Release Date
09/12/2021
แนว
สยองขวัญ
ความยาว
1.33 ชม. (133 นาที)
เรตผู้ชม
น 15+
ผู้กำกับ
Corinna Faith (คอรินนา เฟธ)
Our score
7.2The Power | ไฟดับ จับผี
จุดเด่น
- บรรยากาศโดยรวมของหนัง แสง เสียง มืดตึ้บได้ใจมาก ต้องดูในโรงเท่านั้นถึงจะเวิร์ก
- ตัวหนังแฝงประเด็นเฟมินิสต์ อำนาจ และชายเป็นใหญ่ไว้ได้อย่างโอเคเลย
- 'โรส วิลเลียมส์' (Rose Williams) คือตัวแบกของหนังจริง ๆ
จุดสังเกต
- ตัวหนังมืดมากแม้กลางวันแสก ๆ จนหลายคนอาจรู้สึกว่ามันมืดไป
- ตัวหนังยังมี Jump Scare เยอะพอควร
- ธีมหนังเข้าใจไม่ยาก แต่ครึ่งหลังหนังเล่นท่ายาก ปมเรื่องเลยค่อนข้างซับซ้อนพอควร คอหนังผีแมสอาจงงจนเหวอไปเลย
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
6.6
-
คุณภาพงานสร้าง
7.8
-
คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง
7.5
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
5.9
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.2
เรื่องย่อ 1974 พยาบาลสาวคนหนึ่งถูกบังคับให้ทำงานกะกลางคืนในโรงพยาบาลที่พังยับเยิน เนื่องจากคนงานเหมืองที่ตื่นตระหนกปิดไฟทั่วสหราชอาณาจักร แต่ภายในกำแพงนั้นแฝงตัวอยู่อย่างน่าสยดสยองที่คุกคามเธอและทุกคนรอบตัวเธอ
‘The Power’ หรือในชื่อไทย (แบบที่ผู้เขียนเองก็อ่านแล้วรู้สึกจึ๊ก ๆ นิดหน่อย) อย่าง ‘ไฟดับ จับผี’ เป็นหนังฟอร์มเล็กจากเกาะอังกฤษนะครับ ผลงานการกำกับภาพยนตร์โดย ‘คอรินนา เฟธ’ (Corinna Faith) แม้ในไทยอาจจะดูเป็นหนังเล็กไปหน่อย แต่ว่าเครดิตของหนังเรื่องนี้ก็ถือว่าโอเคเลย เพราะได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในหนังสยองขวัญที่ดีที่สุดประจำปี 2021 ที่ควรค่าแก่การพูดถึง (Honorable Mentions) จากเว็บไซต์จัดอันดับบันเทิง watchmojo.com และทำคะแนนมะเขือสดจากเว็บมะเขือเน่า rottentomatoes.com ได้ถึง 84%
ตัวหนังว่าด้วยเรื่องราวที่ใช้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงบนเกาะอังกฤษในปี 1974 ที่มีเหตุการณ์ประท้วงหยุดงานของคนงานในสหภาพเหมือง เพื่อตอบโต้รัฐบาลที่ไม่ตอบรับข้อเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าลดลง รัฐบาลก็เลยออกมาตรการบังคับตัดไฟในยามวิกาล ทำให้ไฟดับทั่วทั้งเกาะอังกฤษ พร้อมกับออกมาตรการบังคับให้ธุรกิจต่าง ๆ ลดวันทำงานเหลือสัปดาห์ละ 3 วัน รวมทั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ต้องทำการงดออกอากาศหลังจากสี่ทุ่มเป็นต้นไป
‘วาล’ (Rose Williams) นางพยาบาลสาวแสนซื่อที่เพิ่งจะได้เข้ามาทำงานเป็นพยาบาลฝึกหัดในราชพยาบาล (Royal London Hospital) ที่แสนจะเคร่งครัดในกฏระเบียบเป็นวันแรก จำต้องยอมเข้ากะดึกอยู่เฝ้าโรงพยาบาลในค่ำคืนที่ต้องดับไฟ และโรงพยาบาลได้เคลื่อนย้ายคนไข้บางส่วนไปไว้ที่โรงพยาบาลอื่น เธอก็เลยต้องต้องเผชิญกับความมืดมิดแต่เพียงลำพัง พร้อมกับต้องเผชิญกับพลังลึกลับอันชั่วร้ายในโรงพยาบาลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่แห่งความตาย
อย่างแรกที่ผู้เขียนประทับใจกับตัวหนังตั้งแต่วินาทีแรกก็คือ มันมืดมากครับ (555) คือมันมืดตึ้บจริง ๆ ขนาดว่ากลางวันแสก ๆ ก็ยังจัดแสงและเกรดสีให้ออกมาทึมหม่นได้ซะขนาดนั้น ซึ่งจะว่าไปก็สมกับความเป็นอังกฤษที่ฝนตกฟ้าหม่นเป็นเรื่องปกติอยู่เหมือนกันแฮะ แถมยังมีบรรยากาศแบบยุค 70’s มาบิลต์ให้ดูน่ากลัวขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งพอเป็นอะไรแบบนี้แล้ว ผู้เขียนก็เลยรู้สึกว่า ยังไงหนังเรื่องนี้ก็ต้องดูในโรงหนังเท่านั้นครับ ที่จะได้ความรู้สึกประมาณนี้ ดูผ่านทีวี ปิดไฟ ปิดผ้าม่าน ยังไงก็ไม่น่าจะเวิร์ก
และแน่นอนว่า พอเข้าสู่ช่วงกลางคืนที่ไฟดับ นี่คือเรียกได้ว่ามืดตึ้บแบบสุด ๆ ครับ มืดแบบชนิดที่ว่ามองแทบไม่เห็นมือตัวเองด้วยซ้ำ เป็นความมืดที่มีแสงน้อยมาก ยิ่งบางซีนที่ไม่ได้มีไฟตะเกียงหรือไฟฉายนี่คือเกือบมองอะไรไม่เห็นแล้ว บางห้องที่ต้องการให้มืดนี่ก็คือมืดสนิท 100% ยังดีที่ว่าการจัดแสงและองค์ประกอบภาพยังพอช่วยให้มองเห็นอะไรได้บ้างเล็กน้อย คือต่อให้เป็นความมืดที่ดูยังไงก็รู้ว่าต้องมีการจัดแสงนิดนึงแหละ ไม่งั้นกล้องถ่ายไม่ติด แต่ยังไงมันก็ออกมาดูมืดตึ้บอยู่ดี ประกอบกับบรรยากาศยุค 70’s รวมทั้งการออกแบบซาวนด์เอฟเฟกต์ที่ทำได้อย่างดี ทั้งหมดนี้เลยทำให้บรรยากาศโดยรวมในหนังมืดตึ้บที่สมจริง ไม่น่าไว้วางใจ และเขย่าขวัญสั่นประสาทจนผู้เขียนนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ไปในเวลาเดียวกัน
แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีความลึกมากกว่าหนังสยองขวัญที่มีผีออกมาในความมืดกลับเป็นเรื่องของแกนกลางเรื่องครับ ซึ่งมันกลายมาเป็นปมของหนัง ซึ่งตัวหนังเองถือว่าค่อนข้างฉลาดในการแฝงประเด็นเรื่องของสตรีนิยม ระบบอาวุโส การใช้อำนาจ กฏระเบียบอันเคร่งครัด (ที่ไม่ค่อยเมกเซนส์) รวมทั้งประเด็นความเกลียดกลัวผู้หญิงและคนต่างด้าว ที่สะท้อนผ่านคนไข้เด็กหญิงชาวอินเดีย (ที่เหมือนว่าจะมีเซนส์อะไรบางอย่าง) ที่ชื่อว่า ‘ชบา’ (Shakira Rahman)
และที่เป็นปมใหญ่ที่สุดคือเรื่องของปิตาธิปไตย หรือเรื่องของ “ชายเป็นใหญ่” ที่ถูกแอบซ่อนไว้ในด้านมืด ซึ่งตัวหนังภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘The Power’ เพื่อสื่อให้เห็นถึงพลัง ที่นอกจากจะหมายถึงพลังงานไฟฟ้า ที่ทำให้วาลต้องเจอกับความมืดตึ้บแล้ว ยังหมายถึงพลังของอำนาจ ทั้งอำนาจของสภาวะชายเป็นใหญ่ อำนาจของกฏระเบียบ อำนาจแห่งความเกลียดกลัวผู้หญิงและคนต่างด้าวที่กดทับผู้หญิง (เหล่าพยาบาลทั้งหลายและชบา)
ซึ่งในตัวหนัง วาลจะต้องถูกสิ่งเหล่านี้กดทับไปตลอดทั้งเรื่อง ก่อนที่จะค่อย ๆ เผยความเน่าเฟะของสิ่งต่่าง ๆ ออกมา วาลจะต้องเลือกให้ได้ว่าจะทำเป็นบอดใบ้ Ignorant ไปเรื่อย ๆ หรือเลือกที่จะ ‘ปลดแอก’ ผลักจากเงามืดออกไปสู่ความสว่างไสว รวมทั้งอำนาจความชั่วร้ายที่แอบอยู่ในเงามืดของเราทุกคน ไม่เว้นแม้แต่กับวาล พยาบาลสาวที่ดูไร้มลทิน ซึ่งก็ต้องชมว่า ‘โรส วิลเลียมส์’ (Rose Williams) นั้นสามารถแบกบทและสะท้อนสิ่งต่าง ๆ ในหนัง ทั้งการเผชิญหน้ากับความมืด และเผชิญกับสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ ออกมาได้ตลอดรอดฝั่งจริง ๆ แม้จะเป็นผลงานแรกของเธอก็ตาม
แต่แม้ว่าตัวหนังเองจะให้บรรยากาศมืด สั่นประสาท และไม่น่าไว้วางใจจนนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ได้ แต่ก็ต้องหมายเหตุตัวใหญ่ ๆ ไว้นะครับว่า ตัวหนังเองก็ยังพึ่งพา Jump Scare นะครับ คือความมืดก็ช่วยให้สยองขวัญได้ส่วนหนึ่ง แต่ตัวหนังก็ยังมีการพึ่งพาจังหวะตุ้งแช่อยู่ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ใส่มามากจนเกร่อ และก็มีความพยายามจะโผล่มาในจังหวะที่เดายากอยู่เหมือนกัน แต่ผู้เขียนเองก็แอบสงสัยในบางจังหวะเหมือนกันว่าจะตุ้งแช่ไปทำไมนะ ทั้ง ๆ ที่ตัวหนังเองก็มีดีในแง่ของบรรยากาศที่ชวนขนลุกและไม่น่าไว้วางใจอยู่แล้ว
อีกจุดสำคัญที่ถือว่าเป็นจุดสังเกตคือ ตัวหนังปูเรื่องและเริ่มคลายปมได้ค่อนข้างช้าเลยครับ ทำให้ตัวหนังค่อนข้างเอื่อยในบางจังหวะ รวมทั้งจังหวะการตัดต่อและวางพล็อตที่ค่อนข้างซับซ้อนเล่นท่ายาก แม้ว่าสารหรือประเด็นของตัวหนังเองจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่มันก็ทำให้การคลายปมเรื่องมีความซับซ้อนพอสมควร แม้ว่าตัวหนังจะพยายามให้เบาะแสรายทางมาโดยตลอด ทำให้ตัวหนังในช่วงครึ่งหลังต้องใช้พลังงานในการปะติดปะต่อ ไขปริศนาปมปัญหาที่ซับซ้อนกันอยู่พอสมควร ซึ่งผู้เขียนคิดว่า ถ้าเล่าด้วยท่าง่ายกว่านี้ อาจทำให้ธีมเรื่องเกี่ยวกับอำนาจนิยม หรือชายเป็นใหญ่ รวมทั้งการปลดแอกจากพลังอำนาจที่กดทับ มีความทรงพลังกว่านี้ก็เป็นได้
สรุปโดยรวม แม้ผู้เขียนเองจะรู้สึกยุกยิกกับชื่อไทย ‘ไฟดับ จับผี’ นิดหน่อยยังไงไม่รู้แฮะ (555) แต่ก็นั่นแหละครับ ตัวหนังเองเรียกได้ว่า มีดีกว่าแค่มืด ๆ แล้วก็มีผีออกมาหลอก เพราะตัวหนังยังแฝงเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของอำนาจนิยม โดยเฉพาะความโหดร้ายของปิตาธิปไตย ที่สะท้อนผ่านเรื่องราวของโรงพยาบาล พร้อมกับงานด้านภาพ เสียง แสงที่ถือว่าทำได้ดี เป็นภาพยนตร์ที่ผสมโทนสยองขวัญแบบคลาสสิกเข้ากับธีมเรื่องแบบสมัยใหม่ได้ค่อนข้างดี เพียงแต่ว่ามันก็อาจจะมืดจนต้องเพ่งตาหากันนานสักหน่อยนะครับ ยอมทนจังหวะสะดุ้งตุ้งแช่ไปให้ได้ ก็น่าจะปะติดปะต่อปมของหนังและมองเห็นสารบางอย่างที่หนังแอบฉายเอาไว้ท่ามกลางความมืดได้ชัดเจน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส