Release Date
25/04/2024
ความยาวหนัง
135 นาที
แนวหนัง
คอมเมดี้ โรแมนติก ดราม่า
ผู้กำกับ
วาสุเทพ เกตุเพ็ชร์
นักแสดง
วชิรวิชญ์ ชีวอารี, อุรัสยา สเปอร์บันด์, พรชิตา ณ สงขลา
Our score
6.3[รีวิว] เธอฟอร์แคช #สินเชื่อรักแลกเงิน – ขายหล่อน้องไบร์ท แต่เป็นหนี้ญาญ่า (ด้านการแสดง)
ขายหล่อน้องไบร์ท แต่เป็นหนี้ญาญ่าด้านการแสดง
สำหรับในเวอร์ชันไทยที่กำกับโดย วาสุเทพ เกตุเพ็ชร์ ผู้กำกับที่เคยมีผลงานเด่นคือซีรีส์ 'The Gifted Graduation' ถือว่าทำหนังในภาพรวมออกมาดูลื่นไหลพอใช้ได้อยู่เหมือนกัน แม้จะเข้าใจในข้อจำกัดหลายอย่างแต่วาสุเทพก็พยายามคงอารมณ์ของหนังต้นฉบับให้ได้มากที่สุด ความหล่อและมาดเท่ ๆ ของไบร์ท วชิรวิชญ์ ในบทโบ้ที่พอเป็นเวอร์ชันไทยก็ปรับให้ดูเป็นแบดบอยที่มีความพระเอกแสนดีซ่อนอยู่ต่างจากเวอร์ชันเกาหลีหรือเวอร์ชันไต้หวันไม่น้อย ทุกซีนที่ญาญ่าปรากฎตัวมันคือความมหัศจรรย์ทางการแสดงอย่างแท้จริง
จุดเด่น
- การแสดงของ ญาญ่า อุรัสยา สเปอร์บันด์ คือความมหัศจรรย์ที่ชี้นำอารมณ์ผู้ชมในด้านดราม่าได้อย่างน่าเชื่อถือ และทำให้ผู้ชมเห็นใจตัวละครแม้ใช้เวลาบนจอไม่นาน
- บทภาพยนตร์ปรับมาเป็นบริบทไทยทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและเหมาะกับการขายซอฟต์พาวเวอร์ไทยทั้ง อัลคาซาร์ หรือ มวยไทย และการแสดงช้างที่สวนนงนุช
- ไบร์ท วชิรวิชญ์ น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สาว ๆ อยากตีตั๋วไปเสียน้ำตากับหนังเรื่องนี้
จุดสังเกต
- หนังยังใช้เวลาในการเล่าเรื่องได้ไม่คุ้มค่า บางปมควรเล่าควรขยี้ก็ปล่อยผ่าน
- ความสัมพันธ์ของโบ้กับอิ๋ม โดยส่วนตัวหากเทียบกับเวอร์ชันไต้หวัน อาจยังตับพังได้ไม่เท่าความรักสุดรันทดระหว่าง อาจาง กับ เฮาถิง
-
โปรด้กชัน
7.0
-
บทภาพยนตร์
6.0
-
การแสดง
6.5
-
ความบันเทิง
6.0
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
6.0
หลังจากจีเอ็มเอ็ม ทีวี (GMM TV) ได้ลองส่ง ‘เพราะเราคู่กัน The Movie’ ที่เป็นการต่อยอดจากซีรีส์วายที่แจ้งเกิด ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี สู่ฉบับภาพยนตร์ฉายโรงเมื่อปี พ.ศ. 2564 นับเป็นก้าวแรกของการข้ามพรมแดน จากจอแก้วมาสู่จอเงินหรือโรงภาพยนตร์ และทิ้งห่างเพียง 1 ปีหลังส่ง ‘รักแรกโคตรลืมยาก’ หนังรีเมกเวอร์ชันไทยของ ‘You’re the apple for my eyes’ หนังโรแมนติกไต้หวันชื่อดังที่ได้แรงบันดาลใจจาก ‘แฟนฉัน’ ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2566 ในที่สุดต้นปี 2567 จีเอ็มเอ็ม ทีวีก็ส่ง ‘เธอฟอร์แคช #สินเชื่อรักแลกเงิน’ (หรือ ‘The Interest ผ่อนรักนอกระบบ’ ในชื่อเดิม) หนังรีเมกจากหนังเกาหลีเมื่อปี พ.ศ. 2557 เรื่อง ‘Man in Love’ โดยนำ ไบร์ท วชิรวิชญ์ มาพบกับ ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ สองซูเปอร์สตาร์มาพบกันบนจอใหญ่
เรื่องราวของ ‘เธอฟอร์แคช’ จะเล่าถึงโบ้ (ไบร์ท วชิรวิชญ์) นักเลงทวงหนี้ในย่านพัทยา ที่ต้องไปทวงหนี้ลุงอ๊อด (วัชระ ปานเอี่ยม) พ่อของอิ๋ม (ญาญ่า อุรัสยา) แต่เมื่อพ่อล้มป่วย อิ๋มจำเป็นต้องรับหน้าที่ในการใช้หนี้แทนพ่อ ในขณะที่โบ้เองก็รู้สึกชอบพออิ๋ม จนยื่นข้อเสนอให้อิ๋มไปออกเดตกับเขาเพื่อใช้หนี้ และยิ่งโบ้กับอิ๋มใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น ความรักของทั้งคู่ก็ยิ่งเบ่งบาน โดยไม่รู้เลยว่ากำลังมีคลื่นอุปสรรคลูกใหญ่ที่กำลังเตรียมซัดความสัมพันธ์ของทั้งคู่เพื่อพิสูจน์ระหว่างมูลค่าของเงินกับคุณค่าของความรัก
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่าผู้เขียนเองยังไม่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เวอร์ชันเกาหลีที่เป็นต้นฉบับ แต่ได้ชมฉบับรีเมกของไต้หวันที่ลงสตรีมมิงทางเน็ตฟลิกซ์ในชื่อ ‘Man in Love’ เหมือนกัน จึงทำให้เข้าใจได้ว่ามุกตลกหลายอย่างของ ‘เธอฟอร์แคช’ คือการรับมาจากหนังเวอร์ชันเกาหลีเหมือนกันตามที่เห็นในตัวอย่างทั้งกลวิธีทวงหนี้ที่โบ้เอาของทุบหัวตัวเอง, มุกกดบัตรคิวหลาย ๆ ใบ หรือการทำตารางเดตชดใช้หนี้ จะต่างกันก็คงเป็นเรื่องความเบียวที่ดูแล้วฉบับไต้หวันดูจะเล่นใหญ่ขายความโฉ่งฉ่างของมุกตลกในช่วงองก์แรกของหนัง ก่อนจะปูไปสู่ความโรแมนติกในช่วงกลาง และความตับพังในช่วงท้าย ที่บอกได้เลยว่าบทสรุปของหนังทั้งเวอร์ชันต้นฉบับและรีเมกของไต้หวันต่างก็ทำคนดูร้องไห้ตาบวมกันมานักต่อนักแล้ว
สำหรับในเวอร์ชันไทยที่กำกับโดย วาสุเทพ เกตุเพ็ชร์ ผู้กำกับที่เคยมีผลงานเด่นคือ ซีรีส์ ‘The Gifted Graduation’ ที่กวาดเสียงชื่นชมไปมากมาย ถือว่าทำหนังในภาพรวมออกมาดูลื่นไหลพอใช้ได้อยู่เหมือนกัน แม้จะเข้าใจในข้อจำกัดหลายอย่างแต่วาสุเทพก็พยายามคงอารมณ์ของหนังต้นฉบับให้ได้มากที่สุด ทั้งการเปิดเรื่องที่อัลคาซาร์เพื่อฉายภาพพัทยาให้เด่นชัด และซัดมุกตลกกันตั้งแต่เปิดตัว ป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร ลูกหนี้คนแรกกับวลีเด็ดในตัวอย่างหนังก็เรียกเสียงฮาจากผู้ชมไปได้ไม่น้อย ซึ่งการใช้พัทยาเป็นฉากหลังที่จริงแล้วผู้กำกับสามารถดันให้มันไปพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ได้อีกมากโข แต่ก็เลือกจะหยุดไว้ที่โทนอารมณ์โรแมนติกคอเมดีเบา ๆ มากกว่า
ซึ่งก็รวมถึงความหล่อและมาดเท่ ๆ ของไบร์ท วชิรวิชญ์ ในบทโบ้ ที่พอเป็นเวอร์ชันไทยก็ปรับให้ดูเป็นแบดบอยที่มีความพระเอกแสนดีซ่อนอยู่ ต่างจากเวอร์ชันเกาหลีหรือเวอร์ชันไต้หวันไม่น้อย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความหมายของเรื่องราวอยู่เหมือนกัน เพราะในเวอร์ชันเกาหลีคือผู้ชายวัย 42 ปี ที่เพิ่งตกหลุมรักครั้งแรก แถมร่างกายยังบอบช้ำจากการใช้ชีวิตนักเลงมานาน หรือในเวอร์ชันไต้หวันที่ตัวพระเอกดูเป็นนักเลงในวัยประมาณ 30 ปีเศษ ที่คิดอยากสร้างครอบครัวและซ่อนความเป็นหนุ่มแสนดีไว้ภายใต้ท่าทีกวน ๆ ต่างจากของไบร์ทที่ดูยังไงก็เป็นวัยรุ่นหล่อ ๆ แบด ๆ แถมแต่งตัวเทสต์ดีกว่าอีก 2 เวอร์ชันเป็นเท่าตัวอีกด้วย
และจากการเปรียบเทียบหนังในฉบับไต้หวันกับไทยก็จะพบว่าใน ‘เธอฟอร์แคช #สินเชื่อรักแลกเงิน’ เลือกลดบทบาทตัวละครที่เคยมีบทบาทใน 2 เวอร์ชันก่อนออก โดยเฉพาะบทพ่อของพระเอก และบทหลานสาวของพี่ชายคนโต ในกรณีแรกดูจะเป็นปัญหากับปมที่หนังต้องการสื่อ คือเรื่องที่พ่อมองโบ้เป็นคนไม่เอาไหน หรือโบ้มองว่าพ่อเกลียดตัวเอง เพราะผู้ชมก็ไม่เห็นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในระดับประจักษ์แก่สายตามากพอ ส่วนกรณีบทหลานสาวที่กว่าจะได้เห็นหน้าก็ปาไปเกือบหนังจบ อันนี้แค่ทำให้ความน่ารักในฉบับไต้หวันหล่นหายไปจากเวอร์ชันไทยแค่นั้น
แต่ปัญหาสำคัญของหนังจริง ๆ คือการพยายามยัดปมปัญหาหลายอย่างที่ถูกใส่มาแล้วไม่ได้สานต่อ ทั้งครอบครัวของโบ้ที่ไม่ยอมรับในสถานะนักเลงทวงหนี้ (ดังที่กล่าวไปแล้ว) หรือการพยายามฉายภาพช่วงองก์แรกที่มีทั้งปัญหาหนี้ในครอบครัวโบ้ ที่ทำให้เอก (รับบทโดย อุล ภาคภูมิ จงมั่นวัฒนา) พี่ชายของโบ้ทะเลาะกับเมีย จนนำไปสู่การหอบลูกหนีไปต่างจังหวัด ที่สำคัญคือนอกจากมุกตลกที่เอกตัดผมลูกค้าแหว่งตอนด่ากับเมียต่อหน้าโบ้แล้ว สถานะร้านตัดผมของเอกก็แทบไม่มีความสำคัญอะไรเลยด้วยซ้ำ ไม่สำคัญขนาดที่ว่า โบ้เซตผมเองตอนไปออกเดตกับอิ๋มอะคิดดู (ฮ่าาา) ในขณะที่ฉบับไต้หวันได้เอาประเด็นร้านตัดผมมาขยี้เรื่องความฝันของพี่ชายที่อยากมี บาร์เบอร์โพล (แท่งหลอดไฟสัญลักษณ์ร้านดัดผม) และกลายเป็นโมเมนต์ตับพังในตอนท้ายของหนังอีกที
หรือความสัมพันธ์ระหว่างโบ้กับลุงอ๊อดที่ดูจับต้องเนื้อหาสาระได้ยากเหลือเกิน ทั้งที่เป็นความแตกต่างจาก 2 เวอร์ชันก่อนชัดเจนมาก และการแสดงของพี่เจี๊ยบ วัชระ ปานเอี่ยม จริง ๆ ก็น่าสนใจเพราะมีภูมิหลังที่ถูกบอกเล่าผ่านปากของอิ๋มว่าเธอโกรธพ่อมากที่จมกับกองหนี้เพื่อเปิดร้าน แต่ก็เจ๊งจนหนี้ท่วมหัว ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาชมฉากเดิมกับพฤติกรรมที่ก๊งเหล้าขาวตอนเปิดร้านขายเต้าหู้ทอดถึงได้เข้าใจในความเจ็บปวด และกลายเป็นว่ารูปของลูกสาวตอนรับปริญญาที่ติดไว้ที่กระป๋องเงินก็คือความหวังว่าสักวันจะเก็บเงินไว้ให้ลูกสาวให้ได้ แต่พอสารตรงนี้ไม่ถูกบอกเล่าและโดนบีบเวลาในการถ่ายทอดอารมณ์ ผลลัพธ์ของมันเลยสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย
จนการมาถึงของอิ๋ม ตัวละครของญาญ่าที่ต้องบอกว่าช่วยมาแบกและสานต่อเรื่องราวของหนังสู่จุดที่ผู้ชมเฝ้ารอจริง ๆ และแม้จะต้องยอมรับว่าด้วยข้อจำกัดเลยทำให้กิจกรรมระหว่างอิ๋มกับโบ้วนเวียนแต่ ‘ไปดื่มไปดริงก์’ กินหมูกระทะ นั่งชิลริมหาด แต่ทุกซีนที่ญาญ่าปรากฏตัวมันคือความมหัศจรรย์ทางการแสดงจริง ๆ แอ็กติงของญาญ่าทำให้ประโยคธรรมดาอย่าง “อยู่ที่นี่แหละ ดูเหลวแหลกดี” ดูมีความหมาย และส่งอารมณ์ให้ผู้ชมรับรู้ถึงความจนตรอกของเธอ จนทำให้ชั่วขณะผู้ชมสามารถลืมสถานะซูเปอร์สตาร์ของเธอไปได้ ซึ่งมันทำให้เห็นว่า พอหนังได้นักแสดงที่เข้าใจว่าประโยคแต่ละท่อนต้องการสื่ออะไร ก็สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงผู้ชมได้ไม่น้อยเลยครับ
ทีนี้มาถึงไบร์ท วชิรวิชญ์ ซึ่งก็คงต้องให้ความเป็นธรรมกับคาแรกเตอร์โบ้แหละครับ เพราะแนวคิดการดีไซน์ตัวละครต่างจากตัวละคร “อาจาง” ในฉบับไต้หวัน หรือ “แท-อิล” ในฉบับเกาหลีใต้ ซึ่งแม้สถานะการเป็นคนจนบวกกับวัยรุ่นเด็กแว้นจะเอื้อให้ตัวละครนี้สามารถแสดงออกซึ่งความเลือดร้อน หัวร้อน ได้มากกว่าอาจางหรือแท-อิล แต่ก็ดันดู ‘สะอาด’ กว่าทุกเวอร์ชัน แต่งตัวดูเป็นแฟชั่นมากกว่าลุกนักเลงหัวไม้ ซึ่งแม้เปรียบมวยกับญาญ่า ในภาพรวมอาจจะได้คะแนนรองแต่พอถึงฉากโชว์ดราม่าก็ต้องยอมรับแหละครับว่าผู้ชายชื่อ ไบร์ท วชิรวิชญ์ เป็นซูเปอร์สตาร์ได้เพราะเขาก็สามารถเป็นนักแสดงคุณภาพได้เหมือนกัน ในส่วนตัวก็ยังขอชื่นชมไบร์ทในจุดนี้แม้ตัวหนังจะเป็นเวอร์ชันที่ผู้เขียนชอบน้อยที่สุดก็ตาม
มาถึงเซอร์ไพรส์สำคัญในบทมาเฟียหญิงอย่าง เจ๊วรรณ หรือ ‘แม่’ ที่ได้เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา มารับบทดาร์ก ๆ ครั้งแรกแบบไม่ห่วงสวย (แต่ก็สวยอยู่ดีนะครับ 555) มีหลายโมเมนต์เหมือนกันที่พรชิตาทำให้เจ๊วรรณดูเป็นตัวละครที่เดาทางไม่ได้ ไม่ร้ายอย่างชัดเจน แต่พอถึงบทร้ายก็โคตรน่ากลัวเลย จนแอบคิดว่าถ้ามีหนังสปินออฟอยากดูเรื่องของเจ๊วรรณนี่แหละที่สุดแล้วว่าอะไรที่หล่อหลอมให้เธอกลายมาเป็นมาเฟียเงินกู้ขาใหญ่ของพัทยาได้