เชื่อว่าหลายคนคงจะได้เห็นข่าวดราม่าในวงการบันเทิง ‘Hollywood’ เรื่องของการดัดแปลงเปลี่ยนนั่นทำนี่ที่ต่างไปจากเดิม อย่างการเปลี่ยนสีผิวตัวละครเปลี่ยนเชื้อชาติตัวละครที่เคยมีออกไปอีกแบบ และล่าสุดที่ยังเป็นที่ถกเถียงมาจนถึงตอนนี้ นั่นคือการเปลี่ยนสีผิวตัวละคร เอเรียล (Ariel) นางเงือกจาก ‘The Little Mermaid’ ที่เปลี่ยนนักแสดงจากตัวละครผิวขาวตามต้นฉบับมาเป็นคนผิวดำ ที่สร้างเสียงตอบรับในแง่ลบให้กับแฟน ๆ การ์ตูนไปจนถึงคนที่รู้จักเรื่องนี้ เพราะมันคือการยัดเยียดสิ่งที่ไม่ควรเป็นไม่ควรทำลงไปในผลงาน ซึ่งหลายคนก็บอกว่า “ไม่ผิดที่นางเงือกจะผิวดำ แต่มันผิดตรงที่ตัวละครผิวดำคือเอเรียล” นั่นคือสิ่งที่แฟน ๆ ที่ไม่ได้ต่อต้านคนผิวดำออกความเห็น แต่ต่อต้านคนที่คิดเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่เดิม จนมีคนยกตัวอย่างว่าถ้ามีใครเปลี่ยน ‘Black Panther’ เป็นคนขาวคนก็จะโดนด่าเหมือนกัน และเมื่อเราไปหาข้อมูลในอดีตนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของ ‘Hollywood’ ที่ทำแบบนี้ แต่ในอดีต ‘Hollywood’ เคยทำยิ่งกว่าที่เราเห็นตอนนี้อีก เรามาดูกันดีกว่าว่าในอดีตทั้งไกลใกล้ว่า ‘Hollywood’ ที่เรารักเคยบิดเบือนเปลี่ยนแปลงตัวละครอะไรบ้างมาดูไปพร้อมกันเลย
Keanu Reeves ในบท Buddha จาก Little Buddha
เริ่มต้นเรื่องแรกต้องสาธุ 99 ก่อนเลย เพราะเริ่มมาเรื่องแรกของบทความก็เล่นของใหญ่แล้ว กับวงการ ‘Hollywood’ ที่คิดจะทำภาพยนตร์เกี่ยวกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ในเรื่อง ‘Little Buddha’ หรือในชื่อไทยอย่าง “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลกลืมไม่ได้” ที่ออกฉายในบ้านเราในปี 1993 กับเรื่องราวของพระสงฆ์ชาวทิเบตจากวัดในภูฏาน ที่เชื่อว่าเด็กฝรั่งที่ชื่อ เจสซี คอนราด (Jesse Conrad) คืออาจารย์ ลามะดอร์เจ (Lama Dorje) กลับชาติมาเกิด แถมตัวเด็กชายเจสซีก็หลงใหลในการปฏิบัติธรรมพระสงฆ์ แต่พ่อแม่ของเจสซีคัดค้านเรื่องนี้เหมือนกับที่ เจ้าชาย สิทธัตถะ (Siddhartha) พระพุทธเจ้าเคยเจอก่อนออกบวช ทางลามะจึงเล่าเรื่องราวของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้าว่าต้องเจออะไรบ้าง ที่เรื่องราวจะบอกเล่ากึ่งสารคดีที่มีบทบรรยายให้เราได้ดูตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงออกบวช ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตัวภาพยนตร์แต่สิ่งที่คนในยุคนั้นสนใจคือตัวของคนที่มารับบทเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ได้ คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) มารับบทนี้ และใช่คุณอ่านไม่ผิดซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าเจ้าชายสิทธัตถะเป็นคนอินเดีย แต่ทาง ‘Hollywood’ มั่นหน้ามั่นใจยืนยันจะเอาฝรั่งมาเล่น ผลที่ได้คือความรู้สึกแปลก ๆ ที่ดูขัดตาในภาพรวมของคนเอเชียที่เห็นเฮียคีอานู รีฟส์มาเล่นบทนี้ ซึ่งในอดีตก็เคยมีประเด็นเรื่องความไม่เหมาะสมนี้ตามสื่อต่าง ๆ ที่ถ้าเป็นยุคนี้คงจะมีดราม่าแรง ๆ แน่นอน
เอาคนผิวขาวมาเล่นเป็นชาว Mongol จาก The Conqueror
คราวนี้ย้อนอดีตไปในช่วงปี 1956 เป็นยุคที่ยังมีการเหยียดสีผิวชนชาติกันอยู่ ซึ่งไม่ใช่แค่คนผิวดำที่โดนแต่ชาวเอเชียอย่างเราที่โดนแซะว่าเป็นพวก “ลิงเหลือง” ก็ถูกกดขี่ไม่แพ้กัน แต่ทาง ‘Hollywood’ ก็อยากสร้างเรื่องราวตำนานของคนเอเชีย (คนจีน) อย่างประวัติของ เตมูจิน (Temujin) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “Genghis Khan” (รู้นะว่าตอนนี้ในหัวของคุณกำลังคิดถึงเพลงเจงกิสข่าน) ว่าแล้วก็ระดมนักแสดงตัวประกอบชาวจีนที่ค่าจ้างแสนถูกมาเป็นตัวประกอบ ส่วนเหล่าตัวเอกของเรื่อง (ตอนนี้สลัดเพลงเจงกิสข่านออกไปจากหัวไม่ได้แล้ว) อย่างท่านเตมูจินและคนอื่น ๆ ก็ใช้ฝรั่งแต่งเป็นคนจีนมารับบทนี้ โดยได้ จอห์น เวย์น (John Wayne) มารับบทเตมูจิน ซูซาน เฮย์เวิร์ด (Susan Hayward) รับบทเป็น บอร์เต (Bortai) ภรรยาคนแรกของท่านเตมูจิน ลองคิดดูว่าเอาฝรั่งตาสีฟ้าผิวขาว ๆ มาเล่นเป็นคนจีนมันจะแปลกขนาดไหน แถมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็โดนด่ายับแถมยังติดอันดับภาพยนตร์ที่แย่ที่สุดของปี 1950 ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังโดนเอามาด่าอยู่ ประมาณเดียวกับคำบ้านเราที่ว่าโดนด่ายันลูกบวชที่ตอนนี้ลูกเป็นเจ้าอาวาสแล้วก็ยังด่ามันมีจริง ๆ กับภาพยนตร์เรื่องนี้
เอาลูกครึ่งเยอรมันมารับบทคนจีน จาก The Good Earth
หรือถ้าจะให้เก่ากว่านี้ลึกกว่านี้ก็คงต้องย้อนไปในสมัยภาพยนตร์ขาวดำในปี 1937 กับภาพยนตร์ดราม่าชีวิตชาวนาของประเทศจีนที่ต้องเจอเรื่องยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นผืนดินอันแห้งแล้งความยากจนอดอยากและปัญหาครอบครัว ที่สามีไปมีเมียน้อยทั้งที่แต่ก่อนก็เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขอดมื้อกินสองมื้อกันมา พอร่ำรวยผู้ชายก็ไม่เมียน้อยเข้ากับคำที่ว่า “ดูผู้หญิงให้ดูตอนลำบาก ดูผู้ชายให้ดูตอนที่มันสบาย” แต่สุดท้ายความรักก็ชักนำให้ทั้งคู่กลับมาดูใจกันในตอนท้าย (คงไม่มีใครด่าว่าสปอยล์หรอกนะ) ตัวภาพยนตร์สร้างจากนิยายชื่อดังในตอนนั้น ที่ทุกอย่างจะไม่เป็นปัญหาอะไรเลยถ้าตัวเอกของเรื่องอย่าง วอง (Wang) นั่นแน่รู้นะว่ากำลังคิดถึงวองไหนอยู่ กับภรรยา โอ-ลาน (O-Lan) ที่ทั้งคู่ได้นักแสดงฝรั่งแท้ ๆ ที่ไม่มีเชื้อสายจีนเลยแม้แต่เศษเสี้ยวอย่าง พอล มุนี (Paul Muni) กับ ลูอีเซอ ไรเนอร์ (Luise Rainer) มารับบทเป็นคนจีน และขอย้ำว่าในเรื่องนั้นทั้งคู่รับบทเป็นคนจีนแท้ ๆ ไม่ใช่ฝรั่งที่ไปอยู่เมืองจีน ที่จากข้อมูลบอกว่าถ้าเอานักแสดงจีนคนจีนที่ไหนไม่รู้มาเล่น คนในยุคนั้นคงไม่ดูเลยต้องเอาฝรั่งมาแต่งเป็นคนจีน อ่านะโอเค
เอาคนจีนมารับบทคนญี่ปุ่น จาก Memoirs of a Geisha
คราวนี้นั่งเครื่องย้อนเวลากลับมาที่ปี 2005 (เอ็งเป็น ‘Doraemon’ รึไง) กันบ้างกับสิ่งที่ ‘Hollywood’ และฝรั่งต่างชาติอาจจะแยกไม่ออกจับไม่ได้ แต่คนเอเชียอย่างเราจับได้แถมไม่เนียนไปเรียนมาใหม่ด้วยซ้ำ กับภาพยนตร์เรื่อง ‘Memoirs Of A Geisha’ หรือในชื่อไทยอย่าง “นางโลม โลกจารึก” (อ่านชื่อภาษาไทยแล้วไปต่อไม่ถูกเลย) กับเรื่องราวของ จิโยะ (Chiyo) และ ซัทสึ (Satsu) สองพี่น้องที่ถูกพ่อขายที่ร้านน้ำชา ‘Gion’ (ใครที่ดูการ์ตูนดาบพิฆาตอสูรตอนย่านเริงรมย์นั่นเลยยุคเดียวกัน) เพื่อฝึกเป็น ‘Geisha’ สาวสวยที่ทั้งร้องรำทำเพลงและต้อนรับแขกอย่างดี ที่ไม่ใช่ใคร ๆ จะไปถึงตรงจุดสูงสุดแรงค์ SS ได้แต่สองพี่น้องก็ต้องพยายามเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น ซึ่งความพยายามนี้จะดูโอเคกว่านี้ถ้าในเรื่องใช้นักแสดงญี่ปุ่นจริง ๆ มาแสดง คือในปี 2005 ญี่ปุ่นมีนักแสดงหญิงมากมายให้เลือกใช้ แต่ ‘Hollywood’ เราบอกไม่เราจะใช้ชาวจีนมารับบทนี้ โดยได้ จาง จื่ออี๋ (Zhang Ziyi) มารับบท จิโยะ, กง ลี่ (Gong Li) มารับบท ซัทสึ และ มิเชล โหย่ว ( Michelle Yeoh) เป็น มาม่าซัง แค่เห็นชื่อนักแสดงคนเอเชียเราก็ร้องเฮ้ยออกมาดัง ๆ แล้ว แต่ ‘Hollywood’ คงคิดว่าฝรั่งแยกคนญี่ปุ่นกับคนจีนไม่ออกมั้ง แต่ในฐานะคนเอเชียมันไม่ได้รึเปล่า จากข้อมูลบอกว่าชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยพอใจเรื่องนี้มาก ๆ แถมยังบิดเบือนสิ่งที่ ‘Geisha’ จริง ๆ เป็น ใครที่อยากรู้เรื่องราวของ ‘Geisha’ ไปดูการ์ตูนดาบพิฆาตอสูรยังตรงกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อีก
ลูกครึ่งอเมริกันเชื้อสายอินเดียมาเป็นชาวอังกฤษ จาก The Social Network
ถ้าคุณคิดว่าชาวเอเชียโดนมาเยอะแล้วคราวนี้มาดูฝั่งชาวอินเดียกันบ้างที่ก็โดนมาไม่แพ้กัน กับเรื่องราวชีวประวัติของผู้สร้าง ‘Facebook’ ที่พี่ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้แต่เกาหัวและบ่นว่า “อีหยังวะเนี้ย” ออกมาดัง ๆ กับการบิดเบือนเรื่องราวเนื้อหาจริง ๆ ของพี่มาร์กเราจนมั่วไปหมด ซึ่งหลายคนในตอนนั้นก็คงคิดว่าพี่มาร์กเราโกหก เพราะอายที่ชีวิตตัวเองถูกสร้างเป็นหนังและแฉนิสัยไม่ดีตัวเอง ก่อนที่คนเขียนบทภาพยนตร์จะออกมาบอกว่าหลาย ๆ ส่วนในเรื่องคนเขียนบทก็มโนขึ้นมาเอง (อ้าว) และสิ่งที่มโนหนักสุดคือตัวละครสำคัญในเรื่องอย่าง ดิฟย่า นาเรนดร้า (Divya Narendra) หนึ่งในตัวละครสำคัญที่ทำให้เกิด ‘Facebook’ ขึ้นมา ก่อนจะโดนพี่มาร์กเราใช้มุกเพื่อนรักกูรักมึงวะแต่ขอถีบเบา ๆ ออกจากกองมรดก จนกลายเป็นการฟ้องร้องมากมายในเรื่อง ซึ่งถ้าใครอยากรู้ก็ไปหาเรื่อง ‘The Social Network’ มาดู แต่สิ่งที่ทำเอาคนดูที่รู้รวมถึงเจ้าตัวดิฟย่างง นั่นคือการเปลี่ยนเชื้อชาติของเขาจากลูกครึ่งชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย (หน้าพี่เขาอินเดียเลย) มาเป็นคนอังกฤษจ๋า หน้าตาห่างไกลตัวจริงทั้งเชื้อชาตินิสัยสีผิวอย่างกับตัวตนอีกคนในโลกคู่ขนานอะไรแบบนั้นเลย สั้นสามคำ “ทำไปได้”
ชาวสวีเดนรับบทนักสืบชาวจีน จาก Charlie Chan Carries On
คราวนี้ขอย้อนกลับไปในอดีตอีกครั้งไม่ใกล้ไม่ไกลแค่ปี 1931 เท่านั้นเอง (92 ปี) กับการเปลี่ยนนักแสดงที่ควรเป็นคนจีนมาเป็นฝรั่งแต่งเป็นคนจีนอีกครั้ง ในภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบคนร้ายคือนายนั่นละ (คนตัวดำตกใจ) อย่าง ‘Charlie Chan Carries On’ กับเรื่องราวของยอดนักสืบชาวจีนนามว่า ชาร์ลี ชาน (Charlie Chan) ที่พยายามไขคดีฆาตกรรมเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่ถูกพบเป็นศพในห้องพักโรงแรมในกรุงลอนดอน ซึ่งตัวภาพยนตร์อ้างอิงเรื่องราวฉากเนื้อหามาจากนิยายในชื่อเดียวกัน ซึ่งอย่างที่เราได้บอกไปในหัวข้อก่อนหน้านี้ (อันไหนไม่รู้ไปย้อนดูเอา) ว่าที่ทาง ‘Hollywood’ ไม่เอาคนจีนจริง ๆ มาแสดงเพราะเดี๋ยวคนจะไม่ดู เลยต้องเอาฝรั่งมาแต่งเป็นคนจีนที่เรียกว่าเหมือนจนแยกไม่ออก ระดับที่ว่าให้นักแสดงคนนี้ไปยืนร่วมกับเหล่าทัวร์จีนศูนย์เหรียญที่มาประเทศไทย ก็ไม่มีใครแยกพี่แกออกเลยว่านั่นคือฝรั่งปลอมเป็นคนจีน (ประชดแหละดูออก) โดยได้ วอร์เนอร์ โอแลนด์ (Warner Oland) มารับบทนักสืบชาวจีนชาร์ลี ชาน (จะเขียนผิดเป็น แจ็กกี ชาน หลายรอบและ) ที่เป็นอีกหนึ่งครั้งในหลาย ๆ หนที่ ‘Hollywood’ เหยียดชาวเอเชียแต่ก็จะสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับชาวเอเชียแต่เอาฝรั่งมารับบทคนเอเชีย ย้อนแย้งไม่ต่างกับยุคนี้เลยเนอะ
เปลี่ยนเพศเชื้อชาติเพราะกลัวมีปัญหาในการฉาย Doctor Strange
ในบรรดาเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมาในบทความนี้ คงจะมีแค่เรื่องหมอแปลก ‘Doctor Strange’ เท่านั้น (มั้ง) ที่มีการเปลี่ยนเพศเชื้อชาติเพศตัวละครที่ทำแล้วไม่โดนด่าหรือโดนด่าน้อยที่สุด แถมยังได้รับคำชมว่าเปลี่ยนแล้วโอเคสำหรับคนที่มารู้ทีหลัง แต่สำหรับคนที่เคยอ่านหรือรู้จักเรื่องราวของหมอแปลกมาก่อน จะทราบดีว่าตัวละคร ‘Ancient One’ อาจารย์หมอแปลกนั้นความจริงแล้วเขาเป็นชายแก่ชาวทิเบต ก่อนจะถูกเปลี่ยนเพศและเชื้อชาติเป็นนักแสดงสาวมากฝีมืออย่าง ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) มารับบทนี้ ส่วนสาเหตุที่มีการเปลี่ยนเพศเชื้อชาติตัวละครนี้ ก็เพราะทาง ‘Marvel Studios’ กลัวว่าเรื่องนี้จะฉายในประเทศจีนไม่ได้ เพราะพี่จีนเราคือตลาดใหญ่ที่ถ้าไม่ได้ฉายก็คงเสียรายได้ไปเยอะพอควร ซึ่งสำหรับคนที่ยังไม่ทราบประเทศจีนนั้นมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการรวมทิเบตให้เป็นประเทศจีน ซึ่งถ้า ‘Marvel Studios’ ยืนยันจะใช้ตัวละครนี้ประเทศจีนอาจจะงอนแล้วห้ามหมอแปลกไปฉายที่นั่น ทาง ‘Marvel Studios’ เลยต้องยอมอ่อนข้อให้ ที่พอเปลี่ยนมาก็โอเคสำหรับคนดูที่ไม่รู้ แต่สำหรับแฟนการ์ตูนบางส่วนก็ไม่ชอบอีกส่วนก็โอเคก็แล้วแต่มุมมอง แต่นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ ‘Hollywood’ ทำกับคนดู
เปลี่ยนสีผิวตัวละครจากคนดำเป็นคนขาว จาก Harry Potter
ปิดท้ายกับตัวละครผิวดำที่ถ้าไม่มีเดี๋ยวบทความนี้จะขาดความสมบูรณ์ กับการแอบเปลี่ยนตัวละครจากคนดำเป็นคนขาว แบบที่คนดูอย่างเราไม่รู้ตัวหรือมีบางคนรู้แต่มันไม่เป็นข่าวในบ้านเราเท่านั้น กับการเปลี่ยนนักแสดงในเรื่องพ่อมดน้อยที่นายมีไอ้นั่นไหม (แผลเป็นรูปสายฟ้า) ‘Harry Potter’ กับตัวละคร ลาเวนเดอร์ บราวน์ (Lavender Brown) สาวสวยที่เป็นแฟนกับนาย รอน วีสลีย์ (Ron Weasley) ที่ในภาคแรก ๆ นั้นลาเวนเดอร์ถูกวางบทให้เป็นเด็กผู้หญิงผิวดำที่ชื่อ แคธลีน คอลลีย์ (Kathleen Cauley) ที่รับบทนี้ใน 2 ภาคแรกจนถึงภาคที่ 3 ‘Harry Potter and the Chamber of Secrets’ ก็มีการเปลี่ยนตัวละครมาเป็นนักแสดงเด็กผู้หญิงผิวดำอีกคนที่ชื่อ เจนนิเฟอร์ สมิธ (Jennifer Smith) ที่ก็ไม่แปลกอะไร จนมาถึงภาคที่ 6 ในชื่อ ‘Harry Potter and the Half-Blood Prince’ ที่คราวนี้ตัวละครลาเวนเดอร์ บราวน์จะมีบทมากขึ้น ทางทีมผู้สร้างภาพยนตร์เลยเปลี่ยนนักแสดงจากคนผิวดำมาเป็นคนผิวขาวอย่าง เจสซี่ เคฟ (Jessie Cave) มาแทน ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ไม่มีเหตุผลยืนยันที่แน่ชัดว่าทำไมถึงเปลี่ยนสีผิวตัวละครแบบนั้น ไม่แน่ ลาเวนเดอร์ บราวน์ อาจใช้คาถาเปลี่ยนสีผิวก็ได้นะ เพราะในโลกพ่อมดแม่มดลูกมดปู่มดย่ามดอะไรก็เกิดขึ้นได้ (ประชด)
ก็จบกันไปแล้วกับการเรื่องราวการเปลี่ยนตัวละครเชื้อชาติสีผิวของตัวละครต่าง ๆ ใน ‘Hollywood’ ที่เรื่องราวแบบนี้มันมีมาตั้งแต่อดีตแล้ว แค่ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีระบบสื่อสารที่ทันสมัยเท่าตอนนี้ เลยไม่ค่อยมีดราม่าแบบในตอนนี้ (ก็มีนั่นละแต่มีน้อย) และสิ่งที่บทความนี้เอามานำเสนอก็เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น เพราะจริง ๆ ยังมีเรื่องราวแบบนี้อีกเยอะถึงเยอะมาก ๆ เอาไว้ถ้ามีโอกาสหรือสนใจเราจะหยิบมานำเสนออีกครั้ง และถ้าใครสนใจบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์วงการบันเทิงที่บันเทิงจริง ๆ (แต่ละเรื่องอ่านไปบันเทิงไป) ก็ติดตามที่แบไต๋ได้เลย เพราะที่นี่มีครบจบทุกความบันเทิงเพื่อคุณ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส