Release Date
13/01/2022
Runtime
117 Minutes
Director
Pablo Larrain
Cast
Kristen Stewart Timothy Spall Jack Nielen
Our score
5.8[รีวิว] Spencer – Diana ฉบับทดสอบความอดทน (ของคนดู)
จุดเด่น
- งานออกแบบคอสตูมโดดเด่นมาก
- งานถ่ายภาพหลายช่วงดูน่าตื่นตะลึงไม่น้อย
จุดสังเกต
- บทหนังไม่สามารถทำให้คนดูคล้อยตามสิ่งที่จะเล่าได้
- การแสดงของคริสเตน สจ๊วร์ตยังไม่ถึงขั้นสำหรับการคว้าชัยชนะบนเวทีรางวัลแม้ว่าจะพัฒนามาไกลแค่ไหนก็ตาม
- การผสมผสานแฟนตาซีและไอเดียในการเล่าแบบเจาะลึกดูไม่ไปด้วยกันอย่างแรง
-
บทหนังนำเสนอด้านเดียวจนเกินไปและไม่สามารถทำให้คนดูคล้อยตามกับสิ่งที่เล่าได้
5.5
-
งานสร้างของหนังมีความสวยงาม ประดิษฐ์ประดอยจนทุกอย่างดูสวยไปหมด
7.0
-
นักแสดงส่วนใหญ่จะได้บทตายตัวเลยทำให้ตัวละครไม่มีมิติเท่าที่ควร
5.5
-
เป็นหนังประวัติบุคคลที่น่าเบื่อและเป็นหนังอาร์ตที่ยังดูวอนนาบีเกินไป
5.5
-
เป็นหนังตีตั๋วดูในโรงได้ถ้าอยากดูอะไรสวยงามแต่พลาดไปก็ไม่น่าเสียดาย
5.5
นับตั้งแต่มีการนำชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา (Princess Diana) มาบอกเล่าต่อในสื่อภาพยนตร์และซีรีส์ มีนักแสดงสาวที่สวมบทบาทเป็นเจ้าหญิงขวัญใจมหาชนนับเป็น 10 คนแล้ว และทุกเรื่องก็มักเคลมเอาปมปัญหาความอึดอัดที่เธอต้องอยู่ในภายใต้ชายคาเดียวกับราชวงศ์วินเซอร์ (Windsor) และเรื่องรักร้าวระหว่างไดอานากับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (Prince Charles) มาถ่ายทอดให้คนดูเห็นใจและเห็นถึงความเป็นเลือดนักสู้
และกับ ‘Spencer’ หนังก็เลือกฉีกทางมาเล่าเป็นแนวดรามาจิตวิทยาผ่านการกำกับของ พาโบล ลาเรน (Pablo Larrain) ที่เคยส่ง นาตาลี พอร์ตแมน (Natalie Portman) เข้าชิงออสการ์มาแล้วจาก ‘Jackie’ มาคราวนี้ลาเรนเลือกคริสเทน สจวร์ต (Kristen Stewart) มารับบทไดอานาฉบับจิตตกที่คราวนี้หนังจะพาเราไปสำรวจห้วงความคิดของไดอานาที่ต้องทนใช้ชีวิตกับพระบรมวงศานุวงศ์ช่วงคริสต์มาสตลอด 3 วัน
ในทางตรงข้ามกับหนังเรื่องอื่น ‘Spencer’ ไม่เน้นโครงเรื่อง ไม่มีเป้าหมายตัวละครที่ชัดเจนหรือกระทั่งการให้เหตุผลการกระทำของตัวละครอย่างตรงไปตรงมา มันคือบทเปรียบเทียบเปรียบเปรยที่ศิลปินในที่นี้คือ พาโบล ลาเรนเลือกจะนำเสนอ เหมือนเอาแค่ตัวละครชื่อไดอานาในช่วงที่ยังเป็นเจ้าหญิงและอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์มาอยู่ในสถานการณ์ของช่วงพักผ่อนคริสต์มาสต์ ซึ่งหนังก็เลือกเปิดเรื่องด้วยข้อความว่า “เรื่องแต่งจากโศกนาฏกรรมจริง” ซึ่งนั่นหมายความว่าเรื่องที่เขาจะเล่าอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้
แต่ท้ายที่สุดมันก็ดันพึ่งพาเหตุการณ์อ้างอิงหลายอย่างอยู่ดีโดยเฉพาะความอึมครึมในความสัมพันธ์อันอื้อฉาวระหว่างเจ้าหญิงไดอานา เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และนางคามิลลา พาร์คเกอร์ โบลส์ (Camilla Parker Bowles)ที่หนังพยายามไม่เอ่ยชื่อและไม่ลงลึกในรายละเอียด แต่เลือกจะถ่ายทอดผลของความสัมพันธ์อันเป็นพิษผ่านอาการเสียสติของเจ้าหญิงไดอานาด้วยท่าทางการเดินไปเดินมาและทำตาถลนรวมไปถึงการเลือกหยิบอาการบูลิเมีย (Bulimia) หรืออาการล้วงคออ้วกมานำเสนอซ้ำไปมา
แต่กระนั้นแทนที่หนังจะสามารถพาคนดูคล้อยตามและเห็นใจไปจนถึงร่วมประสบการณ์ความอึดอัดกดดันจนเห็นใจตัวละคร ตรงกันข้ามเรากลับได้เห็นว่าหนังพยายามตั้งธงเหลือเกินว่าราชวงศ์วินเซอร์คือปีศาจร้ายที่ทำร้ายหญิงสาวคนหนึ่งจนแทบเสียสูญ ดังนั้นมันจึงให้เราเห็นตัวละครเพียงมิติเดียวแทบทั้งเรื่องคือตัวละครอื่นนอกจากไดอานา เจ้าฟ้าแฮรีและเจ้าฟ้าวิลเลียมคือชั่วหมด ใจร้ายเสียเต็มประดา
ซึ่งต่างจากข้อมูลรอบด้านที่เราได้รับมาจากซีรีส์ ‘The Crown’ ที่ทำให้เราเห็นทั้งความน่าสงสารของเจ้าหญิงไดอานาและทำให้เห็นการรับมือกับกระแสสื่อที่เริ่มทิ่มแทงราชวงศ์จนทางพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizabeth II) เองก็ต้องหาทางรับมือกับพายุที่ทำให้ระบอบกษัตริย์สั่นคลอน แต่เอาล่ะในเมื่อหนังต้องการให้เราเห็นใจไดอานา เราก็จะไม่นำส่วนนี้มาต่อว่าหนัง ทีนี้เรามาดูเรื่องนักแสดงที่มาถ่ายทอดบทบาทนี้จนมีชื่อเข้าชิงรางวัลมากมายอย่างคริสเทน สจ๊วร์ตกันดีกว่า
สำหรับคริสเทน สจวร์ต ในบทของเจ้าหญิงไดอานาก็ต้องบอกว่าแม้เธอจะถ่ายทอดความอึดอัดของตัวละครได้ดีและยอมรับว่าหนังให้โอกาสเธอได้เปล่งประกายในหลายเรื่องทั้งการฝึกสำเนียงอังกฤษและการปรากฎกายในอากัปกริยาที่คล้ายเจ้าหญิงไดอาน่ามาก ๆ ซึ่งก็คือ “การเอียงคอ” ซึ่งหนังมีช็อตที่สจวร์ตต้องเอียงคอเยอะซะจนไม่แน่ใจว่าผู้กำกับอย่างลาเรนได้บรีฟข้อมูลตัวละครอย่างอื่นบ้างหรือเปล่าเพราะนอกจากอากัปกริยาที่พยายามก็อปมาจากไดอานาและหน้าตาที่เหมือนคนอยากอาเจียนตลอดเวลาแล้วเธอแทบจะไม่สามารถถ่ายทอดความเจ็บปวดหรือสภาวะที่ตัวละครต้องเผชิญจนไม่อาจนำพาอารมณ์คนดูให้รู้สึกร่วมตามไปได้เลย
และผลลัพธ์จากการที่หนังเองก็พยายามถ่ายทอดข้อมูลด้านเดียวและพยายามปั้นแต่งเปรียบเปรยกับวรรณกรรมต่าง ๆ มากจนเกินงามสุดท้ายตัวละคร ไดอานาของสจวร์ตเลยกลายเป็นแค่แบบฝึกหัดการเอียงคอและกดเสียงต่ำพร้อมพูดสำเนียงอังกฤษไปเสียอย่างนั้นจนน่าเสียดายไม่น้อยว่าแม้หนังจะพยายามดึงคนดูด้วยงานดีไซน์เสื้อผ้าสวย ๆ การออกแบบซีนที่ดูปราณีตมากท้ั้งฉากโต๊ะสนุ๊กเกอร์ในซีนที่ทำให้เห็นว่าฟ้าชายชาร์ลส์หมดรักเธออย่างสิ้นเชิง
หรือการพยายามเลาะด้ายที่เย็บติดผ้าม่านกันพวกปาปาราสซี่ออกเพื่อแสดงถึงภาวะที่ตัวละครต้องการพื้นที่หายใจก็กลับกลายเป็นการประดิดประดอยจนเกินงามและพยายามเหลือเกินจะให้มันดูเป็นซิมโบลิกสื่อความหมายแต่ท้ายสุดก็กลับกลายเป็นความเอื่อยเฉื่อยอันน่ารำคาญ แม้จะถ่ายทอดผ่านงานกำกับภาพอันลื่นไหลประหนึ่งดูหนังอาร์ตของผู้กำกับเทอร์เรนซ์ มาลิค (Terrence Malick) ก็ไม่อาจฉุดคนดูให้อยู่กับหนังได้จนบางคนถึงกับถอนสายบัวอำลาไดอานาไปเข้าเฝ้าพระอินทร์กันเป็นแถบ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส