Release Date
28/01/2022
8 Episodes
Director : Michael Lehmann
Our score
6.2[รีวิว] The Woman in the House… มินิซีรีส์ปริศนาฆาตกรรม จบหักมุมเหวอแหลกแหกทุกคน
จุดเด่น
- ความยาวของในแต่ละเอพิโซดที่ยาวเพียง 20 กว่านาที รวม 8 ตอน ทำให้ดูง่าย สั้น กระชับ คุณภาพของนักแสดงและความบันเทิงอยู่ในระดับที่ดี
จุดสังเกต
- ปมเฉลยในตอนจบที่ทำลายทุกอย่างเพราะขาดความน่าเชื่อถือ อาจทำให้คนดูบางกลุ่มรู้สึกเสียดายเวลาที่ติดตามมาตั้งแต่ต้น
-
คุณภาพงานสร้าง
7.0
-
เนื้อหา ตรรกะ ความสมเหตุสมผลของบท
4.0
-
คุณภาพนักแสดง
8.0
-
ความบันเทิงตามแนวหนัง
7.0
-
คุ้มเวลาในการชม
5.0
‘The Woman in the House Across the Street from the Girl in the Window’ มินิซีรีส์ชื่อยาวเหยียดของ Netflix ความยาว 8 ตอนจบ (ตอนละประมาณ 22-29 นาที) มีหน้าหนังและชื่อเรื่องที่แสดงให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งว่าเราจะได้ดูเรื่องราวระทึกขวัญเกี่ยวกับฆาตกรรมปริศนาของผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่บ้านตรงกันข้ามกับผู้หญิงอีกคนหนึ่งอย่างแน่นอน
คริสเทน เบลล์ (Kristen Bell) รับบทแอนนา จิตรกรหญิงที่กำลังอยู่ในช่วงระทมทุกข์จากการสูญเสียลูกสาววัย 8 ขวบจากคดีฆาตกรรมและนำไปสู่การแยกทางกับสามี ได้รู้จักเพื่อนบ้านใหม่ที่ย้ายมาอยู่บ้านฝั่งตรงข้าม นีล (ทอม ไรลีย์ – Tom Riley) พ่อม่ายหนุ่มหน้าตาดี มีลูกสาววัย 9 ขวบชื่อเอ็มม่า จากนั้นไม่นานเธอก็พบว่านีลกำลังคบหากับลิซ่า (เชลลีย์ เฮนนิก Shelley Hennig) แฟนใหม่ที่แสดงท่าทีไม่ค่อยปลื้มแอนนานัก แอนนาแอบรู้ว่าลิซ่ากำลังนอกใจนีลคบกับผู้ชายอีกคน และหลังจากนั้นไม่นาน ในค่ำคืนหนึ่งแอนนามองผ่านหน้าต่างและเห็นลิซ่ากำลังถูกฆ่าตาย เธอพยายามข้ามถนนไปช่วย แต่แอนนามีโรคประจำตัว ‘Ombrophobia’ (โรคกลัวฝน) ทำให้เธอนอนหมดสติอยู่ริมถนนเสียก่อน
เหตุการณ์ที่กล่าวไปอยู่ใน 2 เอพิโซดแรกเท่านั้น นั่นหมายถึงในอีก 6 เอพิโซดที่เหลือจะเป็นเรื่องราวของการที่แอนนาตามคลี่คลายปริศนาฆาตกรรมด้วยตัวเธอเองและนำไปสู่การเฉลยในตอนจบ แต่ที่ซับซ้อนยิ่งกว่านั้นก็คือมีการปูพื้นฐานตัวละครหลักอย่างแอนนาไว้ว่าเธอมีอาการจิตหลอนจากการสูญเสียลูกสาว บวกกับพฤติกรรมที่ชอบดื่มไวน์กับยา นั่นหมายถึงในคืนนั้นแอนนาอาจจะเมาไวน์และเพ้อฝันถึงภาพที่เห็นลิซ่าถูกฆาตกรรมไปเองก็เป็นได้
การที่มินิซีรีส์ชุดนี้มีตัวละครดำเนินเรื่องอยู่ไม่กี่ตัว และมีแอนนาเป็นคนเดินเส้นเรื่องทั้งหมด ทำให้พล็อตเรื่องไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย โดยผู้กำกับ ไมเคิล เลห์แมนน์ (Michael Lehmann) ที่เคยมีงานโดดเด่นในปลายยุค 80s – 90s อย่าง ‘Heathers’ (1989) และ ‘Hudson Hawk’ (1991) ใช้วิธีเล่าเรื่องให้คนดูตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวละครแอนนา ได้เห็นภาพเดียวกับเธอ คนดูเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเป็นเรื่องจริงหรือภาพฝัน และไม่แน่ใจแม้กระทั่ง “หรือเราเองที่เป็นฆาตกร”
คริสเทน เบลล์ ทำหน้าที่ได้ดีในการแบกหนังไว้ทั้งเรื่อง เราเห็นและตัดสินทุกอย่างผ่านสายตาของแอนนา การแสดงของเบลล์สามารถปั่นหัวให้คนดูทั้งแอบเอาใจช่วยและแอบสงสัยเธอในเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับนักแสดงสมทบคนอื่น ๆ ทุกคนที่เป็นได้ทั้งผู้บริสุทธิ์และผู้ต้องสงสัยตามสูตรหนังแนวนี้
การที่มินิซีรีส์มีความยาวแค่ตอนละ 20 นาทีกว่า ๆ ทำให้การดำเนินเรื่องค่อนข้างกระชับ ไม่ค่อยสะเปะสะปะ เส้นเรื่องพุ่งตรงไปข้างหน้าว่าใครเป็นคนฆ่าลิซ่า หรือลิซ่าเสียชีวิตจริงหรือเปล่า การแฟลชแบ็กความหลังหรือภาพในความฝันของตัวละครเป็นระยะอาจจะสร้างความรำคาญอยู่บ้าง แต่นั่นก็เป็นการตั้งใจนำเสนอปมในอดีตของตัวละครที่ส่งผลต่อจิตใจหรือพฤติกรรม และเป็นการปั่นหัวคนดูไปในขณะเดียวกัน
แน่นอนว่าเอพิโซดสุดท้ายสำคัญที่สุดและเป็นการเฉลยปมปริศนาทุกอย่าง ซึ่งคนดูที่ติดตามมาตลอด 7 ตอน ก็ย่อมคาดหวังจะได้พบกับตอนจบที่หักมุมและการเฉลยปมฆาตกรรมที่ร้องว้าว… แล้วคนดูก็ได้ว้าวสมใจกับจุดหักมุมที่เรียกได้ว่าเกินความคาดหมาย ซึ่งมีทั้งความ “อึ้ง” ปนกับความ “อิหยังวะ” และการหักมุมชนิดที่เรียกว่า “ล้มคว่ำคะมำหงาย” นี่แหละ เป็นสิ่งที่ทำลายเรื่องราวและรายละเอียดเล็กน้อยที่สอดแทรกเข้ามาตลอดทั้ง 7 ตอน ยิ่งไปกว่านั้นยังขาดความน่าเชื่อถือและสมเหตุสมผลอย่างสิ้นเชิง
อีกนัยหนึ่ง ‘The Woman in the House Across the Street from the Girl in the Window’ ก็ไม่ได้นำเสนอออกมาในแนวทริลเลอร์หนัก ๆ ตั้งแต่ต้น แต่แอบแทรกความเป็นตลกร้าย (Dark Comedy) หรือตลกร้ายอยู่กลาย ๆ ซึ่งหากมองในมุมนี้ หนังอาจจะตั้งใจล้อเลียนและประชดประชันหนังฆาตกรรมแนวนี้ก็เป็นได้ เผลอ ๆ อาจทำให้คนจดจำง่ายกว่าหนังที่จบตามสูตรเดิม ๆ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส