ในขณะนี้ ‘สัปเหร่อ’ ก็ได้กลายเป็นว่าที่หนังไทยที่ทำเงินสูงสุดแห่งปีไปแล้ว ด้วยตัวเลขที่ผ่าน 300 ล้านบาทจากการเข้าฉายทั่วประเทศในเวลา 2 สัปดาห์ และตำแหน่งที่อาจจะพ่วงตามมาก็คือว่าที่เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดนิยมในเวทีต่าง ๆ ด้วย
สำหรับบางคนหนังเรื่องนี้อาจเป็นม้ามืดที่มาโผล่ขึ้นมาอย่างไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่สำหรับบางคนก็ต้องกล่าวว่านี่คือความสำเร็จที่คาดหมายได้แต่ก็เกินกว่าที่คาดหวังไปไกลทีเดียว เชื่อว่ารายได้น่าจะมากกว่าหนังเรื่องก่อนหน้า แต่ก็คงไม่คาดคิดว่าจะมากขนาดนี้ อะไรคือจุดที่น่าสนใจที่สร้างให้เกิดปรากฏการณ์นี้ วันนี้เราชวนมาตั้งข้อสังเกตกัน
1. ต้นทุนจาก 0 ทดแทนด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย จุดตั้งต้นฐานพลังแฟนคลับ
‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ เริ่มต้นจากความตั้งใจอยากทำหนังเข้าฉายโรงเพียงอย่างเดียวของกลุ่มเพื่อนสมัยมัธยม 4 คนที่เกิดในจังหวัดศรีสะเกษก็ว่าได้ ตามที่ สุรศักดิ์ ป้องศร ผู้กำกับหนังไทบ้านภาคหลัก และ อวิรุทธ์ อรรคบุตร โปรดิวเซอร์ของแฟรนไชส์ รวมถึง บุญโชค ศรีคำ และ ศุภณัฐ นามวงศ์ รวม 4 คน ได้เคยเล่าไว้ โดยพวกเขาตั้งเป้าในตอนที่กลับมาคุยกันอีกครั้งหลังจากแยกย้ายกันไปเรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัยว่า อยากจะทำซีรีส์ภาษาอีสานเรื่องแรกของไทยขึ้นมา จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘เดอะซีรีส์’ ที่ห้อยท้ายคำว่า ‘ไทบ้าน’ ซึ่งพวกเขาก็เลือกคำ บ้าน ๆ ที่สะท้อนวิถีชีวิตและตัวตนในสิ่งที่พวกเขาอยากนำเสนอนั่นเอง จึงกำเนิด เซิ้งโปรดักชัน ขึ้นมาเพื่อรับงานทั้งจัดอีเวนต์ตลอดจนเป็นโปรดักชันเฮาส์เพื่อสั่งสมประสบการณ์และหาทุน
ปี 2558 พวกเขาในวัย 24 ปี มีบทแบบพล็อตและทรีตเมนต์ (บทบรรยายเหตุการณ์) จำนวน 12 ตอนของ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ ในมือแล้ว จึงรวมเงินกันเพื่อทำตัวอย่างหนังออกมา โดยมีการคัดเลือกนักแสดงจากทั่วอีสาน และวางแผนสร้างตัวละครอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แล้วเอาบ้านโนนคูณ ต.โนนคูณ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ เป็นสถานที่หลักในการถ่ายทำเพื่อความสมจริงไปตามท้องเรื่อง
ด้วยพล็อตเรื่องที่เรียบง่ายแบบหนังรอมคอมว่าด้วย จ่าลอด บ่าวไทบ้านที่จีบหญิงไม่เป็น ได้คำแนะนำจากเสือผู้หญิงอย่าง เซียง ให้เขาไปจีบหญิง 100 คน แล้วจะต้องมีสำเร็จเข้าสักคน ในขณะเดียวกัน ป่อง เพื่อนของจ่าลอดที่จบมาจากเมืองกรุงก็กำลังหาทางเปิดเซเว่นแห่งแรกในหมู่บ้าน แม้ผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อจะคัดค้าน ทั้งนี้ตัวอย่างก็ถ่ายทอดประเด็นเหล่านี้และนำเสนอฉากขายหลัก ๆ ได้อย่างที่พวกเขาต้องการ มันล้วนเป็นการผสมผสานเรื่องราวและสิ่งที่พวกเขาพบเจอมาในฐานะคนอีสานรุ่นใหม่ ที่อยากบอกว่าอีสานในภาพจำของคนไทยภาคอื่นนั้นมันเปลี่ยนไปไกลแล้ว
แน่นอนว่าแค่ความฝันกับความตั้งใจ ไม่ได้ทำให้เด็กไร้ชื่อเสียงอย่างพวกเขาจะหอบแค่ตัวอย่างไปขอเงินก้อนใหญ่จากสปอนเซอร์มาได้โดยง่าย สุดท้ายสุรศักดิ์จึงตัดสินใจเอาตัวอย่างซีรีส์นั้นโพสต์ลงในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thibaan Channel เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 หลังจากเปิดเพจมาได้เพียง 8 เดือน และสร้างกระแสคนติดตามรอคอยชมซีรีส์จำนวนมาก เพียง 1 วันก็ทำยอดผู้ชมพุ่งถึง 1 ล้านวิวสำเร็จ เพียงพอให้เอาไปเสนอนายทุนได้ง่ายขึ้น เพราะพวกเขาได้แสดงถึงฐานแฟนคลับจำนวนมากจากการปั้นเพจมาอย่างต่อเนื่อง
https://www.facebook.com/ThiBaanTheSeries/videos/1758246164462194/
สุรศักดิ์ได้เคยเผยว่า ในช่วงเริ่มต้นเขาทำแฟนเพจด้วยสัญชาตญาณ แต่วิเคราะห์มันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวลองผิดลองถูกและคอยสังเกตว่าคนที่เข้ามาในเพจจะชอบโพสต์แบบไหน และเขาพบว่าคนจะแชร์อะไรสักอย่างต้องเป็นโพสต์ที่เขารู้สึกได้ประโยชน์ ทีมงานจึงทำโพสต์ภาพประกอบคำคมหรือคำโดนใจ แล้วไทอินหน้านักแสดงที่ในขณะนั้นยังไม่มีใครรู้จักลงไปในภาพด้วย คนพอเห็นคำโดน ๆ ก็แชร์โพสต์ออกไปให้คนอื่นเห็นมากขึ้น แล้วก็จดจำพวกนักแสดงของหนังในอนาคตไปด้วยในตัว ที่สำคัญคือสิ่งที่พูดในเพจต้องมาจากความรู้สึกจริง ๆ เพราะโลกโซเชียลคนต้องการความเรียล ดังนั้นวันไหนที่เขาคิดคำคมไม่ออก เขาก็จะโพสต์บอกตรง ๆ ว่าวันนี้คิดไม่ออก ซึ่งมันก็ทำให้คนที่เข้ามาสัมผัสความเป็นมนุษย์จริง ๆ ของพวกเขาได้
เมื่อเพจมีตัวอย่างหนังมีนักแสดงที่คนเริ่มคุ้นชินผูกพันก็เกิดเป็นแรงขับก้อนใหญ่ ทั้งหมดมาจากการวางแผน การลงมือทำทันทีอย่างจริงจัง และด้วยท่าทีที่จริงใจมาก ๆ พวกเขาเข้าไปตอบคอมเมนต์ในโพสต์นั้นแทบทุกอันเลยทีเดียว และการเล่นกับฐานแฟนชาวอีสานก็ทำให้ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนศรีสะเกษมาช่วยเป็นนายทุนใหญ่ให้ จนได้เงินมาทำหนังภาคแรกจำนวน 2 ล้านบาท และเริ่มบวงสรวงเปิดกล้องได้ในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 โดยตั้งใจจะเข้าฉายในช่วงกุมภาพันธ์ปีถัดไป
จนปัจจุบันผ่านไป 7 ปี ตัวแฟนเพจมียอดผู้ติดตามถึง 3.7 ล้านคน และช่องยูทูบก็มีผู้ติดตามถึง 4.5 ล้านคนเลยทีเดียว มีคอนเทนต์หลากหลายมากตั้งแต่หนัง ซีรีส์ เพลง โฆษณา เอ็มวี สารคดี รายการวาไรตี้ คลิปเบื้องหลัง ไลฟ์สดพูดคุย จนกระทั่งมีงานเทศกาลดนตรี ไทบ้านแลนด์มิวสิกเฟส ที่จัดมาแล้วถึง 4 ครั้งโดยทำเว็บขายตั๋วเองไม่ต้องผ่านช่องทางอื่น เรียกว่ามีอะไรที่พอทำได้พวกเขาเอาหมด
ตรงนี้สะท้อนมากับรายได้ของหนังจักรวาลไทบ้านฯ แต่ละเรื่องที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากภาคแรก 37.5 ล้านบาท พอภาค 2.1 ก็ได้มาเป็น 68 ล้านบาท และภาค 2.2 ก็ได้มาเป็น 97 ล้านบาท นั่นคือฐานแฟนหนังที่ชัดเจนและเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม จนมากพอจะกระทุ้งคอหนังไทยทั้งประเทศให้ต้องมาจับตามองและอาจกล่าวได้ว่า ‘สัปเหร่อ’ ที่เป็นหนังเรื่องล่าสุดของแฟรนไชส์ จากฝีมือของผู้กำกับในเครืออย่าง ต้องเต – ธิติ ศรีนวล ก็คือผลลัพธ์ในปีนี้จากการขยายสร้างแฟนคลับมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
2. เดินตามฝัน คิดไวทำไว ไม่กลัว แต่ไม่ไร้กลยุทธ์
ใช้เวลาแค่ประมาณ 4 เดือน จากโปรเจกต์ซีรีส์ที่ไปขายช่องดิจิทัลทีวีก็ไม่มีใครสนใจ จะหาทุนทำเองฉายในออนไลน์ก็ไม่มีผู้สนับสนุนเงิน กลายเป็นว่าตอนนี้มันขยายกลายเป็นหนังฉายโรงขึ้นมาสำเร็จ และในการเข้าฉายของ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560 นั้นอยู่ในจังหวะที่เปิดปีมาอุตสาหกรรมหนังไทยถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นปีที่ซบเซาด้วยจำนวนหนังจากค่ายใหญ่ที่จะลดลงมาก และหนังที่ออกฉายก็จะมีขนาดโปรดักชันที่เล็กลง เปิดโอกาสให้หนังเล็กหรือหนังอินดี้เข้ามาแบ่งสัดส่วนโรงฉายมากขึ้น
แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ไทบ้านฯ จะเข้าฉายนั้น ยังมีอุปสรรคใหญ่ที่แม้ไม่ต้องไปแข่งชนกับหนังไทยเบอร์ใหญ่ด้วยกัน แต่ก็ยังมียักษ์ใหญ่หลายเรื่องที่ฉายคั่นหน้าคั่นหลังโปรแกรมฉาย ไม่ว่าจะหนังไทยที่หน้าหนังตีหัวเข้าบ้านอย่าง ‘มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ’ และหนังฮอลลีวูดก็เฮโลเข้ากันทุกสัปดาห์ตั้งแต่ ‘Split’ ที่มาแนวปริศนาเขย่าขวัญ ‘Hacksaw Ridge’ มาเก็บกินแนวสงคราม ‘Fifty Shades Darker’ ที่มาดึงผู้ชมเพศหญิง แล้วก็มาถึงหนังกระแสแรง ‘John Wick : Chapter 2’ ที่เข้าฉายก่อนไทบ้านฯ แค่สัปดาห์เดียว ในขณะที่หลังจากนั้นอีกสัปดาห์กว่า ๆ จะมีหนังซูเปอร์ฮีโร ‘Logan’ เข้ามาบี้เอารอบฉายไปกินอีก
สภาพการณ์แบบนั้นทำให้ช่วงเวลาที่ไทบ้านฯ ได้รอบเข้าฉายแทบไม่มีหนังไทยอยากไปลงฉาย สุรศักดิ์และทีมเซิ้ง ได้ลองคิดสูตรการฉายที่แตกต่าง เขาขอเข้าฉายแค่โรงหนังในแถบภาคอีสานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และขอร้องให้ฉายในโรงที่เล็กที่สุดรอบไม่ต้องมาก โดยหวังผลว่าแค่ฐานแฟนคลับที่รอชมก็น่าจะทำให้เต็มโรงได้ จากนั้นเมื่อความต้องการมีสูงกว่าจำนวนเก้าอี้ที่มี ก็จะเกิดกระแสปากต่อปากว่าคนดูแน่นโรงเกือบทุกรอบ กลายเป็นว่า ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ ก็จะกลายเป็นหนังที่ฮิตจนต้องหาโอกาสไปดู และได้เพิ่มรอบ จนเก็บเงินเฉพาะการฉายในภาคอีสานไปได้ถึง 30 ล้านบาท
จากนั้นเมื่อกระแสมันต่อติดในอีสาน มันก็แผ่ความต้องการรับชมลงมาถึงในเมืองใหญ่ที่มีชาวอีสานเข้ามาเรียนมาทำงานจำนวนมาก เข้าสูตรป่าล้อมเมืองในที่สุด แม้จะไม่ได้เปรี้ยงปร้างเท่าแต่มันก็เก็บเงินในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ไปได้อีก 7.5 ล้านบาทเลยทีเดียว
ความคิดไวทำไวและกล้าชนกล้าทำนั้น เป็นดีเอ็นเอของจักรวาลไทบ้านฯ ที่ส่งมาถึง ‘สัปเหร่อ’ อันจะเห็นได้จากกราฟความสำเร็จที่พุ่งขึ้นเริ่มปักหัวลง หลังจากรายได้ใน ‘ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้’ (2563) ไม่เป็นไปตามคาด แม้จะวางแผนว่าการคอลแลบส์ระหว่างกลุ่มที่ฐานแฟนคลับสูงด้วยกันจะต่อยอดความสำเร็จซึ่งกันและกันมีการแชร์ตลาดแฟนคลับกัน แต่มันกลับทำรายได้ไปเพียง 19.9 ล้านบาท น้อยกว่าหนังภาคหลักที่ไม่มีอินฟลูฯ ชื่อดังเสียอีก
ขณะที่ผ่านไป 2 ปี ‘หมอปลาวาฬ’ (2565) ที่วางแผนมาอย่างดีจากการวิเคราะห์ว่าคนที่ติดตามเพจอยากชมเรื่องราวอะไร ก็กลับทำรายได้ไปเพียง 14 ล้านบาทน้อยที่สุดในหนังทุกเรื่องของเซิ้ง ซึ่ง ธิติ ศรีนวล ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวเขาวิเคราะห์ว่าเพราะทำหนังออกฉายช้าเกินไป ทั้งนี้สถานการณ์โควิดแพร่ระบาดก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่อีกปัจจัยที่สำคัญคือกระแสความอยากดูที่พวกเขาเคยจับได้ พอทำหนังเสร็จช้า ออกฉายช้าด้วยอุปสรรคโรคระบาด ความต้องการที่เคยจับได้นั้นก็เปลี่ยนไปแล้ว ธิติถึงกับคิดว่าไทบ้านฯ ต้องคิดไวทำไวต้องทำหนังให้ได้ทุกปี เพื่อให้ทันต่อกระแสหรือเทรนด์ที่ผู้ชมอยากดู
ซึ่งจะว่าก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ชาวเซิ้ง โปรดักชันอาจจะเหมาะพอดีกับทิศทางนี้ ตรงที่พวกเขามีขนาดของหนังที่ไม่ใหญ่มาก ไม่ต้องหาทุนมากมายหลายปี มีนักแสดงและทีมงานหลักชุดหนึ่งที่เคมีเข้าขาอย่างดีจากการมีผลงานทั้งฉายโรงและออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ทีมงานศึกษาทบทวนแฟนคลับตัวเองอยู่เสมอ มันจึงทำให้มีความยืดหยุ่นคิดไวทำไวได้สำเร็จด้วย
3. จักรวาลไทบ้านฯ มีความเป็นอีโคซิสเต็มที่รองรับแฟนคลับได้หลากหลาย
อีโคซิสเต็มหรือระบบนิเวศที่จักรวาลไทบ้านฯ กำเนิดขึ้นส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากแรงบันดาลใจจากโครงสร้างที่ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว ตอนที่พวกเขามองตัวเองเป็นซีรีส์อีสานพวกเขามีโมเดลคือ ‘ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น’ (2556-2558) ในขณะที่พอมันเป็นหนังพวกเขาก็มีโมเดลของ ‘Marvel Cinematic Universe’ รองรับเป็นแนวทางแล้วเช่นกัน กล่าวคือมันต้องไม่จบแค่หนัง แฟนคลับต้องมีอะไรรองรับอย่างเป็นระบบหลังจากนั้นอีก
ในตอนที่ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ เข้าฉายปี 2560 อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันจากความสนใจในสื่อบันเทิงและงานเอ็มวีที่พวกเขาได้ฝึกฝนมาก่อนทำหนังนั่นก็คือ ‘เพลง’ ทีมงานไปดึงเอาทาเลนต์อีสานที่ฉายแสงมีผลงานแต่งเพลงลงในช่องทางออนไลน์ของตัวเองมาช่วยกันทำเพลง จน ‘ทดเวลาบาดเจ็บ’ ผลงานการร้องของ บอย พนมไพร และการแต่งคำร้องทำนองของ เต้ย อธิบดินทร์ ชูปัญญา ที่ใช้เป็นเพลงประกอบหนังภาคแรกได้รับรางวัลเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสุพรรณหงส์ครั้งที่ 27 และภายในไม่กี่เดือนหลังหนังออกฉายมันก็ทำยอดวิวในยูทูบทะลุ 200 ล้านวิวสำเร็จ จนศิลปินอีสานชื่อดังอย่าง ก้อง ห้วยไร่ ยังชื่นชม
และด้วยความที่เป็นทีมลูกอีสานที่ดูเข้าถึงผู้คนง่ายและเปิดรับคนที่มีของ ก็ดึงคนที่มีความสามารถอื่น ๆ เข้ามาอีกอย่างเพลง ‘บ่เป็นหยังเค้าเข้าใจ’ ที่ได้ผลพวงจากการชมหนังภาคแรกแล้วอยากถ่ายทอดความรู้สึกของหมอปลาวาฬ และได้พบ กวาง – จิรพรรณ บุญชิต ที่ต่อมากลายเป็นศิลปินเบอร์แรกของเซิ้งมิวสิก ตามมาพร้อม ๆ กันด้วย ศาล สานศิลป์ ที่มีเพลง ‘บ่ลอด’ และเต้ย อภิวัฒน์ ที่มีเพลง ‘อีหล่าเอ๋ย’ ซึ่งภายหลังล้วนเป็นศิลปินดังที่มีเพลงยอดวิวเกิน 100 ล้านวิวทั้งสิ้น
ซึ่งฝั่งทีมสร้างหนังเองก็คิดว่าหากมีเอ็มวีมาเติมเต็มเรื่องราวต่อจากหนัง ก็ทำให้มีทางเลือกการเล่าจักรวาลไทบ้านฯ ได้มากขึ้น และไม่ต้องคอยกันนานเป็นปี ๆ ด้วย
โดยจะเริ่มเห็นแนวทางนี้ชัดมากขึ้นในช่วงหนังภาค 2.1 ที่มีเพลง ‘ระเบิดเวลา’ และ ‘ขอบใจเด้อ’ ของ ศาล สานศิลป์ ที่เล่าเรื่องราวของเซียงและมืดตามลำดับ และในหนังภาค 2.2 ก็ชัดเจนขึ้นอีกด้วยเพลงอย่าง ‘คนสุดท้ายของหัวใจ’ ของ บอย พนมไพร มาขยายเรื่องราวของเซียง และ ‘แรกตั้งใจฮัก’ ของ ปรีชา ปัดภัย มาขยายเรื่องรักของมืดอีกครั้ง ซึ่งตรงกับแนวทางที่ทีมงานอยากขยายให้ตัวละครแต่ละตัวมีเส้นเรื่องของตัวเองที่ชัดเจนแข็งแรงมากขึ้น
ในขณะเดียวกันสินทรัพย์ด้านทาเลนต์คลังเพลงของไทบ้านฯ รวมกับความผูกพันและอินกับนักแสดงก็ทำให้ต่อยอดไปจัดงาน ‘ไทบ้านแลนด์มิวสิกเฟสติวัล’ ในบริเวณพื้นที่ตำบลโนนคูณที่ใช้ถ่ายทำไปได้อีก ตรงกับที่สุรศักดิ์เคยพูดไว้ว่าหลาย ๆ ไอเดียที่เขาทำ มันเพื่อต่อยอดและกลับมาสู่ชุมชนอีสานของเขาเอง เช่นเดียวกับเรื่องราวของเฮียป่องที่จะทำสโตร์ขายผักในหนังภาค 2 เขาก็ตั้งใจให้เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจริงมีชื่อติดหูอย่างเนื้อขุนโพนยางคำ และเป็นแลนด์มาร์กที่ทำให้คนอยากแวะเข้ามาเที่ยวศรีสะเกษด้วย
อีโคซิสเต็มเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งพลังซึ่งกันและกัน นอกไปจากเลี้ยงความอยากดูเฝ้ารอหนังเรื่องถัดไป แล้วก็ขยายฐานแฟนคลับออกไปคนที่ฟังเพลงดูเอ็มวีเป็นอย่างแรกเพราะมันดังติดหู ก็อาจอยากรู้ว่าพวกตัวละครเหล่านี้มีเรื่องราวอะไรก็จะรอมาดูหนังด้วย
เราจะเห็นได้ว่าใน ‘สัปเหร่อ’ นั้นมีการแหย่ความอยากดูมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การขึ้นชื่อเรื่องตั้งแต่ตอนจบของหนังภาค 2.2 มาตอกย้ำในตอนท้ายของเอ็มวีเพลงดังอย่าง ‘กอดเสาเถียง’ ในปี 2562 ช่วงที่ยังไม่มีหนังเข้าฉายให้คนยังจำได้ และในปีต่อมา 2563 ก็ตามมาด้วยเอ็มวีเพลง ‘น้ำตา’ ที่เผยให้เห็นทิศทางในหนัง ‘สัปเหร่อ’ มากกว่าทุกครั้ง
แล้วก็อย่างที่เห็นกันว่าเมื่อกระแสหนังจุดติดทะลุ 100 ล้านบาท ก็มีการใช้เอ็มวีเพลง ‘ยื้อ’ ของปรีชา ปัดภัย มาต่อกระแส ที่แม้จะมีหลายฉากที่ออกมาในเอ็มวีจะสปอยล์ตัวหนัง แต่ธิติก็อาจมองว่าคนคุยกันจนแทบจะรู้เนื้อเรื่องกันหมดอยู่แล้ว ทว่าถ้าต่อกระแสไปได้อีกถึงคนจะรู้แต่ก็น่าจะอยากดูด้วยตัวเองในโรงมากกว่า และเพื่อเป็นการตอบแทนแฟนหนังที่ดูไปแล้ว เอ็มวีเพลงนี้ยังใส่ฉากสนทนาระหว่างเจิดและสัปเหร่อศักดิ์ที่ถูกธิติตัดออกจากหนังเพราะกลัวจะทำให้เศร้ามากเกินไป มาใส่ในเอ็มวีนี้ให้ชมกันด้วย
เห็นได้ว่ามันคือการเตรียมการและวางแผนมาในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ใช่ว่ากระแสนั้นเกิดเองโดยไม่ได้มีการตลาดใด ๆ
4. จังหวะที่กลายเป็นดี
ปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาช่วยให้จักรวาลไทบ้านฯ แรงขึ้นอีก คงปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการเล่าเรื่องที่กินใจเข้าถึงอารมณ์คนดู พัฒนาการของโปรดักชันที่ดีขึ้นตามลำดับอีโคซิสเต็มที่ส่งเสริมแล้ว กระแสดราม่าและปัจจัยแวดล้อมอื่นก็เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดีให้หนังอยู่มาก
ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ก่อนการฉายรอบปฐมทัศน์ของหนังภาค 2.2 เพียง 1 วัน ได้เกิดข่าวว่าสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้สั่งให้แก้ไขหนังมิเช่นนั้นจะไม่ได้ฉาย โดยฉากดังกล่าวมีความยาวราว 7-10 วินาที เป็นฉากพระเซียงฟูมฟายเสียอาการให้อดีตคนรักที่ตายจากไป มันเป็นข่าวที่สังคมทั้งที่รู้จักหนังและไม่รู้จักหนังล้วนตื่นตัวพูดถึง
เพราะหนังไทยที่ถูกแบนหรือเซนเซอร์นั้น มักมาพร้อมความน่าสนใจหวือหวาว่า เขาเล่าอะไร ฉากอะไรที่ถูกหั่น ยิ่งภาพหน้าหนังผิวเผินของไทบ้านฯ มันคือหนังตลกด้วยแล้ว เท่าที่ผ่านมาต่อให้มีประเด็นเรื่องพระแต่หนังตลกก็ไม่เคยถูกว่าอะไรทั้ง ‘หลวงพี่เท่ง’ (2548) จนมาถึง ‘หลวงพี่แจ๊ส 4G’ (2559)
ที่ถูกเพ่งเล็งหนักมาก ๆ ก็มักเป็นแนวดราม่าสะท้อนสังคมอย่าง ‘นาคปรก’ (2551) และ ‘อาปัติ’ (2558) ที่ก็พอเข้าใจได้ว่ามีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์สมณเพศในยุคปัจจุบันค่อนข้างแรง คำถามตอนนั้นที่ไม่มีใครได้ดูหนังไทบ้านฯ ภาค 2.2 คือหนังมันแรงเบอร์นั้นเลยหรือ และเมื่อเป็นประเด็นขึ้นมาในแทบทุกสื่อ แล้วทีมงานยอมตัดฉากนั้นให้เบาลงจนได้ฉาย คนก็ยิ่งอยากรู้ว่าฉากนั้นมันเป็นอย่างไร
เมื่อมีการเอามาฉายให้ดูทางออนไลน์ที่ไม่มีกองเซนเซอร์ควบคุม มันก็เลยเปิดพื้นที่ถกเถียงในสื่อกระแสหลัก และทำให้หนังอยู่ในกระแสเชิงบวก เห็นใจ ได้แอร์ไทม์ไปฟรี ๆ โดยไม่ต้องซื้อเวลาสื่อเลย ซึ่งผลพลอยได้คือคนดูทั่วไปก็เกิดความสนใจตามมาว่าทำไมพระในหนังถึงฟูมฟายขนาดนั้น รวมกับฐานแฟนคลับทั้งเก่าและใหม่ที่ช่วยกันปากต่อปาก หนังจึงทำเงินไปถึง 97 ล้านบาท
โอเคว่าแม้หลังจากนั้นจะโชคร้ายด้วยสถานการณ์ที่ไม่ลงตัวในหนังเรื่องถัด ๆ มา แต่แอร์ไทม์ฟรีกับชื่อที่ผ่านหูผ่านตาคนทั่วประเทศ มันก็เป็นสิ่งที่ต่อยอดไปสู่ความสำเร็จใน ‘สัปเหร่อ’ ได้โดยอ้อม คงปฏิเสธยากว่า สรยุทธ สุทัศนะจินดา น่าจะได้รู้จักหรือเคยชมหนังไทบ้านฯ จนเชิญธิติมาสัมภาษณ์ในรายการของเขาหลังสร้างปรากฏการณ์นั้น ส่วนหนึ่งก็คงมาจากการที่มันเคยเป็นข่าวดังด้วยนั่นเอง
ซึ่งก็อาจพูดได้ด้วยเช่นกันว่าความจริงใจ ใสซื่อ แบบอีสานของชาวไทบ้านฯ มันทำให้คนหลายคนอยากช่วยผลักช่วยเชียร์พวกเขาโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน เป็นเสน่ห์ที่หายากเช่นกัน
5. วัฒนธรรมการอ่านซับไตเติลที่แพร่ขยายขึ้น
อีกจุดหนึ่งที่นับว่าเป็นจังหวะที่ดีคือ จักรวาลไทบ้านฯ มันพุ่งแรงขึ้นในจังหวะที่เน็ตฟลิกซ์เปิดตัวในไทย เมื่อเมษายน ปี 2560 พอดี ผลพลอยได้หนึ่งที่ส่วนตัวคิดว่าเกี่ยวข้องคือ มันสร้างวัฒนธรรมการดูหนังหรือซีรีส์แบบอ่านซับไตเติลให้คนไทยแพร่หลายขึ้น
ก่อนหน้าวัฒนธรรมสตรีมมิงนั้นคนมักมีปัญหากับหนังที่ไม่ได้พากย์ไทยพอสมควร ซึ่งจะว่าไปไทบ้านฯ ที่พูดอีสานจัดเต็มก็อยู่ในสถานะที่ไม่ได้ต่างกันกับพวกหนังต่างประเทศเลยสำหรับคนไทยภูมิภาคอื่น แต่เมื่อผู้ชมถูกบังคับกลาย ๆ ให้ต้องดูหนังหรือซีรีส์ฮิตที่มีซับไตเติล การไปรับชมหนังไทบ้านฯ ที่มีซับแปลเป็นภาษากลางจึงไม่ใช่ของแสลงไปพร้อมกัน ยิ่งตัวหนังไทบ้านฯ ยุคหลังก็มีพัฒนาการการแปลที่ได้อารมณ์ตามคำอีสาน และมีความถูกต้องตามหลักภาษามากขึ้น เพราะทีมงานหลักเป็นกลุ่มที่โตขึ้นมาด้วยการใช้ภาษาทั้งกลางและภาษาถิ่นได้อย่างกลมกลืน เข้าใจลึกซึ้งการใช้งานเป็นอย่างดีด้วยนั่นเอง
6. โจทย์ที่ตรงความต้องการผู้ชม
ก็ไม่ใช่เรื่องเกินเลยหรือเหนือคาดนักที่นายทุนหรือทีมงานหลักจะเห็นดีเห็นงาม เมื่อธิติเสนอที่จะทำ ‘สัปเหร่อ’ หนังผีเรื่องแรกจากจักรวาลไทบ้านฯ เพียงมองการตลาดและความสำเร็จของหนังไทย แค่มาแนวตลกผสมผีมันก็การันตีความสนใจผู้ชมชาวไทยได้แล้ว และเป็นเทรนด์ที่ไม่เคยตกทุกภูมิภาคทั่วไทยเลยด้วย
ตรงนี้มองในแง่วัฒนธรรมก็บอกได้ว่า ผีไทย เป็นวัฒนธรรมร่วมที่คนไทยอินได้เท่าเทียมกัน ยิ่งเรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ตีโจทย์ผีในหนังตลกได้ยิ่งน่าสนใจ ตรงที่ผีไม่ต้องลดความน่ากลัวเพื่อให้หนังมันตลกอย่างเช่นบางเรื่องต้องเอาผีมาตบมุกโบ๊ะบ๊ะกับตัวละครที่กำลังหนี ขณะเดียวกันความน่ากลัวนั้นก็ยิ่งส่งอาการเสียจริตที่ดูซื่อน่าขบขันของตัวละครที่หวาดกลัวได้ดีอีกด้วย
เราจึงได้เห็นผีใบข้าวปรากฏขึ้นด้วยเมกอัปที่ชวนขนลุก มาเกาะมาหามายืนเหยียบอกโดยไม่สื่อสารอะไรเลยว่าต้องการอะไร มีเพียงการแสดงออกของเหล่าบรรดาชาวโนนคูณต่างหากที่ขับเน้นความตลกออกมา มันได้ทั้งปริศนาความน่ากลัวและเซนส์ของความขบขันสยองไปพร้อมกัน สิ่งนี้คนดูจึงไม่เสียรสชาติใดไปเลย
ต่อมาหนังพูดถึงความตายซึ่งใกล้ตัวคนเรามาก แสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเจอได้จริง ๆ ทั้งพิธีกรรม ทั้งอารมณ์ความรู้สึกที่รายล้อมงานอยู่ ในทางจิตวิทยาความกลัวตายก็เป็นสิ่งเร้าที่เราหลบเลี่ยงได้ยาก การแสดงภาพศพหรือภาพความตายแบบที่เราเอาตัวเองลงไปแทนได้ มันทำให้เกิดการเร้าอย่างต่อเนื่องตลอดเรื่อง ยากมากที่จะเบื่อหรือไม่สนใจ
จุดต่อมามันเป็นการพูดถึงความตายในแบบที่เคารพและให้เกียรติคน ยิ่งกับคนท้องถิ่น เพราะมันมีชุดคำอธิบายที่แสดงถึงภูมิปัญญาและความลึกซึ้งในวิถีชุมชนผ่านพิธีกรรมที่อาจถูกมองว่างมงายไร้เหตุผล หนังมันกอบกู้ความภูมิใจของคนอีสานในเชิงปรัชญาได้ว่าไม่ใช่สิ่งตื้นเขินหรือเขลาเบาปัญญา ยิ่งได้ใจคนดูง่ายขึ้นอีก
และจุดที่คิดว่าน่าจะมีผลไม่น้อยเช่นกันคือ หนัง ‘สัปเหร่อ’ มีกำแพงที่ต่ำในการเป็นอุปสรรคที่จะเชื้อเชิญคนที่ไม่เคยดูอะไรของไทบ้านฯ มาก่อนเลยมาเข้าโรงหนัง
มันเล่าผ่านสายตาของตัวละครใหม่อย่างเจิด ไม่ได้เล่าผ่านสายตาของตัวละครที่มีปูมหลังทับซ้อนมาหลายภาค และขณะเดียวกันตัวละครเก่าที่มีบทบาทในหนังก็ไม่ได้มีปมซับซ้อนขนาดจะไม่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา เซียงก็คือคนที่สูญเสียของรักและพยายามรั้งไว้ทั้งที่มีคนที่รักเขาอยู่รอบตัว มันก็เป็นสิ่งที่เราต่างเคยเป็นหรือพบเห็นมาในชีวิตจริง ป่อง ที่น่าจะเล่ายากสุดหากรู้จักกันครั้งแรกเขาก็ลดทอนให้เหลือเพียงคาแรกเตอร์ที่เข้าใจได้ทันทีคือคนสมัยใหม่ที่ไม่ลงตัวกับหมู่บ้านที่เขาเกิด เช่นเดียวกับตัวละครหลักอื่น ๆ ที่ถูกลดทอนบทลงให้แต่พอเพียงกับการอยู่ในหนัง มันไม่เรียกร้องความเข้าใจก่อนหน้ามากมายนักในการดูพวกเขา ถึงบอกว่า ‘สัปเหร่อ’ มีข้อได้เปรียบในการเปิดรับคนหน้าใหม่ได้ถูกจังหวะพอดี
และเน็ตฟลิกซ์ยังช่วยให้คนที่อยากดู ‘สัปเหร่อ’ แต่ไม่รู้จักจักรวาลไทบ้านฯ ได้มีที่ทางในการหาภาคแรก ๆ มารับชมได้ จนเห็นได้ว่าหนังภาคเก่ากลับมาขึ้น 10 อันดับแรกของความนิยมหนังในเน็ตฟลิกซ์ไทยอีกครั้ง
มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็คงต้องขอออกตัวว่าเป็นเพียงผู้สังเกตจากสิ่งที่ปรากฏและสำเร็จแล้ว เบื้องหลังเบื้องลึกในที่มาความสำเร็จนั้นคงมีรายละเอียดอีกมาก และก็คงไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จว่าใครทำตามแล้วจะได้ผลอย่างเดียวกันเพราะจังหวะโอกาสนั้นผ่านมาและเปลี่ยนไปตลอด แต่อย่างหนึ่งที่ข้อสังเกตเหล่านี้พอตอบได้คือ ความสำเร็จของพวกเขาไม่ใช่สิ่งที่นอนรอได้มาเอง หรือบังเอิญไปเสียทุกอย่าง อย่างที่สุรศักดิ์ผู้ให้กำเนิดจักรวาลไทบ้าน เดอะซีรีส์ได้เคยพูดไว้ว่า ขอแค่ให้ยังมีฝัน จดจำฝันตอนที่ยังเป็นเด็กนั้นไว้ให้ได้ แล้วลงมือทำอะไรสักอย่างก็พอ
ที่มา: Thibaan Channel Fanpage, Serng Music Official, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยพีบีเอส, สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส