[รีวิว] ภาพหวาด – ซ่อนอะไรใต้ความอิกนอร์

Release Date

24/02/2022

ความยาวหนัง

93 นาที

ผู้กำกับ

สุรพงษ์ เพลินแสง

นักแสดง

แพต ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช นิชคุณ หรเวชกุล นีน่า ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน

[รีวิว] ภาพหวาด – ซ่อนอะไรใต้ความอิกนอร์
Our score
7.6

[รีวิว] ภาพหวาด – ซ่อนอะไรใต้ความอิกนอร์

จุดเด่น

  1. ปมเรื่องปิตาธิปไตยที่ไม่ได้อยู่ในตัวอย่างทำให้หนังมีบรรยากาศความสยองที่เฉพาะตัวมาก ๆ
  2. การแสดงของนิชคุณ แพต ชญานิษฐ์ และ น้องนีน่า ณัฐชา คือกลไกสำคัญที่ทำให้หนังมีไดนามิกที่น่าสนใจ
  3. งานถ่ายภาพของแฮม ณัฐดนัย นาคสุวรรณ์ จาก One for the road ดีงามทั้งการคุมโทนภาพและการเฟรมมิ่งที่สร้างความน่าสะพรึงกลัวให้หนังได้เป็นอย่างดี

จุดสังเกต

  1. การใส่จังหวะผีตุ้งแช่ทำให้หนังมีรอยด่างพร้อยไปอย่างน่าเสียดาย
  2. ควรให้ข้อมูลเบื้องหลังตัวละครให้มากกว่านี้จะทำให้จุดหักมุมเมคเซนส์มากขึ้น
  • บทหนังมีจุดน่าสนใจเยอะมากแต่อาจต้องการเวลาในการเล่าที่มาที่ไปมากกว่านี้

    7.0

  • งานภาพงดงาม และงานเสียงคือคุณภาพมากตรึงเราอยู่กับหนังได้ตลอด เป็นหนังไทยที่มีงานโปรดักชันระดับสากลอย่างแท้จริง

    8.0

  • แพต ชญานิษฐ์ และ นิชคุณแสดงดีมาก นักแสดงสมทบก็ทำหน้าที่ได้ดีเช่นกัน

    8.0

  • เป็นหนังสยองขวัญที่โดดเด่นเรื่องบรรยากาศ แม้จะมีจังหวะตุ้งแช่พร่ำเพรื่อบ้างแต่ภาพรวมก็ยังน่าพึงพอใจ

    7.0

  • เป็นหนังที่เหมาะกับการดูในโรงหนังจริง ๆ ทั้งเรื่องภาพและเสียง

    8.0

เดิมทีบทหนังของ ‘ภาพหวาด’ คือบทภาพยนตร์จากทางเกาหลีซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการสร้างหนังภายใต้ชายคาของบริษัทอย่างซีเจ เมเจอร์ บริษัทร่วมทุนสร้างไทย-เกาหลีที่เคยมีงานภาพยนตร์มาแล้ว 4 เรื่อง และกับ ‘ภาพหวาด’ ที่บทภาพยนตร์ร่างแรก ๆ ได้นักเขียนบิ๊กเนมอย่าง เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ มาเริ่มโครงการดัดแปลงบทก่อนจะได้ทีมใหม่ทั้ง อรอุษา ดอนไสว, ปัญญ์ หอมชื่น และ สุรพงษ์ เพลินแสง ที่มารับหน้าที่ผู้กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกหลังสร้างชื่อจากวงการโฆษณา

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

หนังเริ่มต้นที่นิวยอร์กด้วยเสียงบทสนทนาระหว่าง รุจา (รับบทโดย  แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พยายามโทรไปยืมเงินใครบางคนเพื่อนำมารักษาดวงตาของ ราเชล (รับบทโดย นีน่า-ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน) ลูกสาวตัวน้อยของเธอก่อนตาจะบอด หลังสิ้นไร้หนทาง ประตูห้องของเธอก็ถูกเคาะโดยคุณอา (รับบทโดย ปู-สหจักร บุญธนกิจ) ที่เรียกเธอให้กลับเมืองไทยเพื่อจัดการเรื่องมรดกที่พ่อของเธอทิ้งไว้ให้ก่อนตาย

และเป็นบ้านหลังเดิมที่เชียงใหม่ท่ามกลางบรรยากาศฉ่ำแฉะด้วยห่าฝนที่ตกลงมาอย่างบ้าคลั่่งโดยหนึ่งในมรดกที่เธอจำต้องจัดการเพื่อขายต่อคือภาพ “Portrait of a Beauty” มูลค่ามหาศาลที่แอบซ่อนความทรงจำอันเลวร้ายภายใต้ชายคาบ้านของเธอแต่เมื่อภาพที่จะกลายเป็นทุนสำหรับผ่าตัดตาของราเชลเกิดความเสียหาย เธอจำเป็นต้องให้ช่างซ่อมแซมภาพ (รับบทโดย นิชคุณ หรเวชกุล) เข้ามาบูรณะให้สมบูรณ์แต่มรดกที่เธอกำลังได้รับอาจมาพร้อมความลับสุดสยองที่หลอกหลอนอยู่ในครอบครัวของเธอเอง

Beartai Buzz รีวิว ภาพหวาด
Beartai Buzz รีวิว ภาพหวาด

หนึ่งในจุดเด่นมาก ๆ ของ ‘ภาพหวาด’ คือการใช้งานศิลปะมาองค์ประกอบในการเล่าเรื่อง ทั้งการเป็นโมทีฟ (Motif) ที่ใช้ซ้ำ ๆ ในการเล่าเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะรอยแตกของภาพที่หนังค่อย ๆ ยั่วให้เราอยากรู้ปริศนาเบื้องหลังของมันอีกทั้งมันยังตอบโจทย์เรื่องราวอันเกี่ยวพันกับเรื่องราวในวัยเด็กของรุจา และเป็นวัยเด็กของรุจานี่เองที่ทำให้รู้สึกเลยว่าบทหนังเองก็แอบซ่อนการวิพากษ์เรื่องที่ไม่มีใครกล้าพูดในประเทศนี้ไว้ได้อย่างแนบเนียนไม่แพ้กัน

แม้ว่าบทหนังเองจะไม่ได้ใหม่มาก แต่พรหมแดนบางอย่างหนังก็กล้าข้ามได้อย่างน่าชื่นชมโดยเฉพาะประเด็นปิตาธิปไตย เมื่อครอบครัวอยู่ใต้อำนาจของชายบ้าคลั่งที่เอาศิลปะมาเปฺ็นข้อต่อรองทั้งการเป็นศิลปินหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวและผู้สร้างสรรค์งานที่คุกคามสวัสดิภาพในชีวิตซึ่งหากมองให้ลึกแล้วเปลี่ยนบริบทจาก “ศิลปินใหญ่” มาเป็น “คนใหญ่คนโต” และวีรกรรมที่เป็นที่ร่ำลือกันแล้วล่ะก็ความสยองคงไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องราวบนจอเท่านั้น ซึ่งก็ต้องอาศัยประสบการณ์ว่าคุณ “เก็ต” กับสิ่งที่หนังพยายามบอกหรือเปล่าเท่านั้นเอง

Beartai Buzz รีวิว ภาพหวาด
Beartai Buzz รีวิว ภาพหวาด

ยิ่งไปกว่านั้นหนังยังให้รุจาเป็นตัวแทนของคนในสังคมไทยที่พอมาคิดดูก็ชวนเจ็บแสบไม่น้อยเลย เพราะด้วยประโยค “ถ้าเราทำเป็นไม่เห็นมัน มันก็ทำอะไรเราไม่ได้” ซึ่งแม้ประโยคนี้จะมีโผล่มาในตัวอย่างแต่ตัวหนังจริงบอกได้เลยว่าประโยคนี้แทบจะทำให้เราเห็นภาพความรุนแรงในสังคมไทยที่เราได้แต่ทำเป็นหลับตาแล้วคิดเสียว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นหรือที่บรรดากลุ่มผู้ประท้วงในสังคมไทยเรียกว่า “พวกอิกนอร์แรนซ์” นั่นแหละ ซึ่งก็ทำให้ความสยองของ “ภาพหวาด” มีมิติด้านสังคมการเมืองแบบเปรียบเปรยหรืออัลเลอร์กอรี (Allegory) ได้อย่างน่าสนใจ

แต่แล้วความน่าสนใจของหนังก็ค่อย ๆ เกิดรอยร้าวรอยรั่วที่ลุกลามไปเรื่อย ๆ ด้วยท่าบังคับของการเป็นหนังผีทั้งความตุ้งแช่ที่มาพร่ำเพรื่อ และที่สำคัญคือปมที่ปูไว้ตอนต้นอย่างการหาเงินไปรักษาตาของลูกก็ดูจะกลืนหายเหมือนสีที่ถูกขูดออกจากภาพ “Portrait of a Beauty” จนยอมรับเลยว่ามันเกือบทำให้หนังเป๋ ๆ ไปบ้างเหมือนกันในช่วงกลางเรื่อง แต่แล้วตัวหนังก็กลับมาทำคะแนนได้อีกครั้งในองก์สุดท้ายที่ผู้กำกับแทบจะเดิมพันหมดหน้าตักพลิกผันจากดราม่าสยองขวัญกลายเป็นทริลเลอร์ได้แบบวัดไปเลยว่าคนดูจะชอบหรือชัง แต่ที่แน่ ๆ คืออย่างน้อยตอนจบของหนังก็เมกเซนส์พอสำหรับปมต่าง ๆ ที่ปูมาแม้ว่าจะมีบางปมหนังยังเล่าไม่เคลียร์และตัดจบไปอย่างน่าเสียดายก็ตาม

Beartai Buzz รีวิว ภาพหวาด
กดที่ภาพเพื่อเช็กรอบฉายและซื้อบัตรชมภาพยนตร์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส