กำลังเข้าสู่ความเข้มข้นขึ้นไปทุกทีกับซีรีส์ ‘Star Wars Obi-Wan Kenobi’ ที่ผ่านมาแล้ว 4 ตอน กับเรื่องราวการเดินทางออกช่วยเจ้าหญิงตัวน้อยที่ถูกลักพาตัว ซึ่งท้ายสุดแล้วปลายทางของการเดินทางครั้งนี้ของ โอบีวัน เคโนบี (Obi-Wan Kenobi) ก็ต้องมาตัดสินกับ ดาร์ธ เวเดอร์ (Darth Vader) เพื่อเป็นการชี้ขาดเดิมพันถึงชะตากรรมของเด็ก ๆ ที่โอบีวันต้องปกป้อง แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นเรามาทำความรู้จัก ‘Sith Lord’ ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ดาร์ธ เวเดอร์คนนี้ดีกว่าว่าเขามีความเป็นมาอย่างไร ทั้งเบื้องหน้าที่เราเห็นและเบื้องหลังจุดกำเนิดต่าง ๆ ที่คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อว่าคุณจะได้ดูซีรีส์นี้ ‘Star Wars Obi-Wan Kenobi’ ได้สนุกขึ้น ถ้าพร้อมแล้วก็เตรียมตัวเข้าสู่ด้านมืดไปพร้อมกันเลย
ที่มาของชื่อ Darth Vader อันน่าหวาดหวั่นไปทั้งจักรวาล
เริ่มต้นเรื่องแรกที่เราอยากหยิบมานำเสนอนั่นคือเรื่องราวของชื่อ เพราะเชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จัก ‘Sith Lord’ ผู้ชั่วร้ายคนนี้ดีอยู่แล้ว ว่าเขามีความเป็นมาอย่างไรจนมาถึงจุดนี้ แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบมาก่อนว่าชื่ออันชั่วร้ายอย่าง ดาร์ธ เวเดอร์ (Darth Vader) นั้นมีที่มาที่ไปจากอะไร ซึ่งถ้านับเฉพาะในภาพยนตร์ชื่อ ดาร์ธ เวเดอร์ นั้นถูกตั้งให้แก่ อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ (Anakin Skywalker) ตั้งแต่ที่เขาเริ่มเดินเข้าสู่ด้านมืดด้วยการร่วมมือสังหารอาจารย์ ‘Jedi’ เมซ วินดู (Mace Windu) นับจากนั้นอนาคินก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อ ดาร์ธ เวเดอร์ มาตลอด และเมื่อเราย้อนไปหาข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ “Darth Vader” จาก จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ผู้ให้กำเนิดซีรีส์นี้ก็ทราบว่า กว่าที่ลูคัสจะได้ชื่อที่เป็นตำนานนี้เขาต้องมาผสมชื่อต่าง ๆ ที่คิดออก เพื่อไล่หาชื่อที่ตัวเองถูกใจจนมาถึงคู่ของคำว่า ‘Darth’ และ ‘Vader’ ที่ลูคัสบอกว่าชื่อเวเดอร์มีพื้นฐานมาจากคำว่า ‘Vater’ หรือ ‘Vader’ ในภาษาเยอรมัน/ดัตช์ ซึ่งหมายถึง “บิดา” เมื่อรวมกับคำว่า ‘Darth’ ก็จะได้ความหมายว่า “บิดาแห่งความมืด” ที่รวมความหมายถึงความตายหรือผู้บุกรุกก็ได้ และส่วนหนึ่งก็มาจากชื่อของเพื่อนนักเรียนมัธยมปลายของลูคัสเองที่ชื่อ แกรี่ เวเดอร์ (Gary Vader) ซึ่งเป็นที่มาของการเอาคำมารวมกันนั่นเอง จนได้ชื่อที่แสนน่าเกรงขามที่สุดในโลกภาพยนตร์ขึ้นมา
ความรู้สึกน่ากลัวราวกับลอยมาในสายลม ชุดอวกาศ ชุดเกราะซามูไร คำจำกัดความของ Darth Vader
“ความรู้สึกน่ากลัวราวกับลอยมาในสายลม ชุดอวกาศ และชุดเกราะซามูไร” นั่นคือสิ่งที่ จอร์จ ลูคัส คิดถึงเมื่อเริ่มต้นออกแบบ ดาร์ธ เวเดอร์ แต่การออกแบบดั้งเดิมของ ดาร์ธ เวเดอร์ นั้นจะไม่มีหมวกนิรภัย (รูปประกอบด้านล่าง) และแนวคิดที่ว่าเวเดอร์ควรสวมเครื่องช่วยหายใจก็ได้รับการเสนอครั้งแรกโดยศิลปินนักออกแบบ ราล์ฟ แมคควอร์รี (Ralph McQuarrie) ในระหว่างการสนทนาก่อนสร้างภาพยนตร์ ‘Star Wars’ ในปี 1975 จนต่อมาลูคัสได้อธิบายว่า “ผมต้องการความชั่วร้ายในชุดเกราะซามูไร ตัวละครมีรูปร่างสูงโปร่งชุดสีดำผ้าคลุมปลิวไสว ที่ให้ความรู้สึกน่ากลัวราวกับลอยมาในสายลม” แมคควอร์รีที่ได้คำชี้แนะมาก็เสนอกับลูกคัสไปว่า “ถ้าเวเดอร์คือตัวละครที่อยู่บนอวกาศก็ควรออกแบบชุดให้ดูเป็นชุดนักบินอวกาศ” ซึ่งลูคัสก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ แมคควอร์รีจึงออกแบบหน้ากากช่วยหายใจแบบเต็มหน้าผสมเข้ากับหมวกซามูไร ทำให้เกิดการออกแบบที่โดดเด่นที่สุดของโรงภาพยนตร์ที่เราเห็นในตอนนี้นั่นเอง
ต้นแบบเสียงหายใจอันน่ากลัวของ Darth Vader
นอกจากรูปร่างหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว อีกหนึ่งอย่างที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเวเดอร์นั่นคือเสียงหายใจของเขา ที่แค่ได้ยินเสียงนี้ไกล ๆ ก็เล่นเอาหลายคนขนหัวลุกแล้ว โดยที่มาของเสียงลมหายใจอันเป็นเอกลักษณ์นี้ก็ได้ เบน เบิร์ตต์ (Ben Burtt) ฝ่าย ‘Sound Designer’ ที่ใช้การอัดเสียงจริง ๆ จากเครื่องช่วยหายใจของนักดำน้ำ โดยทางเบนให้ข้อมูลว่าต้นแบบเสียงนี้มาจากเสียงการหายใจของมนุษย์แบบเป็นจังหวะ ที่สร้างขึ้นโดยการหายใจผ่านตัวควบคุมถังเก็บน้ำลึก ซึ่งเมื่อเอามารวมกับตัวเวเดอร์แล้วมันช่างเข้ากันเป็นอย่างมาก เพราะอย่างที่เราก็ทราบกันดีว่าเวเดอร์นั้นบาดเจ็บสาหัสจากการถูกไฟคลอก ปอดของเขาถูกทำลายไปหลายส่วนจึงไม่สามารถหายใจด้วยตนเองได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ดังนั้นหน้ากากนี้จึงไม่ใช่เพื่อความน่าเกรงขามเพียงอย่างเดียว แต่มันสร้างมาเพื่อพยุงชีวิตเวเดอร์อีกด้วย
Shmi Skywalker ผู้เป็นแสงสว่างเพียงหนึ่งเดียวของ Darth Vader
คราวนี้มาดูสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของมารร้ายตนนี้กันบ้างว่ามีใคร เริ่มจากแม่ผู้ให้กำเนิดผู้สั่งสอนชี้แนะในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ดั่งแสงสว่างในความมืดของจิตใจเด็กน้อยอนาคินอย่าง ฉมี สกายวอล์คเกอร์ (Shmi Skywalker) ที่ตัวเธอนั้นเกิดและเติบโตมาในฐานะทาสมาตลอดทั้งชีวิต แต่สิ่งเหล่านั้นกลับไม่ทำให้จิตใจของเธอมัวหมอง และเมื่อตั้งท้องที่ฉมียืนยันว่าเด็กในท้องเกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีพ่อ ฉมีก็พร้อมจะเลี้ยงดูบุตรชายคนนี้ให้รู้จักคุณธรรมความถูกต้อง เปรียบดังเกราะป้องกันด้านมืดในจิตใจเด็กน้อย ซึ่งการพรากจากผู้เป็นแม่นั่นคือแรงกระแทกแรกที่ทำลายเกราะความดีในใจของอนาคินให้แตก จนเมื่ออนาคินมาพบว่าแม่ของตนเองเสียชีวิต นั่นก็คือแรงกระแทกที่ 2 ที่มาทำลายจิตใจจนร้าวแทบไม่มีทางสมานได้ แต่สุดท้ายอนาคินก็ได้ แพดเม่ อมิดาลา (Padme Amidala) มาปิดรอยร้าวดังกล่าว แต่สุดท้ายสิ่งสมานรอยร้าวสุดท้ายของอนาคินก็แตกกระจาย จนสุดท้ายเขาก็กลายเป็นจอมมารที่ขายวิญญาณให้กับความชั่วร้ายแบบกู่ไม่กลับอย่างที่เราได้เห็น เพราะเวเดอร์แทบมองไม่เห็นความหวังที่มี เพราะคนที่เขารักที่สุดในจักรวาลนี้ได้ตายไปหมดแล้ว แต่เวเดอร์หารู้ไม่ว่าลูก ๆ ของเขายังอยู่ ซึ่งสุดท้ายลูกของจอมมารก็สามารถปิดรอยร้าวที่แตกกระจายนั้นให้กลับมาได้ ในช่วงบั้นปลายสุดท้ายของชีวิตจอมมาร ด้วยฝีมือของลูกชายที่เป็นเหมือนแสงแห่งความหวังในจิตใจอันดำมืดของจอมมาร
จิตแพทย์ลงความเห็นว่า Anakin Skywalker มีคุณสมบัติอาการทางจิต
อันนี้เรียกว่าน่าสนใจมาก ๆ เมื่อมีจิตแพทย์ อีริก บุย (Eric Bui) จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยตูลูสในการประชุมสมาคมจิตแพทย์อเมริกันในปี 2007 ว่า “อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ มีอาการทางจิต 6 ใน 9 ข้อที่เกี่ยวกับโรค ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ไม่คงที่ทางอารมณ์ ‘Emotionally Unstable Personality Disorder’ (EUPD) ซึ่งเป็นตัวอย่างชั้นดีในการอธิบายเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจอาการของโรคนี้” โดยเริ่มจากวัยเด็กที่อนาคินเกิดและเติบโตมาในฐานะทาส เขาจึงรู้สึกถูกกดขี่ต้องยอมรับทำตามทั้งที่ไม่เต็มใจ พอโตมาก็ต้องอยู่ในกฎของ ‘Jedi’ ที่เขาต้องยอมรับแม้หลาย ๆ อย่างจะไม่เห็นด้วย จนเมื่อเขาเริ่มแสดงอาการโกรธออกมาสังหารหมู่มนุษย์ทราย ‘Tusken Raiders’ จนหมดหมู่บ้าน หรือการฆ่าเหล่า ‘Jedi’ เด็กอย่างไร้ความปราณี นั่นคือผลของโรค ‘EUPD’ ที่เมื่อเราต้องถูกบีบบังคับให้อยู่ในกฎถูกกดขี่มาก ๆ สุดท้ายเราก็จะระเบิดออกมาอย่างบ้าคลั่ง แบบที่เราเคยเห็นตามข่าวต่าง ๆ ใครที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะเป็นแบบนั้นก็พยายามหาทางเลี่ยงจากงานหรือสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น เพราะอาการของโรคนี้ขั้นรุนแรงและมันสามารถสะสมเอาไว้ในใจเหมือนระเบิดเวลา เพราะบางอย่างเมื่อทำไปแล้วมันไม่มีทางย้อนกลับมาได้เหมือนสิ่งที่อนาคินทำ
ความสามารถต่าง ๆ ของ Darth Vader ที่คุณไม่รู้
สำหรับคนที่เห็นดาร์ธ เวเดอร์ในภาพยนตร์แล้ว และคิดว่าตัวร้ายคนนี้ไม่เห็นจะเก่งเลย แค่ใช้พลังบีบคอแกว่งดาบไปมาแถมยังแพ้ลูกในตอนท้ายแบบง่าย ๆ อีก แต่สำหรับแฟน ๆ ที่รู้จัก ดาร์ธ เวเดอร์ ทั้งในฉบับเกมหนังสือการ์ตูนมาก่อน คุณจะได้เห็นความแข็งแกร่งที่เหนือมนุษย์ของเวเดอร์ ชนิดที่ว่าแค่เจอหรือได้ยินเสียงหายใจก็อยากปิดเกมเลิกเล่นแล้ว โดยจากข้อมูลบอกว่าพลังของเวเดอร์นั้นไม่ได้ลดลงหรือถดถอยไปเลย แม้จะสูญเสียแขนขาร่างถูกเผาทั้งตัวก็ตาม โดยความสามารถหลัก ๆ ของเวเดอร์คือพลังเคลื่อนย้ายสิ่งของและวิชาดาบที่ไม่เป็นสองรองใคร นี่ยังไม่นับการเป็นนักวางแผนที่มีชั้นเชิงรู้จักใช้คน และกำจัดคนที่ไม่มีประโยชน์หรือใช้งานเสร็จแล้วออกไปจากแผน ส่วนข้อด้อยของเวเดอร์คือแพ้ไฟฟ้าเพราะชุดของเขานั้นเป็นดั่งชุดเกราะและเครื่องพยุงชีพ เขาต้องเขารักษาอาการบาดเจ็บไปตลอดชีวิต นั่นจึงทำให้เวเดอร์ต้องมีแขนขาคนที่ทำงานให้มากมาย และเมื่อเวเดอร์ลงมือเองก็ไม่มีงานไหนที่ไม่สำเร็จ ซึ่งถ้าคุณอยากรู้ว่าเวเดอร์โหดขนาดไหนลองไปหาเกม ‘Star Wars Battlefront 2’ ดู แล้วคุณจะรู้ความรู้สึกของตัวละครในภาพยนตร์ที่เมื่อเจอเวเดอร์มันชวนสิ้นหวังขนาดไหน แม้คุณจะมีปืนในมือและพยายามยิงรัว ๆ ใส่จอมมารผู้นี้ก็ตาม บอกเลยว่าไม่รอดทุกราย
Now I am Vader หนึ่งในตอนจบที่เกือบเกิดขึ้นจริงในภาพยนตร์
เชื่อว่าหลายคนคงจะสงสัยว่าไอ้ประโยค “Now I am Vader” หรือที่แปลแบบบ้าน ๆ ออกมาว่า “ตอนนี้ฉันคือเวเดอร์” มันคือประโยคที่ลุค สกายวอล์คเกอร์พูดกับคนดู ที่เป็นหนึ่งในหลายตอนจบที่ถูกแต่งขึ้นมาโดยลูคัสและผู้ช่วย ที่ต่างคิดตอนจบออกมามากมายในภาคสุดท้ายของซีรีส์อย่าง ‘Star Wars Episode VI Return of the Jedi’ และหนึ่งในตอนจบที่ถูกเสนอในตอนนั้นคือให้ ลุค สกายวอล์คเกอร์ ที่พาเวเดอร์มาถึงยานหลบหนี และที่นั่นลุคได้เห็นหน้าของผู้เป็นพ่อครั้งแรกและครั้งสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิต ด้วยความรู้สึกเสียใจหรือถูกความมืดครอบงำจึงทำให้ลุคหยิบหน้ากากของผู้เป็นพ่อขึ้นมา แล้วบอกกับตัวเองว่า “ตอนนี้ฉันคือเวเดอร์” ซึ่งฉากจบนี้ก็สามารถอ้างอิงคาบเกี่ยวกับตอนที่ลุคไปฝึกวิชาในถ้ำ ที่เขาต้องสู้กับจิตใจตัวเองในร่างเวเดอร์ที่สุดท้ายเวเดอร์ที่ลุคฆ่านั้นก็คือตัวเขาเอง ที่เหมือนเป็นการบอกใบ้ในอนาคตว่าลุคจะเป็นเวเดอร์ แต่สุดท้ายแล้วความคิดนี้ก็ถูกปัดตกไปเพราะลูคัสบอกว่าเขาไม่ต้องการฉากจบแบบมืดมน แต่เขาต้องการสร้างภาพยนตร์ที่ดูได้ทั้งครอบครัว ซึ่งตอนจบแบบที่เราได้ชมแบบนี้ดีที่สุดแล้วจริง ๆ
David Prowse ชายผู้อยู่หลังชุด Darth Vader ผู้ล่วงลับ
ปิดท้ายกับการขอไว้อาลัยแด่ เดวิด พราวส์ (David Prowse) ชายผู้อยู่หลังชุด ดาร์ธ เวเดอร์ ที่เราได้เห็นในภาพยนตร์ ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ดูน่าเกรงขามเขาจึงได้รับบทนี้ และในตอนแรกลูคัสก็จะให้เดวิดพากย์เป็น ดาร์ธ เวเดอร์ ไปเลย แต่เสียงของเขานั้นไม่ดุดันน่าเกรงขามจึงต้องมีการพากย์เสียงทับในภายหลัง และจากข้อมูลบอกว่าเดวิดค่อนข้างผิดหวังที่ในตอนจบที่เป็นการถอดหน้ากากตอนนั้น ทางลูคัสจะใช้หน้าเขาแต่สุดท้ายก็เปลี่ยนมาเป็น เซบาสเตียน ชอว์ (Sebastian Shaw) แต่เขาก็เคารพการตัดสินใจนั้น นอกจากนี้เดวิดยังเคยมีข้อพิพาทกับลูคัสว่าเขาแอบเปิดเผยข้อมูลว่าเวเดอร์คือพ่อของลุคในงานสุนทรพจน์ ที่เขาขึ้นพูดกับมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ในปี 1978 ว่า “ไม่แน่ดาร์ธ เวเดอร์อาจเป็นพ่อของลุคก็ได้” ซึ่งในตอนนั้นภาพยนตร์ ‘Star Wars’ ภาคแรกเพิ่งฉายและกำลังโด่งดังแถมบทภาคต่อก็ยังไม่ได้เขียนเลย เรื่องราวจึงยุติลงตัวดีซึ่งแฟน ๆ ‘Star Wars’ ต่างก็ชมว่าเดวิดเดาได้แม่นจริง ๆ และสุดท้าย เดวิด พราวส์ ก็เสียชีวิตในวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 2020 ด้วยวัย 85 ปี บทบาทของปู่จะเป็นตำนานในโลกภาพยนตร์ตลอดไป
ก็จบกันไปแล้วกับ 8 เรื่องราวน่าสนใจที่เราหยิบยกมานำเสนอหวังว่าจะถูกใจแฟน ๆ ‘Star Wars’ กัน ยิ่งในช่วงนี้ซีรีส์ ‘Star Wars Obi-Wan Kenobi’ กำลังเข้มข้นคงต้องมารอดูว่าเราจะได้เห็นการต่อสู้ระหว่างศิษย์อาจารย์อีกไหมต้องมาลุ้นกัน โดยเป้าหมายของบทความนี้เพื่อให้ใครที่ไม่ใช่แฟน ‘Star Wars’ ได้รู้จักเบื้องหน้าเบื้องหลังเกี่ยวกับวายร้ายคนนี้ให้มากที่สุด ซึ่งถ้าขาดตกข้อมูลส่วนใดไปก็ขออภัยมาด้วย ส่วนคราวหน้าจะเป็นการพูดถึงซีรีส์เกมภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องใดก็รอติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว รับรองไม่พลาดทุกความบันเทิงแน่นอน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรััส