เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 หลังจากหนัง Avatar ออกฉายมาได้ 5 ปีแล้ว และกลายเป็นหนังทำเงินสูงที่สุดในโลกในวันนั้น ก็มีเหตุให้ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล หลังจากถูก โรเจอร์ ดีน (Roger Dean) ศิลปินนักเขียนภาพประกอบชาวอังกฤษ ยื่นฟ้องต่อศาลกล่าวหาว่าผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน ลอกเลียนผลงานของเขาอย่างน้อย 14 ชิ้นไปใช้ในหนัง Avatar และเรียกร้องค่าเสียหายเป็นมูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
หลายคนน่าจะไม่รู้จักชื่อของ โรเจอร์ ดีน แต่สำหรับคอเพลงสากลในยุค 70s – 80s แม้จะไม่คุ้นชื่อ แต่ก็น่าจะคุ้นกับผลงานของเขากันมาบ้าง เพราะเขาเป็นคนออกแบบหน้าปกอัลบั้มให้ศิลปินดังหลายวง หลายอัลบั้ม โดยเฉพาะ ‘YES’ วงโปรเกรสซีฟร็อกชื่อกระฉ่อนโลกในวันนั้น และอีกหลายวงอย่างเช่น Uriah Heep, Asia และ Gentle Giant
เอาเป็นว่าต่อให้ โรเจอร์ ดีน ไม่ได้ฟ้องร้อง เจมส์ คาเมรอน และทีมผู้สร้างหนัง Avatar ก็ตาม บรรดาแฟนเพลงรวมไปถึงแฟน ๆ ผู้ชื่นชอบผลงานของ โรเจอร์ ดีน ที่ได้ดูหนัง Avatar ต่างก็รู้สึกคุ้นตากับภาพทิวทัศน์ บรรยากาศของอาณาจักรแพนดอรา ว่ามันช่างละม้ายกับผลงานของ โรเจอร์ ดีน เสียจริง และมั่นใจได้เลยว่า เจมส์ คาเมรอน จะต้องได้แรงบันดาลใจจากงานของดีนมาเนรมิตออกมาเป็นภาพของอาณาจักรแพนดอราเป็นแน่ ซึ่ง เจมส์ คาเมรอน เองก็ยอมรับตามตรงว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของ โรเจอร์ ดีน ในช่วงหนึ่งที่เขาให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Entertainment Weekly เมื่อปี 2010 ซึ่งผู้สัมภาษณ์ได้ยิงคำถามตรงกับคาเมรอนว่า เขาได้ไอเดียภูเขาลอยฟ้าในเมืองแพนดอรามาจากภาพปกอัลบั้มของ YES ใช่ไหม ? ซึ่งคาเมรอนก็ตอบว่าพร้อมเสียงหัวเราะว่า “ก็น่าจะใช่นะ ถ้าย้อนไปในวัยที่ผมยังปุ๊นเนื้ออยู่น่ะ”
แล้วในวันที่ 17 กันยายน 2014 ผู้พิพากษา เจสซี เอ็ม. เฟอร์แมน (Jesse M. Furman) ก็ได้ตัดสินยกฟ้องข้อกล่าวหาของ โรเจอร์ ดีน ด้วยเหตุผลว่าทั้งผลงานของ โรเจอร์ ดีน และ ภาพในหนัง Avatar นั้น ต่างก็มีองค์ประกอบหลักที่คล้ายคลึงกันก็คือเป็นภาพทิวทัศน์ ต้นไม้ ภูเขา ตามธรรมชาติ ซึ่งก็สาธารณสมบัติอยู่แล้ว ส่วนอีกหลาย ๆ ภาพของดีนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่างก็ได้รับการโต้แย้งจากทางฝ่าย คาเมรอน ถึงข้อแตกต่างกันระหว่างภาพของเขากับฉากในหนังได้อย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น ภูเขาฮัลเลลูยาในหนังนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเป็นภาพเสมือนจริง เป็นเกาะที่ลอยอยู่ในอากาศ มีรูปทรงที่แตกต่างกันไป เกาะขนาดใหญ่ก็จะมีพืชพรรณต่าง ๆ ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ส่วนภาพของ โรเจอร์ ดีน นั้นกลับมีรูปแบบเฉพาะตัวที่เด่นชัดกว่า มีความเป็นแฟนตาซีสูง ตัวเกาะนั้นมีขนาดเล็กกว่า มีรูปทรงคล้ายไข่ ดูเหมือนก้อนหินขนาดใหญ่มากกว่าจะดูเป็นภูเขา บางก้อนก็มีต้นไม้ขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนบางก้อนก็ไม่มีต้นไม้เลย หรือถ้ามีก็จะมีต้นเดียวขนาดใหญ๋เกือบเท่าตัวเกาะ”
ผู้พิพากษายังให้ความเห็นอีกว่า ภาพจากหนัง Avatar ที่ โรเจอร์ ดีน แคปภาพมาฟ้องร้องนั้น ไม่จัดว่าอยู่ในบริบทนี้ เพราะหนังในแต่ละฉากนั้นประกอบไปด้วยภาพนิ่งเรียงร้อยต่อกันนับพันภาพ แต่ดีนเลือกหยิบมาภาพเดียว แล้วเอามาปรับแต่งด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ทั้งครอป หมุน เพื่อให้ภาพจากหนังดูใกล้เคียงกับผลงานของดีนมากที่สุด
ส่วนกรณีที่ เจมส์ คาเมรอน เองก็เคยยอมรับมาแล้วว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากผลงานของ โรเจอร์ ดีน มาใช้ในหนัง Avatar ผู้พิพากษาก็ได้ชี้แจงในจุดนี้ว่า ไม่ว่าใครก็ตามก็ไม่ควรที่จะพิจารณาว่า “Avatar” ได้ลอกเลียนผลงานที่มีลิขสิทธิ์ของ โรเจอร์ ดีน เพราะกฏหมายได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า “ไม่ใช่ว่าทุกการคัดลอกผลงานจะหมายถึงการละเมิดลิขสิทธิ์”
ด้วยเหตุที่ Avatar เป็นหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลก ด้วยตัวเลข 2,9xx ล้านเหรียญ จึงเป็นธรรมดาที่คาเมรอนและทีมผู้สร้าง จะตกเป็นเป้าหมายของผู้หวังผลประโยชน์จากหนัง ด้วยการหามูลเหตุว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังแล้วดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องส่วนแบ่งรายได้ ที่อ้างว่าสมควรเป็นของตน นั่นจึงเป็นเหตุให้ เจมส์ คาเมรอน ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลถี่มาก ในช่วงหลังจาก Avatar ออกฉาย เพื่อต่อสู้กับคดีต่าง ๆ ที่ถูกฟ้องร้องดังนี้
ในปี 2010 เคลลี แวน (Kelly Van) ฟ้องร้องคาเมรอนว่าหนัง Avatar นั้นสร้างมาจากหนังสือของเขาที่ชื่อว่า ‘Sheila the Warrior: the Damned’ ที่เขียนไว้เมื่อปี 2003 ผู้พิพากษาพิจารณาแล้วก็ปฏิเสธไม่รับฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า “พล็อตเรื่องนั้นเป็นถือว่าเป็นนามธรรมจึงสามารถคล้ายคลึงกันได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่นับว่าได้รับการปกป้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์”
ในปี 2013 อีรีก ไรเดอร์ (Eric Ryder) ฟ้องร้อง เจมส์ คาเมรอน ว่าหนัง Avatar นั้นดึงเอาเนื้อหาบางส่วนมาจากนิยายเรื่อง K.R.Z. 2068 ของเขา นิยายของเขาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “มหากาพย์ 3 มิติแนวสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอนาคตที่ไปสร้างอาณานิคมดวงจันทร์อันไกลโพ้น และได้ไปทำลายธรรมชาติอันสวยงามบนดวงดาวนั้น”
ปีเดียวกัน เจอรัลด์ โมราวสกี (Gerald Morawski) ก็ฟ้องร้อง เจมส์ คาเมรอน ในข้อหา การผิดสัญญา ฉ้อฉล และการบิดเบือนความจริงโดยประมาทเลินเล่อ เพราะว่าเขาเคยนำนิยายเรื่อง ‘Guardians of Eden’มานำเสนอกับคาเมรอน และเขาลงนามในข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูลซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเขาจะรักษาเนื้อหาดั้งเดิมตามนิยายของไรเดอร์ไว้
ยังไม่หมด ปี 2012 เจมส์ คาเมรอน ชนะคดีที่ฟ้องร้องโดย อีมิล มาลัก (Emil Malak) ที่กล่าวหาว่าหนัง Avatar นั้นละเมิดลิขสิทธิ์บทภาพยนตร์ปี 1998 ที่เขียนโดย เทอร์รา อินคอกนิทา และ ไบรอันต์ มัวร์ มีการนำทั้งเนื้อหาในบทภาพยนตร์ และภาพประกอบต่าง ๆ ไปใช้ในหนัง โดยไม่ได้รับอนุญาต
น่าเหนื่อยนะครับ สร้างหนังยาวนานหลายปี แล้วต้องมาสู้รบปรบมือกับพวกแสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้อีก รอติดตามกันไปครับว่าหลังจาก Avatar : Way of Water เข้าฉายแล้ว เจมส์ คาเมรอน จะโดนฟ้องอีกกี่คดี