[รีวิว] The Desperate Hour – แม่ไม่ใช่แม๊ กับพล็อตอันตรายที่ดูได้แค่รอบเดียว
Our score
5.6

Release Date

10/03/2022

แนว

ระทึกขวัญ

ความยาว

1.24 ชม. (84 นาที)

เรตผู้ชม

PG-13

ผู้กำกับ

'ฟิลลิป นอยซ์' (Phillip Noyce)

[รีวิว] The Desperate Hour – แม่ไม่ใช่แม๊ กับพล็อตอันตรายที่ดูได้แค่รอบเดียว
Our score
5.6

The Desperate Hour | ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

จุดเด่น

  1. พล็อตคิดเควสจากฟังก์ชันโทรศัพท์ออกมาได้สนุกดี
  2. การแสดงของนาโอมิ วัตส์ แบกหนังทั้งเรื่องแบบเชื่อถือได้
  3. งานภาพสวย ถ่ายฉากป่าออกมาได้ดูดี

จุดสังเกต

  1. ตัวหนังครึ่งหลังเริ่มบิดให้เป็นแนวนักสืบ ซึ่งดูผิดที่ผิดทางและอันตรายมาก
  2. มุมมองการเล่าประเด็นการกราดยิงในโรงเรียนที่ยังดูไม่ค่อยรอบด้าน
  3. การปูเรื่องตัวละครยังเบาบางไปหน่อย ทำให้รู้สึกไม่น่าเอาใจช่วย และขาดแรงจูงใจที่น่าเชื่อถือ
  4. การตัดต่อจำเจนิดหน่อย ตัดสลับไปมา
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    5.1

  • คุณภาพงานสร้าง

    7.5

  • คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง

    4.8

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    4.0

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    6.7

https://www.youtube.com/watch?v=DSJp5VWwpkk
สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

ถ้าใครชอบหนังที่เล่าเรื่องระทึกขวัญผ่านหน้าจอ อย่างเช่น ‘Unfriended’ (2014) และ ‘Host’ (2020) และหนังเอาตัวรอดแบบเรียลไทม์อย่าง ‘Buried’ (2010) มาในปีนี้ ผู้กำกับอย่าง ‘ฟิลลิป นอยซ์’ (Phillip Noyce) ผู้กำกับหนังสายลับ ‘Salt’ (2010) ที่มาพร้อมกับผลงานภาพยนตร์สุดระทึกที่ถ่ายทำด้วยโปรดักชันที่เอื้อต่อการถ่ายทำในช่วงโรคระบาด โดยที่หนังเรื่องนี้ที่เคยมีชื่อเดิมว่า ‘Lakewood’ ยังได้มีโอกาสได้รับคัดเลือกให้ฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังโตรอนโต (Toronto International Film Festival – TIFF) เมื่อปีที่แล้ว ก่อนจะเปลี่ยนชื่อ (ให้ขายได้) เป็น ‘The Desperate Hour’ หรือ ‘ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย’ นั่นแหละครับ

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

ตัวหนังว่าด้วยเรื่องของเรื่องราวของพนักงานเจ้าหน้าที่สรรพากร ‘เอมี คาร์’ (Naomi Watts) และคุณแม่ลูกสอง ที่สูญเสียสามีและพ่อของลูกด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เกือบจะครบหนึ่งปี วันหนึ่งเอมีได้เข้าไปวิ่งจ็อกกิงออกกำลังกายในป่าลึก แต่แล้วเธอก็ได้รับแจ้งข่าวร้ายว่า เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่ ‘โนอาร์’ (Colton Gobbo) ลูกชายคนโต และ ‘เอมิลี’ (Sierra Maltby) เรียนอยู่ เอมีจึงต้องออกวิ่งไปยังโรงเรียนที่เกิดเหตุ ซึ่งอยู่ห่างออกไปไกลจากป่าหลายไมล์ เพื่อหวังจะช่วยเหลือลูก ๆ ของเธอให้พ้นจากเงื้อมมือของมือปืนที่อาจก่อเหตุได้ทุกเมื่อ โดยมีโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวที่จะช่วยให้เธอคลี่คลายเหตุสุดระทึกนี้ไปได้

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

ซึ่งตัวหนังตลอดเกือบ ๆ 84 นาที เราก็จะได้เห็นขุ่นแม่ ‘เอมี คาร์’ อยู่ในป่าลึกโดยที่แทบจะไม่ตัดไปซีนอื่นเลย เธอต้องพยายามวิ่งเดินทางออกจากป่าเลกวูด (Lakewood) เพื่อไปช่วยเหลือลูกชาย และมีโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวในการเอาตัวรอด รับรู้สถานการณ์ และรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในโรงเรียน ตัวหนังในส่วนนี้ก็เลยจะเล่าเสมือนว่าคนดูก็กำลังอยู่ในป่าไปพร้อมกัน และค่อย ๆ ปะติดปะต่อข้อมูลชที่เอมีได้จากการพยายามโทรศัพท์ แชต และสืบค้นหาข้อมูล พร้อมกับความกดดันที่ทวีเพิ่มขึ้นแบบเรียลไทม์

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

เอาจริง ๆ หนังเรื่องนี้ก็มีความคล้าย ๆ กับหนังเรื่อง ‘The Call’ (2013) ที่ใช้โทรศัพท์เป็นตัวกลางในการเอาตัวรอดจากการโดนลักพาตัวนั่นแหละครับ เพียงแต่ว่าหนังเรื่องนี้ใจกล้ากว่ามากที่พยายามจะเล่นกับเทคนิคในการนำเสนอผ่านการใช้โทรศัพท์ของเอมี ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ก็จะต้องค้นหาให้ได้ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง และค้นหาเบาะแสเกี่ยวกับเหตุกราดยิง โดยที่แทบจะไม่ตัดให้เห็นเหตุการณ์นอกป่า หรือเหตุการณ์ในโรงเรียนเลยแม้แต่น้อย ส่วนตัวละครอื่น ๆ ก็จะมาในรูปแบบเสียงหรือข้อความซะเป็นส่วนใหญ่

จุดเด่นของหนังเรื่องนี้ จริง ๆ ก็ถือว่าเป็นหนังที่มีพล็อตและเข้าใจพล็อตเป็นอย่างดีนะครับ ซึ่ง ‘คริส สปาร์กลิง’ (Chris Sparling) ที่เคยเขียนบทหนังเอาตัวรอด ‘Buried’ (2010) มาก่อน สามารถวางพล็อต และเพิ่มระดับความกดดันในการเอาตัวรอดของเอมีกับโทรศัพท์หนึ่งเครื่องได้อย่างน่าสนใจ และมีวิธีการเล่าเรื่องแบบผ่อนหนักผ่อนเบา คือเรียกว่าตั้งแต่ต้นเรื่อง เราก็จะได้เห็นเอมีลงไปวิ่งในป่ากันตั้งแต่เนิ่น ๆ และค่อย ๆ ผ่อนการเล่าเรื่องให้ช้าลง สลับกับการเร่งจังหวะในช่วงเหตุการณ์ที่พีกขึ้นได้อย่างน่าติดตาม

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

อีกจุดที่ถือว่าทำได้ออกมาสนุกก็คือ การประยุกต์ใช้ฟังก์ชันต่าง ๆ ในโทรศัพท์ออกมาเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจครับ เราจะได้เห็นเอมีค่อย ๆ เอาตัวรอดจากป่า และค่อย ๆ เอาชนะ Conflict ทีละปม ๆ ด้วยการใช้โทรศัพท์ iPhone โทรหาคนนั้นคนนี้ แชตคุย ใช้แอป ใช้อินเทอร์เน็ตหาข้อมูล ดูคลิป Live ข่าว ฯลฯ แล้วก็เอาข้อมูลมาปะติดปะต่อ พร้อม ๆ กับการเดินทางในป่าทีี่แทบไม่มีใครเดินทางผ่านมา ซึ่งผู้เขียนก็แอบสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ปกติถ้าใช้โทรศัพท์หนักขนาดนั้น แบตเตอรี่ไม่หมดบ้างเลยเหรอ ถ้าเอาตามจริง ใข้หนักขนาดนี้ต้องงัดพาวเวอร์แบงก์มาเสียบชาร์จแล้วนะ (555)

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

และพอตัวหนังเล่าด้วยพลังของคน ๆ เดียว ก็เลยกลายเป็นว่า ตัวหนังถูกผลักให้ต้องใช้ฝีมือการแสดงของ ‘นาโอมิ วัตส์’ (Naomi Watts) ในการแบกหนังทั้งเรื่องแต่เพียงลำพัง ซึ่งจริง ๆ เธอ (และ iPhone 1 เครื่อง) ก็ทำได้ค่อนข้างดีนะครับ โดยเฉพาะการสะท้อนภาพความว้าวุ่นใจของแม่ที่มีลูกที่ตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายที่ต้องการเดินทางไปหาลูกที่อยู่ไกลออกไป และโทรศัพท์ก็คือที่พึ่งหนึ่งเดียวที่จะทำให้เธอพอจะทราบสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ ทำให้หนังในครึ่งแรกเป็นหนังทริลเลอร์ที่ชวนให้ลุ้นจิกเบาะได้เลยแหละ

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

แต่ปัญหาที่แท้จริงกลับอยู่ที่ครึ่งหลังของหนังครับ แม้ครึ่งแรกจะดำเนินเรื่องได้อย่างสนุก ภายใต้สถานการณ์ที่เริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ และสถานการณ์ทั้งในป่า และสถานการณ์ของผู้คนที่เอมีโทรไปขอความช่วยเหลือก็มีแต่จะยิ่งยุ่งยากวุ่นวายขึ้นทีละนิด แต่สิ่งที่เป็นปัญหาในช่วงครึ่งหลัง กลับมีปัญหาหลายจุดที่ซ้อนทับกันอยู่

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

ประเด็นแรกก็คือ ประเด็นการกราดยิงโรงเรียนที่หนังเรื่องนี้หยิบมานำเสนอครับ เอาเข้าจริง ประเด็นเรื่องการกราดยิงที่เรามักได้ยินข่าวจากต่างประเทศนี่ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับพ่อแม่ชาวอเมริกันมากนะครับ การหยิบเรื่องใหญ่ขนาดนี้มาเล่น ต้องนำเสนอด้วยสารและเรื่องที่แข็งแกร่งและจริงจังมากพอ แต่ด้วยเทคนิควิธีการของหนังที่พยายามบีบให้คนดูเชื่อวิธีการของเอมีเท่านั้น ทำให้สารที่ปรากฏในหนัง แทนที่จะสะท้อนความน่ากลัว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุกราดยิง หรือชี้นำวิธีการเอาตัวรอดของแม่และเด็ก ฯลฯ

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

แต่กลับกลายเป็นว่า ตัวหนังกลับพยายามทำให้การกราดยิงกลายเป็นเพียงฉากแอ็กชันลุ้นระทึกฉากหนึ่ง และนั่นก็ทำให้เอมีเริ่มเลยเส้นออกไปแทรกแซงเหตุการณ์ที่กำลังหน้าสิ่วหน้าขวานด้วยตัวเองในองก์สุดท้ายซะอย่างนั้น กลายเป็นว่า เอมีผู้เป็นแม่ของผู้ประสบเหตุ ต้องกลายเป็นนักสืบ และก็กลายมาเป็นฮีโรไปเสียอีก และยิ่งเมื่อไปเปรียบเทียบกับตัวมือปืน ก็ยิ่งทำซ้ำภาพให้ชัดขึ้นว่า หนังต้องการเชิดชูให้เอมีกลายเป็นผู้มีมนุษยธรรมที่ต้องคอยห้ามปรามไอ้หนุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุไปเพราะไม่ได้มีเหตุจูงใจอะไรเป็นพิเศษ (เพียงเพื่อจะช่วยลูกตัวเองเท่านั้นแหละ)

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

และหลายครั้ง การที่เอมีเข้าไปยุ่มย่ามสืบเสาะคดีเองโดยไม่พึ่งพาตำรวจ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม และยิ่งแย่ซ้ำร้ายลงไปอีกเมื่อเอมีต้องรับหน้าที่ช่วยเหลือตำรวจทั้ง ๆ ที่ตัวเองมีเพียงข้อมูลที่หาได้จากในอินเทอร์เน็ต ซึ่งจริง ๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและอันตรายมาก สิ่งนี้ยิ่งไปทำให้เจตนาของตัวหนัง (และ End Credits พร่ำสอนท้ายเรื่อง) สะท้อนออกมาว่า เหตุการณ์กราดยิง เป็นเพียงเหตุการณ์แอ็กชันจิ๊บจ๊อย ที่แก้ไขได้ด้วยวิธีการนอกลู่นอกทาง (ที่ไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจ) เท่านั้นเองหรือเปล่า

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

รวมทั้งการที่ตัวบทไม่ค่อยให้น้ำหนักกับการอธิบายปูเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวเอาไว้มากพอ ทำให้เมื่อตัวหนังเดินเข้าไปสู่ Conflict หลักอันหนึ่งของเรื่อง ก็ทำให้ Conflict นั้นดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ แม้ว่าไดอะล็อกของเอมีจะพยายามโน้มให้เชื่อว่า มีเหตุจูงใจที่พอจะเป็นไปได้ แต่พอการปูเรื่องตัวละครมันบางมาก โดยเฉพาะปมเรื่องของการเสียชีวิตของพ่อ และความเศร้าของโนอาห์ ทำให้แทนที่ตัวพล็อตจะหักมุมให้รู้สึกเขย่าขวัญ แต่กลายเป็นเพียง Conflict อันหนึ่งที่มาและจากไปแบบเบาโหวง และยิ่งพาให้หนังในช่วงครึ่งหลังดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ และดูไม่น่าเอาใจช่วยไปเสียอย่างนั้น

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

โดยสรุป แม้ตัวหนังครึ่งหลังจะมีปัญหาใหญ่ ๆ แต่ถ้าไม่คิดอะไรมาก หนังเรื่องนี้ก็ยังถือว่าเป็นหนังแนวทริลเลอร์ที่มีกิมมิกให้ได้ลุ้นไปพร้อม ๆ กับแม่ (ที่ไม่ใช่แม๊) ได้แบบไม่ต้องคิดมากตลอดความยาว 84 นาที แต่สิ่งที่ยังไงก็หนีไม่พ้นสำหรับหนังแนว ๆ นี้ก็คือ หนึ่ง อย่างไรก็ตาม การสปอยล์หนังเรื่องนี้ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเกลียด ใครอยากรู้ก็ต้องไปดูในโรงกันเอาเองนะครับ

The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

และสอง ด้วยการที่หนังใช้เทคนิคแบบนี้ มันก็ปฏิเสธไม่ได้นะครับว่า เทคนิคเหล่านั้นจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อตอนที่ดูหนังเป็นครั้งแรกเท่านั้น เพราะรู้เทคนิคและกิมมิกไปจนหมดแล้ว และถ้าบทไม่ได้แข็งแรงมากพอ หรือมีจุดที่ทำให้เชื่อและเอาใจช่วยได้ขนาดนั้น มันก็จะทำให้ตัวหนังไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเอาใจช่วยได้อย่างสุดตัว และส่งผลทำให้เราจะดูหนังเรื่องนั้น ๆ ได้เพียงครั้งเดียว ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็เข้าข่ายนั้นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


The Desperate Hour ฝ่าวิกฤต วิ่งหนีตาย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส