เดือนพฤษภาคม ปี 2004 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นปีที่หนังมหากาพย์สงครามอิงประวัติศาสตร์ที่โด่งดังที่สุดของยุคนั้นอย่าง ‘Troy’ (2004) เข้าฉาย ซึ่งหนังเรื่องนี้กลายมาเป็นอีก 1 ผลงานเอกของผู้กำกับชาวเยอรมนีผู้ล่วงลับ วูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน (Wolfgang Petersen) ผู้กำกับที่มีผลงานดัง ๆ หลายเรื่อง อาทิ ‘Das Boot’ (1981), ‘Air Force One’ (1997) และ ‘The Perfect Storm’ (2000)
ตัวเนื้อเรื่องของ ‘Troy’ ดัดแปลงเรื่องราวมาจากมหากาพย์โบราณ อีเลียด (Iliad) ประพันธ์โดย โฮเมอร์ (Homer) ยอดกวีเอกของกรีก ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหากาพย์ที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งของยุโรป ที่เป็นการอ้างอิงมาจากเหตุการณ์จริง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงอารยธรรมกรีกโบราณ ผสมกับเรื่องราวเทพปกรณัมกรีก แต่ในหนัง เดวิด เบนิออฟ (David Benioff) ผู้เขียนบทได้ถอดเรื่องราวตำนานเทพเจ้าออกไป เหลือแต่เหตุการณ์สงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพราะศักดิ์ศรีของมนุษย์แทน
เรื่องราวของ ‘Troy’ เกิดขึ้นเมื่อเจ้าชายปารีส (Paris) น้องชายของเจ้าชายเฮกเตอร์ (Hector) ยอดนักรบของทรอย บุตรของกษัตริย์เพรียม (Priam) ผู้ปกครองแห่งอาณาจักรทรอย ได้ตกหลุมรักราชินีเฮเลน (Helen) พระมเหสีของกษัตริย์เมเลเนอุส (Menelaus) ผู้ปกครองแห่งแคว้นสปาร์ตาของอาณาจักรกรีก แถมยังอุกอาจด้วยการลักพาตัวเฮเลนขึ้นเรือกลับมายังกรุงทรอยด้วย
เหตุการณ์นี้เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดเหตุการณ์สงครามกรุงทรอย (Trojan War) ขึ้น หลังจากที่อากาเมมนอน (Agamemnon) กษัตริย์ปกครองแคว้นไมซีนี (Mycenae) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชายของเมเลเนอุสที่มีความต้องการอยากตีกรุงทรอย ยุให้น้องชายของตัวเองทำสงครามเพื่อชิงตัวเฮเลนมาให้ได้ โดยมีอะคลิลิส (Achilles) ยอดนักรบฝีมือฉกาจของกรีกคอยรับมือ ซึ่งตัวหนังก็จะเล่าไปถึงตำนานม้าโทรจัน (Trojan) หรือม้าไม้ที่กองทัพของกรีกทิ้งไว้หลังจากถอยทัพ จนกระทั่งทหารของกรีกที่ซุกอยู่ภายในได้ออกมาจากตัวม้าในยามวิกาลเพื่อบุกสังหารชาวเมือง และเผาเมืองทรอยจนราบคาบ
ตัวหนังถือว่าประสบความสำเร็จด้านรายได้ในระดับที่น่าพอใจ ด้วยตัวเลข Box Office 497 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 175–185 ล้านเหรียญ เป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดอันดับที่ 8 ของปี 2004 แต่ในอีกทางหนึ่ง ตัวหนังก็ได้รับคำวิจารณ์แบบเสียงแตก รวมทั้งยังเป็นหนังที่นักแสดงหลายคนที่ร่วมงานในหนังเรื่องนี้กลับไม่ชอบในตัวหนังสักเท่าไหร่
หนึ่งในนั้นก็คือ ออร์แลนโด บลูม (Orlando Bloom) เจ้าของบทเจ้าชายปารีส ซึ่งเขาได้มาย้อนรอยด้วยการทายไดอะล็อกเด่น ๆ ของเขา ในคลิป YouTube คอนเทนต์ ‘Know Their Lines’ ของช่อง Variety แต่ที่เล่นเอาตกใจไม่น้อยก็คือ พอถึงคิวที่เขาพูดถึงหนังเรื่อง ‘Troy’ ที่แม้ว่าจะเป็นก้าวแรกที่ส่งให้เขาโด่งดังในแฟรนไชส์หนังบล็อกบัสเตอร์ทั้ง ‘The Lord of the Rings’ และ ‘Pirates of the Caribbean’ ในเวลาต่อมา แต่สุดท้ายเขาเองก็ไม่ได้อยากจะจดจำบทบาทตัวปัญหาต้นเรื่องของสงครามกรุงทรอยเท่าไรนัก
“โอ้พระเจ้า ‘Troy’ เหรอ ว้าว…ผมคิดว่าผมเคยทำให้หนังเรื่องนี้หายไปจากหัวสมองผมแล้วนะเนี่ย (หัวเราะ) คือมีคนมากมายที่ชอบหนังเรื่องนี้นะครับ แต่สำหรับผม การแสดงในตัวละครนั้นมันก็เหมือนกับ (ทำท่าปาดคอ) ผมได้รับอนุญาตให้พูดเรื่องนี้ได้ยังเนี่ย ? สิ่งที่ผมจะพูดก็คือ ผมไม่อยากเล่นหนังเรื่องนี้ ไม่อยากแสดงเป็นตัวละครตัวนี้เลยครับ”
ย้อนไปก่อนหน้านั้น บลูมไม่ใช่คนแรกที่ขัดข้องหมองใจ เพราะมีนักแสดงอีกหลายคนที่ออกมาแสดงความไม่ประทับใจกับหนังมหากาพย์เรื่องนี้เอาเสียเลย คนแรกคือ ปีเตอร์ โอทูล (Peter O’Toole) นักแสดงพระเอกระดับตำนานชาวไอริชผู้ล่วงลับ ที่ตอนนั้นเขาเป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ ผู้รับบทเป็นกษัตริย์เพรียม (Priam) ผู้ปกครองกรุงทรอย พ่อของเจ้าชายปารีส
โอทูลเคยวิพากษ์วิจารณ์หนังเรื่องนี้ รวมทั้งผู้กำกับอย่างปีเตอร์เซนในแง่ลบแบบเผ็ดร้อน ในระหว่างที่เขาปรากฏตัวตอนเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ซาวานนาห์ (Savannah Film Festival) ที่เขาไม่สามารถทนดูหนังเรื่องนี้และบทของตัวเองได้จนจบ
“โอ๊ย… (‘Troy’) แ-่งคือหายนะชัด ๆ ไอ้ผู้กำกับ…ไอ้เยอรมันคนนั้นน่ะ มันคือตัวตลกชัด ๆ เลย พอทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้วหนังเข้าฉาย ผมเข้าไปดู ผมถึงกับเดินออกมาหลังจากหนังฉายไปแล้ว 15 นาที…อย่างน้อยผมก็มีฉากดี ๆ อยู่ฉากหนึ่ง…”
รวมทั้งแบรด พิตต์ (Brad Pitt) เจ้าของบทอะคลิลิส (Achilles) ยอดนักรบของกรีกที่สุดท้ายถูกคร่าชีวิตด้วยลูกศร เคยให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า เขาเองก็ผิดหวังกับหนังเรื่องนี้ไม่น้อย ถึงขั้นส่งผลให้เขาเปลี่ยนวิธีการตัดสินใจรับงานแสดงในภายหลังอย่างสิ้นเชิง
“ที่ผมต้องรับแสดงในหน้ง ‘Troy’ คือคิดว่าตอนนี้ผมคงน่าจะพูดได้ทุกอย่างแล้ว มันเป็นเพราะว่าผมถอนตัวออกมาจากหนังอีกเรื่อง และผมก็ต้องทำอะไรบางอย่างให้กับสตูดิโอ ผมก็เลยถูกดึงไปทำงานใน ‘Troy’ แทนน่ะ คือมันไม่ได้เจ็บปวดอะไรหรอกครับ แต่ผมรู้ว่าวิธีการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้ มันไม่ใช่วิธีการที่ผมอยากจะให้มันเป็น”
“ผมไม่สามารถเลิกทำตัวเองให้เป็นจุดเด่นได้เลย มันทำให้ผมแทบบ้า ผมคงติดนิสัยมาจากตอนทำงานกับเดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) นั่นแหละ ผมพยายามจะสื่อสารอะไรบางอย่างใน ‘Troy’ แล้วตัวผมเองก็ทำผิดพลาดลงไปในหนังเรื่องนั้น”
“ส่วนตัวผมไม่มีอะไรจะตำหนิวูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน เลยครับ และ ‘Das Boot’ ก็เป็น 1 ในหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล แต่อะไรบางอย่างมันทำให้ ‘Troy’ กลายเป็นงานเชิงพาณิชย์ไปแล้ว ทุก ๆ ช็อตในหนังมีแต่แบบว่า ฮีโรมาแล้ว ! ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรเลย มันเลยทำให้ช่วงนั้นผมตัดสินใจว่า ผมจะเลือกทุ่มเทกับเรื่องราวที่มีคุณภาพเท่านั้น”
หรือแม้แต่ ไดแอน ครูเกอร์ (Diane Kruger) ผู้รับบทราชินีเฮเลน ก็ไม่ประทับใจในการทำงานในหนังเรื่องนี้เช่นกัน
“สตูดิโอไม่จำเป็นต้องจ้างฉัน เพราะพวกเขาคิดว่าฉันผอมเกินไป แต่วูล์ฟกังเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อฉัน ฉันต้องบินไปฮอลลีวูดเพื่อออดิชันหน้ากล้อง พวกเขาให้ฉันลองสวมชุดและพยายามทำให้ฉันดูอวบมากขึ้น มันเป็นช่วงเวลาที่ฉันต้องนั่งอยู่ในออฟฟิศที่เต็มไปด้วยชายสูงอายุที่มองคุณขึ้น ๆ ลง ๆ ฉันรู้สึกเหมือนถูกนำเสนอในแบบที่ไม่ใช่ตัวฉันเลย”
“(ในกองถ่าย) มันน่าตื่นเต้นมาก แต่มันก็เหมือนกับละครสัตว์เลย ฉากใหญ่มาก ๆ มีปาปารัสซีนั่งเฮลิคอปเตอร์มารอแบรด พิตต์ด้วย มันบ้าไปแล้ว! และพอหนังเข้าฉาย สื่อมวลชนในเยอรมนีก็เข้มงวดกับฉันมาก พวกเขาเจอกับพ่อของฉันที่ไม่ได้เจอกันมาตั้งแต่อายุ 13 ปี พวกเขากุเรื่องขึ้นมาด้วย มันเป็นอะไรที่โหดร้ายมาก”
“ฉันกำลังคิดว่า ‘มันจะเป็นแบบนี้ตลอดไปเลยเหรอ ? ฉันไม่สามารถจัดการมันได้’ แบรดเห็นว่าฉันกำลังอารมณ์เสีย เขามาที่ห้องของฉันและบอกว่า ‘ผมได้ยินมาบ้าง และผมอยากให้คุณรู้ว่า ตอนนี้คุณเป็นหนึ่งในพวกเรานะ อย่าปล่อยให้ใครเข้ามาหาคุณเด็ดขาด’ เขาใจดีอย่างไม่น่าเชื่อ และมันก็ทำให้ฉันเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างจริง ๆ “
บลูมกล่าวทิ้งท้ายในการพูดถึง ‘Troy’ ว่า แม้เขาจะไม่ได้ชอบบทบาทนี้ แต่เขาเองก็มองว่าหนังเรื่องนี้ยังมีความยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการแสดงของเหล่านักแสดงทั้งพิตต์, อีริก บานา (Eric Bana) ผู้รับบทเป็นเจ้าชายเฮกเตอร์ และโอทูล แต่เขาก็ยอมรับว่า การแสดงบทบาทเจ้าชายผู้ขี้ขลาดก็ยังเป็นอะไรที่ทำให้เขาไม่อยากจะนึกถึงและจดจำ
“มันขัดแย้งกับทุกสิ่งที่ผมรู้สึกโดยสิ้นเชิงเลยครับ จนถึงจุดหนึ่ง มันมีบทที่เขียนว่า ‘ปารีสคลานไปตามพื้นเพราะถูกบางคนทุบตี ก่อนจะจับขาพี่ชายของเขา…’ แล้วผมก็แบบว่า ‘ผมทำแบบนี้ไม่ได้’ ตัวแทนของผมในตอนนั้นก็บอกผมว่า ‘ตอนนี้แหละคือเวลาที่นายจะทำแบบนี้ได้!’ แล้วผมก็หลงเชื่อประโยคนั้นตามที่ตัวแทนของผมบอก ผมเลยคิดว่านั่นแหละเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมลบประโยคนั้นออกไปจากใจ”