[รีวิว] The Power of the Dog – ม้าตัวเต็งออสการ์ ดราม่าคาวบอยเร้นรักที่นิ่งแต่ทรงพลัง

Release Date

01/12/2021

Runtime

126 Minutes

Director

Jane Campion

Cast

Benedict Cumberbatch Kirsten Dunst Jesse Plemons Kodi Smit-McPhee

[รีวิว] The Power of the Dog – ม้าตัวเต็งออสการ์ ดราม่าคาวบอยเร้นรักที่นิ่งแต่ทรงพลัง
Our score
8.8

[รีวิว] The Power of the Dog – ม้าตัวเต็งออสการ์ ดราม่าคาวบอยเร้นรักที่นิ่งแต่ทรงพลัง

จุดเด่น

  1. การแสดงที่ทรงพลังของนักแสดงทุกคน งานโปรดักชัน เครื่องแต่งกาย และการกำกับภาพที่งดงามประณีตทุกฉาก ประเด็นของหนังและการเลือกที่จะไม่เปิดเผยเนื้อหาทั้งหมด ทำให้เกิดการคิดต่อได้

จุดสังเกต

  1. ด้วยการไม่เปิดเผยปมปริศนาบางอย่าง ก็ทำให้เกิดความไม่กระจ่างกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นและทำความเข้าใจตัวละครได้ไม่ลึก การดำเนินเรื่องที่นิ่งเอื่อย อาจทำให้หลายคนไม่ชอบ
  • บท

    8.0

  • โปรดักชัน

    9.0

  • การแสดง

    9.0

  • ความลุ่มลึกตามแนวหนัง

    9.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    9.0

เมื่อเห็นชื่อหนังเรื่องนี้ทาง Netflix อาจรู้สึกงง ๆ ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหมาหรืออย่างไร แต่เมื่อดูรายชื่อนักแสดงตัวเป้งอย่าง เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) และชื่อผู้กำกับหญิงชาวนิวซีแลนด์ เจน แคมเปียน (Jane Campion) ที่เคยสร้างชื่อไว้จากงานมาสเตอร์พีซ ‘The Piano’ (ซึ่งผู้เขียนประทับใจหนังเรื่องนี้มาก) ก็ไม่รีรอที่จะกดดู และก็ได้ค้นพบว่า มันไม่ได้เกี่ยวกับหมา แต่เป็นเรื่องของ “คาวบอยบนหลังม้ากับการเยียวยาหัวใจตนเอง”

แคมเปียนเขียนบทดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ โธมัส ซาเวจ (Thomas Savage) พื้นหลังคือปี 1925 ในฟาร์มปศุศัตว์ของรัฐมอนทานา ที่มีพี่ชาย ฟิล (คัมเบอร์แบตช์) และน้องชาย จอร์จ (เจสซี พลีมอนส์ – Jesse Plemons) สองพี่น้องที่มีนิสัยต่างกันอย่างสุดขั้ว ฟิลเป็นคนอารมณ์ร้อน  ชอบพูดจาถากถาง และวางท่าทีเป็นใหญ่อยู่ตลอดเวลา ขณะที่จอร์จเป็นคนพูดน้อย นิ่งเฉย สุภาพอ่อนโยน จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อจอร์จตัดสินใจแต่งงานกับโรส (เคียร์สเต็น ดันสต์ Kirsten Dunst) แม่ม่ายที่สามีฆ่าตัวตาย ที่เมื่อเธอย้ายมาอยู่บ้านเดียวกัน ก็กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับฟิล

หลังจากนั้นไม่นาน พีต (โคดี สมิต-แม็กฟี – Kodi Smit-McPhee) ลูกชายคนเดียวของโรส หนุ่มวัยรุ่นขี้อาย รูปร่างผอมบาง และมีบุคลิกนุ่มนิ่ม ก็ย้ายเข้ามาพักชั่วคราวในช่วงที่มหาวิทยาลัยปิดเทอม ฟิลที่เคยแดกดันพีตเรื่องที่เขาชอบทำงานประดิษฐ์และแต่งตัวเหมือนผู้หญิง ก็หงุดหงิดใจยิ่งกว่าเดิม แต่จากนั้นฟิลและพีตก็ค่อย ๆ พัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ฟิลและลูกน้องสอนพีตขี่ม้า จากที่เคยเป็นศัตรู ทั้งสองเริ่มเปิดใจกันมากขึ้น เล่าเรื่องราวความลับในอดีตของกันและกัน ทว่าความสนิทสนมของฟิลและพีตกลับสร้างความไม่พอใจให้กับโรสและจอร์จ

ด้วยความยาวสองชั่วโมงเต็ม ‘The Power of the Dog’ ไม่ได้ดำเนินเรื่องด้วยพล็อตที่หวือหวา แต่ดำเนินเรื่องด้วยพัฒนาการและความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสี่คน โทนหนังคือดราม่าเข้มข้นที่ดูนิ่ง เย็นยะเยือก แต่กลับมีพลังในทุกฉาก กระทั่งฉากไคลแม็กซ์ก็ยังนำเสนอออกมาแบบไม่คาดคั้น สอดคล้องกับบรรยากาศธรรมชาติแบบชนบทของหนังที่มีเพียงภูเขา ทุ่งหญ้า แม่น้ำ ม้า วัว และสุนัข ซึ่งเมื่อผ่านการกำกับภาพของอารี เวกเนอร์ (Ari Wegner) ก็กลายเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ ภาพสวยตราตรึงทุกฉาก ขณะเดียวกันก็ซ่อนความหมายแฝงไว้อยู่บ่อยครั้ง คล้ายกับ ‘The Piano’ ที่แคมเปียนใช้วิธีใส่สัญญะไว้ในการกำกับภาพเช่นกัน เมื่อบวกกับดนตรีประกอบของจอนนี กรีนวูด (มือกีตาร์จาก Radiohead) ที่เน้นการใช้เครื่องสายที่สร้างความระทึกใจและว้าวุ่นใจได้ไปพร้อมกัน ที่สำคัญคือมาแบบน้อย ๆ ไม่โฉ่งฉ่าง แต่มาถูกจังหวะทุกครั้ง

ประเด็นในหนังมีการพูดถึงการยอมรับเพศทางเลือกในสมัยนั้น แต่ก็ไม่ได้ตีความออกมาเหมือน ‘Brokeback Mountain’ ของอั้งลี่ (Ang Lee) ที่มีตัวละครและฉากหลังคล้ายคลึงกัน แต่ ‘The Power of the Dog’ มีสารที่กว้างกว่าเรื่องรักร่วมเพศ แต่ยังพูดถึงการค้นหาและยอมรับตนเอง การไม่ปล่อยวางจากอดีต รวมไปถึงความหมายที่แท้จริงของบุรุษเพศ โดยสะท้อนออกมาให้ผู้ชมเห็นแบบลางเลือน หลายปมในเรื่อง (รวมทั้งปมสำคัญในตอนจบ) ไม่ถูกคลี่คลาย ปล่อยให้คนดูได้นำไปคิดต่อเอาเอง ทว่าก็ไม่ใช่หนังที่ดูยากหรือต้องอาศัยกระบวนการทางความคิดแต่อย่างใด

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า หนังทั้งเรื่องแทบจะเล่นกันอยู่สี่คน ซึ่งจะไม่แปลกใจหากทั้งคัมเบอร์แบตช์, พลีมอนส์, ดันสต์ และสมิต-แม็กฟี จะได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงแบบยกทีม คนที่น่าจับตามองที่สุดคือคัมเบอร์แบตช์ที่กลับมาท็อปฟอร์มด้านการแสดงอีกครั้งหลังจากที่เคยได้เข้าชิงออสการ์จาก ‘The Imitation Game’ (หลังจากที่เขาเข้าสู่จักรวาลมาร์เวล ก็ไม่ค่อยมีงานแบบนี้ให้เห็น) อีกคนที่น่าจับตามองหนีไม่พ้น เจน แคมเปียน ที่เคยอกหักจาก ‘The Piano’ ไปเมื่อ 28 ปีก่อน (ตอนนั้นเธอได้รางวัลบนภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม) ไม่แน่ว่าออสการ์อยากจะให้โอกาสเธออีกครั้งในการคว้ารางวัลออสการ์ผู้กำกับ (หญิง) ยอดเยี่ยม

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส