Release Date
03/03/2022
Runtime
135 Minutes
Director
Apichatpong Weerasethakul
Cast
Tilda Swinton Jeanne Balibar Juan Pablo Urrego Elkin Díaz
Our score
7.7[รีวิว] Memoria- เมมโมรี แบคทีเรีย และเสียงปังในยามเช้า
จุดเด่น
- ในเชิงหนังอวองการ์ด เจ้ยพาหนังไปไกลมากที่ได้เล่าในบริบทใหม่ ๆ โดยยังมีกลิ่นอายความเชื่อไทย ๆ ได้อย่างน่าสนใจ
- งานภาพและเสียงคือที่สุดของประสบการณ์ดูหนังในโรงจริง ๆ
- ทิลดา สวินทัน แบกหนังไว้ทั้งเรื่องอย่างมีเสน่ห์ชวนติดตาม
จุดสังเกต
- หนังไม่เหมาะกับทุกคนแน่ ๆ อาจเหมาะกับแฟนคลับของผู้กำกับ เจ้ย มากกว่า
-
น่าสนใจตรงประสานเรื่องความเชื่อแบบไทย ๆ ไปอยู่ในบริบทของหนังโคลัมเบียได้กลมกล่อมดี
8.0
-
งานภาพ งานเสียง ดีงาม
8.6
-
ทิลดา สวินตัน แบกหนังไว้ทั้งเรื่องอย่างน่าชื่นชม
7.0
-
งานเทคนิคทำให้หนังเหมาะแก่การดูในโรงภาพยนตร์มาก
8.0
-
ไม่เหมาะสำหรับทุกคนแน่ ๆ
7.0
‘Memoria’ งานล่าสุดของเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ขยับขยายไปทำหนังในยุโรปแบบเต็มตัวพร้อมด้วยหน้าหนังที่ได้ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) นักแสดงชาวสก็อตที่สร้างชื่อในฮอลลีวูดโดยเฉพาะการรับบท ‘แอนเชียนต์วัน’ ในหนัง ‘Doctor Strange’ และโดยปกติของหนังของอภิชาติพงศ์ทุกเรื่อง ‘Memoria’ ได้เดินทางไปกวาดรางวัลมากมายโดยเฉพาะการได้รางวัลจูรีไพร์ซตัวที่ 2 จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีที่ผ่านมาจนเกิดกระแสเรียกร้องของคอหนังชาวไทยและแฟนเดนตายของเจ้ย
เช่นเดียวกับหนังเรื่องอื่น ๆ ของเจ้ยพลอตหนังของ ‘Memoria’ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่านักพฤกษศาสตร์สาวนามเจสสิกา ที่รับบทโดยสวินตัน เกิดได้ยินเสียงดัง ปัง ! ที่ปลุกเธอให้ตื่นในยามเช้า แต่เสียง ๆ นี้ไม่หายไปไหนจนมันนำเธอไปพบกับเหตุการณ์แปลกประหลาดทั้งการค้นหาต้นตอของเสียงจนได้รู้จักกับ เออร์นาน (รับบทโดย ฮวน พาโบล เออเรโก Juan Pablo Urrego) ซาวด์เอนจิเนียร์หนุ่มที่ช่วยเจสสิกาหาที่มาของเสียง ไปจนถึงการเดินทางเข้าป่าในโคลอมเบียจนได้พบกับ เออร์นาน (รับบทโดย เอลคิน ดิแอซ Elkin Díaz) คนที่อาจให้คำตอบเจสสิกาได้ว่าเสียงที่เธอได้ยินคือเสียงอะไร
แน่นอนว่าเราไม่สามารถหยิบจับหลักการเล่าเรื่องของหนังทั่วไปมาใช้ทำความเข้าใจ ‘Memoria’ ได้ ดังนั้นคนดูจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูไปคิดไป หยิบจับประเด็นต่าง ๆ ที่หนังโยนเป็นเศษขนมปังรายทางและร่วมเดินทางไปสู่บทสรุปที่ต้องบอกว่าค่อนข้างน่าแปลกใจที่ตัวหนังมีบทสรุปและคำตอบแบบตายตัวให้ ไม่เหมือนหนังของเจ้ยเรื่องอื่น ๆ เท่าใดนัก
ประเด็นหลักของเรื่องแน่นอนว่าคือเรื่องของ “ความทรงจำ” ที่หนังเล่นกับเครื่องมือกักเก็บความจำทั้งหลายไล่ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หลักฐานทางประวัตศาสตร์อย่างกระดูกมนุษย์ ก้อนหิน ไปจนถึงกายภาพของคนที่เชื่อมจิตถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ดังนั้นเราจะเห็นว่า ความทรงจำทุกอย่างที่จะมี “สื่อกลาง” เสมอ ซึ่งในตอนท้ายหนังก็ได้มีการอธิบายเรื่องที่เจสสิกามีสถานะเหมือนเป็นเสาสัญญาณเพื่อรับสารความทรงจำต่าง ๆ ด้วย
แต่กระนั้น ‘Memoria’ ก็ไม่ได้สักแต่จะเล่าเรื่องให้ดูแฟนตาซีจนหลงลืมลายเซ็นสำคัญของอภิชาติพงศ์ เพราะต่อให้ไปทำหนังโคลัมเบียหรือเปลี่ยนย้ายสัญชาติ แต่ท้ายที่สุดแล้วเจ้ยก็ยังคงแทรกเรื่องกรรมเอาไว้ในเรื่องเล่าเสมอ โดยคราวนี้เขาได้โยงเรื่องเชื้อราบนดอกไม้ที่เจสสิกาต้องจัดการ แล้วค่อย ๆ เผยเรื่องเล่าถึงสุนัขที่ตัวเองไม่ทันได้ช่วยเหลือของ อาญส์ (จีน บาลิบาร์ Jeanne Balibar) เพราะป่วยเข้าโรงพยาบาลเสียก่อน และรอยเจาะตรงกระโหลกศีรษะบนโครงกระดูกที่ขุดพบ ไปจนถึงเรื่องราวที่ถูกเล่าในป่าตอนท้ายเรื่อง เหล่านี้เองที่ได้ยืนยันว่าแม้ตัวงานจะไม่ได้ใช้ภาษาไทยแต่ก็ยังมีกลิ่นอายความเชื่อแบบไทยอบอวลในเรื่องไม่น้อยเลยทีเดียว
ท้ายสุดคืองานเสียงคงต้องบอกว่า ‘Memoria’ น่าจะใช้ประโยชน์งานซาวด์ดีไซน์อย่างเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยวที่สุดแล้ว ทั้งเสียงบรรยากาศที่โอบรอบคนดูไปจนถึงการออกแบบเสียงปังที่ให้ความหมายต่างกันในเรื่องราว จนพูดได้ว่าสำหรับคนดูนอกจากจะได้เสพย์งานภาพของสอง สยมภู มุกดีพร้อมแล้ว งานเสียงควบคุมโดย อู่-ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ แห่งกันตนาซาวด์สตูดิโอยังทำงานกับคนดูในหลายระดับขึ้นอยู่กับว่าคนดูจะแค่ “ได้ยิน” หรือ “ได้ฟัง” เท่านั้นเอง