ถ้าพูดถึงหนัง Cliffhanger ปี 1993 ก็ต้องคนในวัย 40 อัป ถึงพอจะรู้จักหรือเคยดู แต่สำหรับคนที่เกิดไม่ทันหรือไม่เคยดูมาก่อน ก็ต้องอธิบายให้ฟังกันเล็กน้อย Cliffhanger เป็นหนึ่งในหนังฮิตของ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) ที่ออกมาในยุครุ่งเรืองของเขาในวัย 47 ปี ในช่วงนั้นสตอลโลนมีหนังออกมาปีละ 2-3 เรื่อง และ Cliffhanger ก็จัดว่าประสบความสำเร็จ หนังใช้ทุนสร้างไป 70 ล้าน ทำรายได้ทั่วโลกไป 255 ล้าน อีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จก็มาจากฝีมือของ เรนนี่ ฮาร์ลิน (Renny Harlin) ผู้กำกับสายแอ็กชันที่กำลังมือขึ้น เพราะเพิ่งประสบความสำเร็จมากับ Die Hard 2 (1990)
ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน รับบทเป็น เกบ วอล์คเกอร์ นักปีนเขามืออาชีพ เขาคุ้นเคยกับเทือกเขาร็อกกี้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีแก๊งโจรที่เพิ่งก่อคดีอุกอาจปล้นเครื่องบินบรรทุกเงิน แล้วพลาดทำกล่องบรรจุเงิน 100 ล้านเหรียญ ร่วงหล่นบนยอดเขาร็อกกี้ จึงมาหลอกเกบว่ามีเพื่อนพลัดหลงบนยอดเขา ต้องรีบไปช่วยกลับมา แต่พอเกบไปถึงแล้วจึงโดนบีบบังคับให้ไปตามเก็บกู้กล่องเงินมาให้พวกมัน
อย่างที่เราจั่วหัวไว้ว่า Cliffhanger เป็นหนังที่ได้รับการบันทึกโดยกินเน็ส เวิลด์ เร็กคอร์ดไว้ในฐานะหนังที่จ่ายค่าตัวให้กับสตันท์แมนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยมูลค่า 1 ล้านเหรียญ เทียบอัตราเงินเฟ้อเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 1.9 ล้านเหรียญ เหตุที่ทีมงานต้องจ่ายค่าเสี่ยงตายสูงขนาดนี้ ก็เพราะว่านี่คือการถ่ายทำภาพยนตร์ในยุค 90s ที่เทคโนโลยี CGI ยังไม่พัฒนาเทียบเท่าทุกวันนี้ ในการถ่ายทำฉากเสี่ยงตาย จึงต้องใช้ความสามารถเฉพาะตนของสตันท์แมนล้วน ๆ
ผู้ที่แสดงฉากเสี่ยงตายนี้คือ ไซมอน เครน (Simon Crane) สตันท์แมนชาวอังกฤษ เขาแสดงเป็นตัวร้ายของเรื่อง ที่ต้องโรยตัวไปบนลวดสลิงที่ขึงข้ามเครื่องบิน 2 เครื่อง ขณะที่บินด้วยความเร็ว 241 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะความสูง 4,572 เมตรเหนือพื้นดิน ซึ่งเครนเองก็ยอมรับว่านี่คือฉากเสี่ยงตายที่สุดที่เขาไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตนี้ เป็นฉากที่อันตรายอย่างมาก ถ้าพลาดนั่นหมายถึงชีวิตของเครนก็หาไม่
แน่นอนว่าการแสดงฉากเสี่ยงตายแบบนี้ ไม่มีบริษัทประกันชีวิตไหนยอมทำสัญญาด้วย เพื่อให้งานถ่ายทำเดินหน้าไปได้ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน จึงอาสารับผิดชอบวงเงินแทนบริษัทประกันเองถ้าเกิดมีอะไรผิดพลาดขึ้นมา เพื่อให้กองถ่ายสามารถเดินหน้าต่อไปได้
การถ่ายทำฉากเสี่ยงตายสูงเช่นนี้ ทีมงานย่อมต้องซักซ้อมกันเป็นอย่างดี เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่าจะต้องไม่มีอะไรผิดพลาดขณะถ่ายทำจริง เพราะถ้าผิดพลาดนี่หมายถึงชีวิตของ ไซมอน เครน ซึ่งการซ้อมนั้นก็ใช้เวลานานนับเดือนกันเลยทีเดียว ในช่วงที่ซ้อมนั้นเครนก็สวมหน้ากากช่วยหายใจและสวมร่มชูชีพฉุกเฉินไว้ด้วย ซึ่งสุดท้ายมันก็ได้ใช้จริง ๆ
ไซมอน เครน ย้อนเล่าถึงช่วงเวลาถ่ายทำฉากนี้
“มันเป็นฉากที่อันตรายมาก ๆ ผมเคยทำอะไรมาหลายอย่างที่อันตรายมาก ๆ แต่มันก็ไม่ได้รุนแรงถึงชีวิตหรอก อย่างมากก็เจ็บตัว แต่กับ Cliffhanger นี่ ถ้ามีอะไรพลาดขึ้นมานี่ ผมตายได้ง่าย ๆ เลย”
ขยายความที่เครนเกริ่นไว้ว่า ถ้ามีอะไรผิดพลาดขึ้นมา นั่นก็เพราะ การถ่ายทำฉากเสียงตายนี้ ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างต้องทำงานเป็นไปตามแผนเป๊ะ ๆ อย่างเช่นความเร็วของเครื่องบิน 2 ลำ จะต้องรักษาความเร็วไว้ให้เท่ากันเป๊ะ ๆ ที่ 241 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ห้ามช้าหรือเร็วไปกว่านี้ โดยเฉพาะเครื่องบิน DC-9 ที่ลำใหญ่กว่า ถ้าบินเร็วกว่านี้ปั๊บ ความแรงของลมจะกระชากแขนขาของเครนให้หลุดจากร่างได้เลย และที่ความสูงระดับนี้ ระดับออกซิเจนจะน้อยมาก ๆ การหายใจเข้าออกแต่ละครั้งก็เป็นไปอย่างยากลำบาก สภาพอากาศที่ความสูงระดับนั้นก็น่ากลัวมาก อยู่ที่ -90 องศา เครนจึงต้องสวมหน้ากากที่ออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะให้กันความเย็นได้ และเพื่อความปลอดภัยสูงสุด เครนจะแสดงฉากนี้โดยมีร่มชูชีพซ่อนไว้ถึง 2 ชุด
แผนการในการถ่ายทำฉากนี้ ทีมงานชุดใหญ่จะรอรับเครนอยู่ที่ประตูของ Jet Star เครื่องบินลำเล็กที่เป็นจุดหมายปลายทางของเครน ทีมงานเหล่านี้จะคอยดึงเชือกที่คล้องตัวเครนเพื่อดึงเครนเข้ามาในเครื่องบิน แต่ความซวยก็มาเยือนเครนจนได้ เมื่อเครนมาถึงประตูเครื่องบินพอดี ทันใดนั้นเครื่องบินก็ตกหลุมอากาศขนาดใหญ่เข้าอย่างจัง
“ร่างผมกระแทกเข้ากับประตูเครื่องบิน แล้วก็เหวี่ยงผมออกมานอกเครื่องอีกที ร่างผมลอยขึ้นไปด้านบนเครื่อง แล้วร่างก็ไหลไปตามตัวเครื่องด้านบน จนตัวผมเกือบจะถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์แล้ว ตอนนั้นผมอยู่ห่างจากเครื่องแค่เมตรกว่า ๆ เอง มันอันตรายสุด ๆ แล้ว”
ขณะเดียวกันทีมงานก็ช่วยกันดึงเชือกกันยกใหญ่ พยายามจะลากเครนกลับเข้ามาในเครื่องบินให้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เครนจึงต้องตัดสินใจใช้แผน B
“ตอนนั้นร่างผมถูกเหวี่ยงไปอยู่ด้านข้างลำเครื่องบิน ทันทีที่ร่างผมพ้นจากลำตัวเครื่องบิน ผมก็ตัดสินใจกระตุกร่มชูชีพ”
สุดท้ายการถ่ายทำฉากนี้ก็ไม่ลุล่วงตามแผนที่วางไว้ แต่มันก็ถูกจดจำในฐานะของฉากเสี่ยงตายที่สุด แล้วก็ด้วยการตัดต่อโดยทีมงานมืออาชีพ เราก็เลยได้เห็นฉากนี้ในหนังเวอร์ชันสุดท้าย
แต่เครนก็ไม่พอใจผลลัพธ์ที่ออกมา เขาอยากจะลองแสดงฉากนี้ใหม่จนกว่าจะสำเร็จ และได้ภาพที่เขาแสดงจริง ๆ ใส่ลงไปในหนัง
“ผมอยากจะลองทำมันอีกจริง ๆ เพราะผมรู้แล้วว่าผมผิดพลาดอย่างไรตรงไหน”
วันนี้ ไซมอน เครน อายุ 61 ปีแล้ว เขาก็ยังคงทำหน้าที่ตำแหน่งผู้ประสานงานสตันท์ในกองถ่ายภาพยนตร์ ผลงานล่าสุดของเครนคือ Chaos Walking (2021) ส่วนใครที่ไม่เคยดู Cliffhanger (1993) ก็น่าจะหาได้จากร้านดีวีดีเก่า หนังมีชื่อไทยว่า “ไต่ระห่ำนรก” เป็นหนังแอ็กชันที่สนุกเรื่องหนึ่ง เป็นที่จดจำจากยุค 90s และควรค่าแก่การรับชม