[รีวิว] Death on the Nile – รีเทิร์นหาตัวคนร้าย เรื่อย ๆ กลางลำน้ำไนล์ สไตล์นักสืบหนวดเฟี้ยว
Our score
7.5

Release Date

10/02/2022

แนว

ดราม่า / อาชญากรรม

ความยาว

2.07 ชม. (127 นาที)

เรตผู้ชม

PG-13

ผู้กำกับ

เคนเนธ บรานาห์ (Kenneth Branagh)

[รีวิว] Death on the Nile – รีเทิร์นหาตัวคนร้าย เรื่อย ๆ กลางลำน้ำไนล์ สไตล์นักสืบหนวดเฟี้ยว
Our score
7.5

Death on the Nile | ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

จุดเด่น

  1. งานด้านภาพยังคงสวยแปลกตา
  2. ทีมนักแสดงฝีมือดีกันแทบทุกคนจนไม่อาจไว้ใจใครได้จริง ๆ
  3. คดียังคงซับซ้อนตามสไตล์อกาธา คริสตี
  4. ครึ่งเรื่องหลังเดินเรื่องแบบดุเดือด (และแอบมีความสยองขวัญนิดหน่อย)

จุดสังเกต

  1. เดินเรื่องช้ามาก กว่าจะมีคนตายก็ปาเข้าไปครึ่งเรื่องแล้ว
  2. ตัวเรื่องค่อนข้างซับซ้อนและซีเรียสน้อยกว่าภาคแรก ทำให้ค่อนข้างเดาง่ายว่าใครเป็นคนร้าย
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    8.2

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.0

  • คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง

    7.5

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    6.4

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    7.2

https://www.youtube.com/watch?v=qiGwaVRx5_0

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

5 ปีหลังจากที่โลกได้รู้จักกับ ‘แอร์กูล ปัวโรต์’ นักสืบผู้โด่งดังชาวเบลเยียม ที่เคยพาเราเข้าไปร่วมไขคดีปริศนาฆาตกรรมสุดซับซ้อนซ่อนเงื่อนและแสนจะโหดเหี้ยมบนรถไฟตกรางกลางพายุหิมะมาแล้วใน ‘Murder on the Orient Express’ (2017) มาแล้ว

ในปีนี้ ‘เคนเน็ธ บรานาห์’ (Kenneth Branagh) ผู้กำกับและนักแสดงเจ้าของบทนักสืบอัจฉริยะหนวดเฟี้ยว ก็ขอหยิบหัสนิยายฆาตกรรมสุดโด่งดังอีกเล่มของ ‘อกาธา คริสตี’ (Agatha Christie) อีกหนึ่งเล่มที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1937 เคยดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 1978 และเป็นภาพยนตร์ฉายทางทีวีในปี 2004 กลับมาหาเรื่องหาทำให้นักสืบผู้รักความเป๊ะ และรักการหม่ำขนมเค้กผู้นี้ไม่ได้มีโอกาสท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแบบสบายเนื้อสบายตัวกันอีกแล้ว (555)

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

คราวนี้ ‘ไมเคิล กรีน’ (Michael Green) ผู้รับหน้าที่เขียนบทตั้งแต่ภาคที่แล้ว กลับมาดัดแปลงนวนิยายในจักรวาลปัวโรต์ (A Poirot Story) ของ ‘อกาธา คริสตี’ พาเราย้อนเรื่องราวกลับไปในปี 1937 ในขณะที่ปัวโรต์กำลังพักผ่อนอยู่ที่มหาพีระมิดกีซา (Pyramid of Giza) ประเทศอียิปต์ เขาได้รับคำร้องขอจากคู่รักข้าวใหม่ปลามันอย่าง เศรษฐีนีไฮโซ ‘ลินเน็ต ริดจ์เวย์ ดอยล์’ (Gal Gadot) และนายหน้าค้าที่ ‘ไซมอน ดอยล์’ (Armie Hammer) ให้เดินทางไปที่เมืองอัสวาน (Aswan) เพื่อคอยคุ้มกันทั้งคู่จาก ‘แจ็คเกอลีน เดอ เบลเลฟอร์ต’ (Emma Mackey) อดีตคนรักของไซมอน และ (อดีต) เพื่อนของลินเน็ต ที่ถูกเพ่งเล็งว่า เธออาจจะตามมาก่อเรื่องล้างแค้นทั้งคู่ระหว่างที่กำลังฮันนีมูนบนเรือสำราญล่องแม่น้ำไนล์สุดหรูหราที่มีชื่อว่า ‘คาร์นัก’ (Karnak)

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

โดยมี ‘ลูอีส บอร์เจต์’ (Rose Leslie) ผู้ดูแลส่วนตัวของลินเน็ต ‘บุค’ (Tom Bateman) คู่หูของปัวโรต์ ‘ยูฟีเมีย’ (Annette Bening) แม่ของบุค ‘โรซาลี ออตเตอร์บอร์น’ (Letitia Wright) คนรักของบุค เพื่อนของลินเน็ต หลานป้า และผู้จัดการของนักร้องเพลงบลูส์ชื่อดัง ‘ซาโลเม ออตเตอร์บอร์น’ (Sophie Okonedo) ‘ลินนัส’ (Russell Brand) หมออดีตคู่รักของลินเน็ต ‘แอนดรูว์’ (Ali Fazal) ลูกพี่ลูกน้องผู้ทำหน้าที่นิติกรดูแลกิจการของลินเน็ต ‘มารี’ (Jennifer Saunders) แม่บุญธรรมของลินเน็ต และ ‘บาวเออร์’ (Dawn French) พยาบาลส่วนตัวของมารี ยกโขยงมาเที่ยวล่องท่องแม่น้ำไนล์ด้วย แต่แล้วฮันนีมูนก็ต้องจบลง เพราะเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น ปัวโรต์และบุคจึงต้องร่วมมือกันสืบหาฆาตกรบนเรือสำราญสุดหรูหราแห่งนี้

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

ตัวพล็อตเรื่องเองก็ยังคงใช้กลวิธีแบบ ‘whodunnit’ (ใครเป็นคนทำ ? ) ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็เป็นแนวทางหลัก ๆ ที่ใช้ในนิยาย และยังคงรูปแบบเดียวกับ ‘Murder on the Orient Express’ เป๊ะ ๆ เพียงแค่เปลี่ยนจากรถไฟเป็นเรือสำราญเท่านั้น แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจริง ๆ หากเปรียบเทียบกับภาคก่อนหน้าก็คือเรื่องของจังหวะการดำเนินเรื่องครับ เพราะใน ‘Murder on the Orient Express’ ถูกเล่าเป็นเส้นเรื่องเดียว และเดินเข้าสู่เรื่องแบบกระชับฉับไว แต่กลับในเรื่องนี้กลับตรงกันข้าม เพราะตัวเรื่องจะค่อย ๆ เล่าอย่างแช่มช้ากว่ามาก กว่าจะมีคนตายก็ล่อเข้าไปครึ่งเรื่องแล้ว (555) ตัวหนังในองก์แรก และครึ่งแรกขององก์ที่สองจึงเป็นการให้เวลาปูเรื่อง ทั้งเรื่องของปัวโรต์เอง และที่มาการชิงรักหักสวาทของอดีตเพื่อนและอดีตแฟนที่ทั้งหวานชื่นและขื่นขมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก่อนจะค่อย ๆ สับเกียร์เร่งเครื่องในช่วงครึ่งหลัง หลังจากสิ้นเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

อีกจุดที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การคลี่คลายไขคดีครับ ทั้งสองภาคนี้ก็ยังคงวางปมให้คนดูได้ไขคดีตามสไตล์นิยายรหัสคดีแบบอกาธา คริสตีไปด้วย แต่สิ่งที่ถือว่าต่างออกไปในหนังภาคนี้ก็คือ การวางปมที่ดูจะง่ายและซับซ้อนน้อยกว่าภาคก่อน ๆ อยู่มากทีเดียว ทั้งในแง่ของบทที่ในภาคนี้ ดูจะซีเรียสน้อยกว่าภาคที่แล้วอยู่พอสมควร หรือแม้แต่สถานที่ ที่คราวที่แล้วเป็นรถไฟซึ่งมีความเป็นพื้นที่ปิดมากกว่า ก็เลยทำให้ดูมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนและดูลึกลับ เดาใจไม่ได้สักทางและวางใจไม่ได้สักคนเดียว แต่ในขณะที่ในภาคนี้ เส้นเรื่องรหัสคดีที่วางไว้ดูจะซับซ้อนน้อยกว่า รวมทั้งสถานที่บนเรือสำราญที่ประดับตกแต่งด้วยกระจกและพื้นที่เปิดโล่งเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยทำให้ดูมีความเป็นส่วนรวมมากกว่า

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

ตัวหนังก็เลยทำให้คนร้ายในภาคนี้อาจจะแอบซ่อนอะไรไม่ได้เยอะ เลยหันไปใช้กลวิธีการซ่อนเงื่อนด้วยวิธีการหันเหความสนใจ รวมทั้งการผูกปมเกี่ยวกับความรัก โดยเฉพาะความรักที่มากเกินควรจนกลายเป็นหมกมุ่น และเรื่องของมิตรภาพที่มาพร้อมกับผลประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นธีมหลักที่ขับเคลื่อนเรื่องเลยก็ว่าได้ (ซึ่งขอไม่ลงลึกว่าเป็นแบบไหนนะครับ) รวมถึงการเพิ่มกลิ่นอายความสยองขวัญเข้ามาด้วยเล็กน้อย ซึ่งก็ทำให้ภาพรวมที่ได้ในภาคนี้ อาจจะไม่ได้ซับซ้อนลึกลับและพิศวงชวนให้ซีเรียสคิดหนักเหมือนภาคแรก และออกจะเดาง่ายเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ควรพลาดบทสนทนาของปัวโรต์และตัวละครอื่น ๆ เพื่อเก็บรายละเอียดสำคัญนะครับ ของแบบนี้พลาดแล้วพลาดเลย

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

ความน่าสนใจของภาคนี้อีกจุดหนึ่งก็คือ ตัวหนังไม่ได้เล่าเรื่องแค่ปริศนาฆาตกรรมเหมือนอย่างเรื่องก่อนหน้าแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่พิเศษสำหรับภาคนี้ก็คือ การสอดแทรกเรื่องราวจากมุมมองของปัวโรต์เองเอาไว้ด้วย ทั้งมุมมองของการต้องทำหน้าที่นักสืบที่ไม่ใช่เพียงแค่โผล่มาไขคดีแล้วก็ไป แต่ในหนังเราจะได้เห็นภาพที่สะท้อนให้เห็นมุมมองและเรื่องราวเกี่ยวกับเขามากขึ้นอีกมากทีเดียว ทั้งคำถามต่าง ๆ ที่ถูกทิ้งไว้ในภาคที่แล้ว เรื่องราวเล็ก ๆ ที่เล่าย้อนไปถึงปูมหลังของปัวโรต์ รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของเขาเองด้วย

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

แม้ปัวโรต์เองจะเป็นนักสืบที่เก่งกาจและมีชื่อเสียงขจรขจายไปไกล และออกจะมีความเชื่อมั่นในการทำคดีอยู่สูงทีเดียว แต่ตัวของเขาเองก็ดูจะมีปัญหาอะไรบางอย่าง ทั้งการวางสมดุลในเรื่องหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัวที่ยังสับสนปนเป ทำให้คราวนี้ดูเหมือนว่า นอกจากปัวโรต์เองจะต้องเผชิญกับคดีที่ยิ่งทำก็ยิ่งซับซ้อนเข้าไปทุกที เขาเองยังต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับตัวตนเข้าไปอีก ทำให้การสืบคดีกลางแม่น้ำไนล์ในครั้งนี้ ทำให้ปัวโรต์เองสูญเสียอะไรไปหลายอย่างเหมือนกัน ทั้งของตัวตนภายในจิตใจ จุดยืนของตัวเองในฐานะนักสืบอาชีพ และแถมยังต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายต่อเขาเองไปด้วย

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ผู้เขียนเองก็ยังชั่งใจไม่ได้เต็มพิกัดอยู่เหมือนกันว่า การเล่าเรื่องปมปัญหาของปัวโรต์ และเรื่องราวที่รายล้อมของทั้งปัวโรต์ และคนใกล้ชิดบางคนไปพร้อม ๆ กับการเล่าเรื่องหัสคดี whodunnit หาฆาตกรบนเรือสำราญไปพร้อม ๆ กันนั้นถือว่าเวิร์กไหม มันก็เป็นได้ทั้งเวิร์ก คือมันดูแปลกใหม่ดีสำหรับการเป็นหนังแนว whodunnit นั่นแหละ แต่ถ้าเล่าออกมาไม่ดี มันจะกลายเป็นมะเร็งของเส้นเรื่องที่พัลวันยุ่งเหยิง และพากันลุกลามทำลายเส้นเรื่องหลักจนพินาศได้ โชคดีที่บรานาห์สามารถคุมเส้นเรื่องรองนี้เอาไว้ได้อย่างดีมาก ๆ ก็เลยทำให้ตัวเส้นเรื่องหลักก็ยังคงเส้นคงวา ส่วนเส้นเรื่องรองก็ถูกเล่าเอาไว้ในจังหวะที่โอเค ก่อนจะมาขมวดในองก์สุดท้ายได้แบบโอเคเลย

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

ส่วนในแง่ของนักแสดง ก็ต้องยกนิ้วโป้งให้ว่า คัดตัวนักแสดงชุดนี้มาได้แบบถือว่าคุณภาพคับแน่นเต็มลำเรือกันเลยทีเดียว เพราะต่างก็แสดงฝีมือกันได้ไม่แพ้กันจริง ๆ แน่ ๆ แหละว่าความสนใจทั้งหมด (โดยเฉพาะหนุ่ม ๆ ) คงเทไปที่ ‘กัล กาด็อต’ (Gal Gadot) เจ้านี้เล่นหนังเรื่องไหนก็ทรงเสน่ห์ทั้งนั้นแหละครับ (อะแฮ่ม…) แต่ก็อย่าได้ละเลยนักแสดงทั้งหมดที่ต่างก็สามารถแสดงความทั้งน่าไว้วางใจ และไม่น่าไว้วางใจได้อย่างดีไม่แพ้กับภาคก่อนไปเชียว รวมถึงเคนเน็ธ บรานาห์ ที่ควบทั้งแสดงและกำกับ ก็ยังคงรักษาความเป็นแอร์กูล ปัวโรต์ และเพิ่มความรู้สึกนึกคิดขึ้นจากภาคก่อน ทำให้นักสืบหนวดเฟี้ยวคนนี้ดูมีมิติและน่าติดตามขึ้นอีกเป็นกอง

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

และอีกเรื่องที่ต้องชมก็คือ หากจุดเด่นของ ‘Murder on the Orient Express’ คือการวางมุมกล้องที่สวยงามแปลกตา ในเรื่องนี้ก็ยังคงเจนจัดและพิถีพิถันกับเรื่องของภาพและมุมกล้อง โดยเฉพาะทิวทัศน์ประเทศอียิปต์ที่ถ่ายทอดผ่านการถ่ายทำด้วยฟิล์มออกมาได้สวยงามจริง ๆ ทั้งท่าเรือเมืองอัสวาน (Aswan) ทิวทัศน์แม่น้ำไนล์บนเรือสำราญที่เราจะได้เห็นทุกมุมทั้งกลางวันและกลางคืน มหาพีระมิดกีซา (Pyramid of Giza) ที่ถูกวางมุมกล้องได้ออกมาสมมาตรถูกใจคุณปัวโรต์ และวิหารอาบูซิมเบล (Abu Simbel) ที่มีรูปแกะสลักหินใหญ่ยักษ์ที่สวยงามและมีตำนานที่คู่รักยังแทบจะอดใจไม่ไหว (555)

Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

โดยสรุป ‘Death on the Nile’ หรือ ‘ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์’ แม้ความเป็น whodunnit จะดูซับซ้อนและปมเบาะแสที่ทิ้งไว้ให้จะดูทำงานน้อย เดาง่ายกว่าภาคที่แล้ว และการเดินเรื่องที่อาจจะไม่ถูกใจคอหนังสายสับตีนแตก แต่ก็พอจะทดแทนได้ด้วยพล็อตที่ยังคงมีความซับซ้อน น่าติดตาม ไดอะล็อกที่เต็มไปด้วยรายละเอียดที่พลาดไม่ได้ ทีมนักแสดงที่แม้จะเยอะยุ่บยั่บ แต่ก็โดดเด่น ไม่ซ้อนทับบทบาทและแย่งซีนกันเอง รวมถึงงานด้านภาพที่ยังคงสวยงามไว้ใจได้

การรีเทิร์นกลับมาของนักสีบหนวดเฟี้ยว ‘แอร์กูล ปัวโรต์’ ในครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นแค่หนังสืบสวนสอบสวนไขคดีหัวแทบแตกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ถือว่าเป็นภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนที่ให้ความบันเทิงตามแบบฉบับรหัสคดีสับขาหลอกที่ห้ามพลาดแม้แต่สักวินาทีเดียว งานการแสดงที่ไว้ใจใครไม่ได้ ๆ และงานด้านภาพที่ยิ่งใหญ่อลังการ สมกับการกลับมาอีกครั้งของนักสืบหนวดเฟี้ยวอย่างแอร์กูล ปัวโรต์ จริง ๆ ครับ


Death on the Nile ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส