งานเขียนของ สตีเฟน คิง (Stephen King) ปรมาจารย์นักเขียนเรื่องราวสยองขวัญตลอดกาล ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 49 เรื่อง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะประสบความสำเร็จ เพราะการดัดแปลงเป็นหนังนั้นต้องผ่านองค์ประกอบ และทีมงานมากมาย ทั้งผู้กำกับ ผู้เขียนบท และนักแสดง ซึ่งหลาย ๆ เรื่องก็ล้มเหลว กลายเป็นหนังเกรดบีก็มาก แต่สำหรับ The Mist นับเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่อง ที่ดัดแปลงจากนิยายของคิงแล้วได้คุณภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้ชม และนักวิจารณ์ ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือเขาผู้นี้ครับ แฟรงค์ ดาราบอนต์ (Frank Darabont) นักเขียนและผู้กำกับ ที่ถ่ายทอดตัวหนังสือของคิงมาเป็นภาพด้วยความเคารพ และยกระดับในบางจุดได้อย่างน่าชื่นชม

ปกนิยาย The Mist

ต้องบอกว่า แฟรงค์ ดาราบอนต์ เป็นผู้กำกับและมือเขียนบทที่ สตีเฟน คิง ไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะเคยผ่านงานกำกับหนังจากนินายของคิงมาแล้ว ที่เรารู้จักกันดีก็คือ The Shawshank Redemption หนังเรื่องแรกที่ดาราบอนต์ดัดแปลงมาจากนิยายของคิง และเป็นข้อยืนยันชัดเจนว่าเขาเข้าใจและลงลึกได้ถึงใจความของคิงอย่างถ่องแท้ และเรื่องที่ 2 ก็คือ Green Mile (1999) หนังที่ทำให้ผู้ชมเสียน้ำตามานักต่อนัก และเรื่องที่ 3 ก็คือ The Mist นี่ละ ที่ออกมาในปี 2007 ดาราบอนต์เล่าเรื่องราวได้ระทึกแบบไม่ให้ได้หยุดพัก กับสถานการณ์ที่ลึกลับและคลุมเครือ เมื่อผู้คนกลุ่มหนึ่งในเมืองเล็ก ๆ ต้องขังตัวเองในซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อพยายามเอาชีวิตรอดจากสัตว์ประหลาดลึกลับที่แฝงตัวมาในม่านหมอก

วันนี้ The Mist ก็มีอายุเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังถูกกล่าวขวัญในฐานะหนังระทึกขวัญที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งและมีตอนจบที่หักมุมและช็อกผู้ชมอย่างที่สุด กลายเป็นหนังในดวงใจของหลาย ๆ คน ที่น่าจะดูซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่รอบ ในวาระที่ The Mist ได้ฤกษ์มาสตรีมมิงทาง Netflix ผู้เขียนขอหยิบเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของหนังมาเล่าสู่กันฟังครับ

1.เลือกทำ Shawshank ก่อน The Mist

แฟรงค์ ดาราบอนต์ เข้าสู่วงการฮอลลีวูดในฐานะนักเขียนบทภาพยนตร์ ในช่วงแรกนั้นเขามีคู่หูคือ ชัก รัสเซล (Chuck Russell) เพื่อนที่ร่วมเขียนบทกับเขา งานแรกคือ ‘A Nightmare on Elm Street 3: Dream Warriors’ ปี 1987 และตามมาด้วย ‘The Blob’ ปี 1988 ซึ่งรัสเซลรับหน้าที่ผู้กำกับทั้งสองเรื่อง จากนั้น ดาราบอนต์ก็มีงานเขียนต่อเนื่องคือ ‘The Fly II’ บางตอนของ ‘Tales from the Crypt’ และ ‘Young Indiana Jones Chronicles’ และ ‘Mary Shelley’s Frankenstein’ จะเห็นได้ว่างานเขียนส่วนใหญ่ของดาราบอนต์ จะเป็นแนวสยองขวัญ ซึ่งเป็นแนวโปรดของเขา จึงไม่แปลกที่ดาราบอนต์จะชื่นชอบและยกย่องงานเขียนของ สตีเฟน คิง

หลังผ่านงานเขียนบทไปสักระยะ ดาราบอนต์เองก็เริ่มสนใจที่จะลองกำกับหนังเองดูบ้าง ตัวเลือกของเขาก็คือ ‘The Shawshank Redemption’ และ ‘The Mist’ ซึ่งเป็นนิยายของ สตึเฟน คิง ทั้งสองเรื่อง ซึ่งดาราบอนต์ได้อธิบายเหตุผลที่เขาเลือกทำ The Shawshank Redemption ก่อน ว่า

“ในคืนนั้น ผมก็ตัดสินใจเลือก ‘Shawshank Redemption’ เป็นโปรเจกต์ที่ผมประคบประหงมมาตลอด 5 ปีแล้ว ซึ่งในที่สุดผมก็ลงมือเขียนบทภาพยนตร์ขึ้นมา แล้วก็ลงมือกำกับมัน”
เมื่อดาราบอนต์ได้ประเดิมผลงานในฐานะผู้กำกับ นับแต่นั้นชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะผู้กำกับหนัง

หลังจากเสร็จสิ้น ‘The Shawshank Redemption’ ดาราบอนต์ก็ต่อด้วย ‘The Green Mile’ and ‘The Majestic’กลับกลายเป็นว่า ผู้ชมเริ่มมองว่าดาราบอนต์เป็นผู้กำกับหนังฟีลกู๊ดไปซะแล้ว ทำให้ดาราบอนต์เริ่มกลับมาฉุกคิด ว่าถ้าอย่างนั้นเขาต้องลองเปลี่ยนแนวมากำกับอะไรที่มันอาบเลือด และหดหู่ดูบ้าง เขาจึงเลือก ‘The Mist’

2.ดาราบอนต์เปลี่ยนฉากเปิดเรื่อง

The Mist ในเวอร์ชันที่เราได้ดูกันไปนั้น เปิดเรื่องด้วย เดวิด เดรย์ทัน ศิลปินนักวาดภาพ รับบทโดย โธมัส เจน (Thomas Jane) กำลังเขียนผลงานล่าสุดอยู่ ที่ดูคลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะเป็นภาพประกอบจากหนังสือ ‘The Dark Tower’ ของ สตีเฟน คิง นี่ล่ะ แต่พายุที่กำลังโหมกระหน่ำก็ดึงความสนใจของเดรย์ทันไป ขณะที่เขา ภรรยา และลูกกำลังย้ายไปพักในห้องใต้ดิน พายุก็ทำต้นไม้ใหญ่หักโค่นพุ่งเข้ามาในบ้านของเขา

วันรุ่งขึ้น ขณะที่ครอบครัวเดรย์ทันกำลังจับจ่ายข้าวของอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต พลันม่านหมอกลึกลับก็ก่อตัวขึ้นโอบล้อมซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วขังทุกคนไว้ข้างใน ฉากเปิดตัวนี้ก็ทำหน้าที่ปูอารมณ์ให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่า มีบางสิ่งบางอย่างลึกลับน่ากลัวกำลังจะเกิดขึ้น และทำให้ผู้ชมใจจดใจจ่ออยู่กับหนังได้สำเร็จ

แต่ แฟรงค์ ดาราบอนต์ ก็เผยในภายหลังว่า นี่ไม่ใช่ฉากเปิดดั้งเดิมที่เขาตั้งใจทำไว้แต่แรก ที่จริงแล้วมีฉากเปิดเวอร์ชันก่อนหน้านี้ ฉากเปิดเดิมนั้นจะเผยที่มาที่ไปของหมอกลึกลับนี้ว่า เกิดจากอุบัติเหตุในห้องแล็บของทหาร แล้วหมอกก็หลุดรั่วออกมาจากห้องแล็บ ดาราบอนต์บอกว่าเดิมทีที่เขาเขียนฉากนี้ออกมา เพราะคิดว่าน่าจะเป็นการดีถ้าได้อธิบายให้ผู้ชมได้รับรู้ว่าหมอกลึกลับนี้มาจากไหน แต่ในวันหนึ่งที่เขาทานมื้อเย็นกับ แอนเดอร์ บรอย์เกอร์ (Andre Braugher) นักแสดงผิวดำที่รับบทเป็น เบรนต์ นอร์ตัน ซึ่งบรอยเกอร์ผู้นี้ล่ะ ที่ให้ข้อคิดกับดาราบอนต์ว่า “คุณคิดว่ามันจำเป็นจริง ๆ เหรอที่เราจะต้องมีฉากในหนังที่อธิบายที่มาของหมอก ?” คำนี้ล่ะ ทำเอาดาราบอนต์ต้องกลับไปคิดทบทวนใหม่ แล้วในที่สุดเขาก็ตัดฉากนี้ออกไป จุดกำเนิดของหมอกก็เลยไม่มีการเปิดเผย ปล่อยให้มันเป็นปริศนาลึกลับต่อไป

3.เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นที่รัฐเมน แต่ไปถ่ายทำกันในลุยเซียนา


แม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ๋ของเรื่องจะเกิดขึ้นในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็มีฉากต้นเรื่อง ที่ถ่ายให้เห็นภาพมุมกว้างบรรยากาศรายรอบบ้านของครอบครัวเดรย์ทัน ในวันรุ่งขึ้นหลังจากผ่านคืนที่ถูกพายุโหมกระหน่ำอย่างหนัก รอบบ้านเขาเต็มไปด้วยขยะกระจัดกระจายและซากปรักหักพัง ซึ่งฉากนี้ทีมงานไปถ่ายทำกันที่เมืองชรีฟพอร์ต รัฐลุยเซียนา แล้วก็พยายามเซตสภาพแวดล้อมให้ดูเหมือนเมืองนิวอิงแลนด์ รัฐเมน ตามที่นิยายต้นฉบับบรรยายไว้ มีการใช้ CGI เข้ามาช่วยสร้างภาพภูเขาในฉากหลัง ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาน่าพอใจ ดูเหมือนรัฐเมนจริง ๆ ขนาดว่า สตีเฟน คิง เองยังหลงเชื่อ

ถ้าใครเป็นแฟนนิยายของ สตีเฟน คิง จะรู้กันดีว่า คิงนั้นเกิดและเติบโตในเมน นิยายของเขาส่วนใหญ่ก็จะเขียนให้เหตุการณ์เกิดขึ้นในเมน The Mist ก็เช่นเดียวกัน และดาราบอนต์เองก็เคารพในจุดนี้ ถึงต้องพยายามดัดแปลงพื้นที่ทางตอนใต้ของอเมริกาให้ดูเหมือนรัฐที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ดาราบอนต์เล่าว่า
“ตอนที่คิงได้ดูฉากนี้ เขาเอนมาหาผมแล้วกระซิบถามว่า ‘ฉากนี้คุณไปถ่ายกันในเมนจริง ๆ เหรอ? “

4.ดาราบอนต์เปลี่ยนสไตล์การถ่ายทำ

สำหรับใครที่เป็นแฟนของ แฟรงค์ ดาราบอนต์ ติดตามผลงานของเขามาตั้งแต่ The Shawshank Redemption, The Green Mile มาจนถึง The Majestic ก็พอจะเห็นได้ว่า ดาราบอนต์นั้นมีสไตล์ในการกำกับที่ค่อนข้างเด่นชัด ทุกการเคลื่อนไหวกล้องของเขาจะมีเหตุผลและความตั้งใจบางอย่างอยู่เสมอ บอกอะไรกับคนดูเกี่ยวกับตัวละครในฉากนั้น ๆ แต่สำหรับ The Mist นั้น จะมีสไตล์การเล่าเรื่องที่ต่างออกไป เพราะเหตุการณ์แทบทั้งเรื่องอยู่ในพื้นที่จำกัด และมีความวุ่นวายเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา พอมีความโกลาหลเกิดขึ้นตรงไหน กล้องก็จะพยายามจับเหตุการณ์นั้น ๆ

การเปลี่ยนสไตล์การทำงานของดาราบอนต์นั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะทุนสร้างและระยะเวลาในการทำงานที่จำกัด และอีกสาเหตุหนึ่งก็มาจากตัวดาราบอนต์เองที่ต้องการทดลองการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ ดูบ้าง ดาราบอนต์บอกว่าเขาเองรู้สึกตื่นเต้นกับการเล่าเรื่องด้วยวิธีการแปลกใหม่
“ผมว่ามันเป็นเรื่องดีออกที่จะได้ทดลองทำอะไรแปลกใหม่ดูบ้าง ลองเปลี่ยนจากรูปแบบเดิม ๆ ที่คุณคุ้นเคยและลองทำอะไรใหม่ ๆ เหมือนกับลองเปลี่ยนทั้งชุดที่คุณเคยสวมอยู่เลย”

เพื่อที่จะลองเปลี่ยนรูปแบบการทำงานนี้ ดาราบอนต์จะต้องลดสิ่งที่เขาเรียกว่า “บ้าการควบคุม” ลงบ้าง แล้วเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ในช่วงเวลานั้น เราก็เลยได้เห็นภาพที่กล้องเคลื่อนไปรอบ ๆ ร้าน ซูมไปที่การกระทำของตัวละคร แล้วก็แพนกล้องไปจับภาพจุดอื่นต่อ กระบวนการแบบนี้ทำให้งานภาพออกมาดูสมจริงมากขึ้น ดาราบอนต์บอกว่าสไตล์งานแบบนี้ดูเหมือนสารคดี

5.โธมัส เจน เป็นตัวเลือกแรกของดาราบอนต์

โธมัส เจน นี่เป็นนักแสดงที่เปรียบเหมือนต้องคำสาป มีโอกาสแจ้งเกิดหลายครั้ง ได้รับบทนำในหนังดังหลายเรื่อง เคยสวมบทบาท แฟรงค์ คาสเทิล ใน The Punisher (2004) หนังซูเปอร์ฮีโรมาแล้ว มีหนังดัง ๆ ในเครดิตหลายเรื่องอย่าง Boogie Nights (1997), Deep Blue Sea (1999) ตัวหนังน่ะดัง เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม แต่ตัวเจนเองกลับไปไม่ถึงขั้นพระเอกแถวหน้าของฮอลลีวูดเสียที งานหนังที่ดัดแปลงจากนิยายของ สตีเฟน คิง เขาก็เคยผ่านมาแล้ว The Mist นี่ก็ไม่ใช่หนัง สตีเฟน คิง เรื่องแรกที่เขาแสดง

ในปี 2003 โธมัส เจน ได้รับบทนำใน Dreamcatcher หนังที่มีสไตล์การเล่าเรื่องคล้าย ๆ กับ “It” นิยายเรื่องดังของคิง ที่เล่าเรื่องราวของแก๊งเพื่อนสนิทที่คบหากันมาตั้งแต่เด็ก จนในวัยผู้ใหญ่ที่ต้องมาเผชิญเรื่องราวลึกลับเหนือธรรมชาติ แล้วจำต้องผ่านพ้นมันไปด้วยกัน หนังมีทีมนักแสดงชุดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วย มอร์แกน ฟรีแมน, ทอม ไซส์มอร์, เจสัน ลี และ แดเมียน ลูอิส กำกับการแสดงโดย ลอว์เรนซ์ คาสดาน และเขียนบทโดย วิลเลียม โกลด์แมน นักเขียนบทมือวางอันดับต้น ๆ ของฮอลลีวูด แม้หนังจะมีองค์ประกอบน่าสนใจครบถ้วน แต่หนังก็ไม่ประสบความสำเร็จ

โธมัส เจน พูดถึงประสบการณ์ตอนถ่ายทำ Dreamcatcher ว่า โดยส่วนตัวเขาแล้วไม่เข้าใจเนื้อหาของหนังอย่างถ่องแท้นัก แล้วเขาก็ไม่ได้อยากจะรับงานเรื่องนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แม้ว่าโดยส่วนตัวเขาจะชื่นชอบนิยายของ สตีเฟน คิง อยู่แล้วก็ตาม แต่ตอนที่ แฟรงค์ ดาราบอนต์ มาชักชวนให้เขารับบทนำใน The Mist เขาก็ยินดีตอบรับ ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับดาราบอนต์อย่างมาก เพราะดาราบอนต์นั้นชื่นชมในตัวเจนมาอย่างยาวนาน
“ผมรู้จักเขาผ่านสื่อต่าง ๆ มาแล้วก่อนหน้านี้”
แต่ดาราบอนต์ก็ยังไม่มีโอกาสได้ร่วมงานกับเจนเสียที จนเมื่อเขาขียนบท The Mist เสร็จสิ้น เขาก็ส่งให้เจนอ่านเป็นคนแรก แล้วเมื่อเจนตอบรับนั่นก็เหมือนการที่ความฝันเขาได้เป็นจริง
“ผมดีใจมากตอนที่เขาบอกว่าอยากทำหนังเรื่องนี้ด้วยกัน การที่จะได้ทำงานกับเขานั้นมันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเฝ้ารอ”

6.จุดเริ่มต้นของ เมลิสซา แม็กไบรด์ ก่อนไปแจ้งเกิดกับบท “แครอล” ใน The Walking Dead

เป็นเรื่องปกติของผู้กำกับที่มักจะเลือกทำงานกับนักแสดงที่คุ้นเคย อย่างใน The Mist นั้น ดาราบอนต์ก็ใช้บริการนักแสดงที่เคยร่วมงานกันมาแล้วทั้งนั้น อย่างเช่น วิลเลียม แซดเลอร์ และ ลอรา โฮลเดน ที่เคยร่วมงานกันมาแล้วใน The Majestic หรืออย่าง เจฟฟรีย์ เดอมันน์ ก็เคยร่วมงานกันมาแล้วใน Shawshank และ The Greenmile แต่กระนั้นก็ยังต้องใช้นักแสดงเข้าฉากอีกมาก โดยเฉพาะฉากในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นฉากรวมผู้คนมากหน้าหลายตา ทางทีมแคสติงจึงตกลงว่าจะขอใช้บริการของนักแสดงท้องถิ่น ซี่งค่าตัวถูกและมีที่พักอยู่ละแวกนั้นอยู่แล้ว

เมลิซา แม็กไบรด์ ในบท แครอล ใน The Walking Dead

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เมลิสซา แม็กไบรด์ (Melissa McBride) แม้เธอจะเป็นนักแสดงที่มีผลงานมาบ้างประปราย แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งเมื่อเธอต้องมารับบทชาวบ้านหญิงที่เป็นแม่ของลูกน้อยแล้วต้องมาร่วมเผชิญชะตากรรมกับคนหมู่มากในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ทำให้ทีมงานมีความกังวลกันอยู่ไม่น้อยเพราะไม่มีใครเคยรู้จักและเคยเห็นผลงานของเธอมาก่อน แต่แล้วแม็กไบรด์ก็โชว์ศักยภาพทางการแสดงของเธอให้เป็นที่ประจักษ์ในฉากสั้น ๆ ที่สะเทือนอารมณ์ ต่อหน้าเหล่านักแสดงและทีมงานนับ 100 ชีวิต ทำเอาทุกคนอึ้งไปตาม ๆ กัน เมื่อฉากของเธอจบลงเสียงตบมือก็ดังกึกก้อง

จนมาถึงปี 2010 ที่ แฟรงค์ ดาราบอนต์ ได้มารับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหาร The Walking Dead เขาจึงไม่รอช้าที่จะเรียกตัว เมลิสซา แม็กไบรด์ ให้มารับบท แครอล เพเลเทียร์ ที่เริ่มต้นจากบทเล็ก ๆ แล้วก็มีพัฒนาการจนเป็นหนึ่งในตัวละครที่คนดูชื่นชอบ จนขยับขึ้นมาเป็นตัวละครหลักของซีรีส์

7.ไม่ใช้ CGI แต่ใช้เทคนิคแบบโบราณ

แม้ว่า The Mist จะเป็นที่ชื่นชมในเรื่องอารมณ์ระทึกขวัญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าหนังก็มีจุดด้อยอยู่บ้าง ที่ชัด ๆ เลยก็คืองาน CGI โดยเฉพาะฉากในห้องโหลดของ เมื่อพวกเขาเปิดประตูม้วนแล้วงวงของเจ้าสัตว์ประหลาดก็ลอดเข้ามาโจมตีผู้คนในห้อง ฉากนี้ค่อนข้างยาวนานหลายนาที แล้วก็โชว์ให้เห็นงวงหลายเส้นกับแบบจะ ๆ ก็ยิ่งโชว์ให้เห็นว่าการสร้างภาพงวงเหล่านี้หยาบจนดูเหมือนการ์ตูนมากกว่าจะดูเป็นงวงของสิ่งมีชีวิตจริง ๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับฉากอื่น ๆ ที่ทีมงานไม่ใช้ CGI เข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่ใช้เทคนิคแบบโบราณกัน กลับออกมาดูสมจริงกว่าอีก ยกตัวอย่างชัด ๆ อย่างฉากซูเปอร์มาร์เก็ตที่ดูสมจริงนี่ แท้จริงแล้วก็สร้างกันขึ้นมาทั้งหมดในโรงถ่าย แล้วภาพที่ทุกคนเห็นภายนอกกระจกร้านนั้น แท้จริงแล้วเป็นภาพพิมพ์ใหญ่ขนาด 6 เมตร x 18 เมตร นำมาขึงไว้รอบซูเปอร์มาร์เก็ต

หรืออย่างตอนแผ่นดินไหว นั่นก็ทำเอฟเฟกต์กันเองระหว่างถ่ายทำ ถ้าเป็นยุคนี้ก็คงเอาภาพไปใส่เอฟเฟกต์ให้ดูสั่นไหว หรือสร้างซูเปอร์มาร์เก็ตจำลองขึ้นมาบนฐานไฮโดรลิก แต่สำหรับ The Mist นั้น ใช้ทีมงานคอยแอบอยู่ตามชั้นวางของแล้วก็ช่วยกันเขย่าชั้น เขย่ากล้องถ่ายภาพยนตร์ บางคนก็ไปดึงไฟเพดานให้ร่วงลงมา เอาลำโพงมาเปิดเสียงตอนเกิดแผ่นดินไหวจริง ๆ มาประกอบ ซึ่งเรื่องเสียงนี่ทีมงานไม่ได้บอกเหล่านักแสดงไว้ล่วงหน้า ที่เห็นอากัปกิริยาในหนังนั้น คือพวกเขาตรงใจเสียงจริง ๆ

8.สดุดีต่อ ดรูว์ สทรูซาน

ดรูว์ สทรูซาน (Drew Struzan) คือศิลปินนักเขียนโปสเตอร์หนังที่ฮอลลีวูดให้ความยอมรับนับถือ ภาพยนตร์เรื่องดัง ๆ ที่ผ่านตาเรามาล้วนเป็นผลงานของสทรูซานเสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น ‘Big Trouble in Little China’, ‘Blade Runner’ และ ‘Star Wars’ เขาเขียนโปสเตอร์หนังมาแล้วอย่างน้อย 150 เรื่อง และแฟรงค์ ดาราบอนต์ เองก็ชื่นชอบในผลงานของสทรูซานเป็นการส่วนตัว โปสเตอร์หนัง ‘The Shawshank Redemption’ และ ‘The Green Mile’ ก็เป็นผลงานเขียนของสทรูซานด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน ดรูว์ สทรูซาน อายุ 76 ปีแล้ว

แฟรงค์ ดาราบอนต์ กล่าวชื่นชมในตัว ดรูว์ สทรูซาน ไว้ว่า “เขาคือ 1 ใน 3 ของนักเขียนโปสเตอร์หนังผู้ยิ่งใหญ่” (อีกสองคนคือ บ็อบ พีค และ ริชาร์ด แอมเซล) และการที่ดาราบอนต์เขียนเรื่องให้ เดวิด เดรย์ทัน มีอาชีพเป็นศิลปินเขียนโปสเตอร์หนังก็เพื่อเป็นการสดุดีต่อ ดรูว์ สทรูซาน และในฉากเปิดเรื่อง ที่เราได้เห็นเดวิดกำลังลงสีบนก้านดอกกุหลาบบนภาพ gunslinger ภาพนั้นก็เป็นภาพฝีมือของสทรูซานจริง ๆ ที่เขายินดีมอบให้ใช้ประกอบในการถ่ายทำ “ผมคิดว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสเดียวที่ผมจะแสดงให้เห็นว่าพวกเรารัก ดรูว์ สทรูซาน มากเพียงใด”

ไม่เพียงแค่นั้น ภาพสตูดิโอของเดวิดนั้นก็จำลองตามสตูดิโอของสทรูซานจริง ๆ ในฉากนั้นถ้าสังเกตไปรอบ ๆ เราจะเห็นภาพโปสเตอร์หนังหลายเรื่อง อย่างเช่น ‘Pan’s Labyrinth’ และ ‘The Thing’ซึ่งล้วนเป็นผลงานของสทรูซานทั้งสิ้น ซึ่ง กีเยร์โม เดลโทโร ก็เป็นผู้กำกับอีกคนที่ชื่นชอบในตัวสทรูซาน

“หนังเรื่องไหนก็ตามที่อยากจะมีบางสิ่งที่พิเศษ เรื่องนั้นจะต้องมีโปสเตอร์ที่เขียนโดย ดรูว์ สทรูซาน”

9.ห้ามเปลี่ยนตอนจบ

สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันก็คือ “ฉากจบ” ของ The Mist คือหมัดเด็ดที่ทุกคนดูแล้วอึ้ง ทำให้หนังถูกพูดถึงและเป็นที่จดจำไปอีกนานแสนนาน ฉากนี้เป็นไอเดียของ แฟรงค์ ดาราบอนต์ เอง เพราะนิยายต้นฉบับที่คิงเขียนไว้นั้นป็นฉากจบแบบปลายเปิด ครอบครัวเดรย์ทันได้เดินทางเข้าสู่ม่านหมอกโดยไม่รู้ชะตากรรม ไม่มีบทสรุป แต่ตอนจบในหนังนั้นตรงกันข้ามเลย ดาราบอนต์เขียนตอบจบของหนังได้ออกมารุนแรง และสะเทือนจิตใจผู้ชมอย่างมาก แม้หลายคนจะชื่นชอบ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่โอเคกับฉากจบแบบนี้

แน่นอนว่า เมื่อดาราบอนต์อาจหาญไปแก้ฉากจบของปรมาจารย์อย่าง สตีเฟน คิง แล้วไม่กลัวว่าคิงจะไม่พอใจหรือ ซึ่งดาราบอนต์ก็อธิบายว่า ตอนจบของหนังก็เป็นไปเนื้อหาของเรื่องอยู่แล้ว เพราะคิงได้เขียนบรรยายสถานการณ์ของเรื่องไว้ว่า เมื่อความวุ่นวายโกลาหลเกิดขึ้น ผู้คนต่างตกอยู่ภายใต้สภาวะกดดันไร้ทางออก พวกเขาก็พากันสติแตก บางคนก็ทำเรื่องน่ากลัวเกินคาดเดา เพราะต้องการจะมีชีวิตรอด ซึ่งดาราบอนต์พึงพอใจกับฉากจบนี้มาก เมื่อ บ็อบ ไวน์สตีน ผู้บริหาร Dimension Film ตกลงให้ทุนสร้างหนังเรื่องนี้ ดาราบอนต์ก็ยื่นคำขาดทันทีว่าต้องปล่อยให้หนังจบตามที่เขาเขียนห้ามต่อรองเด็ดขาด ก็โชคดีที่ไวน์สตีนเห็นพ้องต้องตามนั้นกับดาราบอนต์

10.สตีเฟน คิง พอใจกับหนัง

สตีเฟน คิง และ แฟรงค์ ดาราบอนต์


ฮอลลีวูดสร้างหนังจากนิยายของ สตีเฟน คิง ออกมาแล้วหลายสิบเรื่อง หลายเรื่องก็ออกมาแย่ นั่นก็เพราะบทภาพยนตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากตัว สตีเฟน คิง เอง ก็มีบางเรื่องเช่นกันที่คิงไม่ชอบ อย่างเช่น The Shining ของ สแตนลีย์ คูบริก ที่คิงออกปากเลยว่าเขาเกลียดหนังเรื่องนี้ แต่กับ The Mist นั้น แม้ดาราบอนต์จะปรับเปลี่ยนตอนจบให้ต่างจากนิยาย แต่คิงก็รู้สึกพอใจกับคุณภาพหนังที่ออกมา ถึงกับเขียนชื่นชมไว้ว่า
“แฟรงค์ ดาราบอนต์ เขามีวิสัยทัศน์ต่อนรกได้แน่วแน่มาก ถ้าคุณอยากจะดูอะไรหวานซึ้ง ผมแนะนำให้คุณไปซื้อตั๋วดูหนังฮอลลีวูดตามโรงหนังเลย แต่เชื่อผม ถ้าคุณอยากดูอะไรที่สมจริง มาทางนี้เลย ถ้าดาราบอนต์เขายอมทำตอนจบแบบปลื้มปริ่มอิ่มเอม เขาอาจจะได้ทุนสร้างที่สูงกว่านี้ก็ได้นะ แต่เขาเลือกที่จะปฏิเสธ”

ที่มา : looper IMDB wikipedia slashfilm huffpost