[รีวิว] พญาโศกพิโยคค่ำ: ฝันร้ายซ้ำซากของประวัติศาสตร์การเมืองที่หยุดนิ่ง
Our score
8.5

Release Date

16/12/2021

ความยาว

115 นาที

[รีวิว] พญาโศกพิโยคค่ำ: ฝันร้ายซ้ำซากของประวัติศาสตร์การเมืองที่หยุดนิ่ง
Our score
8.5

พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)

จุดเด่น

  1. งานภาพและเสียงที่มาสเตอร์พีซ แนวคิดและธีมที่ลุ่มลึกและชวนให้พูดคุยถกเถียง

จุดสังเกต

  1. แนวคิดกรอบวิธีการเล่าของหนังจนเข้าถึงยาก แต่ก็เข้าใจเหตุผลและความจำเป็นของผู้สร้างเช่นกันว่าเน้นให้น้ำหนักในเชิงอาร์ตมากกว่าการตลาด
  • บท

    8.0

  • โปรดักชัน

    10.0

  • การแสดง

    7.5

  • ความลุ่มลึกตามแนวหนัง

    8.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.5

SF
สนับสนุนข้อมูลโดย SF Cinema

เรื่องย่อ: กลางกระแสทางการเมืองปี 2549 ที่กำลังคุกรุ่น พลอย และลูกของเธอ ใช้เวลาคืนสุดท้ายในเซฟเฮาส์กับ ปาล สามีซึ่งเป็นนักการเมือง ก่อนที่เขาจะเดินทางลี้ภัยตามคำสั่งคณะรัฐประหารไปยังชายแดนไทย-กัมพูชา

เหตุการณ์เหมือนภาพฉายซ้ำช่วงปี 2516 ขณะที่พลอยในวัยเพียง 9 ปี กำลังป่วยเข้าขั้นโคม่า ปราสาท ผู้เป็นพ่อหายตัวไปอย่างไร้วี่แวว ส่วน ไพลิน แม่ของเธอที่เพิ่งฟื้นตัวจากการรักษาอาการป่วยทางจิต กลับมาพบกับหมอประจำตระกูลอีกครั้ง เกิดเป็นรักในความลับที่ชวนเสน่หา

เมื่อสุริยุปราคาเข้าคืบคลานจนสะกดให้ทุกคนตกอยู่ในภวังค์ เรื่องราวก็กลับพลิกผัน เงาสุริยุปราคานั้นได้กลืนกินหมอให้หายไป และคายปราสาทที่หายตัวไปให้กลับมา บาดแผลจากอดีต ก่อตัวขึ้นเป็นความมืดมิดภายในใจ ห้วงเวลาที่สุริยุปราคาพาทุกอย่างให้หยุดนิ่งไป ชะตากรรมและอนาคตของครอบครัวนี้ ถูกครอบงำไว้ด้วยความรุนแรงและความหวาดกลัว ไม่มีใครรู้ว่าทุกอย่างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ปี 2564 อาจเป็นปีที่หนังไทยดูเงียบเหงาพอสมควรจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในสายการประกวดนานาชาติแล้วหนังไทยก็ยังคงไม่ได้ห่างหายไปตามจำนวนการสร้างที่ลดลง และ ‘พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)’ ของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ก็เป็นหนังไทยเรื่องล่าสุดที่ไปคว้ารางวัล FIPRESCI Prize จากเวที International Film Festival Rotterdam 2021 (IFFR) จากประเทศเนเธอร์แลนด์มาได้สำเร็จ ในสายประกวด Tiger Awards Competition ตามรอยหนังรุ่นพี่อย่าง ‘Wonderful Town เมืองเหงาซ่อนรัก’ (2550) ‘Mundane History เจ้านกกระจอก’ (2552) ‘Eternity ที่รัก’ (2554) และ ‘Vanishing Point’ (2558) ซึ่งเราคงเห็นได้ว่านี่คือตระกูลหนังที่ไม่ได้เน้นเรื่องของการขายวงกว้าง แต่เป็นหนังที่เน้นการถ่ายทอดตัวตนของผู้สร้างและบูชาความเป็นศิลปะในภาพยนตร์เสียมากกว่า

พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)

ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ เป็นศิลปินแนววิดีโออาร์ตของไทยที่มักพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมผ่านงานของเขามาหลายปี และในหนังยาวเรื่องแรกของเขาอย่าง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)’ ก็พูดถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในช่วงเวลาที่สำคัญอย่าง 14 ตุลา 2516 จนมาถึงช่วงเหตุรัฐประหารปี 2549 ซึ่งส่งผลทางอ้อมกับตัวละครหญิงสาวอย่าง พลอย ที่รับบทโดย แสตมป์ สุนิดา รัตนากร และ ไพลิน ที่รับบทโดย โดนัท มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเข้ามาทำให้ผู้ชายหัวหน้าครอบครัวของทั้งคู่ต่างต้องพลัดพรากจากบ้านไป

พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)

โดยไทกิได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือชื่อ ‘สันติปรีดี’ ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง ซึ่งรับเชิญมาแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วย โดยในหนังสือนั้นมีตอนหนึ่งที่เขียนถึงครอบครัวของ ปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกกลุ่มทหารซึ่งทำการปฏิวัติบุกมาที่บ้านกลางดึกเพื่อควบคุมตัว แต่ท่านตัดสินใจกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาว่ายหนีออกไป ซึ่งจังหวะนั้นทหารได้ยิงปืนเข้ามาในบ้านเพื่อสะกัด ทว่าท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของท่านก็ตะโกนออกไปว่า “หยุดยิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก” ฉากนี้ถูกนำมาเป็นไอเดียของฉากอาหารค่ำครั้งสุดท้ายในฉากเปิดเรื่องที่ดูแสนเศร้าและน่าหวาดกลัวไปพร้อมกัน เพื่อสะท้อนว่าการเมืองกระทบลงมายังหน่วยย่อยของสังคมอย่างครอบครัวได้อย่างโหดร้ายเช่นไร

พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)

ซึ่งหนังเองมีแรงบันดาลและแนวคิดการสร้างจากวัตถุดิบที่ชัดเจนและหลากหลายมากตามความสนใจของไทกิ จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรทำการบ้านมาก่อนประมาณหนึ่งว่าหนังพูดเรื่องอะไรและมีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ เพื่อช่วยในการแกะสัญญะและลำดับความเข้าใจขึ้นใหม่ให้เข้าใจสิ่งที่หนังกำลังเล่า เช่นว่าโดยภาพรวมหนังใช้แนวคิดเรื่องอาการอัมพาตเป็นธีมของหนัง ภาวะการหยุดนิ่งของร่างกายที่ไม่ต่างจากการถูกบังคับให้ไม่สามารถขยับไปไหนของการรัฐประหารและกระบวนการขัดความพัฒนาการทางการเมืองต่าง ๆ ถูกนำเสนอทั้งในแง่การแสดงของนักแสดงที่ไม่อาจสื่ออารมณ์ใด ๆ ออกมาได้มาก การเคลื่อนไหวที่น้อยและช้า แต่ทั้งนี้ก็ยังมีภาวะอารมณ์ภายในที่ถูกบีบคั้นไว้สื่อผ่านทางสายตา ซึ่งยิ่งเรื่องดำเนินไปเราก็ยิ่งเห็นภาวะอัมพาตนี้แทรกซึมสู่จิตใจของตัวละครอย่างช้า ๆ ที่แม้แต่อันตรายหรือความตายมาเยือนก็ทำได้แต่นิ่งดูพวกเขาขืนใจและแล่เนื้อเถือหนังอย่างเลือดเย็น เป็นต้น

พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)
พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)

ต้องบอกว่าหนังอาจเหมือนดูยาก จากความจงใจเล่าแบบวิดีโออาร์ตที่ใช้ความต่อเนื่องทางแนวคิดมากกว่าการเล่าเรื่องแบบที่เราคุ้นชิน ลำดับเวลาถูกทำลายให้พร่าเลือนราวกับปี 2516 และ 2549 หรือแม้แต่ปัจุบันกับอดีตก็ผสมปนเปกันไปราวกับเป็นเหตุการณ์ในห้วงเวลาเดียวกัน ให้สังเกตได้ผ่านเพียงคำพูดของตัวละครที่มีเพียงน้อยนิดจนต้องใช้สมาธิในการชมค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าหนังมีการจัดวางอย่างตั้งใจในทุกส่วนไม่ใช่การเล่าแบบตามแต่ใจผู้สร้างแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้ชมกี่มากน้อยที่จะจับหนังมาแกะและเกลาจนเข้าใจได้เท่านั้น

พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)

งานภาพขาวดำของหนังจัดเป็นอีกตัวเอกของเรื่องก็ว่าได้ โดยผู้กำกับภาพหญิงอย่าง จ๊ะเอ๋ ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์ ที่เคยมีผลงานใน ‘Motel Mist โรงแรมต่างดาว’ (2559) ของผู้กำกับ ปราบดา หยุ่น และโกอินเตอร์ได้ร่วมงานกับผู้กำกับ เจมส์ แฟรงโก (James Franco) ใน ‘Don’t Come Back From the Moon’ (2017) ก่อนจะไปคว้ารางวัลจากเวที Independent Spirit Awards ของอมริกาจากหนังเวียดนามเรีื่อง ‘The Third Wife’ (2019) ได้พิถีพิถันกับภาพในหนังอย่างมาก การใช้แสงและเงาที่ขับเน้นอารมณ์และความหมายในภาพทำได้อย่างวิจิตร เมื่อรวมกับความเข้มข้นของการคุมงานศิลป์ของหนังและการกำกับแล้ว หนังจึงเปิดมิิติด้านภาพที่ชวนจดจ้องและชวนค้นหาได้อย่างแยบคาย และน่าสนใจว่าชนานันต์ช่วยถ่ายทอดความรู้สึกของผู้หญิงที่ถูกกระทำจากความเป็นชายในเรื่องได้อย่างน่าสนใจ

พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)

เช่นเดียวกับเสียงในหนังที่ผสานระหว่างเครื่องดนตรีและเสียงบรรยากาศ ที่สะท้อนความอึมครึม หยุดนิ่ง ทรมาน และน่าหวาดหวั่น ราวกับเล่นกับหัวใจผู้ชมและทดแทนคำพูดกับการแสดงที่ถูกกรอบจำกัดของตัวละครได้อย่างดี ก็ล้วนมาจากการออกแบบที่ไตร่ตรองมาอย่างละเอียดระหว่างไทกิและ โมรินากะ ยาสุฮิโระ (Morinaga Yasuhiro) ผู้กำกับดนตรีคู่บุญของไทกิด้วยนั่นเอง

พญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak)

ต้องยอมรับว่าหนังมีมนตร์สะกดบางอย่างให้เราต้องจดจ้องภาพและฟังเสียงตรงหน้าอยู่แทบทุกฉาก หากแต่ความซับซ้อนของการแสดงความหมายของหนังนั้นเป็นอุปสรรคใหญ่พอสมควร ใครที่ทำการบ้านมาน้อยหรือมีประสบการณ์ร่วมมาจำกัดย่อมได้รับเนื้อหาน้อยลงไปตามลำดับด้วย ในขณะที่หากมองอีกมุมหากหนังลดความยึดติดกับแนวคิดที่คบคุมวิธีการนำเสนอลงได้ และประนีประนอมกับผู้ชมวงกว้างขึ้นอีกนิด หนังเรื่องนี้ก็มีศักยภาพเหลือล้นในการเป็นหนังสยองขวัญจิตวิทยาที่มีระหว่างบรรทัดเป็นการวิพากษ์ผลของการเมืองได้อย่างเข้มข้นและสะเทือนอารมณ์ไม่น้อยทีเดียว

พญาโศกพิโยคค่ำ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส