[รีวิว] John Lewis: Good Trouble – แง่มุมหลากหลายของชายที่ก่อความวุ่นวายเพื่อประชาชน
Our score
8.3

Release Date

16/12/2021

แนว

สารคดี

ความยาว

1.38 ชม. (98 นาที)

เรตผู้ชม

PG (ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ)

ผู้กำกับ

ดอว์น พอร์เตอร์ (Dawn Porter)

[รีวิว] John Lewis: Good Trouble – แง่มุมหลากหลายของชายที่ก่อความวุ่นวายเพื่อประชาชน
Our score
8.3

John Lewis: Good Trouble | จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

จุดเด่น

  1. ตัวหนังเล่าเรื่องอดีต-ปัจจุบันของการเมือง/การต่อสู้ผ่านจอห์น ลูอิสได้อย่างไหลลื่น
  2. สะท้อนภาพชีวิตของจอห์น ลูอิส ได้อย่างรอบด้าน
  3. มีการแทรกความอบอุ่นเฮฮาเข้าไป ทำให้ไม่ซีเรียสแม้จะเป็นสารคดีการเมือง

จุดสังเกต

  1. การตัดต่อมีสะดุด ใช้ Fade black อยู่บ้าง ทำให้บทสัมภาษณ์สะดุดเล็กน้อย
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    7.5

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.9

  • คุณภาพของบทสัมภาษณ์ / ประเด็น

    8.2

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    7.6

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    9.3

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ ภาพยนตร์สารคดีตีแผ่ชีวิตของ ‘จอห์น ลูอิส’ (John Lewis) วีรบุรุษผู้ล่วงลับผู้อุทิศทั้งชีวิตตลอด 80 ปี เพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิคนดำในสหรัฐอเมริกา เป็นหัวขบวนเคียงบ่าเคียงไหล่กับ ‘ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์’ ผลักดันการประท้วงและเดินขบวนครั้งใหญ่ในยุค 60’s เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเรือนและสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งด้วยสันติวิธี แต่กลับต้องเผชิญกับการถูกจับกุมมากกว่า 45 ครั้ง และถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส ก่อนจะหันทิศเข้าไปต่อสู้ในสภาในฐานะสมาชิกรัฐสภา และอุทิศตนเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิและความถูกต้องจนกลายมาเป็น 1 ใน 6 ผู้นำทางความคิดของคนผิวดำและคนด้อยโอกาสในอเมริกา


‘John Lewis: Good Trouble’ หรือ ‘จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก’ นี่จริง ๆ แล้วเข้าฉายเมื่อปี 2020 ก่อนที่ ‘จอห์น ลูอิส’ (John Lewis) เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้ายแค่ไม่กี่วันเองนะครับ และที่สำคัญคือ ช่วงนั้น (ประมาณกรกฏาคม 2020) ยังเป็นช่วงเริ่มคุกรุ่นเพราะว่าเป็นช่วงเข้าโค้งที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย สารคดีเรื่องนี้ก็เลยผุดขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศอันเข้มข้นของการเมืองอเมริกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เล่าถึง ‘จอห์น ลูอิส’ (John Lewis) อดีตเด็กหนุ่มเก็บฝ้ายเลี้ยงไก่จากเมืองทรอย (Troy) รัฐแอละบามา (Alabama) วัยหนุ่มของเขาต้องเผชิญกับการแบ่งแยกสีผิวแบบที่เราเห็นในหนัง Feature ที่เกี่ยวกับคนดำเลย เช่น เวลาคนดำไปร้านอาหารห้ามนั่งหน้าเคาน์เตอร์ ต้องไปนั่งโซนเฉพาะ เข้าห้องน้ำต้องมีห้องแยกที่มีป้ายติด ขึ้นรถเมล์ก็ต้องหลบไปนั่งข้างหลัง ซึ่งจอห์นและพรรคพวกก็จะเข้าไปประท้วงตามแนวทางสันติวิธี ด้วยการเข้าไปนั่งในพื้นที่คนขาวนี่แหละ ก่อนที่คนขาวจะเดินเข้าไปต่อว่าด่าทอ พุ่งเข้ามาทำร้ายต่อยตี หรือไม่ก็แจ้งตำรวจให้มาจับไป ซึ่งคนที่ประท้วงก็จะไม่ตอบโต้ตามหลักสันติวิธี

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

จนกระทั่งเขาได้เป็นหนึ่งในแกนนำการประท้วงระดับชาติที่เรียกว่า ‘March on Washington’ ในปี 1963 ร่วมกับ’มาร์ติน ลูเธอร์ คิง’ (Martin Luther King) และการประท้วง ‘Bloody Sunday’ ที่เมืองเซลมา (Selma) รัฐแอละบามา ที่เรียกร้องให้รัฐนำตัวทหารผิวขาวที่ยิงชายผิวดำมาลงโทษ ตามหลักที่เขาเรียกว่า ‘ความวุ่นวายที่เป็นประโยชน์’ (Good Trouble) ตามชื่อหนังนั่นแหละ ในครั้งนั้นทหารของรัฐเข้ายุติการประท้วง ทำให้ผู้ชุมนุมและจอห์นได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจนหมดสติและถูกดำเนินคดี แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการผลักดันกฏหมายสิทธิพลเมืองหลายฉบับเพื่อยกเลิกการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งยังเปิดทางให้คนดำสามารถเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรก

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

ตัวสารคดีจะเล่าควบคู่ไปกับชีวิตของเขาในปัจจุบันด้วย เขาตัดสินใจลงสมัครเป็นสมาชิกรัฐสภา และหันมาผลักดันกฏหมายด้านสิทธิพลเมืองด้านต่าง ๆ ซึ่งเราจะได้เห็นภาพอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่าการเมืองและสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาจะเดินหน้ามาไกลแค่ไหน แต่การเลือกปฏิบัติก็ยังคงมีอยู่ แถมมาในฐานะของรัฐอีกต่างหาก จอห์นก็เลยต้องไปช่วยผู้สมัครเลือกตั้งในการปราศรัยรณรงค์ให้ออกมาเลือกตั้งกันเยอะ ๆ แม้แต่บั้นปลายชีวิต เขาก็ยังทำงานในการช่วยผลักดันร่างกฏหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิของประชาชน เช่น การสนับสนุนกฏหมายการแต่งงานของเพศเดียวกัน การต่อต้านการยกเลิกประกันสุขภาพในสมัยประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ การหนุนกฏหมายควบคุมอาวุธปืน กฏหมายเกี่ยวกับภาษีธุรกิจ และอีกหลาย ๆ ฉบับ

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

ตัวสารคดีตลอดความยาวเกือบร้อยนาที เล่าผ่าน 3 ซับเจ็กต์ใหญ่ ๆ ก็คือ สัมภาษณ์ของจอห์น ลูอิส ที่ถ่ายทำการสัมภาษณ์แบบ Talking Head และการติดตามเก็บภาพวิถีชีวิตของเขาตามสถานที่ต่าง ๆ ขนานไปกับการสัมภาษณ์บุคคลผู้เกี่ยวข้องและใกล้ชิดเขา ทั้งในด้านการเคลื่อนไหวและการเมือง เสริมด้วยฟุตเทจเหตุการณ์ในอดีต รวมถึงชีวิตและเรื่องราวส่วนตัว ทั้งเรื่องครอบครัว ภรรยา บุตรบุญธรรม บ้าน ญาติพี่น้อง ความเป็นคนมีชื่อเสียง ความชื่นชอบด้านศิลปะ รวมไปถึงมุมอบอุ่นเป็นกันเองที่สะท้อนผ่านลักษณะนิสัยของตัวเขาอีกด้วย

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

ซึ่งทั้งสามซับเจ็กต์นี่แหละครับที่จะค่อย ๆ เล่าเกี่ยวพันสลับไปมา ทั้งอดีตและปัจจุบัน แทนที่จะเล่าตรง ๆ ตามไทม์ไลน์ ค่อย ๆ จับประเด็น เชื่อมจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องโดยใช้ชีวิตส่วนตัว การต่อสู้ และการทำงานของจอห์นเป็นสารตั้งต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ถือว่าเป็นวิธีที่แปลกดี และทำออกมาได้น่าสนใจดีครับ แต่มันก็มีจุดสังเกตนิดหน่อยที่อาจจะทำให้ไม่ได้โฟกัสกับบางเรื่อง เช่นตอนช่วยโอบามาขึ้นเป็นประธานาธิบดี หรือจอห์นปะทะกับนโยบายของทรัมป์ ซึ่งถ้ามีก็น่าจะสมบูรณ์กว่านี้ แต่เท่านี้โดยรวม ๆ ก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีครับ

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

แน่นอนว่า หนังสารคดีเรื่องนี้ถือว่าเป็นสารคดีการเมืองค่อนข้างชัดนะครับ แต่สิ่งที่ถือว่าน่าชื่นชมเลยคือ การที่มันพยายามไม่ได้เป็นสารคดีการเมืองซีเรียสเฉย ๆ แต่ยังพยายามสะท้อนภาพชีวิตส่วนตัวของจอห์น ซึ่งจริง ๆ แล้วแกเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน และเป็นมิตรมาก ๆ เป็นคนชอบแซว ชอบเล่นมุก ทักทาย พูดคุยกับทุกคนที่เข้าหาเขาอย่างเป็นมิตร การเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นคนรักสัตว์ การเป็นคนดังที่มีคนถ่ายรูปเยอะ หรือแม้แต่คลิปเต้นที่โด่งดังจนกลายเป็นไวรัล ฯลฯ ตัวหนังก็เลยพยายามจะสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ลงไปเพื่อสะท้อนว่า เขานี่แหละเหมาะกับสันติวิธีจริง ๆ และสะท้อนตัวตนว่าจริง ๆ นักต่อสู้ที่เคยผ่านความเจ็บปวดทุกข์ยากในการต่อสู้อย่างเขาก็มีมุมของความอบอุ่น เข้าถึงได้อยู่เหมือนกัน ซึ่งเป็นการเติมสีสันให้ตัวหนังไม่ดูเครียดจนเกินไป

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

มีข้อสังเกตอยู่บ้างเล็กน้อยครับ เนื่องจากว่าตัวสารคดีนี้มีจอห์น ลูอิสเป็นแกนกลาง และตัวบทสัมภาษณ์คนอื่น ๆ ก็เลยจะพูดถึงจอห์น ลูอิส ในแง่ของการยกย่องวีรกรรมการต่อสู้ในอดีต และสิ่งที่เขาได้ทำไว้ซึ่งส่งผลต่อการเมืองและประชาชนอเมริกาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในมุมหนึ่งก็อาจจะมองว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนก็ได้ แต่อีกมุมก็อาจถูกมองว่าเป็นสารคดีที่เน้นเชิดชูชื่นชมไปที่ตัวบุคคลก็ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการสะท้อนการเป็นคนดังของเขา หรือแม้แต่คนที่อาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วยและไม่เข้าใจกับหลักการ วิธี และวิถีที่จอห์นใช้และเชื่อ ก็อาจรู้สึกไม่ชอบสิ่งที่ตัวหนังสะท้อนให้เห็นได้เหมือนกัน

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

กับอีกเรื่องคือ การตัดต่อบทสัมภาษณ์ในช็อตที่ใกล้กัน เข้าใจว่าคนตัดต่อคงต้องการเลี่ยงอาการจัมป์คัต (Jump Cut) โดยเฉพาะในช็อตเดียวกัน ก็เลยใช้วิธีการ Fade Black คั่นช็อตต่อไป ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนรู้สึกว่าทำให้บทสัมภาษณ์บางจุดออกจะสะดุดไปสักหน่อย (เหมือนคนตัดทำเฟรมหาย (555) ถ้าใส่ภาพ Insert คั่น หรือปล่อยให้มัน Jump Cut ไปเลย ภาพน่าจะออกมาไหลลื่นกว่านี้ แต่ก็ถือว่ามีอยู่เล็กน้อยครับ ไม่ได้เยอะ

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถ้าสนใจบริบทการเมืองของอเมริกา อยากเข้าใจและเห็นภาพการต่อสู้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง หนังสารคดีเรื่องนี้คือ “อเมริกัน 101” ที่แม้ว่าจะเล่าผ่านมุมมองชีวิตและการต่อสู้ในหลากด้านหลายมุมของจอห์น ลูอิส แต่สิ่งที่สำคัญคือการสะท้อนให้เห็นว่า การเลือกปฏิบัติ ความไม่เป็นธรรม ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ในอดีต มันมาผ่านกลไกของรัฐ+ประชาชน แต่ปัจจุบัน บางครั้งมันมาในรูปแบบกลไกของรัฐเองเพียว ๆ เสียด้วยซ้ำ

John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

แม้จอห์น ลูอิสจะไม่ได้อยู่สู้ต่อไปแล้ว แต่หนังเรื่องนี้อาจเปรียบเหมือนกับมรดกที่ฝากไว้ให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ ที่จะต้องเดินหน้าสร้าง “ความวุ่นวายที่เป็นประโยชน์” เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้ถอยกลับหลังไปยังอดีตอีกครั้ง หรืออย่างน้อย ก็น่าจะทำให้คนที่ได้ดูจบ ได้เข้าใจชัดแจ่มแจ้งว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้นเกิดขึ้นได้จริง ๆ

ขอแค่ยังศรัทธาและสู้ต่อไป


John Lewis Good Trouble จอห์น ลูอิส: บุรุษกล้าขวางโลก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส