Release Date
04/04/2024
แนว
ดราม่า/คอเมดี้/ครอบครัว
ความยาว
125 นาที
เรตผู้ชม
ทั่วไป
ผู้กำกับ
พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์
Our score
9.1[รีวิว] หลานม่า – ท่วงทำนองของเรื่องราวที่มีทุกบ้าน หนักหน่วง แต่สวยงาม
จุดเด่น
- ตัวหนังพูดถึงประเด็นร่วมของคนทุกคน ก็คือครอบครัว นั่นทำให้หนังสามารถจูนติดแทบทุกคน
- นักแสดงน้อย แต่สามารถเฉลี่ยบทได้ดี ทุกคนมีแอร์ไทม์เป็นของตัวเอง
- บิวกิ้นช่วยทำให้มวลของหนังมีแต่ความสุข และความสวยงามมากขึ้น
- เพลงประกอบของหนังที่ชวนให้เราอยากฟังต่อจนจบเครดิต
- หนังอยู่ในจุดที่ 'ทำถึง' ไม่ได้มีเซอร์ไพรส์ แต่ตอบโจทย์ในทุกแง่มุมที่คนดูต้องการ
- หากใครเบื่อหนัง GDH ในระยะหลัง หลานม่าจะกอบกู้ศรัทธาของค่ายนี้กลับมา
- หลานม่าน่าจะทริกเกอร์กับใจหลายคนพอสมควร และเราเชื่อว่ามันจะอยู่ในใจของคนดูอีกนาน
จุดสังเกต
- คนที่อ่อนไหว หริอทริกเกอร์กับเรื่องการสูญเสียญาติผู้ใหญ่คนใกล้ชิด อาจต้องดูอย่างมีวิจารณญาณ เพราะหนังมีที่จุดทริกเกอร์กับใจคนพอสมควร
- ใครที่โตมากับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคุณตา คุณยายนั้น อาจจะทำให้เรามูฟออนไม่ได้ไปหลายวัน
- เป็นรสชาติที่ไม่ค่อยได้เห็นในหนัง GDH เท่าไหร่ แม้จะเป็นรสชาติที่ไม่คุ้น แต่ทุกคนก็ควรลองดูสักครั้ง
-
คุณภาพด้านการแสดง
9.5
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.0
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
7.9
-
ความบันเทิง
10.0
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
10.0
คนที่กลับบ้านไปเมื่อไหร่ก็เจอ อาจไม่ได้อยู่ตรงนั้นเสมอไป
หนึ่งในคำโปรยจากโปสเตอร์หนัง ‘หลานม่า’ ที่พูดถึงธีมหลักอย่างครอบครัว ซึ่งเป็นคำโปรยที่บอกเล่าเนื้อหาของภาพยนตร์ ว่าเราสามารถคาดหวังอะไรได้จากหนังเรื่องนี้บ้าง และต้องบอกว่ามันต้องลุ้นอะไรให้มาก เพราะหนัง ‘ทำถึง’ ได้สมกับคำโปรยที่ใส่ไว้
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นปีที่ค่ายหนังอารมณ์ดี GDH ค่อนข้างเจอกระแสแง่ลบอยู่บ่อยครั้ง เพราะคนดูมักจะพูดถึงการที่ GDH มักจะเริ่มตัน ๆ และพยายามพาตัวเองไปเจาะกลุ่มวัยรุ่นเกินไป จนหลายครั้ง คนดูกลุ่มอื่นก็เข้าไม่ถึงหนังเหล่านั้น แม้ว่าหนังในช่วงหลังจะมีเมสเซจดี ๆ ที่ซ่อนไว้ แต่ก็ยังถือว่าโดนค่อนขอดจากกลุ่มคนดูอยู่ตลอด
ดังนั้นแล้ว ‘หลานม่า’ จึงเป็นการที่ GDH เลือกเปลี่ยนเวย์กลับมาโฟกัสกับกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น ก็คือกลุ่มครอบครัว ซึ่งนับเป็นแนวทางที่พวกเขาถนัดตั้งแต่ยังชื่อ GTH
เนื้อหาของหนังเล่าถึงเอ็ม (บิวกิ้น – พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) เด็กหนุ่มที่ชีวิตไม่เอาอ่าว วันหนึ่งเขาพบว่าลูกพี่ลูกน้องของตนอย่างมุ่ย (ตู-ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) ได้รับมรดกก้อนใหญ่เป็นบ้านราคาสิบล้านบาทจากอากง นั่นทำให้เอ็มจึงคิดแผนการได้ว่า เขาเองก็จะกลับไปดูแลอาม่า (อุษา เสมคำ) ของตนเพื่อหวังได้มรดกก้อนโตบ้าง แต่เรื่องกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะอาม่านั้นเป็นคนที่เรียกได้ว่าดื้อรั้น และไม่ฟังใคร นั่นทำให้เอ็มต้องพยายามทลายกำแพงที่อาม่าตั้งไว้ เพื่อให้ตนได้กลายเป็นที่หนึ่งของใจอาม่าในช่วงบั้นปลายชีวิต
หลานม่าเรียกได้ว่าเป็นการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของพัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ภายใต้ชายคา GDH โดยเขาเคยฝากผลงานอันโดดเด่นไว้ในซีรีส์ Project S The Series ตอน SOS skate ซึม ซ่าส์ และฉลาดเกมโกง Bad Genius: The Series ซึ่งแต่ละเรื่องก็มักเป็นเรื่องราวของวัยรุ่นที่อุดมไปด้วยดราม่าครอบครัว อันเป็นเสมือนสนามซ้อมของการทำหนังครอบครัว ก่อนที่พัฒน์จะมาลงสนามจริงด้วยหนังเรื่องหลานม่า
เฮียรู้ป่ะ ว่าสิ่งที่คนแก่ต้องการ แต่ไม่มีลูกหลานคนไหนให้ได้คืออะไร ‘เวลา’ เว้ยเฮีย
หลังสิ้นประโยคของมุ่ยในตอนต้นเรื่อง หนังก็เหมือนสับสวิตช์เดินหน้าเข้าหาความสนุกอย่างรวดเร็ว นั่นทำให้ครึ่งแรกของเรื่องหนังหลานม่าจะมีมวลอารมณ์ที่ผสมไปด้วยความเป็นโรแมนติ-คอเมดี้อยู่สูง ทว่าสิ่งที่เรากำลังดูคือไม่ใช่หนุ่มสาวจีบกัน แต่เป็นหลานชายหัวดื้อที่กำลังตามจีบอาม่าปากแข็ง ด้วยจุดประสงค์แอบแฝง แม้เรารู้จะว่าสิ่งที่เอ็มกำลังทำนั้นผิด แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเอาใจช่วยให้เอ็มได้กลายเป็นหลานรักของอาม่า
การค่อย ๆ หยอดปม ปัญหา และสร้างสะพานของความสัมพันธ์ ทำให้พัฒนาของตัวละครนั้นขับเคลื่อนไปในแง่บวก เราจะได้เห็นว่าพวกเขาทุกคนล้วนมีปัญหา มีความผิดบาปในใจ ทว่าในตอนท้ายทุกคนก็ได้รับผลของการกระทำนั้น จนได้เรียนรู้ และมองข้ามความผิดของอีกฝ่าย ซึ่งนับเป็นการวางยาอันชาญฉลาดของพัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ เพราะหนังพาเราไต่กราฟไปจนถึงจุดที่อบอวลด้วยความสุข แม้กระทั่งฉากเรียกน้ำตา ที่เราไม่ได้ร้องไห้เพราะความเศร้า แต่กลับร้องไห้เพราะความปีติ และอิ่มเอม ซึ่งการที่หนังอบอวลไปด้วยมวลความสุขตลอดเรื่องนี่แหละ นับเป็นอีกหนึ่งความสวยงามของหลานม่าที่เรียกได้ว่าทัชใจคนดูแทบทุกคน
สิ่งหนึ่งที่ต้องชมเลยคือบทเอ็ม เพราะบิวกิ้นสามารถบาลานซ์น้ำหนักของตัวละครเอ็มได้ดีมาก มีทั้งความยียวนกวนโอ๊ย และน่ารักน่าชังในเวลาเดียวกัน ทว่าความยากคือหากนักแสดงบาลานซ์อารมณ์ของตัวละครเอ็มได้ไม่ดี เอ็มจะเป็นหนึ่งในตัวละครที่คนดูเกลียดสุด ๆ อันเนื่องมาจากการกระทำของเขา ทว่าจุดนี้ถือว่าบิวกิ้นได้ดีทีเดียว เพราะมิติตัวละครที่เขาสร้างมาสามารถแบกเรื่องไว้ได้อยู่หมัด
ในฝั่งของอาม่าที่นำแสดงโดยอุษา เสมคำ แม้ว่าท่านจะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ แต่ก็ถือว่าสอบผ่านสำหรับการแสดงเรื่องแรก ซึ่งการที่เราเห็นคุณอุษาในหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ยิ่งทำให้เราเชื่อในตัวละครสนิทได้ใจมากกว่าเดิม จนในเวลา 2 ชั่วโมงนี้เธอกลายเป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่อีกคนของคนดูโดยไม่รู้ตัว
นอกจากครอบครัวของเอ็มแล้ว อีกหนึ่งตัวละครที่เราชอบเป็นการส่วนตัวคือมุ่ย ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นต้นตอให้เอ็มเริ่มกลับมาหาอาม่า ถึงแม้ว่ามุ่ยจะเป็นตัวละครที่แอร์ไทม์น้อย แต่ทุกฉากที่เธอออกมาก็แสดงให้เห็นถึงความฉลาด เจ้าเล่ห์ น่ารัก เพราะแม้ว่ามุ่ยจะเป็นตัวละครที่เทา ๆ แต่บทก็ทำให้เห็นถึงด้านที่ดีของตัวละครนี้ ยิ่งการได้ตูมาแสดง ก็ทำให้ทุกฉากที่มุ่ยออกมานั้นสะกดสายตาทุกจุด เรียกได้ว่าสมทบในจุดที่พอเหมาะเป็นอย่างมาก
หากใครรู้สึกว่าหนัง GDH ในช่วงหลังนั้นมีจังหวะค่อนข้างเร็ว เน้นความคอเมดี้เข้าสู้อย่างเดียว หลานม่าอาจจะถือว่าตอบโจทย์เลยล่ะ เพราะหนังมีจังหวะที่ช้า และให้อารมณ์คนดูได้ Take Time กับบรรยากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งการใช้เสียงเปียโนมาประกอบแทนบทพูด ทำให้แต่ละฉากที่ผ่านไป เสมือนภาพมิวสิกวิดีโอที่สวยงาม
ถ้าให้อธิบายว่าหนังหลานม่าจะมีมู้ดคล้าย ๆ กับหนังประเภทไหน เราคงพูดได้ว่าหนังเรื่องนี้มีความคล้ายกับหนังรักญี่ปุ่น เพราะการใช้ความดราม่ามาผสมคอเมดี้ ค่อย ๆ ไล่จังหวะทางอารมณ์ที่สูง เพื่อปูไปสู่ไคลแมกซ์ของพระ-นางที่กระแทกน้ำตาร่วงนั้น นับเป็นอีกหนึ่งรสชาติที่น่าจับตามองของ GDH เลยทีเดียว
ด้วยความที่หลานม่าเป็นหนังที่ตลบอบอวลด้วยมวลความสุข ต่อให้คนที่ไม่ได้มีเชื้อสายจีนก็สามารถอินกับเรื่องราวนี้ได้ เพราะหนังพูดถึงประเด็นร่วมของมนุษย์ทุกคนอย่าง ‘ครอบครัว’ และผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มที่คนไทยเราเติบโตมาด้วยกัน ฉะนั้นแล้วหนังจึงทำงานกับคนดูมหาศาล เรียกได้ว่ามาในจังหวะที่ถูกต้อง เพราะทำให้เราได้ระลึกถึงคนที่จากไป และอยากกลับไปกอดคนที่ยังอยู่
เมื่อมองดูจริง ๆ หลานม่าไม่ได้มีอะไรเซอร์ไพรส์เลย ทว่าความดีของหนังเรื่องนี้คือ มันสามารถทำตามความคาดหวังที่คนดูต้องการได้ครบ ทุกอย่างในหนังถูกเรียบเรียงออกมาได้ถูกจังหวะ ถูกที่ ถูกเวลา และพาเราไปในจุดที่ต้องชมว่า ‘ทำถึง’ มาก ๆ จนอาจเรียกได้ว่านี่คือหนังคืนฟอร์มของ GDH ในรอบหลายปี นอกจากนั้นยังเป็นการปล่อยของอย่างแท้จริงของพัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ซึ่งเราเชื่อเหลือเกินว่าหลานม่าจะถูกพูดถึงในงานสุพรรณหงส์ครั้งหน้า และมันจะถูกพูดถึงไปอีกหลายปีอย่างแน่นอน ในฐานะภาพยนตร์ครอบครัวที่ได้เข้าไปอยู่ในหัวใจของคนดูทุกคน
เพราะ ‘หลานม่า’ จะเป็นความทรงจำที่ยังคงอยู่ตลอดไป ดังเช่นเพลงประกอบของหนังที่ชื่อ “สวยงามเสมอ”