หลังจากที่มีประเด็นให้พูดถึงมานานเกี่ยวกับนางเงือกน้อยใน ‘The Little Mermaid’ ที่เปลี่ยนสีผิวนักแสดงจากคนผิวขาวตามต้นฉบับการ์ตูนมาเป็นคนผิวดำในฉบับภาพยนตร์คนแสดง ที่สร้างความไม่พอใจให้คนบางส่วนที่ต้องการให้ ‘Disney’ เคารพต้นฉบับการ์ตูนของตัวเอง และในนิทานต้นฉบับก็อธิบายเลยว่าตัวละครเอกอย่าง แอเรียล (Ariel) นั้นเป็นสาวผิวขาวผมแดง แต่ทาง ‘Disney’ ผู้รักเคารพในความหลากหลายพอ ๆ กับ ‘Netflix’ ก็ได้เปลี่ยนตัวละครของตัวเองให้เป็นอย่างที่เราเห็น ซึ่งนั่นก็เป็นแค่ความคิดเห็นบางส่วนของคนที่ชอบและไม่ชอบในนางเงือกน้อยคนนี้ และพอเราคิดถึงเหล่านางเงือกในโลกภาพยนตร์เราเลยไปค้นหาดูว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้มีภาพยนตร์ซีรีส์ที่มีนางเงือกอยู่กี่แบบ และเป็นแนวไหนที่น่าสนใจบ้าง เพื่อว่าใครที่สนใจจะได้ไปหาภาพยนตร์เหล่านี้มาชมกัน จะมีนางเงือกแบบไหนจากเรื่องอะไรบางนั้นมากลั้นหายใจแล้วดำน้ำชมไปพร้อมกันเลย
Mr. Peabody and the Mermaid (1948)
เริ่มต้นเรื่องแรกกับภาพยนตร์นางเงือกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เราพอจะค้นคว้ามาได้ (อาจจะมีเก่ากว่านี้แต่หาไม่เจอ) กับภาพยนตร์เรื่อง ‘Mr. Peabody and the Mermaid’ ที่ออกฉายเมื่อปี 1948 (ในปีนั้นมีฉายอีกเรื่องในชื่อ ‘Miranda’ ที่เรื่องราวคล้าย ๆ กัน) กับการบอกเล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มชาวมนุษย์ ที่หลงรักนางเงือกสาวที่สนใจเรื่องราวของมนุษย์บนฝั่งจนทั้งคู่ได้พบและรักกัน (คุ้น ๆ เนอะ) โดยฝ่ายชายได้แอบพาน้องเงือกน้อยมาซ่อนในสระของโรงแรมและในห้องน้ำเพื่อซ่อนจากสายตาผู้คน จนเป็นเรื่องราวตลกสนุกสนานเฮฮาให้คนดูอมยิ้มกับความน่ารักไร้เดียงสาของเงือกน้อย แต่ปัญหาคือฝ่ายชายมีภรรยาอยู่แล้วและทั้งคู่ก็ไม่ได้รักกัน แต่ภรรยาก็ยังหึงหวงสามีและคิดว่าสามีไปมีคนอื่นเลยตามไปดู จนพบว่าสามีของเธอนั้นชอบกับนางเงือกเธอจึงคิดจะเปิดเผยเรื่องนี้ เรื่องราวความรักของมนุษย์กับเงือกน้อยจะจบลงอย่างไรก็ไปหามาชมกันได้ (ถ้าหาได้นะ) โดยผู้แสดงเป็นน้องเงือกอย่าง แอน บลายธ์ (Ann Blyth) ก็เป็นนางเงือกที่สวยน่ารักแบบสุด ๆ จนหลายคนต่างตกหลุมรักนางเงือกน้อยคนนี้ จนอยากกระโดดลงทะเลไปหานางเงือกแบบนี้บ้างแต่ก็เจอแต่แมงกะพรุน และนั่นก็กลายเป็นภาพจำของนางเงือกในโลกภาพยนตร์มาจนถึงตอนนี้
Creature from the Black Lagoon (1954)
ขยับมาที่ปี 1954 ก็มีภาพยนตร์แนวแนวสยองขวัญที่เอานางเงือกมาตีความใหม่ในรูปแบบของสัตว์ประหลาด ที่ไม่ว่าจะดูจากดาวอังคารก็รู้เลยว่าไอ้ตัวนี้มันไม่ใช่เงือกในเรื่อง ‘Creature from the Black Lagoon’ ที่ทางผู้กำกับและคนออกแบบสร้างเจ้าตัวนี้ขึ้นมา ต่างก็นั่งยันนอนยันว่าเจ้าตัว กิลล์-แมน (Gill-man) ตัวนี้คือนางเงือก (เงือกก็เงือกครับพี่ว่าไงผมก็ว่าตามนั้น) กับเรื่องราวการตีความใหม่ของนางเงือก (ตัวนี้น่าจะเป็นนายเงือก) ที่ชอบกับมนุษย์แต่เรื่องราวเปลี่ยนให้เป็นแนวสยองขวัญ กับการสำรวจทะเลสาบที่มีคนค้นพบซากสิ่งมีชีวิตปริศนาในทะเลสาบนี้ จนบานปลายเป็นการตามหาสิ่งมีชีวิตปริศนาที่อาจจะหลงเหลืออยู่ จนพบกับสิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายคนผสมปลา ซึ่งเหล่านักสำรวจตั้งชื่อให้มันว่ากิลล์-แมนเพราะดูจากรูปร่างน่าจะเป็นตัวผู้ โดยเจ้ากิลล์-แมนได้ฆ่าลูกเรือและคนที่จะจับมันตายไปหลายคน จนวันหนึ่งนายเงือกก็ได้พบรักกับ เคย์ ลอว์เรนซ์ (Kay Lawrence) หนึ่งในนักสำรวจที่มาจับมัน แต่เธอกลับเป็นฝ่ายถูกจับเสียเอง และเมื่อกิลล์-แมนจับสาวเจ้ามามันก็พยายามจะสารภาพรักกับสาวเจ้า (เอาจริง ๆ นะเป็นใครก็กลัวเจอตัวแบบนี้จับมา) ก่อนที่เหล่านักสำรวจจะมาช่วยเธอได้ ทำให้เจ้าสัตว์ประหลาดอกหักและหายตัวไปในทะเลสาบและไม่ปรากฏตัวขึ้นมาอีกเลย เรียกว่าเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ใส่มุมมองความรักลงไปได้แบบลงตัว จนทำให้กิลล์-แมนกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่แฟน ๆ ภาพยนตร์ยุคเก่าชื่นชอบมาจนถึงทุกวันนี้ และมีฉบับเอามาสร้างและตีความใหม่ในชื่อ ‘The Shape of Water’ ที่ฉายในปี 2017 ที่ก็ทำออกมาโอเคดี ใครชอบนายเงือกแบบนี้ก็ไปหามาชมกันได้
Phra apai mani (2002) และ Legend of Sudsakorn (2006)
มาดูนางเงือกไทยกันบ้างที่พอพูดถึงนางเงือกไทยเราต้องคิดถึงคุณแม่เงือก จากวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี อย่างไม่ต้องสงสัย (ก็มีอยู่เรื่องเดียว) ที่พอมีคนเอาวรรณคดีนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ เราเลยได้เห็นคุณแม่นางเงือกสองแบบที่ต่างกัน โดยเราของเอาภาพยนตร์เรื่อง ‘Phra apai mani’ ที่ฉายในปี 2002 กับเรื่อง ‘Legend of Sudsakorn’ ที่ฉายในปี 2006 มาพูดถึงในหัวข้อเดียวกันไปเลย เพราะทั้งคู่คือตัวละครเดียวกันแต่ทั้งสองเรื่องหยิบช่วงเวลามาเล่าที่ต่างกัน โดยฝ่ายเรื่อง ‘Phra apai mani’ จะเน้นไปที่ความรักระหว่างพระอภัยมณีกับน้องนางเงือกที่แอบคบชู้กันที่ชายฝั่ง โดยที่ไม่ให้เมียหลวงยักษ์รู้ (แต่สุดท้ายก็รู้) ตัวภาพยนตร์ออกแนว 18+ นิด ๆ ที่ในยุคนั้นจัดว่าเป็นกระแสพอสมควร โดยเฉพาะฉากว่ายน้ำที่เอานักแสดงมาใส่หางเงือกและว่ายจริง ๆ มันเลยดูสมจริง (ก็คนจริง ๆ ว่ายน้ำในชุดเงือก) ต่างกับซีรีส์ ‘Legend of Sudsakorn’ ที่ตัวเรื่องนั้นใส่กราฟิกลงไปอย่างมากมายในเรื่อง ที่คราวนี้เนื้อหาจะบอกเล่าตอนที่น้องเงือกเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ส่งลูกชายออกไปตามหาพ่อที่ติดสาวฝรั่งบนเรือไม่สนใจเมียเงือกอีกเลย ซึ่งนางเงือกในภาพยนตร์เรื่องนี้จะใช้กราฟิกที่ดูขัดตาไม่สวยเลย แต่ก็ชดเชยด้วยตัวคุณแม่เงือกตอนบนบกที่บอกเลยว่างานดี ใครชอบน้องเงือกแบบไหนก็ไปหาดูได้
Aquamarine (2006)
ขอกระโดดข้ามนางเงือกยุคเก่ามาที่ภาพยนตร์นางเงือกแนวสดใสชีวิตรักวัยรุ่นกันบ้าง ที่ตัวภาพยนตร์เหมือนเป็นการตีความ ‘The Little Mermaid’ ให้เป็นยุคปัจจุบัน (ปี 2006) ว่าถ้านางเงือกสาวที่หนีขึ้นมาบนบกพร้อมของวิเศษที่ทำให้เธอมีขา และนางเงือกน้อยพบรักหนุ่มหล่อกล้ามโตเรื่องราวจะเป็นอย่างไร นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์รักวัยรุ่นเรื่องวุ่น ๆ ของวัยรุ่นมีหาง (ปลา) อย่าง ‘Aquamarine’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของสองพี่น้องที่ย้ายบ้านมาอยู่ชนบทติดทะเล จนได้เจอกับเงือกน้อยที่หนีการแต่งงานจนมาเจอสองสาว ทั้งหมดสามเลยมาเป็นเพื่อนกัน ที่แน่นอนว่าคู่หมั้นที่เป็นนายเงือกสุดหล่อก็ต้องมากลายเป็นรักสามเส้าให้เราต้องลุ้นว่า นายเงือกงานดีกับหนุ่มมนุษย์งามละเอียดน้องเงือกจะเลือกใคร ที่บอกเลยว่าเรื่องนี้งานดีหมดทุกคน ใครที่ชอบเรื่องราวความรักวัยรุ่นต่างเผ่าพันธุ์ไปหามาชมกันดู แล้วคุณจะลืมแอเรียลคนล่าสุดไปเลยทีเดียว
Nymph (2014)
เมื่อนางเงือกเป็นนางเอกน่ารักสดใสมาก็หลายเรื่องแล้ว คราวนี้ขอเปลี่ยนมาเป็นสัตว์ประหลาดบ้าง กับ ‘Nymph’ ภาพยนตร์สยองขวัญที่ฉายในปี 2014 ที่ถ้าคุณไม่ดูรูปหรือไปส่องตัวอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้ แล้วไปนั่งดูแบบสด ๆ โดยที่ไม่รู้อะไรเลย (เสียใจด้วยตอนนี้คุณรู้แล้ว) คุณจะถูกตัวหนังหลอกในตอนแรกว่ามันคือหนังฆาตกรโรคจิตที่ไล่ฆ่า คนโดยที่เหล่าวัยว้าวุ่นรุ่นปี 2014 ต้องหนีตายเอาชีวิตรอดจากชายโรคจิต ก่อนที่เรื่องราวจะเฉลยว่าผู้ชายคนนี้ก็เป็นเหยื่อเหมือนพวกวัยรุ่นพวกนี้ แต่เขาพยายามช่วยวัยรุ่นพวกนี้จากนางเงือกปีศาจที่ใช้ความสวย (แบบสวยจริง ๆ นะ) มาหลอกล่อผู้ชายที่หลงเชื่อก่อนจะโดนน้องเงือกจับกิน (กินในที่นี้หมายถึงรับประทานจริง ๆ มีเหลือซากแขนขาทิ้งไว้นิดหน่อยเพราะกินไม่หมดเดี๋ยวอ้วน) ที่เป็นการตีความนิทาน ‘The Little Mermaid’ เสียใหม่ให้ดูโหดสลัดน่ากลัว ใครชอบการตีความโหด ๆ เนื้อเรื่องแนวสัตว์ประหลาดแสนสวยที่จับคนกินบอกเลยว่าไม่ควรพลาด
Harry Potter and the Goblet of Fire (2005)
ถ้ามีคนถามว่านางเงือกในภาพยนตร์เรื่องไหนสมจริงที่สุด ทุกคนคงจะชี้มาทางภาพยนตร์ ‘Harry Potter and the Goblet of Fire’ ที่ฉายในปี 2005 อย่างแน่นอน เพราะถ้าคุณเคยดูหรืออ่านนิยายมาก่อน คุณจะทราบดีว่านางเงือกในภาพยนตร์เรื่องนี้มันคือสัตว์ประหลาดที่มีรูปร่างเหมือนลิงไร้ขนผสมปลา ที่ดูแล้วให้ความเป็นนางเงือกกว่านางเงือกในภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่ผ่านมามาก ๆ ส่วนใครที่ไม่เคย ดูนางเงือกในเรื่องนี้จะออกมาเป็นตัวเสริมในภาพยนตร์ ‘Harry Potter’ ภาคที่ 4 ที่จะเป็นการแข่งขันกับโรงเรียนเวทมนตร์ต่าง ๆ เพื่อทำภารกิจสุดโหด อย่างการแย่งไข่มังกรการลุยเขาวงกตที่มีแต่สัตว์ประหลาด และหนึ่งในภารกิจนั้นคือการดำน้ำไปเอาของสำคัญที่นางเงือกเก็บไว้ในน้ำ ที่พอ แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) ลงมาในน้ำเขาก็เจอกับนางเงือก ที่ดูแล้วสมเป็นนางเงือกจริง ๆ จนหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้านางเงือกมีตัวตนจริง ๆ คงจะมีหน้าตาแบบนี้แน่นอน ตอนดูก็อย่าเอาเรื่องนี้ไปบอกใครเชียว เดี๋ยวจะโดนคนเกลียด เจ. เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) รุมด่าไม่รู้ด้วย ส่วนใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็เงียบ ๆ ไว้นะเดี๋ยวคนเขียนโดนรุมด่า
The Mermaid (2016)
เปลี่ยนมาดูนาง (นาย) เงือกฝั่งเอเชียกันบ้าง ที่บอกเลยว่านางเงือกฝั่งเอเชียเรานั้นก็งานดีไม่แพ้ของต่างชาติ กับ ‘The Mermaid’ ที่ออกฉายในปี 2016 ที่บอกเล่าเรื่องราวของเหล่านางเงือกที่ใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์โดยที่ไม่มีใครรู้ โดยการตีความของนางเงือกเรื่องนี้จะเป็นนางเงือกที่ขึ้นฝั่งได้และใช้หางปลาเดินแทนขา แต่ก็เดินได้เหมือนคนสวมกระโปรงรัด ๆ (ไปคิดภาพตามเอง) ที่พอกลับมาถึงบ้านน้องเงือกเราก็แก้ผ้า (เหลือชิ้นบนไว้หน่อย) แล้วลงน้ำที่เป็นบ้านที่แท้จริงของตน โดยที่เธอต้องทำแบบนี้เพื่อหาเงินมาซื้อของกินของใช้ในครอบครัวเงือกในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่สุดท้ายเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ก็จะเอาที่แห่งนี้มาเป็นของตน จนมนุษย์รู้ถึงการมีตัวตนของเหล่าเงือก จึงเกิดเป็นเรื่องราวความรักและมิตรภาพขึ้นมา ใครชอบน้องเงือกแบบก็หมวยนี่คะไม่ได้ตั้งใจ (ใครทันเพลงนี้แปลว่าคุณไม่เด็กแล้ว) ต้องไม่พลาดเรื่องนี้
Pirates of the Caribbean on Stranger Tides (2011)
ปิดท้ายกับนางเงือกที่งานดีที่สุดในบรรดาเงือกทั้งหมดในบทความนี้ (ใครจะเถียงมาทางนี้เลย) กับเหล่าเงือกในภาพยนตร์ ‘Pirates of the Caribbean on Stranger Tides’ ที่ฉายในปี 2011 สำหรับคนที่ไม่รู้จัก ‘Pirates of the Caribbean’ ภาคนี้จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวการตามหา น้ำพุแห่งความเยาว์วัย (Fountain of Youth) ที่เหล่าโจรสลัดกษัตริย์ฝรั่งเศสต่างตามหามัน โดยหนึ่งในเงื่อนไขในการดื่มน้ำพุเพื่อมีชีวิตอมตะนั้น จำเป็นต้องมีน้ำตานางเงือกเป็นหนึ่งในส่วนประกอบ เมื่อเป็นอย่างนั้นเหล่าโจรสลัดเลยไปจับนางเงือกเพื่อรีดน้ำตา แต่ปัญหาคือเงือกเหล่านี้สวยแต่รูปเพราะพวกเธอ (มัน) จะเป็นปีศาจที่ใช้ความสวยจับผู้ชายมาร่วมรักในทะเล จนกว่าตัวเองจะท้องก่อนที่จะปล่อยให้ผู้ชายที่เป็นเหยื่อจมน้ำตาย (คำบอกเล่าของคนบนเรือไม่มีใครรู้ว่าจริงไหม) และหนึ่งในนางเงือกที่ถูกจับก็พบรักแท้จนเธอเสียน้ำตาให้คนที่รักซึ่งเป็นมนุษย์ และความพิเศษอีกอย่างเมื่อนางเงือกขึ้นมาบนบก เธอจะมีขาคนเลยไม่ต้องไปทำสัญญากับแม่มดหมึกให้เสียเวลา ซึ่งทุกคนที่ได้ดูภาคนี้ต่างยกให้นางเงือกใน ‘Pirates of the Caribbean on Stranger Tides’ เรื่องนี้เป็นนางเงือกที่งานดีที่สุดตั้งแต่ดูหนังนางเงือกมา ไม่เชื่อดูรูปด้านล่างเลย
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 8 นางเงือกจาก 9 ภาพยนตร์ที่เราหยิบมานำเสนอหวังว่าจะถูกใจกัน โดยเราขอข้าม ‘The Little Mermaid’ ในการ์ตูนกับภาพยนตร์ไป เพราะหลายคนน่าจะรู้จักพวกเธอกันดีอยู่แล้ว เลยอยากจะนำเสนอนางเงือกแบบแปลก ๆ น่าสนใจมานำเสนอแทน และถ้าใครมีนางเงือกเรื่องอื่น ๆ อยากนำเสนออีกก็เอามาพูดคุยกันได้ และถ้าใครไม่เคยดูนางเงือกเรื่องไหนในนี้ก็ไปตามหาดูในช่องทางถูกลิขสิทธิ์กันได้ บอกเลยว่านางเงือกเหล่านี้งานดีทุกเรื่องไม่มีผิดหวัง แล้วคุณจะรู้ว่าทำไมคนดูถึงติดภาพนางเงือกผิวขาวกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส