หลัง ‘Billy Lynn’s Long Halftime Walk’ ในปี 2016 และ ‘Gemini Man’ ในปี 2019 หนังที่ถ่ายแบบ 3 มิติ (3D) และไฮเฟรมเรท (HFR) ของผู้กำกับ อังลี (Ang Lee) ประสบความล้มเหลวติดต่อกัน ผู้กำกับชาวไต้หวันจึงพับแผนในการทำหนังโดยเน้นเทคโนโลยีล้ำ ๆ และกลับไปทำหนังแบบคลาสสิกเน้นดราม่า บทดี ๆ และการแสดงเยี่ยม ๆ อย่างที่ถนัดเหมือนเคย

ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ ลี ถอดใจกับการทำหนังทั้งแบบ 3D และ HFR ก็เกิดจากการพยายามทดลองของผู้กำกับเองที่อยากจะถ่ายหนังโดยใช้เฟรมเรทสูงถึง 120 เฟรมต่อวินาที ในขณะที่ภาพยนตร์ทั่วไปจะใช้เฟรมเรทที่ 24 เฟรมต่อวินาทีเพื่อผลลัพธ์ในการให้งานภาพ 3D ที่สมจริงและลื่นไหลมากขึ้นแต่ปัญหาสำคัญคือ การที่หนังจะให้ประสบการณ์อย่างที่ผู้กำกับตั้งใจไว้นั่นหมายความว่าโรงภาพยนตร์เองก็จะต้องฉายในเฟรทเรทเดียวกับที่ถ่ายมาด้วยแต่โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่เลือกที่จะฉายแบบ 24 เฟรมต่อวินาที ทั้งที่จริงแล้วเฟรมเรทต่ำสุดเพื่อให้สามารถฉายหนังอย่าง ‘Gemini Man’ ได้คือ 60 เฟรมต่อวินาที

“ผมลองถ่ายหนังทั้งแบบ 3D และ ไฮเฟรมเรท ผมพยายามจะทดลองวิธีใหม่ ๆ ในการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งภาพที่คมชัดกว่าปกติก็มาพร้อมกับแรงกดดันมหาศาลในการถ่ายทำ มันยากไปหมดเพราะมันหมายถึงคุณจะพลาดไม่ได้เลย”

อังลีให้สัมภาษณ์พร้อมกล่าวต่อถึงระบบนิเวศในการฉายภาพยนตร์ที่แม้แต่ในอเมริกาเองก็ยังไม่พร้อมสักเท่าไหร่ ” ระบบของหนัง 3D มันแย่สุด ๆ คนทำหนังก็แย่ โรงหนังก็แย่ ระบบโรงหนังมันไม่พร้อมสำหรับการฉายหนัง 3D จริง ๆ แต่ผมขอปฏิเสธที่จะโทษภาพยนตร์ในฐานะสื่อกลางในการเล่าเรื่องของผม แต่ผมคิดว่าเป็นที่ผู้ชมและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างหากที่ยังไม่พร้อม”

ถ้าคิดว่ายังเดือดไม่พอ ลี ยังกล่าวต่ออีกว่า “โรงหนังจะขี้เหนียวไปไหนเนี่ย ! ตอนดูหนังคุณจะเห็นเลยว่าภาพมันมืดมากจนมองแทบไม่เห็น แถมยังมีการกะพริบของภาพ (เทคนิคในการปิดสลับชัตเตอร์ซ้ายขวาของเครื่องฉายเพื่อหลอกสายตาให้เห็นเป็นภาพ 3 มิติ) พอโรงฉายมันออกมาแย่ผู้ชมก็เกิดอาการปวดหัวอีก จะโทษผู้ชมที่ไม่ชอบมันก็ไม่ได้เพราะระบบการฉายมันแย่จริง ๆ ทั้งที่ต้องควักเงินซื้อตั๋วแพงกว่าเดิม ถ้ามันดีจริงผู้ชมก็จะชอบมันเอง เอาง่าย ๆ หนัง 3D ต่างจากหนัง 2 มิติธรรมดามันทำงานกับสมองผู้ชมต่างกัน เราจะเทียบกันไม่ได้ หนังแบบหนึ่งต้องอาศัยความช่ำชองในการทำและฉาย ส่วนอีกแบบเหมือนงานที่ง่ายกว่าในการสร้างและฉายมันออกมา”

ทำไมอังลีถึงอยากทำหนังเน้นเทคนิค

สำหรับผลงานต่อไปของอังลีคือหนังประวัติของบรูซ ลี (Bruce Lee) ที่เขาตั้งใจแล้วว่าจะไม่อุตริถ่ายแบบไฮเฟรมเรทและ 3 มิติอีกแล้ว แต่จะกลับมาไปทำหนังแบบเรียบง่ายแต่ชนะเลิศเหมือนเดิม ซึ่งในประวัติการทำหนังของลีเองนอกจากผลงานดราม่าที่ไปเยือนและกวาดรางวัลออสการ์อย่าง ‘Brokeback Mountain’ ในปี 2005 ที่ทำให้เขาได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครอง หรือ ‘Sense and Sensibility’ ในปี 1995 ที่แม้ตัวเขาจะไม่ได้แม้แต่เข้าชิงแต่ก็เป็นการเปิดตัวในฮอลลีวูดที่สวยงาม

จนกระทั่งการข้ามพรมแดนการทำหนังดราม่าเน้นบทและการแสดงไปสู่การทดลองเทคนิดพิเศษกับ ‘Life of Pi’ ในปี 2012 หนังจากนิยายชื่อดังที่เขาขอทดลองกับการทำหนัง 3D เรื่องแรกแต่ก็ยังคงคุณภาพด้วยการคว้าออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมตัวที่ 2 มาครองพร้อมกับที่หนังได้ทั้งสาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยมโดย คลอดีโอ มิแรนดา (Claudio Miranda) และวิช่วลเอฟเฟกต์กับดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ซึ่งหลังจากการทำงานกับวิช่วลเอฟเฟกต์ในหนังเรื่องนี้ก็ทำให้ลีเห็นอุปสรรคในการถ่ายหนังที่ 24 เฟรมต่อวินาทีกับการทำวิช่วลเอฟเฟกต์ เพราะบางช็อตเกิดโมชันเบลอ (Motion Blur) จากการที่หนังไม่ได้ถ่ายเฟรมเรทมามากเพียงพอต่อการสร้างเอฟเฟกต์ในคอมพิวเตอร์

และหลังจากได้ปรึกษากับจอมป้ายยาคนทำหนังแห่งฮอลลีวูดนาม เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ที่ได้ทดลองวิจัยการถ่ายภาพยนตร์ที่ความเร็วมากกว่า 24 เฟรมต่อวินาทีหรือที่เรียกว่า ไฮเฟรมเรท (High Frame Rate – HFR) มิหนำซ้ำ คาเมรอน ยังเคยไปป้ายยาปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson) ให้สร้างไตรภาค ‘The Hobbit’ โดยถ่ายทำที่อัตรา 48 เฟรมต่อวินาทีจนให้ผลลัพธ์ในการฉายภาพ 3D ที่ลื่นไหลแม้จะเหมือนดูโฮม เธียร์เตอร์ ในโรงภาพยนตร์ก็ตาม

ไม่รอช้า ลี ก็นำมาพัฒนาและถ่ายทำ ‘Billy Lynn’s Long Halftime Walk’ ในอัตราความเร็ว 120 เฟรมต่อวินาทีในบางฉากและฉายแบบ 3D ซึ่งเมื่อออกฉายทั้งเสียงนักวิจารณ์และผู้ชมก็ให้การตอบรับไม่ดีนักและการถ่ายทำ HFR ก็ไม่ได้รับการพูดถึงอย่างที่ ลี ตั้งใจเลยเกิด ‘Gemini Man’ หนังที่ถ่ายทำด้วยอัตรา 120 เฟรมต่อวินาทีทั้งเรื่องและฉายแบบ 3D เหมือนกันผลตอบรับของหนังก็ย่ำแย่ทั้งในด้านบท การแสดง และแน่นอนว่าเทคโนโลยี HFR ก็ไม่ได้เป็นคำชมที่ส่งผลต่อรายได้หนังเท่าใดนัก

ส่วน เจมส์ คาเมรอน เองก็เพิ่งจะได้ทำหนังที่เป็น HFR ที่ตัวเองวิจัยและพัฒนาเองเมื่อปีก่อนกับ ‘Avatar: The Way of Water’ ที่มีอัตรา 48 เฟรมต่อวินาทีในบางฉากเท่านั้นเพราะโรงหนังส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมอัปเกรตเทคโนโลยีเครื่องฉายให้สว่างหรือให้อัตราการฉายที่ไวพอต่อหนังที่ถูกผลิตมาแบบ HFR

อนาคตหลังอังลีถอดใจ

แม้อัง ลี จะถอดใจแต่ไม่ใช่กับสตูดิโอชั้นนำทั้ง แอปเปิล (Apple), ดิสนีย์ (Disney), ยูนิเวอร์แซล (Universal) และวอร์เนอร์ (Warner) ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า ทรูคัท (TrueCut) เทคโนโลยีในการแปลงความเคลื่อนไหวในภาพที่ถ่ายทำมา เพราะแม้หนัง HFR ในปัจจุบันจะนิยมผลิตกันที่ 48 เฟรมต่อวินาทีแต่ในทางทฤษฎีแล้ว ทรูคัท สามารถทำงานได้กับอัตราเฟรมเรทที่หลากหลายไร้ข้อจำกัด