แม้ว่าในแวดวงภาพยนตร์สารคดีจะถือเป็นวงการเล็ก ๆ ที่มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบและสนใจหนังแนวนี้อยู่ในระดับหนึ่ง แต่มีหนังสารคดีไม่กี่เรื่องที่โด่งดังในระดับที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง หนึ่งในนั้นก็คือ ‘Super Size Me’ (2004) หนังสารคดีจากผลงานการกำกับและเล่าเรื่องโดย มอร์แกน สเปอร์ล็อก (Morgan Spurlock) ที่กระตุ้นเตือนให้ผู้ชมเห็นรูปธรรมของการบริโภคอาหารฟาสต์ฟูดที่มีผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาว รวมทั้งการตีแผ่ให้ผู้คนตระหนักถึงการมุ่งทำกำไรของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่จูงใจผู้บริโภคด้วยโปรโมชันสุดคุ้ม จนทำให้เกิดการรับประทานอาหารอย่างผิดหลักโภชนาการและเกินความพอดี
ล่าสุดมีข่าวร้ายรายงานว่า สเปอร์ล็อก ผู้กำกับนักทำสารคดี ผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาสารคดียอดเยี่ยมจาก ‘Super Size Me’ เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ที่พักส่วนตัวทางตอนเหนือของนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยอาการแทรกซ้อนจากโรคมะเร็งในวัย 53 ปี
ครอบครัวของสเปอร์ล็อก ที่ประกอบไปด้วยลูกชาย 2 คน ลาเคน (Laken) และคัลเลน (Kallen) เบน สเปอร์ล็อก (Ben Spurlock) และฟิลลิส สเปอร์ล็อก (Phyllis Spurlock) ผู้เป็นพ่อและแม่, เครก (Craig Spurlock) แบร์รี (Barry) หลานสาว หลานชาย อดีตภรรยาคนที่ 2 อเล็กซานดรา เจมีสัน (Alexandra Jamieson) และซารา เบิร์นสไตน์ (Sara Bernstein) อดีตภรรยาผู้เป็นแม่ของลูก ๆ ได้ยืนยันการเสียชีวิตของมอร์แกนผู้เป็นที่รัก
เครก น้องชายผู้ทำงานร่วมกับมอร์แกนในหลายโปรเจกต์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “มันเป็นวันที่ช่างน่าเศร้า ในขณะที่เราต้องบอกลาพี่ชายของผม มอร์แกนได้ให้อะไรไว้มากมายผ่านทางงานศิลปะ ความคิด และความอาทรเอื้อเฟื้อของเขา ณ เวลานี้โลกได้สูญเสียบุคคลที่แสนวิเศษ และอัจฉริยะด้านการสร้างสรรค์ที่แท้จริง ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมงานกับเขา”
มอร์แกน วาเลนไทน์ สเปอร์ล็อก (Morgan Valentine Spurlock) เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 1970 ที่เมืองพาร์เกอร์สเบิร์ก (Parkersburg) รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย (West Virginia) เขาทำอาชีพเป็นนักเขียนบทละคร และโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ ก่อนจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับและแสดงในหนังสารคดี ‘Super Size Me’ ที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวที่มีเด็กสาววัยรุ่น 2 คน ฟ้องร้องร้านอาหารฟาสต์ฟูดชื่อดัง McDonald’s ที่กล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกเธอเป็นโรคอ้วน
สเปอร์ล็อกได้นำเอาเหตุการณ์นี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการทดลองด้วยการกิน McDonald’s ทุกมื้อตลอดระยะเวลา 30 วัน โดยไม่รับประทานอาหารอย่างอื่นเลย และตั้งเงื่อนไขว่า เขาจะไม่ปฏิเสธหากพนักงาน Upsell ให้เพิ่มเป็นขนาดพิเศษ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายด้วย ก่อนทดลอง สเปอร์ล็อกมีความสูง 188 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 84 กิโลกรัม สุขภาพแข็งแรง ระบบการทำงานของร่างกายทุกส่วนเป็นปกติ
สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาในการทดลองคือ แม้ตอนแรกนักโภชนาการจะคาดเดาว่า การบริโภคฟาสต์ฟูดทุกวันไม่น่าจะส่งผลต่อร่างกายที่แข็งแรงของสเปอร์ล็อก แต่ในการทดลองวันแรก ๆ เขาก็กลับมีปัญหาด้านร่างกายให้เห็นแทบจะทันที เช่น ปวดท้อง เหงื่อออก เวียนหัว หน้ามืด มีระดับคอเลสเตอรอลและปริมาณไขมันพอกตับเพิ่มขึ้น ตับและไตทำงานแย่ลง ลงพุง รวมทั้งยังส่งผลไปถึงขั้นอารมณ์แปรปรวน และสมรรถภาพทางเพศลดลง
ตลอดทั้ง 30 วัน น้ำหนักของเขาเพิ่มขึ้นมาอีก 11 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยแล้วเขาได้รับพลังงานมากถึง 5,000 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือคิดเป็น 2 เท่าของแคลอรีที่ผู้ชายปกติควรได้รับต่อวัน
‘Super Size Me’ เป็นสารคดีเรื่องแรก ๆ ในยุคนั้นที่ถ่ายทำและนำเสนอด้วยเทคนิคแบบเรียลลิตี ซึ่งเป็นสไตล์คล้ายกับนักทำสารคดีชื่อดังอีกคนอย่าง ไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) ที่มีความดูง่ายและฉีกภาพเดิม ๆ ของสารคดีเครียด ๆ ในเวลานั้น ตัวหนังได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม รวมทั้งยังสามารถทำรายได้จากการเข้าฉายทั่วโลกสูงถึง 22 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างเพียง 65,000 เหรียญ
นอกจากนี้ สารคดี ‘Super Size Me’ ยังส่งผลการเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมอาหารฟาสต์ฟูดไม่น้อย ทั้งตัวของ McDonald’s ที่ตัดสินใจยกเลิกการขายอาหารขนาดพิเศษ (Super Size) และออกเมนูที่เน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ในแง่แรงบันดาลใจ ยังส่งผลให้มีหนังสารคดีที่ตีแผ่วงการอุตสาหกรรมอาหาร และอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมออกมาหลายเรื่อง อาทิ ‘Food, Inc.’ (2008) ‘Cowspiracy: The Sustainability Secret’ (2014) และ ‘Hungry for Change’ (2012)
รวมทั้ง ‘Super High Me’ (2007) หนังสารคดี DVD ล้อเลียนที่ดั๊ก เบนสัน (Doug Benson) นักแสดงตลกและผู้สนับสนุนเสรีกัญชา ที่บันทึกการทดลองงดสูบกัญชา 30 วัน และกลับไปสูบกัญชาทุกวันต่อเนื่องอีก 30 วัน เพื่อทดสอบผลด้านสุขภาพที่มีผลกระทบจากกัญชา
สเปอร์ล็อกก่อตั้งบริษัทโปรดักชัน Warrior Poets ขึ้นในนิวยอร์กในปี 2004 โดยมีผลงานการผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดีมากมาย จนกระทั่งเขาได้กำกับและผลิตหนังสารคดีภาคต่อ ‘Super Size Me 2: Holy Chicken!’ (2017) ซึ่งเป็นการทดลองเปิดร้านขายแซนด์วิชไก่ เพื่อพาผู้ชมไปสำรวจต้นตอที่มาของการเลี้ยงไก่ในฟาร์มที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และสำรวจที่มาของไก่ในอุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่ ที่สามารถคุมต้นทุนให้ต่ำที่สุดตั้งแต่ต้นน้ำจากฟาร์มเลี้ยง จนไปถึงมือของผู้บริโภคที่เป็นปลายน้ำ
หนังเรื่องนี้ถูก YouTube ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อเผยแพร่บนสตรีมมิง YouTube Red ในราคา 3.5 ล้านเหรียญ แต่สุดท้าย YouTube ตัดสินใจงดเผยแพร่สารคดีนี้ หลังจากที่สเปอร์ล็อกได้เผยแพร่บทความยอมรับในข้อหาคุกคามทางเพศของเขา อันเนื่องมาจากกระแส #MeToo โดยเขาสารภาพว่า เขาเคยนอกใจอดีตแฟนสาวและภรรยา เคยล่วงละเมิดอดีตผู้ช่วยในบริษัทโปรดักชันของเขา ซึ่งได้ยุติข้อกล่าวหาแล้ว และเขายังสารภาพว่า เคยถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุข่มขืนหญิงสาวในช่วงขณะเรียนมหาวิทยาลัย ก่อนที่เขาจะประกาศลาออกจากบริษัท Warrior Poets อย่างเป็นทางการ และห่างหายจากการทำภาพยนตร์สารคดีในเวลาต่อมา