Release Date
24/12/2021
ความยาว
8 ตอน ตอนละ 40-50 นาที
Our score
5.0The Silent Sea
จุดเด่น
- นักแสดงคุณภาพ การเดินเรื่องที่ท้าทายมีไอเดียตั้งต้นที่ดี มีกลิ่นของไซไฟธริลเลอร์อวกาศที่แปลกใหม่
จุดสังเกต
- ฉากดราม่าไม่ทำงานมากพอ ปมปริศนาที่เฉลยมาแล้วเฉย ๆ ใช้ไอเดียดราม่าเกาหลีซ้ำ ๆ การเล่าเชื่องช้ามากบางช่วง ตัวละครมีพฤติกรรมที่น่าหงุดหงิดและไม่สมจริงต่อเหตุการณ์อันตรายตรงหน้า เป็นไซไฟที่ละเลยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างทั้งที่ทำตัวซีเรียสจริงจังไม่ใช่แฟนตาซี
-
บท
6.0
-
โปรดักชัน
6.5
-
การแสดง
7.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
6.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
4.5
เรื่องย่อ: ภารกิจเสี่ยงตายกำลังจะเผยความลับอันดำมืดที่สุดของดวงจันทร์ โอกาสในการรอดกลับมามีแค่ 10% เท่านั้น แล้วลูกเรือทุกคนจะมีชีวิตรอดหรือไม่ ปริศนา ณ สถานีร้างบนดวงจันทร์กำลังจะเผยโฉมแล้ว
เกาหลีกำลังพยายามขึ้นเป็นแนวหน้าในวงการซอฟต์พาวเวอร์โลก ในระดับเวทีรางวัลพวกเขาไปไกลถึงออสการ์สำเร็จมาแล้ว ในด้านความนิยมหนังหรือซีรีส์เกาหลีแนวซอมบี้และดราม่ากลายเป็นปรากฏการณ์ที่ฝรั่งเองยังต้องมาดู และหมุดหมายสำคัญของมหาอำนาจภาพยนตร์โลกนั้นเช่นเดียวกับยุคสงครามเย็น มันคือการปักธงในหนังแนวไซไฟที่อาจว่าเป็นขั้นสุดของมวลรวมองค์ความรู้และศักยภาพด้านโปรดักชันของประเทศนั้น ๆ ที่ต้องถึงมาตรฐาน และหลังจากความสำเร็จของในแง่โปรดักชันที่ทัดเทียมกับฮอลลีวูดได้ใน ‘Space Sweepers’ (2021) ของซงจุงกิเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้โครงการหนัง ‘The Silent Sea’ ของเน็ตฟลิกซ์เกาหลีที่ได้ดาราระดับแม่เหล็กโลกทั้ง กงยู (Gong Yoo) และแบดูนา (Bae Doona) มาร่วมแสดง คือหลักไมล์ที่ต้องจับตามองว่าถึงเวลาเอาจริงของพวกเขาแล้วหรือยัง
อาจด้วยความคาดหวังที่สูง และศักยภาพที่เป็นไปได้ของวัตถุดิบที่รวบรวมมาทั้งนักแสดงและตัวอย่างงานสร้างที่ดูน่าสนใจ และได้บทหนังจากนักเขียนบทมือรางวัลอย่าง พาร์กอึนเคียว (Park Eun-kyo) ที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับ บงจุนโฮ (Bong Joon Ho) ใน ‘Mother’ (2009) และมีโอกาสเขียนหนังบล็อกบัสเตอร์เกาหลีอย่าง ‘The Great Battle’ (2018) มาแล้ว
แต่แม้จะเป็นผลงานการกำกับครั้งแรกของ ชอยฮานยอง (Choi Hang-Yong) ที่ไม่มีข้อมูลผลงานก่อนหน้าของเขามากนัก แต่การที่เขาผลักดันผลงานหนังสั้นเรื่อง ‘The Sea of Tranquility’ (2014) ของเขาเองมาเป็นซีรีส์ยาวที่น่าจับตามองได้ ต้องชื่นชมในพลังความมุ่งมั่นของเขาไม่น้อยเช่นกัน และผู้สร้างที่มีความหลงใหลนี้ก็เป็นหัวใจสำคัญในการที่หนังสักเรื่องจะประสบความสำเร็จได้
ทว่าที่ว่ามามันอาจไม่มากพอสำหรับมาตรฐานความคาดหวังที่เราจะมีต่อซีรีส์นี้ คุณมีดาราคุณภาพระดับ กงยู และแบดูนา อยู่ในเรื่อง เราย่อมคาดหวังความลึกของตัวละครที่พวกเขาจะได้ถ่ายทอด คุณมีไอเดียไซไฟที่น่าสนใจและบ่มเพาะมาตั้งแต่ปี 2014 และอาจก่อนหน้านั้นแต่ช่วง 7 ปีที่พัฒนามา มันกลับยังเต็มไปด้วยรูรั่วในพล็อตอย่างไม่น่าอภัยเพราะตกม้าตายในเรื่องพื้นฐานของหนังไซไฟคือวิธีทางวิทยาศาสตร์ คุณมีมือเขียนรางวัลที่ผ่านงานดราม่าในเวทีนานาชาติมาและเกาหลีก็แข็งแกร่งในเรื่องของการสร้างฉากอารมณ์ แต่เรากลับเห็นเพียงฉากที่รู้สึกรียูสไอเดียเก่า ๆ จากหนังเรื่องต่าง ๆ (อย่างเช่น ‘Train to Busan’ (2016)) ที่ทำเอาเราเบ้ปากว่าจะเอาฉากนี้อีกแล้วเหรอ หรือที่คิดมาใหม่ก็ยังไม่น่าสนใจพอ
หนังเล่าเรื่องของโลกในอนาคตที่น้ำเหือดแห้งไปจนกลายเป็นของมีค่าที่แบ่งแยกสถานะผู้คนได้จากสิทธิ์การได้รับน้ำ เกาหลีต้องการปลุกโครงการวิจัยบนดวงจันทร์ที่เคยล้มเหลวจนต้องปิดสถานีวิจัยทิ้งเมื่อ 5 ปีก่อน โดยส่งลูกเรือและนักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่เคยศึกษาเรื่องชีววิทยาไปกับทีม โดยมีอดีตผู้รอดชีวิตจากสถานีวิจัยเมื่อ 5 ปีก่อนไปด้วยอีกคน ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ได้พูดทุกอย่างที่พวกเขาควรรู้ก่อนส่งขึ้นไป
และตามธรรมดาของหนังแนวไซไฟธริลเลอร์ที่อาศัยปริศนาของภารกิจและภูมิหลังความลับของตัวละครที่จะค่อย ๆ เปิดเผย เราจะเห็นอุปสรรคจากความบังเอิญและจากการกระทำของตัวละครเข้ามารุมเร้ากลุ่มตัวละครตั้งแต่เริ่มเรื่อง และต้องจำเพาะเสมอว่าคนที่มีประโยชน์กับภารกิจมากที่สุดจำเป็นต้องตายเป็นคนแรก ๆ ซึ่งว่ากันถึงจุดนี้หนังยังประคองทิศทางที่ตัวเองต้องการไปได้ แต่การค่อย ๆ เผยดราม่าตัวละครทีละนิดแต่ก็ไม่ได้ลึกซึ้งขนาดผู้ชมจะเดาไม่ได้หรือเซอร์ไพรส์ก็กลายเป็นการทอนอารมณ์ร่วมให้ไม่ต่อเนื่อง เพราะมันต้องคอยตัดไปเล่าฉากอดีตเป็นระยะโดยข้อมูลใหม่นั้นไม่ได้น่าตื่นเต้นเพียงพอ และเมื่อหนังจำกัดพื้นที่หลบมุมอยู่แค่ในสถานีวิจัยมันก็ต้องการสิ่งเร้าใด ๆ จากอย่างอื่นที่มากกว่านี้มาตรึงความสนใจผู้ชมซึ่งหนังก็พยายามแล้วแต่อาจยังไม่ดีพอ
และในแง่โปรดักชันก็เริ่มมีความแปร่ง ๆ ให้เห็นบ้างจากฉากซีจีโลกอันแร้นแค้นเห็นถนน อาคาร และฐานยิงจรวด แต่คุณภาพนั้นแค่ดีกว่าคลิปโมเดลสามมิติจำลองโฆษณาขายพวกคอนโดขึ้นมานิดหนึ่งเท่านั้น ทั้งรายละเอียดและการเคลื่อนกล้องที่ธรรมดามาก ที่สำคัญคือมันติดความหลอกตาอยู่ ถ้าเทียบกับ ‘Space Sweepers’ มันหนักหนากว่าตรงโทนเรื่องนั้นมันแฟนตาซีแต่เรื่องนี้มาแนวซีเรียสจริงจังที่ควรเน้นอะไรพวกนี้ให้ดูจริงกว่านี้
จนกระทั่งความวิบัติสำคัญจะมาถึงเมื่อตัวละครมาถึงสถานีวิจัยที่มีศพนอนตายอย่างผิดปกติเพราะสภาพเหมือนจมน้ำตายบนดวงจันทร์ที่ไม่มีน้ำ และต้องเริ่มออกสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ แต่เมื่อตัวละครตัวหนึ่งยืนกรานว่าค่าสภาพอากาศปลอดภัยและเริ่มชวนถอดชุดอวกาศออกกันหมด จนกระทั่งเริ่มมีข้อบ่งชี้ว่าอาจมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคบางอย่างที่ไม่รู้วิธีการแพร่หรือติดต่อ แต่ตัวละครก็ยังมุ่งมั่นในการใส่ชุดที่ไม่ได้พร้อมรับมือกับเชื้อโรคใด ๆ ราวกับว่าการให้ความสำคัญกับการเห็นหน้าตานักแสดงค่าตัวสูงชัด ๆ หรือการที่กงยูถอดหมวกออกแล้วต้องตัดรับอีกคัตให้ผมเนี้ยบหล่อเหลาอยู่เสมอทั้งที่ใคร ๆ ในโลกลองสวมหัวขนาดนั้นโดยที่ไม่มีเรื่องการไร้แรงโน้มถ่วงมาเกี่ยวข้อง แล้วถอดออกก็ต้องมีกระเซิงบ้างล่ะ เหล่านี้จะดูมีน้ำหนักสำคัญกว่าความสมจริงของเนื้อหาที่อุตส่าห์ปั้นแต่งมาตลอดให้คนเชื่อว่านี่คือเรื่องราวไซไฟที่จริงจัง
ความลักลั่นที่เปรียบเปรยเหมือนผู้สร้างทำหน้าเคร่งเครียดคุยเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของการออกแบบถนนมาตลอด ว่าต้องมีสะพานลอยทุกกี่เมตร มีสัญญาณไฟ มีทางม้าลายคนข้าม ทัศนวิสัยการขับขี่ต้องเคลียร์ แต่อยู่ ๆ พี่แกก็พาเดินดุ่ม ๆ ตัดทางไฮเวย์ 8 เลนที่รถวิ่งกัน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหน้าตาเฉยอย่างไรอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่รู้สึกยอมรับได้ยากมากจนสนุกไปกับซีรีส์ไม่ได้
ซีรีส์ยังทำให้เราได้มีโอกาสเห็น กงยูและแบดูนา รับบทตัวละครที่ดูน่าหงุดหงิดในการกระทำได้พร้อม ๆ กันตลอดเรื่อง และการกระทำหลายอย่างของพวกเขาก็ขาดตรรกะทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะตัวละครนักวิทยาศาสตร์หนึ่งเดียวของเรื่องที่แทบจะใช้สัญชาตญานนำเหตุผลตลอดเรื่องเช่นกัน จนเราไม่เหลือความเอาใจช่วยอะไรเลย ยิ่งดูยิ่งเชียร์ให้ตายไว ๆ เพื่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมทีมคนอื่น
มองในแง่ที่ดีซีรีส์ยังมีช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจอยากติดตามว่าภารกิจนี้คืออะไร เกิดอะไรขึ้นบนยานดวงนี้ แต่ก็จะเริ่มเข้มข้นต้องรอถึงตอนที่ 3 และพอเริ่มคลี่คลายจนเราเดาอะไรได้มากขึ้น ความน่าสนใจที่ซีรีส์พยายามกั๊กไว้เป็นเซอร์ไพรส์ช่วงท้ายก็เริ่มเหือดหายไปไม่ต่างจากน้ำบนโลกจนเป็นการดูเพื่อให้จบไปเท่านั้น และเอาเข้าจริงหนังมีไอเดียที่เจ๋งและอาจพาหนังให้ทิ้งหมัดหนักหน่วงใส่คนดูเหมือนกับที่ บงจุนโฮ เคยทำให้เราอึ้งกับที่มาของอาหารสำเร็จรูปในหนัง ‘Snowpiercer’ (2013) ได้เลยด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้เอามาใช้
เกาหลียังคงต้องทำการบ้านหนักกับหนังแนวไซไฟอวกาศมากกว่านี้ เพราะเห็นชัดว่าเมื่อดราม่าไม่ทำงานได้มากพอ รอยรั่วชำรุดทั้งหลายก็กลายเป็นเรื่องไม่น่าให้อภัยขึ้นมาได้ทันที ขนาดหน้าหล่อ ๆ สวย ๆ ของนักแสดงคนโปรดก็ยังไม่ช่วยได้มากพอ แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีเกาหลีก็จะทำสำเร็จแน่ ๆ แค่ยังไม่ใช่กับเรื่องนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส