ทุกวันนี้ขึ้นชื่อว่าหนังรักโรแมนติก เรากำลังคิดกันว่า สิ่งที่ผ่านเข้ามานอกจากความฟินความจิ้นที่ใครคาดหวังจากหน้าหนังแล้ว เมสเซจของหนังโทนติ๊ดชึ่งเหล่านี้จะ ‘มีอะไร’ ที่จะเข้ามาเติมเต็มประกอบร่างให้หนังไม่เลี่ยนและตรึงใจคนดูได้ในคราเดียว ซึ่งโจทย์ตรงนี้ผู้กำกับมักจะใช้ ‘การเดินทาง’ มาเป็นสะพานปะติดปะต่อกับเส้นเรื่องหรือการผูกปมเดิมๆ ก่อนจะหาทางลงฟินๆ อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์บางๆ แบบนั้นไม่สามารถนำมาตัดสินภาพยนตร์อย่าง Un + Une ของผู้กำกับรุ่นเก๋ามือรางวัลออสการ์ โคล้ด เลอลูช ได้เลย

หนังในสไตล์นี้ ‘จังหวะ’ และ ‘เวลา’ ถูกนำมาเป็นส่วนสำคัญในการเดินเรื่อง ซึ่งถึงเวลาที่บทเพลงในท่วงทำนองของ อองตวน คอมโพสเซอร์หนุ่มใหญ่ขี้เล่น (ฌอง ดูชาร์แดง) จะตัดสินใจเปลี่ยนความจำเจในการทำงานด้วยการเลือกเดินทางมาทำซาวน์แทร็กประกอบหนัง Romeo and Juliet เวอร์ชันบอลลีวูดที่อินเดีย ก่อนจะได้พบกับ อานนา (เอลซ่า ซิลแบร์สไตน์) ภรรยาของท่านทูต ซามูเอล (คริสโตเฟอร์ แลมเบิร์ต) ซึ่งกำลังจะมีลูกด้วยกัน แน่นอนว่าการผูกปมในเรื่องนี้เป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจและทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว การจัดการกับความเนือยของหนังด้วยไดอะล็อกที่ฉลาดแยบคาย วิธีที่หนังค่อยๆ ถอดแคแร็คเตอร์ของ อองตวน และ อานนา ออกมาอย่างเหนือชั้นผ่านบทสนทนาเรียบง่าย แต่กลับทำให้คนดูเดินเข้าถึงจิตใจของตัวละครหลักได้ลึกซึ้งขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ไหลลื่นและมีลอจิกที่ปะติดปะต่อในแต่ละซีนรับกันอย่างลงตัวอีกด้วย

un-une-de-claude-lelouch_5479328

ในช่วงแรกของหนังพยายามนำเสนอความแตกต่างกันของตัวพระนาง ด้วยความไม่ ‘พยายาม’ ยัดเยียดเหตุการณ์บางอย่างเพื่อจะปูประเด็นนี้เหมือนหนังหลายๆ เรื่องทำ กลับกันมันเป็นหนังที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวทางการแสดงของนักแสดงสูง ซึ่ง performance ของคู่พระนางรุ่นใหญ่ ทั้ง ฌอง และ เอลซ่า ต้องบอกว่า ‘เอาอยู่’ จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหนุ่มใหญ่ขี้เล่นเจ้าสำราญแต่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์เหลือล้นกับหญิงสาวผู้เลือกที่จะเดินตามปรัชญาความเชื่อที่เธอค้นพบความสุข ทั้งคู่เก็บรายละเอียดการแสดงได้ดีมากในแบบฉบับของนักแสดงมือเก๋า ทำให้ตัวหนังยกระดับตัวเองให้น่าสนใจขึ้นมาทันทีตั้งแต่ครึ่งแรกของเรื่อง และนี่คือความแตกต่างของการใช้นักแสดงรุ่นใหญ่มาเล่นเมื่อเทียบกับนักแสดงวัยละอ่อน โดยเฉพาะในเรื่องของการถ่ายทอดอารมณ์ที่โดดเด่นมาก

1280x720-wUr

นอกจากกิตติศัพท์การเป็นเจ้าพ่อหนังรักของ โคล้ด เลอลูช ตั้งแต่หนังรักตั้งแต่รุ่นพ่ออย่าง A Man and A Woman (1966) หรือ Les Misérables (1995) แล้ว ยังมี โรเบิร์ต อลาซรากี้ มากำกับภาพให้รวมทั้งนักแต่งเพลงดีกรีรางวัลออสการ์ 3 สมัยอย่าง ฟรานซิส เลย์ มาทำซาวน์แทร็ก ซึ่งทีมงานพวก เดอลูช ต้องบอกว่าคุ้นเคยกับหนังรักโรแมนติกเป็นอย่างดี จุดเด่นที่น่าสนใจอย่างมากคือการขับเคลื่อนของเรื่องราวต่างๆ นอกจากไดอะล็อกฉลาดๆ แล้ว ยังมีช่วงที่หนังเดินเรื่องให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วมด้วยการถ่ายทอดมุมมองผ่านการกำกับภาพชั้นเซียน มันคือความเก๋าของ เลอลูช ที่แสดงให้เห็นว่าเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งบทพูดสวยๆ ดูซับซ้อน ก็สามารถตรึงคนดูได้อยู่ดี จุดนี้ถือเป็นโรงเรียนสอนภาษาหนังให้นักศึกษาบทหนึ่งเลย

maxresdefault

เมสเซจของหนังสอดแทรกกลิ่นอายของปรัชญาเชื่อมโยงกับสไตล์หนังรักโรแมนติกฝรั่งเศสฉบับคลาสสิกอยู่เป็นระยะ การย้ำเตือนข้อความซ้ำๆ ในเรื่องแบบฟอร์มของความรัก คือการยินดีที่จะให้ความรักกับใครก็ได้บนโลก ตั้งแต่ อองตวน ยังเป็นหนุ่มใหญ่ที่ไม่มีสิ่งใดยึดเหนี่ยว จนกระทั่งผ่าน turning point ผ่านความขัดแย้งจน อองตวน ค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติ ผมสังเกตว่าแคแร็คเตอร์ที่ เลอลูช นิยมในการมาใส่ในหนังแต่ละเรื่องคือ การนำเสนอตัวละครที่เป็นสีเทาเสมอ มันทำให้หนังไม่เลี่ยน ความคิดของคนรุ่นเก่าที่เรียบง่ายลึกซึ้ง คนดูจะรู้สึกได้ว่าผู้กำกับคนไหนทำหนังด้วยการ ‘เอาใจไปจับ’ ความรู้สึกของคนดู วิธีการเล่าช้าๆ แต่ฉลาดคมคาย ทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่าทำไมใครๆ ก็บอกว่า โคล้ด เลอลูช คือเจ้าพ่อหนังรักของโลกภาพยนตร์ที่ยังมีลมหายใจอยู่

Un + Une มีกำหนดเข้าฉาย 28 กรกฏาคมนี้

Play video

ที่มาภาพ : alliancefrancaise