Release Date
24/03/2022
ความยาว
130 นาที
Our score
7.5เทอมสอง สยองขวัญ
จุดเด่น
- แต่ละเรื่องมีจุดเด่นที่มีวิธีการเล่าที่แตกต่างและน่าสนใจ แปลกใหม่สำหรับพลอตตั้งต้นที่ขายได้อยู่แล้ว มีทีมนักแสดงที่แข็งแรง และเป็นเวทีโชว์พลังของคลื่นลูกใหม่ของวงการหนังไทยที่น่าตื่นเต้น
จุดสังเกต
- การสร้างตัวละครผียังมีปัญหามากน้อยแบ่งกันไปในแต่ละเรื่อง แต่โดยรวมคือเป็นปัญหาอยู่ นักแสดงที่โดดเด่นแต่ถ้าคุมไม่อยู่จนข่มหนังก็อาจทำลายตัวหนังได้เช่นกัน
-
บท
7.0
-
โปรดักชัน
7.0
-
การแสดง
8.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
7.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
8.5
เรื่องย่อ: จากรุ่นสู่รุ่น จากคณะหนึ่งสู่อีกคณะ จากมหาวิทยาลัยสู่อีกมหาวิทยาลัย เมื่อตำนานไม่มีวันหยุดเล่า เรื่องเล่าจึงไม่มีวันหยุดหลอน ในเทอมที่สองสุดสยองขวัญแล้วใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป
ค่ายสหมงคลฟิล์มอาจจะไม่ใช่ค่ายเบอร์หนึ่งหนังไทยในยุคนี้ ยิ่งการประกาศโปรเจกต์หนังไทยในปีนี้ที่จำนวนและความใหญ่ของตัวหนังนั้นแผ่วลงจากยุครุ่งเรืองอย่างมาก แต่ศักยภาพความแข็งแกร่งที่เป็นพี่ใหญ่ของอุตสาหกรรมในอดีตก็ยังคงเป็นดีเอ็นเอที่เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะการให้โอกาสคลื่นลูกใหม่จากหลากหลายสถาบันการศึกษาที่มีแววได้เข้าสู่การทำหนังโรงและมีทีมที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์คอยฟูมฟักอีกที
‘เทอมสอง สยองขวัญ’ เป็นหนังสั้นความยาวประมาณ 45 นาทีจำนวน 3 เรื่องที่เรียงร้อยกัน โดยแต่ละเรื่องก็ได้ผู้กำกับ ทีมโปรดักชัน และทีมนักแสดงที่ต่างกัน แต่ทั้งหมดจะทำงานผ่านผู้วางโครงเรื่องเดียวกันคือ Hidden Agenda ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นนามแฝงของบุคคลหรือของทีม ซึ่งแต่ละเรื่องก็ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกันในทางใดทางหนึ่งทั้งตัวละคร สถานที่ หรือกิมมิกที่ใช้ เหมือนว่าหนังมีจุดร่วมแค่ว่าเป็นเรื่องเล่าสยองขวัญในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น และตัวหนังก็ไม่ได้ให้คำตอบชัดเจนว่าทำไมต้องเป็น เทอมสอง ที่ทำให้ชื่อหนังมันมีสัมผัสจำง่าย เพราะเทอมที่ 2 แทบไม่ได้ถูกใช้ในเรื่องราวเลย แถมไม่ได้สื่อถึงการมี 3 เรื่องสั้นด้วย (หรืออาจมีคำตอบอยู่ในการให้สัมภาษณ์ของทีมสร้างก็ต้องขออภัยที่ไม่ทราบ)
ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นต้องบอกมีจุดแข็ง จุดขาย ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง และดูน่าสนใจทีเดียวสำหรับการหามุกใหม่ ๆ ให้หนังผีไทยได้แตกต่างไม่จืดชืด
เชียร์ปีสุดท้าย
ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กใหม่ 2 คนที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก ต่าย (แคร์ – ปาณิสรา ริกุลสุรกาน) เป็นคนที่เข้ากับคนอื่นง่าย ขณะที่ เมษา (มิวสิค – แพรวา สุธรรมพงษ์) เป็นคนเงียบ ๆ เก็บตัวและชอบมีพฤติกรรมแปลก ๆ ยิ่งเมื่อการซ้อมเชียร์มาถึงเมษาก็ยิ่งทำตัวประหลาดจนเพื่อนรอบข้างหวาดกลัว ต่ายที่เป็นคนกลางต้องดูแลเพื่อนสนิทและรับมือกับสายตาหวาดระแวงของเพื่อนใหม่คนอื่น ๆ ไปด้วย นำมาสู่การตัดสินใจที่ยากลำบากของต่าย
ผู้กำกับสาวอย่าง พลอย-ภัทรภร วีระศักดิ์วงศ์ สามารถใช้ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อนผู้หญิงที่แวดล้อมด้วยสถานการณ์ชวนอึดอัดกดดันจากทั้งคนทั้งผีได้อย่างน่าสนใจ เนื้อในที่เป็นหนังดราม่าความสัมพันธ์และช่วงวัยในการเปลี่ยนผ่านจากเพื่อนมัธยมสู่เพื่อนมหาวิทยาลัยก็เป็นฐานที่แข็งแรงของตอนนี้ ซึ่งตัวแคร์และมิวสิคก็มีเคมีที่เข้ากันได้ดีช่วยทำให้รู้สึกสมจริงขึ้นมาก
แต่จุดแข็งที่ต้องชื่นชมเป็นความโดดเด่นของหนังคือ จังหวะการเล่าและการสร้างบรรยากาศผ่านงานภาพ งานออกแบบศิลป์ และงานเสียงต่าง ๆ นั้นทำได้ดีทีเดียวมีทั้งความขลังแบบไทยและท่าทีการเล่าแบบสากลได้ลงตัว ต้องบอกว่าผู้สร้างมีสัญชาตญาณในการเล่าเรื่องผีที่ดี ใส่ใจรายละเอียดได้ลงตัว เป็นการเปิดหัวหนังที่น่าตื่นตาเมื่อพิจารณาว่านี่คือหนังของคลื่นลูกใหม่
เดอะซี
ในคืนวันสถาปนาของมหาวิทยาลัยแพทย์มีเรื่องเล่าว่ารุ่นพี่ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อ 40 ปีก่อนจะกลับมายังเตียงที่เขาเคยอยู่ คืนวันสถาปนาจึงมักไม่มีใครอยู่หอพักเลยมาหลายปีแล้ว จนกระทั่งปีนี้ แทน (เจมส์ – ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) เด็กแพทย์ปี 1 ซึ่งมีโรคประจำตัวตัดสินใจไม่กลับบ้านและอยู่หอเพียงลำพังเพื่อเตรียมสอบวันรุ่งขึ้น ทั้งที่แฟนสาว (นาน่า-ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์) ได้เตือนเอาไว้แล้ว
เป็นอีกเรื่องราวที่มักได้ฟังเกี่ยวกับผีในรั้วมหาวิทยาลัยในลักษณะการกลับมาเฉพาะวันพิเศษ แต่ผู้กำกับ ก๋วยเตี๋ยว-จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ ก็ฉลาดในการใช้แนวทางหนังระทึกขวัญที่ตัวละครหลักต้องหนีสัตว์ประหลาดเพียงลำพังในพื้นที่ปิด มาปรับเข้ากับหนังผีไทยที่ปกติเป็นวิญญาณที่ผลุบโผล่ได้โดยไม่อิงสถานที่จึงไม่ค่อยเหมาะกับรูปแบบหนังหนีเอาตัวรอดแบบต้องแอบและเปลี่ยนที่ซ่อน แต่พอตีโจทย์ผีเป็นเหมือนสัตว์ประหลาดหรือซอมบี้จึงทำให้หนังดูน่าสนใจไม่น้อย
จุดแข็งอีกอย่างของหนังที่ต้องชมคือการแสดงแบบทุ่มสุดตัวของเจมส์ที่แบกหนังเพียงลำพัง และอีกประการที่เป็นดาบสองคมคือการนำเทคนิคกระตุ้นประสาทผู้ชมด้วยแสงกระพริบที่ทำให้รู้สึกกดดันเหมือนตัวละคร แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ชมหนังไหลลื่นได้ลำบาก และแม้แสงกระพริบจะสนองต่อพลอตแต่พอมากไปก็ทำให้รู้สึกน่ารำคาญกับอาการไฟตกตลอดเรื่องจนดูไม่สมเหตุสมผลไปเสียแทนด้วย และตัวหนังก็หาทางลงได้อย่างไม่เหนือคาดนักอาจเป็นจุดอ่อนของพวกหนังพลอตหวือหวาที่ทางลงมักธรรมดาแบบเพลย์เซฟหรือไม่ก็เป๋เป็นหนังห่วยไปเลย ยังดีที่เรื่องนี้ยังเป็นแค่อย่างแรก
ตึกวิทย์เก่า
มีน (เบลล์ – เขมิศรา พลเดช) นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ต้องทำงานดึกกับเพื่อน ๆ แต่ทว่าโน้ตบุ๊กที่ต้องใช้ทำงานของเธอถูกน้องชายไม่เอาไหนที่กำลังตามง้อแฟนสาวอย่าง กอล์ฟ (กิต – กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์) เอาไปใช้ เธอจึงโทรตามให้น้องชายเอามาคืนที่คณะ ขณะที่รอน้องชาย มีนจึงเล่าเรื่องผีที่ตึกเก่าของคณะหลายเรื่องให้เพื่อนฟัง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่กอล์ฟได้มาถึงและเข้าใจว่าตึกคณะเก่านั้นคือที่พี่สาวของเขาอยู่
ผู้กำกับ ต้น-เอกภณ เศรษฐสุข แสดงความชัดเจนว่าหนังจะเป็นซิตคอมที่เล่นกับสถานการณ์ที่ตัวละครกอล์ฟไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเจอผีอยู่ และพยายามยั่วล้อกับขนบการเจอผีหลอกต่าง ๆ รวมถึงข้อขัดแย้งของผีในคณะวิทยาศาสตร์ที่ไม่ควรเชื่อเรื่องงมงาย และมีกิมมิกในการเล่นกับผีที่ชัดเจนทั้งทางเดิน ชุดครุย และขวดยา เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยการเป็นหนังตลกที่ปิดท้ายเองก็ช่วยปรับอารมณ์ผู้ชมให้เบาสบายขึ้นเมื่อออกจากโรงด้วย
แต่น่าเสียดายพอสมควร แม้จะเป็นหนังที่ดูองค์ประกอบแข็งแรงในหลายจุด แต่การนำมาปรุงรวมกันยังไม่แม่นในเรื่องของจังหวะการเล่าการตัดต่อที่ดีพอ ถ้าแนะนำคงอยากให้ลองปรับจังหวะหนังให้แม่นขึ้นทั้งการหลอกและการขยี้มุก น่าสนใจว่าหนังใช้วิธีการตัดแบบพวกยูทูบเบอร์มาใช้หลายครั้งซึ่งอาจจะทำงานได้ดีบนจอเล็ก ๆ แต่พอมาอยู่บนจอใหญ่การฟรีซภาพแล้วซูมหรือแทรกกราฟิกล้น ๆ มันดันดูทำให้คุณภาพระดับหนังโรงห่วยลงไปแทน
อีกประการคือหนังมีนักแสดงที่ถือว่าของแรงพอสมควร กล่าวคือคาแรกเตอร์จัดมีความเป็นตัวเองสูงมาก เมื่อผู้สร้างคุมกับความพยศของกิตไม่ลง มู้ดและโทนของหนังจึงถูกกิตกลืนกินเป็นหนังของเขาไปเสียหมดอย่างน่าเสียดาย จนจบทั้ง 3 เรื่องบางทีอาจมีแต่หน้ากิตติดหัวกลับบ้านไป
แต่ก็ต้องบอกว่าในบรรดาทั้ง 3 ตอน ตอนตึกคณะวิทย์นี้มีโจทย์สำหรับทีมสร้างที่ยากที่สุดในการทำออกมาให้ดี ยิ่งบทสรุปของหนังที่ไม่รู้จะลงแบบไหนก็ยัดเยียดวิธีการแก้ปัญหา และคำพูดสอนคนดูใส่ปากตัวละครไปดื้อ ๆ แบบนั้น ก็ยิ่งทำให้หนังดุไม่มีอะไรให้จดจำเข้าไปอีก
และจุดอ่อนสำคัญที่ทั้ง 3 เรื่องมีร่วมกันอีกประการคือวิธีการนำเสนอผี ซึ่งถ้าไม่พึ่งซีจีที่ดูลอยหลอกตาไปเลย ก็เป็นการใช้เมกอัปที่กึ่ง ๆ จะน่ากลัวและตลกชวนขำไปพร้อมกัน เป็นเรื่องสำคัญที่ทีมงานต้องบริหารจัดการงบประมาณที่มีแล้วหาทางออกที่ลงตัวที่สุดในการสร้างตัวละครที่เป็นหัวใจของหนังอย่างเหล่าผี เราเห็นความฉลาดและวิสัยทัศน์ที่ดีในการเล่นง่ายเล่นน้อยแต่หลอกหลอนบีบคั้นได้มากกว่าการมองเห็นผีชัด ๆ จากหนังบางตอน ตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่ช่วยให้เห็นได้ชัดขึ้นว่าผู้กำกับคนไหนมีศักยภาพไปได้ไกลกว่าในวงการนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส