Release Date
25/02/2022
แนว
ดราม่า / อาชญากรรม / สืบสวนสอบสวน
ความยาว
1 ซีซัน (10 ตอน)
เรตผู้ชม
18+ (ความรุนแรง, การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม, การใช้สารเสพติด, ความรุนแรงทางเพศ, ทารุณกรรมเด็ก)
ผู้กำกับ
'ฮงจงชัน' (Hong Jong-Chan)
Our score
8.1Juvenile Justice | หญิงเหล็กศาลเยาวชน | 소년 심판
จุดเด่น
- เดินเรื่องได้กระชับฉับไว ไม่เยิ่นเย้อ แม้แต่ละตอนจะยาวเป็นชั่วโมง
- ทำการบ้านเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเยาวชนได้อย่างลึกและรอบด้านมาก ๆ
- คิมฮเยซู แสดงสีหน้าและเรื่องราวได้เย็นชาและกระเทือนใจมาก ๆ
- นักแสดงอื่น ๆ และเหล่านักแสดงวัยรุ่นที่แสดงเป็นอาชญากรเด็ก เล่นได้เข้าถึงบทบาทมาก ๆ
จุดสังเกต
- กราฟความน่าดูเริ่มตกไปบ้างช่วงกลาง ๆ ซีซัน แต่ก็ยังดูเอาเรื่องได้สนุกดี
- 2 ตอนสุดท้ายแอบมีความไม่สมเหตุสมผลอยู่บ้าง แต่ก็ยังพอจะดูให้สนุก ๆ ได้
- หวังว่าจะไม่มีน้ำเน่า แต่ก็ยังแอบมีมานิดนึง แต่ก็ไม่เยอะ ไม่น่าเกลียด
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
8.7
-
คุณภาพงานสร้าง
7.4
-
คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง
8.3
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
7.6
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.5
ณ ตอนนี้ ซีรีส์จากเกาหลีใต้อย่าง ‘Juvenile Justice’ หรือ ‘หญิงเหล็กศาลเยาวชน’ ซีรีส์ Netflix Original เรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้าฉายเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลายเป็นซีรีส์กระแสแรงที่กำลังติดอันดับหนึ่งอยู่ในตอนนี้ครับ และกระแสก็กำลังมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ ‘ฮงจงชัน’ (Hong Jong-Chan) ที่เคยมีผลงานกำกับซีรีส์มาหลายต่อหลายเรื่อง คราวนี้ เขาขอหยิบมุมมองเกี่ยวกับกฏหมาย โดยเฉพาะแง่มุมที่แทบไม่มีใครเคยหยิบจับมาก่อนอย่าง ‘กระบวนการยุติธรรมคดีเยาวชน’ มาเล่าผ่านซีรีส์เรื่องนี้ ผ่านมุมมองการเขียนบทของ ‘คิมมินซอก’ (Kim Min-Seok)
ตัวซีรีส์โดยรวมเล่าด้วยพล็อตแบบ ‘Courtroom Drama’ หรือเรื่องราวเกี่ยวกับการพิจารณาคดีความในชั้นศาลนั่นแหละนะครับ แต่ที่พิเศษและแตกต่างออกไปนั่นก็คือ เป็นซีรีส์ที่เจาะจงเล่าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีเยาวชนโดยเฉพาะ เพราะตามหลักกฏหมายแล้ว เยาวชนที่อายุไม่เกิน 14 ปี จะต้องถูกตัดสินคดีตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชน ซึ่งจะมีโทษสูงสุดคือ คุมประพฤติระดับ 10 จนกระทั่ง ‘ชิมอึนซอก’ (Kim Hye-soo) ผู้พิพากษาสาวผู้เย็นชาเพราะแอบซ่อนอดีตขมขื่นไว้เบื้องหลัง ได้ย้ายเข้ามาทำงานเป็นผู้พิพากษาคนใหม่ของ ‘ศาลแขวงแผนกคดีอาญาเด็กและเยาวชนเขตยอนฮวา’
เธอจึงถือโอกาสนี้ ล้างบางวิธีการพิจารณาคดีเยาวชน ที่ปกติแล้วมักจะไม่ค่อยซับซ้อน และมักจะตัดสินคดีกันอย่างรวดเร็ว และไม่ได้ตัดสินดำเนินคดีหนักเท่ากับคดีผู้ใหญ่ ด้ายมอตโตประจำตัวเธอก็คือ “ฉันเกลียดอาชญากรเด็ก” เธอจึงยืนกรานที่จะตัดสินคดีเยาวชนแบบล้วงลูกตามวิธีการของเธอเองด้วยมุมมองที่ว่า เธอต้องการที่จะตัดสินคดีให้เยาวชนผู้กระทำผิดได้รับโทษอย่างสาสม สำนึกในความผิด และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เกรงกลัวกฏหมาย พร้อมกับการปกป้องเหยื่อ (และญาติ) ผู้เคราะห์ร้าย ให้ได้รับความยุติธรรมอย่างถึงที่สุด
แม้ว่าในอีกมุมหนึ่ง มันก็ดูจะขัดกับอุดมการณ์ของศาลเยาวชนแห่งนี้ ที่มอง (จากมุมของกฏหมาย) ว่า แม้จะกระทำผิดร้ายแรงแค่ไหน แต่เยาวชนที่กระทำผิดก็ต้องได้รับการฟื้นฟู กล่อมเกลา ให้โอกาสที่สองแก่ผู้กระทำผิด เพื่อไม่ให้กลับมากระทำผิดซ้ำ และกฏหมายก็ไม่มีสิทธิ์ตัดสินคดีเยาวชนด้วยบรรทัดฐานแบบคดีผู้ใหญ่ ที่เน้นการลงโทษให้เข็ดหลาบและเกรงกลัวกฏหมาย ซึ่งไอ้ช่องโหว่ตรงนี้แหละ ที่กลายเป็นว่า ทำให้อาชญากรเด็กบางคนก็ดีใจเสียด้วยซ้ำ เพราะสุดท้ายก็มักจะลงโทษสถานเบา และไม่ต้องติดคุก
ซึ่งก็ทำให้คนในกระบวนการยุติธรรมพลอยแอบใส่เกียร์ว่าง ไม่ยอมตัดสินคดีด้วยการพิจารณาคดีจากหลักฐาน แต่ใช้วิธีตัดสินคดีตามเนื้อผ้า ใช้กฏหมายตัดสินคดีให้พอผ่าน ๆ ไป เพราะกลัวคดีจะล้นมือ ยุ่งยาก และเจอตอโดยใช่เหตุ ผู้พิพากษาชิมอึนซอก ก็เลยต้องออกล้วงลูกคดีด้วยตัวของเธอเอง ซึ่งตลอดทั้ง 10 ตอนก็จะมีการแบ่งเป็นคดีต่าง ๆ ออกเป็นคดีละประมาณ 1-2 ตอนโดยเฉลี่ย และเนื้อหาในแต่ละคดีก็จะมีความคาบเกี่ยวเนื้อหาต่อกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งเราก็จะได้เห็นชิมอึนซอก ทำหน้าที่ผู้พิพากษาด้วยการใช้หลักฐาน และตัดสินด้วยกฏหมายแบบแรง ๆ สั่งสอนอาชญากรเด็กเหล่านั้นให้เข็ดหลาบ
สิ่งแรกที่ผู้เขียนประทับใจโดยรวม ๆ ของทั้ง 10 ตอน และถือว่าเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของซีรีส์เรื่องนี้เลยก็คือ การเดินเรื่องที่กระชับฉับไวครับ แม้ว่าตัวซีรีส์เองจะมีทั้งหมด 10 ตอน เฉลี่ยตอนละประมาณ 1 ชั่วโมงนิด ๆ แล้วแถมในซีรีส์ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับกฏหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับด้านของการดำเนินคดีเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความซับซ้อนและเฉพาะด้านมาก ๆ ตามสไตล์พล็อตแบบ Courtroom Drama นั่นแหละ แต่ตัวซีรีส์สามารถปูเรื่อง เดินเรื่อง ดึงหาจุดไคลแม็กซ์ที่อยู่ในแต่ละตอน และขมวดสรุปจบได้อย่างกระชับ ไม่ยอมทิ้งให้คนดูรู้สึกเนือยหนืด
ซึ่งก็ต้องชื่นชมความประทับใจที่ 2 ต่อเลยครับว่า ตัวหนังทำการบ้านมาได้ละเอียดและรอบด้านมาก คือไม่ใช่แค่ทำการบ้านเรื่องกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมของศาลเยาวชนว่ามีขั้นตอนอย่างไรเพียงเท่านั้น แต่ยังค้นลึกไปถึงเรื่องของมิติและประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องและส่งผลโดยตรงต่อการเกิดคดีเยาวชน ทั้งเรื่องของครอบครัว การเลี้ยงดู ทัศนคติ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของกระบวนการตัดสินคดีเยาวชน รวมถึงมุมมอง และอุดมการณ์ และทัศนคติของคนภายในกระบวนการยุติธรรมคดีเยาวชนด้วย ซึ่งมันก็สะท้อนผ่านเนื้อเรื่องแต่ละตอนที่ทำออกมาได้สนุก กระชับ เห็นภาพ และล้วงลึก
รวมทั้งการเล่าเรื่องการดำเนินคดีในศาลเยาวชน ซึ่งจริง ๆ แล้วแม้ตัวหนังจะดำเนินตามสูตร Courtroom Drama ที่เอาจริง ๆ ถ้าเทียบกับหนังดราม่าตัดสินคดีความเรื่องอื่น ๆ ก็ถือว่ายังทำได้ดรอปกว่านะครับ อาจจะเพราะว่ามันเป็นคดีเยาวชนที่ปกติแล้วกระบวนการมันไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเท่ากับคดีผู้ใหญ่ และรายละเอียดการตัดสินคดีก็ไม่ได้เยอะเท่า รวมทั้งความแรงของคดีก็ไม่เท่ากับคดีผู้ใหญ่ด้วยแหละ
แต่ตัวเรื่องก็ยังพอจะทดแทนได้ด้วยความสนุกและความโหดของ Crime Scene ในบางคดี การบุกตะลุยออกไปล้วงลูกไขคดีของชิมอึนซอก ฉากปะทะคารมที่สนุก ตึงเครียดสุด ๆ ไม่แพ้ฉากแอ็กชัน และฉากดราม่าที่โคตรสะเทือนและบีบหัวใจเข้ามาแทน ซึ่งนั่นก็แปลว่า ตัวบททำการบ้านมาได้โคตรละเอียด และบทก็ทำงานได้ในระดับที่ค่อนข้างจะดีเลยแหละ
โดยเฉพาะการเล่าเรื่องมุมมองเกี่ยวกับอาชญากรรมเด็ก ที่ถือว่าเป็น Conflict ใหญ่ของเรื่อง ที่ฝั่งหนึ่งมองว่า เยาวชนทุกคนควรได้รับการดูแล แม้ว่าจะกระทำผิด การส่งเสริมให้เด็กเหล่านั้นกลับตัวกลับใจ และไม่หวนกลับไปทำผิดอีกจึงสำคัญมาก แต่ในมุมของผู้พิพากษาชิมอึนซอก เธอกลับมองว่า เด็กก็คือคนคนหนึ่งนี่แหละ ที่สมควรจะรับโทษตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด หากสังคมและครอบครัวไม่สามารถดูแลเด็กให้กลายเป็นคนดีได้
ส่วนการพิพากษาคดี ก็ต้องเป็นไปอย่างละเอียดรอบด้าน และมีหลักฐาน หลักฐานไหนที่มีที่มาอย่างไม่ถูกต้อง แม้ผู้ต้องหาจะสารภาพ แต่ก็ต้องถูกปัดตกไป รวมทั้งการสะท้อนและแอบจิกกัดเล็กน้อยว่า แม้กฏหมายจะเอาไว้ดูแลสังคมโดยรวม แต่บางครั้งกฏหมายก็ไม่สามารถช่วยเหยื่อได้ทุกคน
รวมทั้งอีกจุดที่สำคัญก็คือ บางครั้งที่ผู้ใหญ่หรือคนเรามักจะมองว่าเด็กคือผ้าขาว เด็กคือความบริสุทธิ์ ทำทุกสิ่งทุกอย่าง หรือแม้แต่การกระทำผิดกฏหมายก็เป็นไปเพราะไร้เดียงสา แต่แท้จริงแล้ว ถ้าพูดกันแบบใจร้ายก็คือ แม้อาชญากรเด็กบางคนจะก่อคดีด้วยเหตุสุดวิสัย แต่บางครั้งก็ไม่น่าสงสารเอาเสียเลย ยิ่งถ้าเด็กคนไหนที่มีแบ็กดี มีผู้ปกครองหรือทนายคอยช่วย ก็ยิ่งทำให้คดีความยุ่งยากซับซ้อนหัวจะปวดไม่ต่างจากคดีผู้ใหญ่เลย
สำหรับเนื้อหาในแต่ละคดี ผู้เขียนขอเล่าแบบพอสังเขปประมาณนี้ครับ
ตอนที่ 1-2 เป็นคดีเปิดเรื่องว่าด้วยเรื่องของเด็กชายวัย 13 ปี ก่อเหตุฆาตกรรมหั่นศพเด็กวัย 9 ขวบที่กลายเป็นข่าวดัง ซึ่งถือว่าเป็นการอุ่นเครื่องได้แรงมาก และทำให้ได้เห็นมุมมองของกระบวนการยุติธรรมเยาวชนได้ครบรอบด้านจริง ๆ ทั้งตัวอาชญากรที่อ้างว่ามีอาการจิตเภท และไม่เกรงกลัวการตัดสินคดีแบบเยาวชนสักเท่าไหร่ มุมมองของพ่อแม่ของเหยื่อที่เหมือนตายทั้งเป็น รวมทั้งมุมมองของการตัดสินคดีเยาวชน ที่จริง ๆ แล้วก็ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ยังไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการคดีเยาวชน และให้ลงโทษเด็กด้วยกฏหมายอาญาแบบผู้ใหญ่แทน
แต่ว่าพอเข้าตอนที่ 3-4 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว เมื่อเด็กหญิงเมื่อเด็กหญิงที่ชาแทจูดูแลอยู่ ถูกทำร้ายร่างกายจนบอบช้ำไปทั้งตัว พูดตรง ๆ ก็คือ ตัวเรื่องแอบเริ่มดรอปจาก 2 ตอนแรกที่ทำเอาไว้ได้แรงระดับ 18+ และสนุกมาก ๆ กลายเป็นแนวสืบสวนสอบสวนผสมดราม่า และลด Crime Scene ลงไปพอสมควร แม้ตัวเนื้อเรื่องจะพยายามสะท้อนให้เห็นว่า จริง ๆ ต้นตอของอาชญากรเด็กก็มาจากครอบครัวนี่แหละ รวมทั้งตอนนี้จะเริ่มแง้มเรื่องราวเบื้องหลังของชิมอึนซอกที่เพิ่งจะได้เห็นแบ็กกราวน์นิดหน่อยก็ล่อเข้าไป 4 ตอนแล้ว แต่โดยสรุปก็คือ สนุกน้อยลงกว่าคดีแรกอย่างค่อนข้างเห็นได้ชัด
จนมาถึงตอนที่ 4 – 5 ซึ่งเป็นตอนที่เกี่ยวกับศูนย์ฟื้นฟูเยาวชนเอกชนที่ถูกร้องเรียนว่ามีการทารุณกรรมเยาวชนหญิง 8 คนที่อยู่ในความดูและ และทุจริตเงินสนับสนุนจากศาล กราฟความสนุกก็ดูจะเริ่มกระเตื้องขึ้นมาอีกเล็กน้อยด้วยฉากแอ็กชันพองาม พร้อมกับการสะท้อนภาพของมุมมองระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งปัญหาครอบครัวที่ทอดทิ้งเด็ก ทำให้เด็กต้องเอาตัวรอดเอาเองในสังคมแบบไม่มีที่พึ่งพา จนสุดท้ายก็มักจะลงเอยด้วยการก่อความรุนแรง ก่ออาชญากรรม ทำผิดกฏหมาย ค้าประเวณี ยาเสพติด ฯลฯ และผู้พิพากษาก็ต้องใช้กฏหมายนี่แหละในการเข้ามาควบคุมแทน ซึ่งถือว่าคดีนี้สามารถตีความโจทย์และเล่าเรื่องได้สนุกดีครับ
แต่กราฟความสนุกก็มาดรอปลงอีกในคดีที่ 6 คดีข้อสอบรั่ว ณ โรงเรียนมัธยมปลายมุนกวัง และในตอนที่ 7-8 คดีเยาวชนขับขี่รถยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาตจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ จริง ๆ ตัวเรื่องก็ถือว่าสะท้อนภาพเกี่ยวกับคดีเยาวชนที่เกิดขึ้นในสังคม และที่เรามักได้ยินข่าวได้เป็นอย่างดี
ความสนุกใน 3 ตอนนี้หลัก ๆ จึงเน้นปะทะคารมเชือดเฉือน และดราม่าครอบครัวหนัก ๆ มากกว่าที่จะได้เห็น Crime Scene ปมปัญหาในอดีตของชิมอึนซอกที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้น รวมทั้งยังต้องเข้าไป ‘เจอตอ’ แบบเต็ม ๆ ที่ทำให้ชิมอึนซอกผู้เย็นชาถึงกับสะเทือนใจ ซึ่งจริง ๆ ก็ยังต้องชื่นชมในแง่ของการเล่าเรื่องนะครับ คือตัวเรื่องก็ยังคงเดินเรื่องกระชับฉับไวดีนั่นแหละนะครับ แต่ว่าด้วยพล็อตและบทสรุป มันก็แอบชวนให้นึกถึงละคร “ฟ้ามีตา” อยู่เหมือนกันนะ
ตอนที่ 9-10 เป็นตอนที่กราฟความสนุกเริ่มไต่ขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญครับ อาจจะเพราะว่ามันเป็น Crime Scene ที่ว่าด้วยคดีรุมโทรมหญิงสาวที่ไซต์งานก่อสร้าง รวมทั้งการระเบิดปมเรื่องราวในอดีตของชิมอึนซอกผู้เย็นชาด้วย แม้ว่าเธอจะพยายามปิดบังตัวตนมากเท่าไหร่ แต่คดีนี้กลับไปสะกิดแผลความเจ็บปวดในอดีตของเธอขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งตัวคดีเองก็ สะท้อนให้เห็นว่า เด็กไม่ได้เป็นผ้าขาวอย่างที่เราคิด แต่เด็กเวรพวกนี้แหละ ที่ก่อคดีได้อย่างอุกฉกรรจ์เกินกว่าเราจะนึกถึง ซึ่งเอาจริง ๆ แม้ว่า 2 ตอนสุดท้ายนี้จะเป็นตอนที่กลับมาสนุกและระทึกขึ้นอีกครั้ง และเราจะได้เห็นฝีมือการแสดงของ ‘คิมฮเยซู’ (Kim Hye-soo) ที่ระเบิดอารมณ์ออกมาได้อย่างสะเทือนอารมณ์จนน้ำตาซึม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้นะครับว่า ตัวคดีนี้กลับมีเนื้อเรื่องที่มีช่องโหว่อยู่เยอะเหมือนกัน ทั้งคดีในอดีตที่เป็นบาดแผลของชิมอึนซอก ที่ดูจะให้น้ำหนักกับส่วนนี้น้อยไปหน่อย อธิบายแค่พอผ่านไป เรื่องของรายละเอียดคดีกระทำชำเรา ที่ยังไม่ค่อยเมกเซนส์ในบางจุด การออกไปล้วงลูกหาคดีเองของชิมอึนซอกที่ดูจะไม่ค่อยสมควรแก่เหตุเท่าไหร่ การปะทะคารมกับ ‘ผู้พิพากษาหัวหน้านากึนฮี’ (Lee Jung-eun) ที่เธอเคยมีอดีตด้วย ตรรกะบางอย่างในการตัดสินคดี รวมทั้งการขมวดจบที่ดูจะห้วน ๆ เล่นท่าง่ายไปสักหน่อย เหมือนปูเสื่อเอาไว้รอซีซัน 2 ยังไงก็ไม่รู้แฮะ
ส่วนในแง่การแสดง จริง ๆ ก็ต้องให้เครดิตในการคัดเลือกนักแสดงชุดนี้ทั้งหมด รวมถึงเหล่าอาชญากรวัยรุ่นทั้งหลาย ที่เรียกได้ว่าแสดงกันได้เข้าถึงบทบาทได้เป็นอย่างดีนะครับ แต่ที่ต้องชื่นชมเป็นพิเศษ ก็คงจะต้องให้เครดิตกับนักแสดงนำทั้งหมด ทั้ง ‘คิมฮเยซู’ (Kim Hye-soo) ทนายสุดจี๊ดจากซีรีส์กฏหมาย ‘Hyena’ (2020) ที่คราวนี้ต้องมาพลิกบทบาทเป็นผู้พิพากษาผู้ลึกลับที่เก่งกาจ แต่แสนจะเย็นชา ทุ่มเททำงานหนักแบบไม่คิดชีวิต และยึดถืออุดมการณ์แบบสุดขอบ
ซึ่งเธอสามารถแสดงทุกอย่างสะท้อนผ่าน ผ่านแววตาและสีหน้าที่แทบจะปราศจากรอยยิ้มได้อย่างสะเทือนอารมณ์มาก ๆ และ ‘คิมมูยอล’ (Kim Mu-yeol) ในบท ‘ชาแทจู’ ผู้พิพากษารุ่นน้องที่มีเบื้องหลังเลวร้าย แต่ก็มีมุมมองที่ตรงกันข้ามกับชิมอึนซอกแบบขาวกับดำ ที่ต้องคอยเข้ามารับลูกเป็นฝ่ายบุ๋นของชิมอึนซ็อกอีกที ซึ่งเวลาเห็นชิมอึนซอกคุยกับชาแทจูคุยปรึกษาคดีกัน ผู้เขียนเองยอมรับว่าแอบนึกถึง ‘เปาบุ้นจิ้น’ กับ ‘กงซุนเช่อ’ อยู่เหมือนกันนะครับ ยิ่งสีหน้าไร้อารมณ์นี่ยิ่งใช่เลย (555)
โดยสรุป นี่คือซีรีส์น้ำดี ที่แม้เอาจริง ๆ ก็แอบมีน้ำเน่าปน ๆ มานิดนึงนั่นแหละ แต่ก็ต้องชื่นชมว่า ‘Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน’ คือซีรีส์น้ำดีที่นอกจากจะทำให้เราได้รู้มุมมองของกระบวนการยุติธรรมเยาวชน ที่ตัวซีรีส์สามารถทำการบ้านได้ลงลึก สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับอาชญากรรมเด็ก และคดีเยาวชนออกมาได้อย่างหลากหลายและรอบด้านจริง ๆ
แม้ว่าตัวเนื้อหาจะแอบดรอปลงช่วงกลาง ๆ ซีซันบ้าง แต่ด้วยการดำเนินเรื่องที่กระชับ โปรดักชันค่อนข้างดี การดำเนินเรื่องที่ลงลึกและไม่เวิ่นเว้อ ก็ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ เป็นซีรีส์ที่มีความแปลกใหม่ สนุก ทรงพลัง เข้มข้น และมีดีพอที่จะไม่ควรพลาด และดูได้อย่างสนุกตั้งแต่ต้นจนจบจริง ๆ ครับ