืดซ่อนอยู่อีกมากที่ต้องระมัดระวังในการใช้งาน และการไม่ชี้นำเกินไปแต่บอกว่าเทคโนโลยีก็เป็นเพียงเครื่องมืออำนวยความสะดวกหนึ่งคนจะเอาไปใช้ทำดีก็ได้ทำชั่วก็ได้ การให้การศึกษาแก่คนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ก็ยิ่งรู้สึกชื่นชมทีมสร้างเอามาก ๆ
และแม้ซีรีส์จะมีส่วนที่ดีไม่น้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่าซีรีส์เองกว่าจะดูสนุกและลื่นไหลจริง ๆ ก็ปาเข้าไปตอนที่ 3 ช่วงหลัง ๆ ไปแล้วที่สามารถดูสนุกแบบไม่อยากหยุดดูเลย เพราะต้องรอให้ตัวละครและสถานการณ์ที่ถูกปูมาพอสมควรแล้วเริ่มทำงานเสียก่อน ซึ่งย้ำให้เห็นว่าการเล่าเรื่องช่วงแรกมีปัญหาในการเชื่อมโยงความเข้าใจผู้ชมอยู่ไม่น้อย อาจด้วยความจงใจที่จะหลอกผู้ชมให้เข้าใจไปอีกอย่างมากเกินไป และโปรยคำใบ้ให้ผู้ชมน้อยเกินไปว่าตัวละครกำลังคิดอีกอย่างต่างจากสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ด้วย ซึ่งพอส่วนที่พร่องนี้มีมากเกินไปก็ทำให้รู้สึกว่าตัวละครมีอารมณ์ที่เหวี่ยงไปมาเข้าใจได้ยาก และสับสนกับการติดตามเรื่องราว ขนาดที่ว่ากว่าจะเข้าใจว่าปมอดีตของพระเอกนางเอกคืออะไรก็ค่อนเรื่องไปแล้ว และแม้ในภายหลังซีรีส์จะให้เราเห็นเหตุผลปิดได้แทบทุกปมว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้นอยู่ก็ตาม แต่ก็เฉลยช้าไปสักหน่อย ทำให้ระหว่างดูเราไม่เชื่อในตัวละครไปแล้วจนเกิดความรู้สึกมวลรวมต่อเรื่องมันขาดไปไม่ปะติดปะต่ออย่างน่าเสียดาย
และซีรีส์จะกลับมากราฟความสนุกลดระดับอีกรอบในช่วงตอนสุดท้าย ที่เนื้อหาช่วงคลี่คลายเริ่มเล่นตามสูตรสำเร็จมากเกินไป และเพราะการกำกับฉากแอ็กชันหรือธริลเลอร์นั้นยังทำได้ไม่จัดเจนเท่าฉากดราม่า หรือฉากกุ๊กกิ๊กน่ารักที่ผู้กำกับทำได้ดี ซึ่งฉากแอ็กชันดันเป็นหัวใจสำคัญในช่วงท้าย และสเกลความโกลาหลที่เนื้อเรื่องปูไว้อย่างยิ่งใหญ่ระดับประเทศแต่การนำเสนอออกมาเป็นภาพยังไม่ค่อยถึง และตัวร้ายหลักก็บารมีไม่ได้สูงพอ จึงทำให้พลังโดยรวมของหนังตกลงพอสมควร
นอกจากนี้ซีรีส์ยังมีจุดยิบย่อยที่ทำให้เรารู้สึกไม่สมจริงกับตัวเรื่องอยู่บ้างเป็นระยะ เช่นการใช้สต็อกฟุตเทจของต่างประเทศมาแทนกรุงเทพ การใช้สถานที่ที่คนดูในไทยรู้ว่าไม่ใช่แน่ ๆ อย่างเอาขนส่งสายใต้มาแทนสายอีสาน ซึ่งหากขายเมืองนอกตรงนี้ก็คงไม่เป็นปัญหาอาจมองเลยผ่านไปได้ แต่ในฉากตึกร้างของพระเอกที่ถูกเอามารียูสเป็นฉากอื่นอีกรอบเพื่อความประหยัดโดยไม่ได้เซ็ตมุมใหม่หลอกผู้ชม หรือหน้าจอเขียนโค้ดที่ดันเห็นว่าเป็นการเปิดวิดีโอเล่นอยู่เพราะมีชื่อคลิปขึ้นที่ล่างจอเป็นต้น ก็เป็นความผิดพลาดที่พบเจอได้บ้างอยู่เหมือนกัน แต่ที่ไม่น่าให้อภัยที่สุดเพราะกระทบกับการรับชมอยู่พอประมาณคือการมิกซ์เสียงในฉากที่เสียงแบ็กกราวด์ดังจนฟังตัวละครพูดไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะฉากที่อยู่ในสนามบาสเก็ตบอลคือไม่สามารถฟังตัวละครพูดได้เลย เชื่อว่าอาจมีการปรับแก้เรื่องเทคนิคเหล่านี้ได้ในภายหลังและอยากให้ทำมาก ๆ เพื่อให้ซีรีส์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดยรวมเป็นซีรีส์น้ำดีที่ใช้ความยาวแบบลิมิตซีรีส์เหมือนเมืองนอกคือ 6 ตอน ตอนละชั่วโมงครึ่ง และมีองค์ประกอบที่ดูอินเตอร์มาก ๆ เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจน่าติดตาม ทั้งเรื่องของวงการไอที วงการแฮกเกอร์ ที่เล่าผ่านเรื่องราวและตัวละครที่มีมิติความสมจริงแบบโลกผู้ใหญ่มากขึ้น มีปมปัญหาที่ชวนคิดตาม มีความหลายรสหลากอารมณ์ทั้งดราม่า โรแมนติก ตื่นเต้น ชวนคิด การชิงไหวชิงพริบ แต่ก็ยังมีคงเสน่ห์ความสนุกและความน่ารักของเหล่าตัวละครที่ทำให้เราผูกพัน
ยิ่งถ้าคุณเป็นแฟนหนัง ‘APP WAR’ มาก่อนด้วย จะมีฉากที่ทำให้ตื่นเต้นไม่น้อยเลยทีเดียวกับการได้เห็นจักรวาลของหนังถูกขยายออกไปในอีกอารมณ์ และถ้าโมโนจะสานต่อไปอย่างที่ทิ้งปมไว้หลังเรื่อง ก็น่าสนใจ App War Universe นี้ไม่น้อย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส