Release Date
09/12/2021
Runtime
156 Minutes
Director
Steven Spielberg
Cast
Ansel Elgort Rachel Zegler Ariana DeBose
Our score
9.7[รีวิว] West Side Story – มิวสิคัลสุดท้าทาย(และเหนือกว่าการรีเมก)จากพ่อมดฮอลลีวูด
จุดเด่น
- ดัดแปลงจากมิวสิคัลต้นฉบับได้อย่างกล้าหาญและมีอารมณ์ร่วมทางการเมืองเหมาะกับยุคสมัย
- งานถ่ายภาพของยานุตช์ คามินสกี มันน่ากราบยิ่งนัก สวยทุกเฟรม มาสเตอร์พีซอีกแล้ว
- งานกำกับของสตีเวน สปีลเบิร์กยังคงเชื่อมือได้
- แอนเซล เอลกอร์ธ กับ ราเชล เซเกลอร์ ถ่ายทอดโศกนาฏกรรมรักของโทนีกับมาเรียได้ลึกซึ้งกินใจทั้งร้องทั้งเต้น
- อาเรียนา เดอโบส โดดเด่นทุกซีนในแอนิตา เชื่อว่าหลายคนจะถูกใจความเฟียร์สของนาง
จุดสังเกต
-
บทดัดแปลงได้สร้างสรรค์และกล้าหาญมาก
9.7
-
งานสร้าง งานถ่ายภาพ ตระการตาชวนอ้าปากค้าง
9.7
-
นักแสดงระดับยอดฝีมือ อารมณ์มาเต็ม เสียงร้องเด่น เต้นตาย
9.7
-
สำหรับหนังมิวสิคัล ถือเป็นงานที่ห้ามพลาด
9.7
-
ควรค่าแก่การดูในโรงภาพยนตร์ยิ่งนัก
9.7
หากเมื่อ 10 – 20 ปีก่อนมีโปรดิวเซอร์สักคนมีความคิดที่จะสร้าง ‘West Side Story’ เป็นภาพยนตร์อีกครั้งคงต้องเผชิญกับคำสบประมาทและไฟแดงจากสตูดิโอกันเป็นแถวเพราะชื่อชั้นทั้งเวอร์ชันบรอดเวย์ปี 1957 ที่ได้สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ (Stephen Sondheim) กัับเลียวนาร์ด เบิร์นสทีน (Leonard Bernstein) ประพันธ์เนื้อร้องและดนตรีภายใต้งานกำกับและออกแบบท่าเต้นของ เจอโรม ร็อบบินส์ (Jerome Robbins) รวมถึงเวอร์ชันภาพยนตร์ปี 1961 ของผู้กำกับโรเบิร์ต ไวส์ (Robert Wise) เจ้าของ 10 รางวัลออสการต่างก็คงสถานะงานขึ้นหิ้งและครองพื้นที่หัวใจผู้ชมทั่วโลกเกิน 5 ทศวรรษแล้ว
แต่กระนั้นเมื่อโปรเจกต์ดัดแปลงบรอดเวย์มิวสิคัลที่ได้แรงบันดาลใจจาก ‘Romeo and Juliet’ ของวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespear) มาอยู่ในมือสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ผู้กำกับชั้นครูแล้ว งานนี้เราก็ย่อมต้องคาดหวังหนังที่ไม่ใช่งานลอกลายและยิ่งพ่วงด้วย ยานุสซ์ คามินสกี (Janusz Kaminski) ตากล้องคู่ใจที่มักรังสรรค์งานภาพระดับตำนานมานักต่อนักก็ยิ่งทำให้เพดานความคาดหวังสูงตามไปด้วย
กล่าวอย่างรวบรัดหนังจะดำเนินเรื่องตามโครงเรื่องต้นฉบับอย่างไม่มีบิดพลิ้วเมื่อ โทนี (รับบทโดย แอนเซล เอลกอร์ธ Ansel Elgort) อดีตนักเลงหัวไม้แห่งแก๊งเจ็ตส์หลงรักมาเรีย (รับบทโดย ราเชล เซเกลอร์ Rachel Zegler) สาวสวยชาวเปอร์โตริโกน้องสาวของ เบอร์นาโด (รับบทโดยเดวิด อัลวาเรซ David Alvarez) หัวหมู่ทะลวงฟันแห่งแก๊งชาร์คที่มักเปิดศึกกับ ริฟฟ์ (รับบทโดยไมค์ เฟสท์ Mike Faist) หัวหน้าแก๊งเจ็ตส์และเพื่อนรักของโทนี เมื่อความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติปะทุไฟสงคราม ความรักของโทนีกับมาเรียเลยกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
หนึ่งในความยากของสปีลเบิร์กที่ผมพอมองออกคือในฉบับหนังปี 1961 โรเบิร์ต ไวส์ ผู้กำกับเองยังต้องเชิญทีมงานจากบรอดเวย์มาคุมงานหลัก ๆ ร่วมกับเขาเพื่อคงจิตวิญญาณของเรื่องราวและงานออกแบบท่าเต้นเอาไว้ แถมยังมีงานถ่ายภาพที่กวาดรางวัลนับไม่ถ้วนอีก งานนี้เหมือนจับเผือกร้อนก็ไม่ผิดนักแต่…สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นครับ เพราะพอสปีลเบิร์กไปจับเอาบรอดเวย์มาเป็นแรงบันดาลใจทีนี้อำนาจการเล่าเรื่องในฐานะผู้กำกับก็อนุญาตให้เขาสร้างสรรค์แนวทางที่แตกต่างได้อย่างน่าชื่นชม
ประการแรกสปีลเบิร์กเลือก โทนี คุชเนอร์ (Tony Kushner) มาดัดแปลงบทให้ ซึ่งคุชเนอร์เองก็เคยเขียน ‘Munich’ กับ ‘Lincoln’ ให้สปีลเบิร์กมาก่อนเลยทำให้บทหนังของ ‘West Side Story’ เวอร์ชันนี้มีความเป็นการเมืองมากกว่าเวอร์ชันไหน และแอบสะท้อนท่าทีจิกกัดสังคมแบบแฝงอยู่ในลีลาการเล่าเรื่องของมัน ที่สำคัญคุชเนอร์ยังกล้าเปลี่ยนแปลงทั้งการสลับตำแหน่งเพลงที่ใช้ในเรื่องเพื่อผลในการสร้างอารมณ์ร่วมและสื่อความหมายรวมถึงให้ที่มาที่ไปในหลายเหตุการณ์ เช่นการให้มาเรียร้องเพลง ‘I Feel Pretty’ แล้วลองเสื้อผ้าราคาแพงในห้างของคนรวยตอนตัวเองทำความสะอาดห้าง ที่เปลี่ยนความหมายจากเพลงลั่ลล้าสู่การเย้ยหยันชะตากรรมตัวละครไปในทีได้อย่างคมคาย
ดังนั้นเราเลยได้เห็นภาพของชาวเปอร์โตริกันแก๊งชาร์คที่เป็นพลเมืองชั้นสองมาแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าในอเมริกา และเด็กอเมริกัันผิวขาวเหลือขอแก๊งเจ็ตส์ที่เหมือนลูกที่พระเจ้าหันหลังให้มาเปิดศึกกันเพื่อแย่งพื้นที่ที่กำลังจะถูกรัฐเรียกเวนคืนเพื่อเอาไปสร้างศูนย์การค้าใหญ่ยักษ์ และหลายช่วงหลายตอนของบทที่คุชเนอร์เขียนยังมีเหตุการณ์เสียดแทงหัวใจคนดู ที่ชัดเจนมากคือเพลง ‘America’ ที่คราวนี้แม้ว่าตัวละครหลักที่ร้องจะยังเป็นแอนิตา (รับบทโดย อาเรียนา เดอโบส Ariana DeBose) แต่บทก็ขยายขอบเขตให้เธอพาเราไปเห็นการชุมนุมประท้วงการสร้างห้างของเหล่าผู้อพยพจนทำให้เนื้อหาของเพลง ‘America’ ที่ว่า “For a small fees in America” ดูมีความหมายมากกว่าแค่ยกมาแซวเล่น ๆ ได้อย่างชาญฉลาดมาก ๆ
ประการถัดมาสปีลเบิร์กยังคงเลือกใช้ยานุสช์ คามินสกีตากล้องคู่ใจที่คราวนี้ต้องมาดีไซน์งานภาพให้ออกมาแตกต่างจากหนังต้นฉบับแต่ยังคงความเคารพอยู่ในที ดังนั้นเราเลยได้เห็นซีนชวนอ้าปากค้างอย่างภาพมุมสูงแล้วเงาจากแก๊งทั้งสองค่อย ๆ คืบคลานหากันหรือกระทั่งการปรับเพิ่มฉากในงานมิวสิคัลหลายฉากให้เห็นการออกแบบงานสร้างของอดัม สต็อกเฮาส์เซน (Adam Stockhausen) ที่คราวนี้ขับเน้นซากปรักหักพังของเมืองชัดเจนขึ้นเล่นกับน้ำท่วมขังถนนที่ให้ภาพความเสื่อมโทรมทว่ากลับแฝงความโรแมนติกอยู่ในที รวมถึงฉากโรแมนติกที่ระเบียงรายล้อมด้วยเสื้อผ้าที่แขวนตากไว้หลากสีสันงานถ่ายภาพของคามินสกีก็ต่อยอดเล่นสนุกได้อย่างไม่เสียของอีกด้วย
และแล้วก็มาถึงส่วนยากที่สุดโดยนอกเหนือจากเพลงในหนังจะถูกดัดแปลงและสลับตำแหน่งเพื่อสร้างความหมายแล้วงานออกแบบท่าเต้นที่ยังอยู่ในความทรงจำก็เป็นอีกส่วนที่สปีลเบิร์กเลือกใช้บริการ จัสติน เพ็ก (Justin Peck) โครีโอกราฟเฟอร์ (Choreographer) ระดับรางวัลโทนี (Tony Awards) มาคุมงานส่วนนี้่ซึ่งเพ็กก็รับลูกความกล้าหาญจากสปีลเบิร์กเหมือนกัน โดยตัดทอนมูฟเมนต์การเต้นในฉากแอ็กชันเพื่อเพิ่มความดุดันในขณะเดียวกันก็ดีไซน์ฉากเต้นในเพลง ‘Cool’ ที่แต่เดิมดูเป็นบอลรูมแดนซ์ (Ballroom Dance) ผสมบัลเลต์ (Ballet) ให้กลายเป็นคอนเทมเพอรารีแดนซ์ (Contemporary Dance) ที่มีส่วนผสมของกาโปเอย์รา (Capoeira) เข้าไปเพื่อเพิ่มแอ็กชันได้อย่างสวยงาม เพื่อบอกเล่าฉากการห้ามทัพแก๊งเจ็ตส์ที่โทนีต้องสู้กับอคติของริฟฟ์และพรรคพวก
ในด้านนักแสดงก็ต้องยอมรับว่าสปีลเบิร์กคัดเอายอดฝีมือมารวมไว้ในหนังอย่างคับคั่ง ที่เซอร์ไพร์สสุดคือแอนเซล เอลกอร์ธที่ไม่มีใครคิดว่าดาราวัยรุ่นอย่างเขาจะสามารถร้องและเต้นแถมยังคุมแอ็กติงตัวเองได้ดีขนาดนี้ ซึ่งบอกตามตรงว่าตอนประกาศรายชื่อนักแสดงนี่แอบหวั่นใจไม่น้อยแต่ปรากฎผลลัพธ์คือเอาอยู่มาก ๆ เอลกอร์ธกลายเป็นโทนีที่จะทำให้ผู้ชมหลงรักและพร้อมจะเสียน้ำตาให้ความรักของเขากับมาเรียได้อย่างแน่นอน
ส่วนราเชล เซเกลอร์ที่เพิ่งถูกประกาศชื่อให้รับบทสโนว์ไวต์จนเกิดกระแสต่อต้านในโซเชียลมีเดียก็สามารถร้องและเต้นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และแม้จะถูกเลือกด้วยส่วนหนึ่งคือมีเชื้อสายโคลอมเบียใกล้เคียงกับเปอร์โตริโกตามบท แต่ด้วยเสน่ห์ทั้งรูปลักษณ์และความสามารถของเธอแล้ว หากใครที่มีอคติกับข่าวก่อนหน้านี้ได้ดูหนังแล้วคงต้องกลืนน้ำลายตัวเองแน่ ๆ เพราะไม่ว่าบทอะไรเสียงร้องที่ไพเราะดังเสียงสวรรค์ของเธอจะขโมยหัวใจผู้ชมได้แน่นอนครับ
และที่ถือเป็นเอ็มวีพี (MVP) ของหนังคงหนีไม่พ้นอาเรียโน เดอโบสกับบทแอนิตาแฟนสาวของเบอร์นาโดและเพื่อนรักของมาเรียก็ปล่อยแสงเต็มเหนี่ยวไม่ให้เสียชื่อนักแสดงบรอดเวย์ที่กำลังตามกวาดรางวัลนักแสดงสมทบหญิงจากหลายสถาบันขณะนี้ เดอโบสสามารถทำให้คนดูทั้งเบิกบานและหัวใจแหลกสลายไปกับความสูญเสียของแอนิตาได้อย่างยอดเยี่ยม เชื่อว่าออสการ์ปีหน้าเราได้ลุ้นเธอกับสาขาสมทบหญิงอีกแน่นอนและความน่าดีใจที่สุดคือสปีลเบิร์กได้เลือกนักแสดงที่เป็นนอนไบนารี (Non-Binary) หรือบุคคลไม่ระบุเพศอย่างไอริส มีนาส (Iris Minas) มารับบทเอนีบอดีตัวละครที่เคยถูกนำเสนอแค่ในฐานะทอมบอยในผลงานต้นฉบับมาถ่ายทอดความเป็นคนชายขอบได้อย่างน่าชื่นชม และเล็งเห็นถึงความหลากหลายทางเพศและชาติพันธุ์อันเป็นหัวใจของมิวสิคัลชิ้นนี้
โดยสรุปแล้วหากเราจะนิยาม ‘West Side Story’ ด้วยคำสักคำคงหนีไม่พ้นงานต่อยอดจากมิวสิคัลชั้นครู เพราะนอกจากสปีลเบิร์กจะถ่ายทอดความงดงามของเรื่องราวโศกนาฎกรรมความรักจากบรอดเวย์ต้นฉบับได้อย่างจับใจแล้ว เขายังถ่ายทอดอารมณ์ของเรื่องราวและสารทางการเมืองในหนังได้อย่างไม่เสียชื่อผู้กำกับชั้นครู รวมถึงงานถ่ายภาพของยานุสซ์ คามินสกีก็ยังหมั่นสร้างมาสเตอร์พีซให้เหล่านักเรียนหนังได้ศึกษาได้อย่างไม่รู้จบอีกด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส