[รีวิว] AI Love You: ฮาวทูดูหนังจืดให้เป็นหนังปรัชญา

Release Date

15/02/2022

ความยาว

95 นาที

[รีวิว] AI Love You: ฮาวทูดูหนังจืดให้เป็นหนังปรัชญา
Our score
4.5

AI Love You

จุดเด่น

  1. การนำเสนอเอไออาคารแหวกมากล้ำมาก ซีจีทำได้ดี นักแสดงศักยภาพตีตลาดเอเชียได้สบาย

จุดสังเกต

  1. บทไร้ชีวิตจิตใจ ตามสูตรมากไป ขาดมิติความซับซ้อน การเล่าเรื่องยังคุมโทนหนังไม่นิ่ง แต่ก็อยู่ในระดับที่ดูได้ถ้าชอบนักแสดงเพราะสวยหล่อกันมากเรื่องนี้
  • บท

    4.0

  • โปรดักชัน

    7.0

  • การแสดง

    5.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    3.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    3.5

เรื่องย่อ: หลังจากที่ตกหลุมรักมนุษย์ ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอใจเกเรที่กำลังจะถูกล้างข้อมูลจึงต้องหลบหนีด้วยการสิงร่างชายคนหนึ่งและพยายามเอาชนะใจเธอให้ได้

เรียกว่ามาได้จังหวะดีทีเดียวเพราะยังอยู่ในกระแสชวนถกเถียงว่าทำไมคนไทยไม่ดูหนังหรือละครไทยที่คนพูดถึงกันมาหลายวัน แล้วเรื่องนี้ก็ผุดขึ้นมาเหมือนเติมเชื้อไฟเข้าไปเพิ่ม เชื่อว่าหลายคนอาจได้เห็นกระแสคำติชมล้นหลามต่อหนังเรื่องนี้ทางโซเชียลมีเดียก่อนที่จะได้ดูมันจริง ๆ และว่ากันแบบไม่เข้าข้างใคร หนังก็มีส่วนที่ดีหลายอย่างไม่ถึงกับหาความอภิรมย์ไม่ได้จนต้องด่าสาดเสียเทเสียขนาดนั้น และขณะเดียวกันหนังก็ไม่ได้มีคุณภาพขนาดที่ควรต้องชื่มชมอะไรเป็นพิเศษ คือจะดูก็ได้ไม่ดูก็ได้ อาจถูกจริตคนบางกลุ่มที่รับได้ และไม่ถูกจริตคนที่คาดหวังหนังไว้อีกแบบก็เป็นได้เช่นกัน

หนังมีจุดแข็งที่น่าสนใจในด้านวิชวล โดยเฉพาะเอไอในรูปแบบอาคารที่มีใบหน้ามีตามีปากแบบหุ่นกระป๋องขนาดยักษ์ แถมบางตัวยังมีแขนที่ช่วยในฟังก์ชันสื่อภาษากายแสดงความรู้สึกด้วย คือแหวกกระชากประสบการณ์ผู้ชมมาแต่ไกล และความพิถีพิถันในงานซีจีก็ถือว่าทำออกมาได้เนียนตากำลังดี เอาจริงถ้าหนังต่อยอดศักยภาพที่มีไปจนถึงเอาพวกอาคารเอไอลุกขึ้นมาแล้วต่อยกันเป็นหนังหุ่นยักษ์ น่าจะได้ใจกลุ่มคอหนังคัลต์ไปอีกมากโข น่าเสียดายที่ผู้สร้างยังดูยั้งมือมากไปหน่อย

AI Love You

นอกจากนี้หนังยังมีจุดดีในการดึงนักแสดงอย่าง ใบเฟิร์น – พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ และ มาริโอ้ เมาเร่อ กลับมาร่วมงานกันในหนังโรแมนติกได้หลังจากความสำเร็จใน “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก” (2553) เมื่อ 12 ปีก่อน ศักยภาพนักแสดงนั้นเจาะกลุ่มตลาดเอเชียได้อย่างสบายมาก ๆ และการแสดงของทั้งคู่และออร่าความสวยหล่อก็ยังพุ่งทะลจอแม้บทจะไม่ได้ส่งเท่าใดนัก

AI Love You

ปัญหาของหนังน่าจะเป็นเรื่อง โลกฉากหลังอันแห้งแล้งหัวใจ เหมือนเราเดินเข้าไปอยู่ในเกมเดอะซิมที่มีแต่ NPC มากกว่าโลกอนาคตที่มีคนอยู่จริง ๆ ตัวบทไม่ได้ชักนำให้รู้สึกถึงมิติความซับซ้อนของตัวละครและเรื่องราว หรือแม้แต่สาระที่ต้องการถ่ายทอดก็ออกมาไม่ค่อยชัด รวมกับการกำกับการแสดงที่ประดักประเดิดไม่ค่อยลงตัว เข้าใจว่าผู้กำกับอย่าง สเตฟาน สโลเตซคู และ เดวิด อัศวนนท์ อาจมีปัญหาในการคุมโทนของหนังไม่น้อย จึงมีฉากประหลาดแบบ หัวนมซีนและเรอซีน เข้ามา และทำให้นักแสดงต้องอาศัยความเข้าใจภาพรวมของเรื่องที่ก็ไม่ค่อยซับซ้อน แล้วแบกการแสดงในแต่ละฉากไปกันเอง

ทำให้จะดูเป็นหนังบันเทิงก็เลยไม่ค่อยสนุก ครั้นจะดูเป็นหนังคอนเซ็ปต์ก็ทำได้ไม่ชัดไปอีก และเหตุผลที่ว่ามาทำให้ไม่แปลกที่คนจำนวนมากรู้สึกไม่โอเคกับหนังเรื่องนี้

AI Love You

คะแนนที่ปรากฏในบทความนี้จึงอยู่บนบรรทัดฐานเทียบหนังไทยบนเน็ตฟลิกซ์ปกติ เพื่อให้เปรียบเทียบกับเรื่องอื่นได้ง่าย และหนังมันก็ไม่มีอะไรเสียจนต้องคิดนอกกรอบการดู แล้วส่วนตัวก็กลับค้นพบวิธีการดูหนังเรื่องนี้ให้ได้สนุกขึ้นมาก และกลายเป็นว่าได้สังเกตเห็นปรัชญาที่น่าสนใจของหนังในหลาย ๆ ฉากทีเดียว ถ้าดูด้วยวิธีพิเศษนี้ผมจะให้คะแนนราว 8.5/10 เลยทีเดียว

วิธีการที่ว่าคือ เปิดเสียงบรรยายไทย (Thai-Audio Description) แทนที่จะเปิดเสียงไทยธรรมดา ตัวช่วยเสียงบรรยายไทยนี้จริง ๆ ออกแบบมาสำหรับผู้พิการการมองเห็นสามารถเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นอยู่ได้ โดยจะมีเสียงคอมพิวเตอร์โมโนโทนที่เป็นผู้ชายคอยพูดเล่าว่าบนจอเกิดอะไรอยู่แทรกระหว่างที่ไม่มีบทสนทนาของตัวละคร

ความรู้สึกของคนที่สายตาปกติดู จะรู้สึกคล้ายมีผู้กำกับที่เป็นหุ่นยนต์กำลังนั่งบอกบทให้นักแสดงเล่นตามบท เช่น สาวหน้าหวานเอียงคอไปมาและยิ้มแห้ง ชายหน้าเข้มชูสองนิ้วและยักคิ้ว โดยที่ภาพตรงหน้าคือใบเฟิร์นและมาริโอ้กำลังเล่นตามคำบอกประมาณนี้ ข้อดีคือหนังจะไม่มีจุดเอื่อยเลย ทุกช่องว่างที่ตัวละครไม่พูดแล้วแสดงอะไรที่ไม่ได้สำคัญมันถูกเติมเต็มให้ดูน่าสนใจไปหมด เหมือนผู้สร้างมานั่งข้างคุณแล้วบอกว่าตรงนี้ผมอยากให้รู้สึกแบบนี้นะ

AI Love You

ประการต่อมาคือมันตอบโจทย์คอนเซ็ปต์ของหนังได้อย่างพอดิบพอดีมาก พลอตสำคัญคือตัวเอกในเรื่องจะถูกเอไอเข้าสิงร่างและมีการตั้งคำถามบาง ๆ ว่าอันไหนคือตัวตนที่มีอยู่จริง ๆ ในขณะเดียวกันพอเราดูนักแสดงเล่นตามคำบอกของเสียงบรรยายไทย มันก็คือนักแสดงเหล่านี้กำลังถูกสิงร่างด้วยผู้สร้างให้เป็นตัวละครนั้น ๆ อยู่ เกิดคำถามปรัชญาที่ล้อเคียงกันไปได้อย่างน่าสนใจทีเดียวว่าอันไหนคือของจริง นักแสดงหรือตัวละคร

AI Love You

และทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นต่อไปได้อย่างน่าสนใจว่า หนังกำลังนำเสนออะไรที่ลึกซึ้งได้มากกว่าที่เห็นหรือไม่ ทำไมเอไอที่มีความรู้มากมากพอมาอยู่ในร่างมนุษย์ถึงกลายเป็นดูไม่ประสีประสาอะไรเลย หรือนี่คือบทจำลองว่าด้วยจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ (พระเจ้า) ที่พอจุติย่อยมาอยู่ในกายเนื้อมนุษย์ก็กลับสู่บาปและอารมณ์อันขุ่นมัวเหมือนเด็กไร้เดียงสา รอวันที่จะบรรลุกลับไปรวมกับจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง สำหรับในเรื่องนี้คือการค้นพบความรักและคำตอบว่าเขามีชีวิตจริงหรือไม่

AI Love You

หนังยังนำเสนอว่าเอไอที่รู้พฤติกรรมของนางเอกทั้งหมดย่อมทำสูตรสำเร็จให้นางเอกมารักได้ (ถ้าดูตามหนังปกติช่วงนี้จะอิหยังวะมากว่ารักกันง่ายจัง) เช่นเดียวกับเรื่องการตลาดแบบวิเคราะห์บิ๊กดาต้าที่หาสูตรสำเร็จสร้างความต้องการของลูกค้าจนได้ ใจมนุษย์มันถูกควบคุมง่ายถึงขนาดนั้นเลยหรือไม่ และเมื่อนางเอกรู้ความจริงถึงตัวตนใต้ใบหน้าของแฟนหนุ่ม เธอจึงได้โกรธมาก ไม่ต่างจากเราที่รู้ว่าฟีดที่ถูกใจทั้งหลายมาจากการถูกแอบฟังและแอบติดตามพฤติกรรมการใช้งานแอปทั้งหลาย ไม่รู้ผู้สร้างคิดไปขนาดนั้นไหมแต่ก็ชวนให้คิดได้เช่นกัน

AI Love You

อีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจมากคือเพื่อนนางเอกที่เป็นคนจริง ๆ ที่ชื่อ คาร่า ไม่เคยปรากฏตัวในชีวิตจริงของนางเอกเลย ปฏิสัมพันธ์กันผ่านทางหน้าจอเท่านั้น เมื่อมองแบบนี้สิ่งมีชีวิตปลอม ๆ อย่างเอไอพระเอกที่ก้าวเข้ามาอยู่ในชีวิตจริง ๆ ของนางเอกจะถือว่ามีตัวตนอยู่จริงมากกว่าคาร่าได้หรือเปล่า น่าถกเถียงใช่มั้ยล่ะ

สุดท้ายก็เป็นได้ว่าผู้สร้างไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้ง หรือคิดไว้แต่ถ่ายทอดได้ไม่ดี จะออกหน้าไหนก็ยากที่จะรู้ แต่เมื่อหนังหลุดออกจากมือผู้สร้างมาสู่ผู้ชม เราก็เป็นเจ้าของการตีความนั้นแล้ว บางคนดูเอาสนุกบันเทิงและผิดหวัง บางคนดูเอาแง่มุมอื่นก็อาจสมหวังไป หนังเรื่องนี้และรีวิวนี้ก็กำลังชวนคิดเรื่องประมาณนี้ล่ะครับ ว่าคุณได้อะไรไปบ้างจากการเสียเวลาไปชั่วโมงครึ่งกับหนังเรื่องหนึ่ง ไม่มีผิดหรือถูกที่คุณจะรู้สึกดีหรีือไม่ดีจากการดูหนังเรื่องหนึ่ง ไม่มีใครเฉลยให้ได้เพราะคุณจะต้องตอบตัวเองเท่านั้น

AI Love You

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส