ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางสหมงคลฟิล์มที่ให้โอกาสในการได้ไปชมรอบพิเศษนี้ครับ และต้องบอกว่าเป็นความเซอร์ไพรส์ขั้นสุดสำหรับผมเลยทีเดียว รุนแรงระดับที่หน้าหนัง แฟนเดย์ฯ หลอกคนดูว่าเป็นหนังใสๆแต่ดันดาร์คมาซะเครียด แต่สำหรับก็อดซิลล่ากำเนิดใหม่นี้เรียกว่าผิดคาดไปไกล ในระดับที่ผมมั่นใจมากว่าแฟนหนังส่วนใหญ่ต้องก่นด่าตัวหนังแน่ๆ แต่สำหรับผม หนังมันโคตรกล้าที่จะยกระดับตัวเองไปอีกขั้นของหนังสัตว์ประหลาดเลยทีเดียว ชอบมากครับ แน่นอนผมว่าหนังมันเลือกผู้ชมระดับหนึ่งครับ คิดว่าถ้าถูกกลุ่มนี่หนังมันน่าคลั่งไคล้มากๆครับ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าคนที่ไปดูจะตรงกลุ่มนั้นไหม รีวิวนี้ก็เลยจะพยายามช่วยคัดกรองครับว่าคุณเหมาะกับหนังนี้ไหม
Shin Godzilla หรือในเวอร์ชั่นตะวันตกว่า Godzilla Resurgence นั้นคือการกำเนิดใหม่ตามชื่อเลยครับ ไม่ใช่ทั้งทั้งภาคต่อ หรือรีเมคแต่อย่างใด ถ้าตามศัพท์นิยมสมัยนี้ก็คือ การรีบู้ท นั่นเองครับ ดังนั้นถือเสียว่าทุกคนเพิ่งรู้จักเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้เป็นครั้งแรกกันเลย สำหรับคำว่า Shin (シン) นั้นเป็นอักษรในภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายถึง ใหม่ แท้จริง หรือ พระเจ้า ก็ได้ ตรงนี้จึงเหมาะเจาะกับการเรียกก็อดซิลล่าฉบับใหม่มากครับ ในหนังยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โกจิระ เป็นคำพื้นเมืองที่หมายถึงร่างอวตารของพระเจ้าด้วย ซึ่งก็เปลี่ยนความหมายเดิมที่หมายถึงการผสมคำว่า ปลาวาฬ กับ กอริลลา ไป เป็นอะไรที่ดุดันยิ่งใหญ่กว่ามากๆ แสดงความทะเยอทะยานในการคืนชีพจักรพรรดิสัตว์ยักษ์ (ไคจู) หลังจากหนังเรื่องสุดท้ายอย่าง Godzilla: Final Wars (2004) เมื่อ 12 ปีก่อนจริงๆ
หนังตั้งใจเปิดด้วยโลโก้ โตโฮ เหมือนฉบับดั้งเดิมเวอร์ชั่นแรกเมื่อปี 1954 ซึ่งทำขึ้นใหม่ให้ดูเก่า แต่เก๋ได้อารมณ์มากๆ จากนั้นหนังก็ใช้ซาวด์ดนตรีออร์เคสตรากระหึ่มแบบที่เรามักได้ยินในหนังเก่าๆ ตรงนี้บอกเลยว่าแฟนเดิมๆปริ่มเปรมมากครับ ซึ่งซาวด์โบราณๆนี้ถูกนำมาใช้หลายครั้งในหนังด้วย เป็นเสน่ห์แบบนอสตัลเจียมากๆ ตรงนี้หนังให้เครดิตเพลงเก่าของ อิฟุกุเบะ อากิระ นักประพันธ์เพลงประกอบดั้งเดิมด้วยแม้ว่าท่านจะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2006 แล้วก็ตาม ส่วนคนที่รับไม้นำมาใช้ต่อตัวจริงในหนังฉบับนี้ก็คือ ซากิสึ ชิโร ที่มีผลงานทำเพลงให้อนิเมชั่นชั้นดีอย่าง Neon Genesis Evangelion ทั้งฉบับทีวีและหนังโรงมาแล้ว
จากนั้นหนังก็เข้าเรื่องอย่างรวดเร็วด้วยการปะทุขึ้นของไอน้ำทะเลเดือดขนาดยักษ์ ถนนและอุโมงค์ถล่มจนต้องมีการอพยพคน เกิดความวุ่นวายไปทั่ว ใครผิดหวังและยังแขยงๆกับสเปเชียลเอฟเฟคแบบญี่ปุ่นๆ อย่างในหนังไซไฟหลายๆเรื่อง อย่างล่าสุดก็ Attack on Titan ที่ทำร้ายจิตใจคอหนังเหลือเกิน ซึ่งก็ให้บังเอิญครับว่า 1 ใน 2 ผู้กำกับของหนังทั้งยังเป็นหัวหน้าฝ่ายเอฟเฟคเรื่องนี้อย่าง ฮิกูจิ ชินจิ ที่มีเครดิตในหนังสัตว์ประหลาดยักษ์ของโตโฮมาหลายต่อหลายเรื่องก็ดันเป็นคนที่กำกับ แอทแท็กออนไททัน เสียด้วย
แต่ตรงนี้ขอบอกเลยว่าแต่กับระดับหนังที่ลงทุนสร้างสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เรื่องนี้ ไม่มีการเผางานอีกแล้วครับ ทั้งฉากพาหนะยุทโธปกรณ์ทั้งหลาย การถล่มเมือง รวมถึงการสร้างก็อดซิลล่า หรือโกจิร่า ในฉบับญี่ปุ่นนี้ ทำออกมาได้เนี้ยบมาก แต่การดีไซน์จะถูกใจใครไหมนี่ขอไม่พูดนะครับ เพราะโดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบดีไซน์ตาถลนของเจ้านี่นัก แต่ในแง่ของผู้สร้างเขาก็มีเจตนาให้มันมีส่วนผสมของดีไซน์ฉบับปี 1954 ร่วมกับการแสดงสัญญะถึงความบิดเบี้ยวและทรมานจากกากขยะปรมาณูมากที่สุดตามวัตถุประสงค์ของหนัง ทั้งยังมีการอธิบายวิวัฒนาการจากสัตว์น้ำมาขึ้นบกที่ค่อนข้างอิงหลักความจริงอย่างมากประกอบ ตรงนี้เลยมองว่านานาจิตตังครับ ว่าสนใจดีไซน์หรือฟังก์ชั่นมากกว่ากัน แต่สำหรับฉากการถล่มเมืองครั้งใหญ่นี่ทำได้แบบถึงอารมณ์สุดๆครับ เป็นการยิงลำแสงที่น่ากลัวและยิ่งใหญ่สมจริงที่สุดเท่าที่มีการสร้างมาเลยครับ
ด้วยว่าพยายามคงเอกลักษณ์ไคจูดั้งเดิมตัวแรกของญี่ปุ่นนี้ไว้ แต่จะให้เป็นอะไรที่เดิมๆก็คงเอาไปสู้ Godzilla (2014) ของ Gareth Edwards ทางฝั่งฮอลลีวู้ดที่ทำออกมาแล้วค่อนข้างกระแสดีจนมีภาคต่อในปี 2019 ไม่ได้ งานนี้ชินก็อดซิลล่าเลยมาพร้อมความสูง 118.5 เมตร เอาชนะฉบับฝรั่งไป 10.5 เมตร ด้วยความสูงนี้ทำให้มันมีความยางจากหัวจนหางถึง 333 เมตร หนัก 92,000 ตัน ใหญ่ที่สุดและหางยาวที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมาเลยทีเดียว ตอนเห็นข้อมูลเจ้านิวก็อดนี้ครั้งแรกก็ยอมรับว่าคิดไว้เหมือนกันครับว่า โม้เหม็นจริงๆ สัตว์ยักษ์ขนาดนั้นเดินขึ้นมาบนเมือง แรงกระแทกมันจะมหาศาลขนาดไหน นี่มันแผ่นดินไหวย่อมๆเลยทีเดียว แล้วขามันจะรับน้ำหนักกับแรงสะท้อนกลับขนาดนั้นได้ไง แต่หนังทำการอธิบายตรงนี้ได้ดีครับ แทนที่จะให้เดินขึ้นมาดื้อๆ ก็กลับเป็นการวิวัฒนาการและค่อยๆปรับตัวจนยืนขึ้นมาได้ ส่วนด้านแรงสะเทือนเราก็เห็นอาคารและบ้านที่อยู่ใกล้ๆพังทะลายอย่างสมจริงครับ
มาพูดถึงจุดที่กล้ามากๆ
มาพูดในส่วนที่ผมใช้คำว่าหนัง กล้ามากๆ กันเลยครับ ตรงนี้ถ้าคุณคิดว่าจะเจออะไรแบบเดิมๆในหนังสัตว์ประหลาด ทำใจเลยครับ ระดับผู้กำกับ อันโนะ ฮิเดอากิ ที่สร้างสรรค์อนิเมชั่นขั้นเทพสุดงงอย่าง Neon Genesis Evangelion มาคุมหนังย่อมไม่ธรรมดาแน่ๆครับ 10 นาทีแรกหลังจากไอน้ำเดือดปะทุขึ้นมา คุณจะได้พบกับฉากการโทรศัพท์ไปมาเป็นทอดๆและการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนห้องคุยไปมาหลายต่อหลายครั้ง จากห้องนายก ไปห้องรับรอง ไปห้องที่ปรึกษา แล้วก็ไปห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งๆที่ตัวละครแต่ละครั้งก็หน้าเดิมๆนั่นล่ะครับ แต่ด้วยลำดับทางการของข้าราชการญี่ปุ่นเลยต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และจบด้วยตัวละครนำชายซึ่งแสดงโดยดาราชั้นนำอย่าง ฮาเซกาว่า ฮิโรกิ ที่เป็นหนึ่งในทีมปรึกษารัฐมนตรีสบถพึมพำออกมาว่า “ช่างไร้สาระกันเสียจริง”
ถ้า หนังซอมบี้ ของบิดาผู้ให้กำเนิดอย่าง จอร์จ เอ โรเมโร คือสัญญะที่แสดงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมือง ก็อดซิลล่า ของ อันโนะ ฮิเดอากิ ก็ได้เปลี่ยนจากสัญญะแห่งภัยปรมาณูในปี 1954 มาสู่บททบสอบระบบการทำงานของรัฐบาลและวัฒนธรรมราชการของประเทศในปี 2016 นี้อย่างแน่นอนครับ หนังใช้ราวๆ 80% ของเรื่องในการประชุม การพูดคุย การโทรศัพท์ การสั่งการ ซึ่งเป็นการสร้างความอึดอัดแบบสุดๆให้ผู้ชมที่ชินกับฮีโร่สไตล์ฮอลลีวู้ดแบบถ้ารัฐไม่ลุย ตูก็จะจัดทีมลุยเอง แบบนั้นไปเลย
แต่ก็ถ้าคิดให้ลึกซึ้ง หนังได้จำลองสภาพจริงๆของญี่ปุ่นหรือแม้แต่บ้านเราเองที่คงไม่ต่างกันครับ ว่าหากเกิดภัยที่ไม่รู้จักและไม่เคยเตรียมการรับมือมาก่อนเช่น ก็อดซิลล่า นี้ รัฐบาลและราชการในปัจจุบันจะรับมือกันแบบไหน ซึ่งหนังยังมีประเด็นของภัยปรมาณูอยู่ แต่เปลี่ยนควมรู้สึกจากระเบิดที่ฮิโรชิม่าอันห่างไกลจากความรู้สึกของคนรุ่นนี้ มาสู่ภัยใกล้ตัวอย่างเหตุ แผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิในภูมิภาคโทโฮคุ กับ การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ เมื่อปี 2011 แทน
พอคิดแบบนี้มันหัวเราะในความตลกร้ายมากๆของหนังออกมาเลยครับ ซึ่งบทสนทนาหลายๆครั้งรวมถึงสถานการณ์ที่หนังพาเราไปก็มีความตลกแบบบ้าบอคอแตก (Absurd) ภายใต้ความจริงจังขึงขังทุกครั้งครับ เช่น การอยู่ในที่ประชุมด้วยกัน แต่พอได้รับข้อมูลด่วนมา ก็ไม่สามารถแจ้งที่ประชุมทันทีเพื่อความรวดเร็วได้ ต้องบอกต่อไปยังคนที่ระดับสูงกว่าให้พูดแทนในที่ประชุม ทั้งๆที่เมืองจะถล่มคนจะตายเป็นพันๆอยู่แล้วก็ตาม เป็นต้น
ฝ่ายพระเอกของเราก็ตั้งทีมพิเศษขึ้นมาเพื่อหาแผนรับมือเสนอคณะรัฐมนตรี ด้วยแนวคิดทีมสมัยใหม่ที่เหมือนจะบอกกลายๆว่าคือสิ่งที่ควรเป็นในระบบราชการยุคใหม่นี้ได้แล้วนั่นเอง ซึ่งหนังนำเสนอการปะทะระหว่างแนวคิดใหม่และเก่านี้ รวมถึงการแทรกแทรงของการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นปมในใจของญี่ปุ่นตั้งแต่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 มา และไม่สามารถดำเนินการทางทหารได้เต็มที่ด้วย ตรงนี้ทำให้หนังมีพลวัตรทางเนื้อหามากขึ้นและดูสนุกขึ้นครับ แต่ก็อยู่บนข้อแม้ว่าคุณเป็นคนที่ชอบอะไรแบบนี้นะ ซึ่งผมดันชอบมาก แต่ก็เข้าใจคนที่อาจเกลียดมันเช่นกันครับ มันคือหนังตลกร้ายที่เปิดทางให้มีการวิเคราะห์และถกเถียงถึงสาระต่างๆในหนังกับโลกความจริง โดยมีตัวก็อดซิลล่ามาเขย่าความเชื่อความมั่นใจต่อรัฐสมัยใหม่นี้เองครับ
สรุป
ก็ไม่รู้ต้องใช้ความกล้าและการโน้มน้าวใจค่ายหนังขนาดไหนที่จะทำอะไรแบบนี้ออกมาได้ ไม่แปลกใจครับที่หนังเข้าฉายไปหลายประเทศแล้วแต่กระแสกลับไม่เปรี้ยงมาก เพราะมันไม่ใช่หนังตีหัวเข้าบ้านสไตล์ฮอลลีวู้ดทั่วไปครับ ผมเชื่อมั่นเอามากๆว่าถ้าหนังเปิดตัวในเทศกาลหนังใหญ่ๆของโลกก่อนจะได้รับกระแสที่เปรี้ยงกว่านี้มากๆ ทั้งยังถ้าวางตัวถูกที่ถูกทางมันคือหนังที่วิจารณ์ความเป็นรัฐในปัจจุบันได้อย่างแสบสันมากที่สุดครับ โดยเฉพาะเมื่อดูจบแล้วคิดว่าถ้าเป็นบ้านเราบ้างล่ะจะเป็นไง แค่ขึ้นโจทย์มาก็หวั่นใจไม่อยากเห็นคำตอบเลยครับ
หนังเข้าฉาย 8 กันยายนนี้ครับ