Top Gun: Maverick หนังฟอร์มใหญ่เรื่องล่าสุดของ ทอม ครูซ (Tom Cruise) พระเอกตลอดกาลของฮอลลีวูดกำลังเดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ต่าง ๆ อยู่ขณะนี้ ทั้งตัวเลขเปิดตัวจากสุดสัปดาห์ที่พุ่งไปถึง 150 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังเรื่องแรกของครูซที่ทำเงินได้ในระดับนี้ ด้านเสียงนักวิจารณ์หนังก็คว้าสถานะมะเขือเทศสดไปที่คะแนน 96% เป็นรองแค่ MISSION: IMPOSSIBLE – FALLOUT (2018) ที่ได้ไป 97% ยังมีสถิติและเรื่องราวน่าสนใจอีกมากเบื้องหลังหนัง Top Gun: Maverick ที่เราคัดเรื่องเด็ด ๆ มาให้อ่านกัน แต่เหมาะสำหรับคนที่ดูหนังแล้วเท่านั้นนะครับ
- แฟน ๆ ของ ทอม ครูซ น่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า นอกจากครูซจะพิสมัยการขี่มอเตอร์ไซค์แล้ว เขายังหลงใหลในการบินอย่างมากถึงขั้นไปสอบจนได้ใบอนุญาตการบิน และแน่นอนซูเปอร์สตาร์ระดับนี้ก็ต้องมีเครื่องบินเป็นของตัวเอง เป็นเครื่องบินจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 รุ่น P-51 Mustang ที่ครูซซื้อมาในราคา 4 ล้านเหรียญ แล้วเขาก็แอบเอามาเข้าฉากด้วย แต่ว่ามีใครสังเกตเห็นกันบ้างไหม
- Top Gun ภาคแรกนั้นออกฉายเมื่อปี 1986 เป็นผลงานกำกับของ โทนี่ สก็อตต์ ผู้กำกับมากฝีมือคนหนึ่งของฮอลลีวูด นอกเหนือจาก Top Gun แล้วผลงานเด่น ๆ ของสก็อตต์ก็อย่างเช่น Days of Thunder (1990), Crimson Tide (1995), Man on Fire (2004) และเรื่องสุดท้ายที่หลายคนยังจำกันได้ก็คือ Unstoppable (2010) น่าเสียดายที่สก็อตต์ตัดสินใจกระโดดสะพานฆ่าตัวตายเมื่อปี 2012 เพื่อหนีจากโรคมะเร็ง ก่อนตายนั้น สก็อตต์อยู่ในช่วงที่กำลังเตรียมการสร้าง Top Gun ภาคต่ออยู่แล้วด้วย Top Gun: Maverick จึงเป็นหนังที่ได้อุทิศความสำเร็จส่วนหนึ่งให้กับ โทนี่ สก็อตต์
- เป็นที่รู้กันดีว่านักแสดงระดับบิ๊ก มักจะมีอิทธิพลต่อหนังอย่างมาก บางทีมากกว่าผู้กำกับเสียด้วยซ้ำ นอกเหนือจาก วิน ดีเซล ก็มี ทอม ครูซ นี่ล่ะ ที่เป็นที่รู้กันดีว่ามีบทบาทต่อหนังอย่างมาก และในเรื่องนี้ก็เช่นกัน ครูซวางข้อกำหนดมาเลยว่า ในการถ่ายทำเรื่องนี้จะต้องใช้ภาพจริงให้มากที่สุด และใช้ CGI ให้น้อยที่สุด ฉะนั้นภาพนักบินในค็อกพิตที่เราเห็นกันแทบทั้งเรื่องนั้น ล้วนเป็นภาพของนักแสดงที่นั่งอยู่ในค็อกพิตขณะเครื่องบินอยู่กลางอากาศจริงเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นจึงเป็นข้อบังคับที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่นักแสดงจะต้องผ่านการฝึกซ้อมรับแรง G (G-force training) กันอย่างหนัก เพื่อให้ร่างกายพร้อมรับต่อแรง G ระหว่างการบินได้จริง ๆ
- พอครูซวางข้อกำหนดขึ้นมาแบบนั้น ทีมงานจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการถ่ายทำขึ้นมาใหม่ เพราะช่างภาพไม่สามารถเข้าไปอยู่ในค็อกพิตด้วยได้ นั่นทำให้นักแสดงแต่ละคนจะต้องถ่ายภาพตัวเองทุกกระบวนการ เริ่มตั้งแต่แต่งหน้าตัวเอง เปิดปิดกล้องเอง จัดไฟเอง ติดตั้งเครื่องบันทึกเสียงเอง ส่วนผู้กำกับก็นั่งคอยนอนคอยเป็นชั่วโมงรอให้เครื่องบินลง แล้วนักแสดงก็เอาเทปบันทึกภาพมาส่งให้ผู้กำกับเปิดดู พอเจอว่ามีตรงไหนต้องปรับแก้ถ่ายใหม่ นักแสดงก็ต้องกลับไปขึ้นบินใหม่อีกรอบ ช่างเป็นกองถ่ายที่ทุลักทุเลเสียจริง
- นอกจากเป็นนักแสดงนำแล้ว ทอม ครูซ ยังแบกพ่วงหน้าที่ที่ปรึกษากองถ่ายด้วยในฐานะที่เขาเป็นนักบินผู้มีใบอนุญาต ครูซก็เลยร่างหลักสูตรนักบินขึ้นมาจริง ๆ นักแสดงจะต้องเขาคอร์สฝึกบินจริง ๆ เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการบินเครื่อง F-18
- ไมลส์ เทลเลอร์ (Miles Teller) เล่าว่า เขาเห็นเพื่อนนักแสดง 3 คน ที่อาเจียนทุกวันในฉากที่ต้องขึ้นบินจริง
- ไมลส์ เทลเลอร์ ยังเล่าอีกว่า นักแสดงที่รับบทนักบินในหนังได้สิทธิ์ในการตั้งชื่อฉายาตัวเอง ตัวเขานั้นเลือกชื่อ ‘Rooster’ ซึ่งแปลว่า ไก่ตัวผู้ เพื่อให้สอดคล้องกับ ‘Goose’ ฉายาของพ่อเขาในเรื่อง ซึ่งแปลว่า ห่าน เป็นสัตว์ในวงศ์เดียวกัน
- Top Gun: Maverick เป็นหนังภาคต่อที่ทิ้งช่วงห่างจากภาคแรกยาวนานถึง 36 ปี มีหนังภาคต่อที่ทิ้งช่วงยาวนานกว่านี้ก็คือ Return to Never Land (2002) เป็นภาคต่อของ Peter Pan (1953)
ห่างกันถึง 49 ปี
- มีเพียง ทอม ครูซ และ วัล คิลเมอร์ เพียง 2 คนเท่านั้น ที่เป็นนักแสดงดั้งเดิมจากภาคแรก ระหว่างที่ถ่ายทำนี้ คิลเมอร์ในวัย 62 ปี กำลังเผชิญกับอาการมะเร็งคอขั้นรุนแรงถึงขนาดพูดไม่ได้ ซึ่งบท ไอซ์แมน ในหนังก็เขียนให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันของคิลเมอร์ แม้ว่าในหนังนั้นเราได้เห็นไอซ์แมนพูดด้วยน้ำเสียงแหบพร่าอยู่ประโยคหนึ่ง แต่คิลเมอร์ตัวจริงนั้นพูดไม่ไหวแล้ว เสียงที่เราได้ยินในหนังนั้นเป็นเสียงที่เทคนิคทางด้านเสียงสร้างขึ้น โดยใช้เสียงเดิมของคิลเมอร์จากหนังเรื่องก่อน ๆ มาประกอบรวมเข้าด้วยกัน
- ฉากหนึ่งในภาคแรกที่เป็นที่จดจำจากคนดูก็คือฉากเหล่านักบินถอดเสื้อโชว์กล้ามเล่นอเมริกันฟุตบอลชายหาด เลยกลายเป็นฉากบังคับที่ภาคนี้ก็ต้องมี และเป็นข้อบังคับที่บรรดานักแสดงชายต้องรับความตึงเครียดกันอย่างมาก ที่จะต้องฟิตร่างกายให้เฟิร์มสุดเพื่อฉากนี้ ถึงกับมีการแข่งฟิตร่างกายกันระหว่างนักแสดงชาย เกล็น โพเวลล์ (Glen Powell) ผู้รับบทเป็น Hangman เล่าว่านักแสดงชายวิตกกังวลกันอย่างมาก กับการที่จะต้องฟิตร่างให้พร้อมสำหรับฉากโชว์ท่อนบนนี้ ถึงกับทำให้ห้องยิมนี่แน่นทั้งวันทั้งคืนเลย พอถ่ายฉากนี้เสร็จ ทุกคนที่ทานอาหารสุขภาพกันเพื่อฉากนี้กันมายาวนาน ก็ได้ทีปลดปล่อยกันเต็มที ซัดเบียร์และมิลค์เชคกันจุใจทันทีเลยในคืนนั้น แล้วข่าวร้ายก็มาถึงในอีกสัปดาห์ต่อมา เมื่อครูซดูเทปฉากนี้แล้วไม่พอใจ สั่งให้ทุกคนกลับมาถ่ายซ่อมกัน นั่นทำให้ทุกคนต้องกลับเข้าโรงยิมกันทั้งวันทั้งคืนอีกครั้ง
- อย่างที่เราเห็นกัน บทเด่นในเรื่องนี้รองจาก ‘มาเวอริค’ ก็คือบท ‘รูสเตอร์’ มีนักแสดง 3 คน ที่เข้ารอบสุดท้ายเพื่อชิงบทนี้คือ นิโคลัส เฮาลต์ (Nicholas Hoult), เกล็น โพเวลล์ (Glen Powell) และ ไมลส์ เทลเลอร์ (Miles Teller) หนึ่งในขั้นตอนชิงชัยเพื่อบทนี้ ทั้งสามจะต้องบินไปหา ทอม ครูซ ที่บ้าน เพื่อทดสอบบทว่าเคมีเข้ากับครูซไหม ซึ่งสุดท้ายแล้ว ไมลส์ เทลเลอร์ ก็ได้บทนี้ไปครอง แต่ทั้งครูซและบรัคไฮเมอร์ก็ยังประทับใจในตัวของโพเวลล์ ไม่อยากที่จะสูญเสียไป ทีมงานจึงตัดสินใจสร้างตัวละคร Hangman เพิ่มขึ้นมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ
- บท ‘เพนนี เบนจามิน’ ของ เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี่ (Jennifer Conelly) นั้น แม้ไม่ได้ปรากฏตัวในภาคแรก แต่ได้มีการเอ่ยถึง ตอนที่กู๊สเล่าถึงอดีตของมาเวอริคว่าเขาเคยคบหากับลูกสาวของนายพลท่านหนึ่ง
- เหตุผลหนึ่งที่ โจเซฟ โคซินสกี้ (Joseph Kosinski) เหมาะสมที่จะมาเป็นผู้กำกับ Top Gun: Maverick ก็เพราะ เขาเคยกำกับ TRON: Legacy หนังภาคต่อที่ทิ้งช่วงห่างจากภาคแรกถึง 28 ปี พอมากำกับเรื่องนี้ก็เป็นหนังภาคต่อที่ทิ้งช่วงห่างจากภาคแรกถึง 36 ปี
- เมื่อปี 2019 รายการ Entertainment Tonight ได้สัมภาษณ์ เคลลี แม็กกิลลิส (Kelly McGillis) นางเอกภาคแรก ซึ่งเธอได้เปิดเผยว่า ไม่เคยได้รับการติดต่อจากทีมงานให้กลับไปร่วมงานในภาคต่อนี้เลย ทีมงานก็ยังอุตส่าห์ถามต่ออีกว่า เธอคิดว่าเพราะอะไรทำไมทีมงานถึงไม่ติดต่อมา แม็กกิลลิสก็ตอบว่า อาจจะเพราะตอนนี้นั้นเธอทั้งอ้วนแล้วก็แก่ตัวลงไปมาก แต่ก็เป็นไปตามวัยที่ควรจะเป็น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่หนังต้องการเห็น
- ฉากที่เราเห็นมาเวอริคและเพนนีขับเรือยอชต์ด้วยกันนั้น เป็นเรือรุ่น J/125 ความสูง 12.4 เมตร ที่สำคัญคือฉากนี้ไม่ได้ใช้สตันท์ แต่ ทอม ครูซ และ เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี บังคับเรือกันเองจริง ๆ ท่ามกลางคลื่นลมแรงในอ่าวซานฟรานซิสโก
- ตามบทหนังเขียนไว้ว่าบ้านที่เพนนีอยู่กับลูกสาวในหนังภาคนี้คือบ้านเดิมที่ชาร์ลี นางเอกภาคที่แล้วอยู่มาก่อน แต่ในการถ่ายทำจริงนั้นเป็นบ้านคนละหลัง เพราะบ้านเดิมที่ชาร์ลีอยู่นั้นถูกรื้อไปแล้ว ปัจจุบันกลายเป็นร้านขายพาย ยังมีอีกจุดหนึ่งที่นางเอก 2 ภาคนี้มีรสนิยมเหมือนกันก็คือรถ Porsche ชาร์ลีขับรถ Porsche รุ่นคลาสสิกเปิดประทุน ส่วนเพนนีขับรุ่น 911
- แม้ว่าในหนังจะไม่เอ่ยว่า แผ่นดินศัตรูที่เหล่านักบิน Top Gun ไปโจมตีในเรื่องนี้คือประเทศอะไร แต่ก็พอคาดเดากันได้ว่าเป็น ‘อิหร่าน’ อ้างอิงจากการเอ่ยถึงเครื่องบิน F-14 ที่มาเวอริคขโมยแล้วบินกลับเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ เพราะว่านอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วมี อิหร่านเพียงประเทศเดียวที่ซื้อ F-14 ไปจากสหรัฐฯ จำนวน 80 ลำเมื่อปี 1978 ในวันนั้นอิหร่านและสหรัฐฯ ยังเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน ในสหรัฐฯ นั้นไม่มีเครื่องบิน F-14 คงเหลือปฏิบัติการอีกแล้ว เพราะถูกสั่งทำลายทั้งหมดในปี 2006 คงเหลือบางลำที่เก็บไว้โชว์ในพิพิธภัณฑ์ แต่อิหร่านยังคงใช้ F-14 ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
- เราได้ยินตัวละครในหนังเอ่ยถึงเครื่องบินศัตรูบ่อย ๆ ว่า เป็นเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 ที่กองทัพสหรัฐฯ ค่อนข้างยำเกรงกันพอควร เครื่องบินรุ่นที่ 5 ที่ว่านี้ก็คือ Sukhoi Su-57 อ่านว่า “ซุคฮอย” เป็นชื่อของบริษัทสร้างอากาศยานของกองทัพรัสเซีย Sukhoi Su-57 เป็นเครื่องบินรบของกองทัพรัสเซียรุ่นแรก ที่ออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ หรือ เครื่องบินรบล่องหน มีความสามารถเทียบเท่ากับเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา คือ เอฟ-22 แร็พเตอร์ และเอฟ-35 ไลท์นิ่ง 2
- ใน Top Gun (1986) ชาร์ลีได้บอกกับมาเวอริคว่า “เราสองคนต่างก็รู้กันดีว่าคุณจะยังไม่มีความสุขหรอก จนกว่าคุณจะบินได้ถึง มัค 10 ในขณะที่ผมคุณลุกเป็นไฟ” นั่นจึงทำให้เราเห็นฉากเปิดเรื่องใน Top Gun:Maverick ที่มาเวอริคได้บินทดสอบเครื่องบินรุ่นใหม่ด้วยความเร็วที่มัค 10
- ฉากแรกในบาร์ของเพนนี เราได้เห็น Hangman เดินมากดตู้เพลง เขากดหมายเลข 8 แล้วก็ตามด้วย 6 มีคนคาดเดากันไปว่า เลข 86 นี้ ผู้สร้างต้องการสื่อถึงปี 1986 ปีที่หนังภาคแรกออกฉาย แล้วเลข 86 ยังหมายถึง “eighty-sixed” โค้ดที่เป็นที่รู้กันในบาร์อเมริกันว่าถ้าใครโดนโค้ดนี้จะต้องโดนโยนร่างออกไปจากร้าน ซึ่งในเรื่องมาร์เวอริคโดนโยนเพราะบัตรเครดิตเขารูดไม่ผ่าน
- คริสโตเฟอร์ แม็กควารี (Christopher McQuarrie) มือเขียนบทและผู้กำกับคู่บุญของ ทอม ครูซ เคยได้รับมอบหมายให้เขียนบท Top Gun: Maverick เมื่อปี 2010 ซึ่งบทในเวอร์ชันของแม็กควารีนั้นเขียนให้ มาเวอริค เป็นเพียงแค่บทสมทบเท่านั้น
จบแล้วครับ หวังว่าจะได้ข้อมูลเด็ด ๆ จากบทความนี้ไปคุยกันต่อกับเพื่อนได้นะครับ