ไมเคิล เจ ฟอกซ์ (Michael J. Fox) นักแสดงชาวอเมริกัน-แคนาดา วัย 62 ปีเจ้าของบทหนุ่มน้อย มาร์ตี้ แม็กฟลาย (Marty McFly) จากหนังไซไฟไตรภาคชื่อดัง ‘Back to the Future’ ที่ทุกวันนี้กลายมาเป็นไอคอนในวัฒนธรรมป๊อปยุค 80s ที่กลายมาเป็นแม่แบบให้กับทั้งวงการฮอลลีวูด และบรรดา Pop-Culture และเขาก็ใช้เวลากว่า 10 ปีในวงการพิสูจน์ผลงานที่ได้รับการประจักษ์ในฝีมือ
ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะต้องเผชิญกับโรคพาร์กินสัน จนทำให้เขาตัดสินใจค่อย ๆ ถอยห่างจากวงการ และประกาศหยุดรับงานแสดงไปเพราะมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การพูด และการจดจำ จนล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ เขาเองก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า แม้โรคร้ายที่เขาต้องเผชิญมายาวนานกว่า 30 ปีจะเป็นอุปสรรค แต่เขาก็พร้อมที่จะกลับไปทำงานแสดงอีกครั้ง ถ้ามีบทบาทที่สอดคล้องกับตัวเขาในปัจจุบัน
ในวาระที่นิตยสาร People ฉลองครบรอบ 50 ปี บนหน้าปกฉบับล่าสุดจึงเป็นการรวมเอานักแสดงระดับไอคอนจากหลาย ๆ ยุคสมัยมารวมกันตามธรรมเนียม และ 1 ในนั้นก็คือฟอกซ์ ที่ได้มีโอกาสมาถ่ายภาพขึ้นปกและให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเป็นนักแสดงรุ่นเก๋าที่มีผลงานในระดับไอคอนของโลก และยังคงได้รับการยอมรับจากสิ่งที่เขาทำหลังจากนั้น
นอกจากนี้ ฟอกซ์ยังได้ให้ทัศนะแบบตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการเป็นดารายุค 80s ในแบบที่เขาเป็น เปรียบเทียบกับการเป็นคนดังยุคโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน เพราะนักแสดงในยุคนั้นไม่ได้มาเป็นกันได้โดยง่ายเหมือนสมัยนี้ แต่ต้องพิสูจน์กันด้วยฝีมือการทำงานให้เห็นจริง ๆ และที่สำคัญคือ ในยุคนั้นไม่ได้มีโซเชียลมีเดียที่เอื้อให้คนธรรมดากลายเป็นคนดังได้เพียงแค่เลียนแบบสิ่งที่คนอื่นทำตาม ๆ กันมา
“มีคำพูดประโยคหนึ่งที่ผมเคยพูดไว้ตอนที่ผมรับรางวัลออสการ์กิติมศักดิ์ให้ผมว่า มีคนพูดกัยผมเมื่อวันก่อน พวกเขากำลังพูดถึงชื่อเสียงและการได้รับรางวัลออสการ์ แล้วพวกเขาก็บอกว่าผมคือ ‘ดารายุค 80s’ ซึ่งผมคิดว่า ว้าว มันเจ๋งมากเลยนะที่ผมมีชื่อเสียงในยุค 80s น่ะ เพราะพวกเราแตกต่างจากยุคอื่น”
“ตอนนั้นเราแข็งแกร่งมาก เราไม่มีโซเชียลมีเดีย เราไม่มีเรื่องไร้สาระอะไรพรรค์นั้น เรามีแต่ชื่อเสียงที่มีแต่ความสามารถของเราเองแบบเพียว ๆ และมันก็เป็นช่วงเวลาที่น่าอัศจรรย์มาก ๆ “
ฟอกซ์เริ่มต้นการเป็นนักแสดงตั้งแต่ปลายยุค 70s ด้วยการรับบทสมทบในทีวีซีรีส์และซิตคอม เขาเริ่มจะเป็นที่รู้จักจากซีรีส์ ‘Palmerstown, U.S.A.’ (1980–1981) ของ CBS และเริ่มมีผลงานการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกในหนังเรื่อง ‘Midnight Madness’ (1980) และเริ่มโด่งดังอีกขั้นด้วยการรับบทนำในซิตคอม ‘Family Ties’ (1982 – 1989) ของช่อง NBC ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัล Emmy Awards 3 ปีติดต่อกัน
ก่อนจะโด่งดังในระดับฮอลลีวูดด้วยการรับบท มาร์ตี้ แม็กฟลาย ในหนังไซไฟ ‘Back to the Future’ (1985) ที่ประสบความสำเร็จจนได้แสดงในภาคต่ออีก 2 ภาค ทั้ง ‘Part II’ ในปี 1989 และ ‘Part III’ ในปี 1990 และตัวเขา รวมทั้งหนังชุดนี้ก็กลายมาเป็นไอคอนของยุค 80s ในเวลาต่อมา
ฟอกซ์เล่าต่อไปว่า การมีชื่อเสียงและกลายมาเป็นไอคอนแห่งยุคนั้นเป็นอะไรที่ยากกว่าในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองได้โดยง่าย แต่ในยุคนั้น การที่นักแสดงสักคนจะมีชื่อเสียงได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถล้วน ๆ
“สิ่งที่ช่วยให้คุณมีชื่อเสียงได้คือ คุณต้องมีความสามารถครับ เราต้องทำงานกันหนักมาก ต้องคอยดูนักแสดงคนอื่น ต้องหมั่นนั่งลงพูดคุยกับนักแสดงคนอื่น ๆ พูดคุยไถ่ถามเกี่ยวกับการแสดง พูดคุยแต่กับเรื่องนี้ แต่พอมาถึงตอนนี้ ทุกคนเอาแต่ถามว่า ใครเป็นต้นแบบของคุณ ? คุณเอาอะไรมาเป็นต้นแบบให้กับคุณ ? ที่คุณเต้นนี่มันท่าอะไรนะ ? แล้วอยู่ดี ๆ คุณก็กลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกเสียเฉย ๆ “
หลังจากสร้างชื่อในแฟรนไชส์ ‘Back to the Future’ ในปี 1991 ตอนที่เขามีอายุครบ 29 ปี เขาได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีอาการของโรคพาร์กินสัน เขาเองยังคงรับงานแสดงสมทบเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกระทั่งในปี 1995 เขาจึงเริ่มค่อย ๆ ถอยจากวงการ ฟอกซ์ได้มีโอกาสเปิดเผยข่าวช็อกเป็นครั้งแรกกับนิตยสาร People ในปี 1998 ซึ่งเขายังเปิดเผยคำวินิจฉัยของแพทย์ว่า ร่างกายของเขาอาจยังคงใช้งานเป็นปกติได้อีกไม่เกิน 10 ปี เขาได้เปิดเผยความรู้สึกถึงผลคำวินิจฉัย
“มันเป็นเรื่องยากจริง ๆ ผมเองไม่ได้อยากพูดเรื่องนี้ แต่ด้วยธรรมชาติของโรคพาร์กินสัน มันจะต้องปรากฏชัดเจนไม่ช้าก็เร็ว ผมรู้สึกกังวลกับเรื่องนี้ คนสัมภาษณ์เขาเก่งจริง ๆ เขาบอกว่า ผมจะเล่าเรื่องนี้ยังไงให้ได้ประโยชน์จากเรื่องราวของคุณให้มากที่สุดเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ซึ่งผมยังนึกไม่ถึงหรอกว่ามันจะมีผลกระทบอย่างไร ผมภูมิใจที่ผมมีความกล้าที่จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกไปสู่ภายนอก และผู้คนก็ให้ความสำคัญกับโรคนี้อย่างจริงจัง มันไม่ใช่เพราะผม-แต่โรคนี้ มันทำให้เปลี่ยนแปลงโลกได้นิดหน่อย”
ปี 2000 เขาได้ก่อตั้งมูลนิธิไมเคิล เจ ฟอกซ์ (Michael J. Fox Foundation) ขึ้นเพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ที่ได้ช่วยเหลือให้มีการพัฒนาการรักษาโรคนี้ให้ดีขึ้นมาโดยตลอดในปี 2006 มูลนิธินี้กลายเป็นผู้ให้ทุนวิจัยของเอกชนเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันรายใหญ่ที่สุด และในปี 2023 มูลนิธินี้ยังระดมทุนเพื่อช่วยเหลืองานวิจัยไปรวมทั้งหมดแล้วกว่า 2,000 ล้านเหรียญ และกลายเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนด้านการวิจัยโรคพาร์กินสันแบบไม่แสวงหากำไรรายใหญ่ที่สุดในโลก
แม้เขาเองจะต้องอยู่กับโรคพาร์กินสันมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี แต่การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือโรคพาร์กินสันของเขาก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนทำให้สถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences: AMPAS) ผู้จัดงานรางวัลออสการ์ (Academy Awards) ได้มอบรางวัลออสการ์กิติมศักดิ์ รางวัล จีน เฮอร์โชลต์ ด้านมนุษยธรรม (Jean Hersholt Humanitarian Award) ทำให้เขาเป็น 1 ใน 39 บุคคลที่ได้รับการยกย่องในงานด้านมนุษยธรรม และเขายังได้กล่าวในคำกล่าวรับรางวัลว่า โรคพาร์กินสันเป็นดั่งของขวัญที่มอบให้แก่เขาได้รู้จักการมองโลกในแง่ดี
แม้ในปี 1998 แพทย์จะวินิจฉัยให้ฟอกซ์สามารถใช้ร่างกายได้อีกไม่เกิน 10 ปี แต่ทุกวันนี้เขาเองก็ยังคงสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามอัตภาพมาอย่างยาวนานกว่าที่คิด สิ่งที่เขาแนะนำได้คงไม่ใช่แค่การมีชีวิตอยู่อย่างไร แต่จะมีชีวิตอย่างไรในแบบที่ตัวเราสามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง
“สิ่งที่ผมเคยเชื่อในตอนนั้น กับสิ่งที่ผมเชื่อในตอนนี้มันอาจจะไม่เหมือนกันหรอก แต่คุณอยากทำอะไรก็ได้ที่คุณอยากจะทำ คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อคำทำนายของคนอื่นว่าชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไร ชีวิตมันจะเป็นไปในแบบที่คุณสร้างขึ้นมาต่างหาก”