The Hollywood Reporter เผยแพร่รายงานพิเศษจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวนับ 10 ราย ที่ต่างรายงานตรงกันว่า แม้จะอุตสาหกรรมจะผ่านช่วงยากลำบากจากโรคระบาดมาแล้ว แต่ดูเหมือนภูมิทัศน์ของฮอลลีวูดยังไม่กลับมาทรงตัวได้ดีนัก นั่นจึงทำให้ผู้บริหารจากสตูดิโอต่าง ๆ จึงต้องการบริหารจัดการความเสี่ยง ในขณะที่แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่เคยเป็นความหวัง ก็กลายเป็นดาบสองคมของผู้กำกับได้เช่นกัน
ในรายงานอ้างถึงบทสัมภาษณ์ของ เดเมียน ชาเซลล์ (Damien Chazelle) ผู้กำกับรางวัลออสการ์ที่เคยสร้างชื่อจาก ‘Whiplash’ (2014) และ ‘La La Land’ (2016) ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 14 สาขา และคว้าได้ 6 สาขา แต่เมื่อเขากำกับผลงานลำดับที่ 3 อย่าง ‘Babylon’ (2022) ที่แม้จะมีเครดิตของผู้กำกับ และนักแสดงระดับแม่เหล็กมากมาย แต่กลับประสบความล้มเหลวทั้งรายได้และคำวิจารณ์แบบผิดฟอร์ม
ชาเซลล์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในรายการพอดแคสต์ ‘Talking Pictures’ ว่า จากความล้มเหลวของ ‘Babylon’ แบบผิดฟอร์ม ทำให้เขามองว่า นี่อาจทำให้เขาไม่ได้รับทุนสร้างในระดับที่ใกล้เคียงกับ ‘Babylon’ อีกในโปรเจ็กต์ต่อไป หรือแม้แต่โปรเจ็กต์อื่น ๆ ของเขาในอนาคตก็ตาม (‘Babylon’ ใช้ทุนสร้าง 78–80 ล้านเหรียญ เป็นหนังของชาเซลล์ที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุด แต่ทำรายได้ Box Office ทั่วโลกเพียง 63 ล้านเหรียญ)
ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด เพราะไม่ว่าผู้กำกับระดับออสการ์ หรือผู้กำกับหน้าใหม่ก็ต่างคิดคำนึงถึงเรื่องนี้กันทั้งสิ้น ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่คนทำหนังอีกต่อไป ทั้งควันหลงจากช่วงโรคระบาด การพยายามรัดเข็มขัดในหลาย ๆ ส่วน การเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรม และการโยกย้ายบอร์ดผู้บริหาร เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันสตูดิโอต่างก็ไม่ต้องการอยู่บนความเสี่ยงในอุตสาหกรรม
นั่นจึงทำให้พวกเขาเริ่มจะเคร่งครัดกับการมอบหมายโปรเจ็กต์ให้แก่ผู้กำกับมากขึ้น สตูดิโอเริ่มลดโปรเจ็กต์การผลิตหนังให้น้อยลง ตั้งแต่ภาพยนตร์ทุนสร้างขนาดใหญ่ (ตั้งแต่ 120 ล้านเหรียญขึ้นไป ที่บวกค่าใช้จ่ายด้านการโปรโมตหนังแล้ว) จนไปถึงหนังทุนสร้างระดับกลาง (45-60 ล้านเหรียญขึ้นไป) และเริ่มเคร่งครัดมากขึ้น โดยเฉพาะกับโดยเฉพาะไตเติลที่ดัดแปลงจากผลงานลิขสิทธิ์
แหล่งข่าวที่เป็นหัวหน้าของสตูดิโอที่ไม่เปิดเผยตัวตนกล่าวว่า “หลังจากการหยุดงานประท้วง ทุกคนก็กลับเข้าสู่อุตสาหกรรมของตัวเอง และทุกอย่างก็เริ่มเสียสมดุล ทุกอย่างกำลังถูกตรวจสอบ และทุกคนต่างก็มีเจ้านายคนใหม่”
แหล่งข่าววงในยังกล่าวว่า เนื่องจากโปรเจ็กต์ที่สตูดิโอจะหยิบมาทำหนังเริ่มน้อยลง ทำให้นี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของผู้กำกับที่ไม่ได้เขียนบทด้วยตัวเอง โดยเฉพาะผู้กำกับรุ่นใหม่ ๆ การเปิดให้ผู้กำกับเข้ามาเสนอโปรเจ็กต์กับสตูดิโอ จะต้องเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จในการกำกับหนังมาแล้วหลายเรื่อง ในขณะที่ผู้กำกับหนังอินดี้หน้าใหม่ที่เคยมีหนังในเทศกาลภาพยนตร์ 1-2 เรื่องที่กำลังหาโปรเจ็กต์ที่ใหญ่ขึ้น อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่สตูดิโอมองหาอีกต่อไป
แหล่งข่าวที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของสตูดิโอไม่เปิดเผยชื่อได้เปิดเผยว่า ปกติแล้วสตูดิโอมักจะยอมให้โอกาสแก่ผู้กำกับในการพิสูจน์ตัวเองเพียงครั้งเดียว และต้องมีผลงานกำกับที่สำเร็จ 3 เรื่องติดต่อกันเป็นอย่างน้อย สตูดิโอจึงจะยอมให้พลาดในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้
ผู้บริหารกล่าวต่อไปอีกว่า ณ เวลานี้มีผู้กำกับที่มีโอกาสได้ทำงานน้อยลง แม้ว่าผู้กำกับคนนั้นจะเคยมีผลงานที่สำเร็จมาแล้วอย่างน้อย 1-2 เรื่อง ที่ได้รับความเชื่อถือให้ทำงานที่ใหญ่ขึ้น ตรงเวลา ทุนสร้างไม่บานปลาย และรักษาแบรนด์ของสตูดิโอเอาไว้ก็ตาม
การจัดการความเสี่ยงที่สตูดิโอนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าผู้กำกับจะได้ไปต่อหรือไม่อีกหนึ่งอย่างนั่นก็คือ การวัดในเชิงปริมาณด้วยคะแนนรีวิวจากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes โดยปกติแล้ว อุตสาหกรรมนี้มีความสัมพันธ์ที่ทั้งรักและเกลียดกับนักวิจารณ์ (แต่ส่วนใหญ่จะหนักไปทางเกลียด) มาโดยตลอด โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับวิธีการวัดผลที่อาจเกิดความบิดเบือนขึ้นได้ตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตาม คะแนนที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ ก็ถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ (ค่อนข้างจะ) ได้รับการยอมรับในวงกว้าง
แหล่งข่าวที่เป็นผู้กำกับหนังคนหนึ่งได้ย้ำว่า “Rotten Tomatoes คือสิ่งแรกที่ผู้คนมองเห็นเมื่อต้องการจะเสนอโปรเจ็กต์ และมันก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริหารในการว่าจ้างผู้กำกับด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อคุณต้องการจะว่าจ้างผู้กำกับ สิ่งที่คุณต้องมีในการเข้าไปในที่ประชุมก็คือ สิ่งที่จะเข้าไปนำเสนอ และผลงานที่ผ่านมาในอดีต”
ในทศวรรษที่ผ่านมา สตูดิโอหนังขนาดกลางและเล็ก อาจเป็นพื้นที่แจ้งเกิดของผู้กำกับหน้าใหม่ ๆ แต่ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิงจะกลายเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้กำกับ แต่แหล่งข่าวที่เป็นโปรดิวเซอร์ของสตูดิโอหนัง ได้กล่าวโดยอ้างอิงกับค่าใช้จ่ายด้านการทำการตลาดในการโปรโมต เปรียบเทียบระหว่างหนังฉายโรงกับหนังสตรีมมิงว่า “สตรีมมิงเป็นสิ่งที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับผู้กำกับ ในแง่ของข้อดี มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้กำกับจะโดนบอกเลิกจ้าง เพราะคุณสามารถจะสูญเสียทุนสร้างได้เพียงแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น”
“แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน เพราะแม้ว่าผู้กำกับจะสามารถจะผลิตหนังของตัวเองจนติดชาร์ตบนสตรีมมิง ไม่ว่าจะของ Netflix หรือ Nielsen ก็ตามที แต่ผู้กำกับก็ย่อมตระหนักดีว่า หากเทียบกันกับการฉายหนังในโรงหนังแบบดั้งเดิม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยในการส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านอาชีพการงานแต่อย่างใด หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ‘ไม่มีใครสนใจหรอกว่าหนังของคุณจะทำได้ดีในสตรีมมิงแค่ไหน'”