Under the Shadow เป็นหนังผีที่มีโปสเตอร์ราวกับหนังเกรดบี แต่หนังมาแรงด้วยการโปรโมทว่าเป็นหนังผีที่ดีเยี่ยม กระแสวิจารณ์งดงามอย่างเว็บมะเขือเน่าก็ยื้อคะแนนไว้แรงถึง 100% เต็ม เฉลี่ยคะแนนสูงถึง 8.1/10 ก่อนจะถูกกระชากมาหนึ่งเน่าแบบไม่ได้รังเกียจอะไรจริงจัง ปัจจุบันคาอยู่ที่ 98% ความดีงามของมันยังทำให้ประเทศอังกฤษที่มีหนังเยี่ยมๆออกมาในหนึ่งปีก็เยอะ แต่กลับเลือกหนังเรื่องนี้ส่งเข้าชิงออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมด้วย ว่ากันขนาดนี้แล้ว เหมือนมีแรงลึกลับบางอย่างเชื้อชวนให้เราต้องลองเสี่ยงไม่สนใจหน้าหนังเข้าไปลองหลอนกันดูล่ะครับ ว่ามันมีดีอะไร

under-the-shadow_keyart-thai

หนังเปิดด้วยการเล่าภูมิหลังของเรื่อง ว่าเกิดในปี 1988 ปีที่ประเทศอิหร่านกำลังสู้รบกับประเทศอิรักในสงคราม 8 ปี (1980-1988) โดยจุดกำเนิดของสงครามนี้ต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 1979 เมื่ออิหร่านเกิดการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศ กลายมาเป็นรัฐอิสลามอย่างแท้จริง นายรูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ได้ก้าวขึ้นมาเป็นทั้งผู้นำประเทศและผู้นำศาสนาพร้อมกัน โดยเขามีนโยบายขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ของอิหร่านให้กว้างไกลไปในประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นเรื่องก็ตรงประเทศอิรักที่อยู่ติดกันแถมมีปมเรื่องข้อพิพาทชายแดนมาก่อนแล้ว ดันมีประชากรส่วนใหญ่นับถือนิกายชีอะฮ์ แต่กลุ่มผู้ปกครองประเทศอิรักน่ะนับถืออีกนิกายหนึ่งคือนิกายซุนนี ผู้นำอิรักสายแข็งกร้าวในตอนนั้นอย่าง ซัดดัม ฮุสเซน ก็ไม่พอใจสิครับ ที่อิหร่านทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องกระทบความมั่นคง แต่พี่แกไม่ได้เลือกทำแค่บ่นออกมาดังๆนี่สิ แต่สั่งเปิดสงครามบุกอิหร่านไม่ต้องทันตั้งตัวกันเลยครับ งานนี้ก็เลยเกิดการทิ้งบอมบ์ใส่กันเป็นว่าเล่นยาวไป

บทเกริ่นนำประมาณ 1 นาทีของหนังนี่ คือกุญแจถอดรหัสหนังทั้งเรื่องนั่นเลยครับ แนะนำให้ทดไว้ในใจระหว่างดูหนังแล้วจะสนุกกับการตีความมากขึ้นด้วย

iraqi-soldiers-celebrate-after-recapturing-the-faw-peninsula-in-iraq-during-the-iran-iraq-war-behind-them-is-a-bullet-ridden-portrait-of-iranian-leader-ayatollah-ruhollah-khomeini

wright-war-that-haunts-irans-negotiators-1200

หนังได้ผู้กำกับหน้าใหม่สายเลือดเปอร์เซียนแท้อย่าง บาบัก อันวารี มาเดบิวท์หนังเรื่องแรกของตัวเองด้วยงบจำกัดตามสไตล์หนังโนเนม แต่พี่แกก็ใช้ไอเดียเข้าสู้ สร้างเรื่องราวที่ผสมผสานจุดแข็งของหนังตะวันออกกลางที่ดราม่าเข้มข้นสมจริง รวมถึงแนวคิดของผีอิสลามอย่าง ญิน ที่แปลกหูแปลกตาผู้ชมทั่วไป รวมเข้ากับการเดินเรื่องแบบหนังผีฮอลลีวู้ดที่เป็นมาตรฐานสากลโลก และการใส่รหัสสัญญะต่างๆจากประสบการณ์ในวัยเด็กของตนให้สายนักคิดได้ออกกำลังสมองไม่ให้ไร้สาระเกินไป ซึ่งทำออกมาได้กลมกล่อมมากๆ นี่ล่ะครับทำให้หนังผีเรื่องหนึ่งกลายเป็นหนังล่ารางวัลขึ้นมาได้

babak-anvari

หนังเล่าถึง ชิเดห์ (นาร์เกส ราชิดี)  คุณแม่ยังสาวที่ต้องออกจากโรงเรียนแพทย์เนื่องจากเข้าร่วมการต่อสู้ในการปฏิวัติอิหร่าน หลังจากการปฏิวัติจบลงเธอแต่งงานมีลูกกับนายแพทย์นาม อิราจ (บ๊อบบี้ นาเดรี) และกลายมาเป็นแม่บ้านที่คอยดูแลลูกสาวตัวเล็กอย่าง ดอร์ซ่า (อวิน มันชาดี้) ในวันหนึ่งเมื่อสามีของเธอถูกเรียกเข้าประจำการประจำปีในเขตสงคราม ทำให้เธอต้องอยู่กับลูกสองคนในอพาร์ทเม้นท์ในกรุงเตหะราน ในคืนวันอันน่าหวาดหวั่นจากการทิ้งระเบิดใส่กันระหว่างสองประเทศ วันหนึ่งระเบิดด้านลูกหนึ่งก็ตกลงมาใส่อพาร์ทเม้นท์ของเธอ ทำให้เพื่อนบ้านวัยชราคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ห้องชั้นบนของเธอตาย

001-3

จากนั้นเธอก็เริ่มได้ยินเรื่องราวของญิน วิญญาณร้ายตามความเชื่อของศาสนาอิสลามมากขึ้นๆ ทั้งจากเพื่อนบ้านของเธอที่ตัดสินใจย้ายออกคนแล้วคนเล่า และจากลูกสาวของเธอเองที่ไปได้ยินเด็กชายกำพร้าประหลาดที่เป็นญาติของเจ้าของอพาร์ทเม้นท์เล่าให้ฟัง ความไม่มั่นคงจากชีวิตท่ามกลางสงครามของชิเดห์ และอาการประหลาดของลูกสาวเธอ ทำให้แม้ว่าเธอจะเป็นคนสมัยใหม่และไม่เชื่อไม่ศรัทธาในศาสนา ก็กลับต้องหวั่นไหวและยอมรับมากขึ้นทุกทีว่าขณะนี้ครอบครัวของเธอกำลังถูก ญิน ตามเอาชีวิตอยู่ โดยเฉพาะกับลูกสาวของเธอที่ดูจะกลายเป็นเป้าหมายเอาชีวิตในครั้งนี้ เกริ่นประมาณนี้แล้วกันครับ เดี๋ยวจะเล่าจนจบเสียก่อน 55

001-13 002-13

แม้ในเรื่องจะไม่ได้เล่าถึงอดีตของชิเดห์ตัวหลักของเรื่องเท่าไรนัก แต่เราก็พอดูจากบริบทได้ว่า เธอเป็นพวกหัวสมัยใหม่ ทั้งการใส่เสื้อกล้ามเปิดเผยเนื้อหนังในบ้าน การเต้นแอโรบิกจากวีดิโอ การแสดงออกทางความคิดที่ว่าผู้หญิงไม่ได้เป็นรองผู้ชาย ซึ่งทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับคำสอนของอิสลามสายเคร่งอย่างสิ้นเชิง และเมื่อรวมกับคำบอกเล่าถึงการกระทำทางการเมืองอันเลวร้ายของกลุ่มที่เธอเข้าร่วมในอดีต ก็พออนุมานได้ว่าเธอน่าจะเป็นนักศึกษาที่เข้าร่วมกับขบวนการฝ่ายซ้าย ขบวนการนี้ช่วงปี 1979 ได้เข้าร่วมโค่นล้มราชวงศ์ดั้งเดิมด้วยยึดถือในระบบมาร์กผสมกับความเชื่อแบบอิสลาม แต่พอชนะแล้วกลุ่มนี้ก็เริ่มแตกกับโคมัยนีที่กำลังพยายามเปลี่ยนอิหร่านเป็นรัฐอิสลามอย่างสมบูรณ์ กลุ่มหัวซ้ายนี้ได้ทำการต่อต้านทั้งการสังหารและวางระเบิดผู้นำนักวิชาการฝั่งโคมัยนีจำนวนมาก ด้วยความเชื่อที่ต้องการแยกการเมืองและศาสนาออกจากกัน และมอบเสรีภาพในการเลือกตั้งให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้หญิงอิหร่านก่อนและหลังปี 1979

ผู้หญิงอิหร่านก่อนและหลังปี 1979

การทำความเข้าใจตรงจุดนี้ทำให้เราตีความการคุกคามจากสายตาคนในสังคมต่อเธอ และการระมัดระวังเป็นพิเศษของเธอได้อย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นส่วนสำคัญมากๆในการเข้าใจพัฒนาการทางความคิดของเธอตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงฉากสุดท้ายที่เปิดกว้างทางความคิดอย่างมากด้วย ผมขออนุญาตไม่ลงลึกในจุดพวกนี้แล้วกันนะครับเพราะมันจะสปอยล์เกินไป แต่ก็ได้ทิ้งคีย์สำคัญๆให้สายนักคิดเอาไปตีความหนังต่อได้อย่างสนุกสนาม ออกมาถกเถียงกับเพื่อนได้เพียงพอแล้วครับ

แล้วสำหรับคอหนังผีทั่วไปล่ะ หนังเรื่องนี้ยังน่าดูอยู่มั้ย

ถ้าตัดพวกสัญญะกับการเมืองออกไป หนังยังน่าสนใจครับเพราะมีรสชาติที่แปลกใหม่พอสมควร แต่ก็เล่าแบบหนังสมัยนิยมทำให้ไม่แปร่งคอเกินไปนัก ที่น่าสนใจนี่ ก็ตั้งแต่ ญิน เลย เพราะผีคติอิสลามนี่น่าสนใจมากครับ ถูกอธิบายว่าประมาณแบบซาตาน เป็นวิญญาณฝ่ายต่ำที่มาเมื่อมนุษย์เกิดความกลัวโดยมีกิมมิคเป็นสายลม ดังที่ระบุในคัมภีร์ว่า ที่ใดมีความกลัวที่นั่นสายลมจะพัดพา และเจ้าญินนี่ก็มีวิธีการเอาชีวิตที่น่าสนใจอีก เพราะมันจะขโมยของรักของเหยื่อไป ผู้ใดถูกขโมยของรักไปจะถูกญินตามติดและไม่อาจหนีมันพ้นได้

normal_under_the_shadow-thumb-860xauto-54861

ตรงนี้ผู้กำกับอันวารีเอามาขยี้ได้สนุกครับ นอกจากสร้างบรรยากาศที่ไม่มั่นคงอย่างแรงต่อตัวละครจนเราเองยังรู้สึกร่วมไปด้วยได้เลย ทั้งปัญหาในครอบครัว ปัญหาจิตใจส่วนตัว และปัญหาทางการเมือง สงครามภายนอก บทเดินเกมแบบสยองขวัญจิตวิทยาโดยที่ไม่ต้องแสดงผีเลยในช่วงแรก จนเมื่อความตึงเครียดเริ่มขมวดปมมากขึ้นในช่วงกลางเรื่องไป เริ่มปรากฎรูปลักษณ์ตัวแทนผีออกมา จังหวะชวนสะดุ้งตุ้งแช่ก็เอามาใช้ได้อย่างแม่นยำและไม่เฝือด้วย คือไม่ได้ใส่มาพร่ำเพื่อ เรียกว่านับครั้งได้เลยแต่มาทีหนึ่งนี่คือมาได้หมัดตรงมากๆครับ เสียงกรี๊ดดังสนั่นโรงทีเดียว ทั้งลูกเล่นการหลอกนั้นบางมุกก็แปลกตาแปลกใจดีด้วยครับ คือคอสยองขวัญก็ไม่น่าผิดหวังเลยล่ะ

ข้อเสียมีนิดหน่อยครับ ตั้งแต่การทิ้งช็อตและซีนบางซีนแบบนิ่งเนิ่บมากๆ จนเกือบๆจะหาวเลย ซึ่งก็เป็นสไตล์หนังตะวันออกกลางล่ะนะครับ แต่เรื่องนี้ก็นับว่ามีอย่างที่ว่าน้อยครับผ่านช่วงเปิดเรื่องเกริ่นเรื่องไปได้ก็แทบไม่มีให้หาวแล้ว อีกอย่างก็คือซีจีผีนี่บางช้อตยังไม่ค่อยเนียนครับตามทุนทรัพย์การสร้าง แต่เชื่อเถอะคุณไม่ได้ไปสังเกตอะไรมันมากหรอกเพราะบางคนคงปิดตาอยู่ ก็ต้องยกประโยชน์ให้ความฉลาดของผู้สร้างครับ

under-the-shadow

สรุป

เป็นหนังผีที่กลมกล่อมมากครับ ผีไม่ได้เละๆน่ากลัวๆ แต่จะมาแบบหลอนๆจิตวิทยาๆเห็นแว้บๆให้มโนเองอะไรแบบนั้น ฉากตุ้งแช่มีน้อยแต่แม่นและไม่รู้จะมาตอนไหน ส่วนถ้าดูเอาประเทืองสมองก็ทำได้สนุกครับ ทั้งตีความเบื้องหลังการเมือง และสัญญะต่างๆเช่นกากบาท ลม จรวด ญิน เป็นต้น ถ้าสนใจหลังดูก็ลองมาหาอ่านพวกการปฏิวัติอิหร่าน กับสงครามอิรัก-อิหร่านเพิ่มขึ้นก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วยครับ เป็นหนังเล็กที่อาจไม่ได้สมบูรณ์ยอดเยี่ยมแต่ก็น่าสนใจทีเดียว อ่อหนังพูดภาษาฟาร์ซีตลอดเรื่องนะครับมีซับไทยกับอังกฤษให้ เข้าฉาย 13 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป อย่าให้โปสเตอร์หลอกตาคุณภาพหนังเรื่องนี้ครับ

Play video