เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 77 (The 77th annual Cannes Film Festival) ได้มีการจัดงานประกาศรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) ขึ้นเช่นเคยเหมือนกับทุกปี และปีนี้ก็ยังคงมีการมอบรางวัลพิเศษเพื่อเชิดชูเกียรติคนทำงานในวงการภาพยนตร์ หรือที่เรียกกันว่ารางวัลปาล์มทองคำกิตติมศักดิ์ (Honorary Palme d’Or)
ซึ่งในปีนี้มีผู้ที่ได้รับรางวัลกิตติมศักดิ์จากแขนงต่าง ๆ ได้แก่ เมอรีล สตรีป (Meryl Streep) นักแสดงหญิงรุ่นใหญ่วัย 74 ปี, สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) สตูดิโอแอนิเมชันระดับโลกที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการคว้ารางวัลออสการ์ จากแอนิเมชัน ‘The Boy and the Heron’
รวมทั้งจอร์จ ลูคัส (George Lucas) ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์แฟรนไชส์หนังบล็อกบัสเตอร์แถวหน้าทั้ง ‘Star Wars’ และ ‘Indiana Jones’ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชันชั้นนำ ลูคัสฟิล์ม (Lucasfilm) บริษัทผลิตเกม ลูคัสอาร์ตส์ (LucasArts) บริษัทผลิตวิชวลเอฟเฟกต์ อินดรัสเทรียล ไลต์ แอนด์ เมจิก (Industrial Light and Magic) สตูดิโอผลิตงานด้านเสียง สกายวอล์กเกอร์ซาวนด์ (Skywalker Sound) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งระบบมาตรฐานเสียง ทีเอชเอ็กซ์ (THX)

ลูคัส ผู้ให้กำเนิดมหากาพย์สงครามอวกาศ ‘Star Wars’ ที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน ได้เข้าร่วมสนทนาก่อนเข้ารับรางวัล Honorary Palme d’Or ที่มีผู้กำกับชั้นครู ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) เป็นผู้มอบรางวัล
ตามรายงานของ Variety เขาได้กล่าวถึงข้อคิดเห็นและคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงแฟรนไชส์ ‘Star Wars’ ที่เขาได้พบเห็น ซึ่งคำวิจารณ์หนึ่งก็คือ การที่แฟรนไชส์หนัง ‘Star Wars’ ในวิสัยทัศน์ของเขามักจะถูกนักวิจารณ์ภาพยนตร์ส่วนหนึ่งกล่าวหาว่าเป็นหนังที่เต็มไปด้วยนักแสดงผิวขาว ลูคัสถือโอกาสพูดอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับข้อคิดเห็นเหล่านั้น
“พวกเขา (นักวิจารณ์หนัง) มักจะพูดกันว่าในหนัง ‘มีแต่ผู้ชายผิวขาว’ แต่ (ในหนัง) ส่วนใหญ่น่ะมีแต่เอเลียนทั้งนั้น ! แนวคิดที่อยู่ในหนังก็คือ พวกคุณควรจะยอมรับในสิ่งที่ตัวละครเป็น ไม่ว่าพวกเขาจะตัวใหญ่ มีขนฟู จะตัวเขียว ๆ หรืออะไรก็ตาม ไอเดียที่มีอยู่ในหนังก็คือทุกคนทั้งหมดเท่าเทียมกัน”
ลูคัสยังกล่าวแบบขยี้มุกต่อไปอีกว่า มีสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวในจักรวาล ‘Star Wars’ ที่ถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดก็คือพวกหุ่นดรอยด์
“ในความคิดของผมก็คือ ผู้คนมักจะเลือกปฏิบัติต่อบางสิ่งบางอย่าง และไม่ช้าก็เร็ว มันก็จะเกิดขึ้น ที่ผมจะบอกก็คือ ตอนนี้เรากำลังทำ (ทุกสิ่งทุกอย่าง) ด้วย AI ด้วยการบอกว่า ‘เราไม่สามารถเชื่อถือเจ้าพวกหุ่นยนต์เหล่านั้นได้'”
ในประเด็นเรื่องเกี่ยวกับสีผิวและเชื้อชาติ ลูคัสกล่าวเพิ่มเติมถึงการเพิ่มความหลากหลายที่เขาใส่เข้ามาไว้ในหนังมาตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องราวใน ‘Star Wars: Episode IV – A New Hope’ (1977) และในภาคต่อมาอย่าง ‘Star Wars: Episode V – The Empire Strikes Back’ (1980) แล้ว

“ในภาคแรก (ที่เดินทางไปถ่ายทำในประเทศตูนีเซีย) มีชาวตูนีเซียนผิวดำ 2-3 คนได้มาร่วมแสดงด้วย และในภาค 2 ผมก็มีบิลลี ดี วิลเลียมส์ (Billy Dee Williams – รับบทเป็นแลนโด คาลริสเชียน) รวมทั้งในไตรภาคต้น (Prequel Trilogy) ที่พวกเขาก็รุมวิพากษ์วิจารณ์ด้วย ผมก็มีแซมมวล แอล. แจ็กสัน (Samuel L. Jackson รับบทเป็นปรมาจารย์ เมซ วินดู) เขาไม่ได้เป็นวายร้ายเหมือนแลนโด แต่เขาเป็นถึง 1 ในเจไดแถวหน้าเชียวนะครับ”
นอกจากการพยายามส่งเสริมความหลากหลายให้กับจักรวาลหนังชุดนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ลูคัสยังตอบโต้คำวิจารณ์ภาพลักษณ์ของผู้หญิงในหนังจักรวาล ‘Star Wars’ ที่เขาได้ชี้ให้เห็นว่า เขาต้องการให้ผู้หญิงในจักรวาลนี้มีบทบาทที่เต็มไปด้วยความกล้าหาญมาโดยตลอด
“คุณคิดว่าใครคือฮีโรจริง ๆ ในเรื่องราวพวกนั้นกันล่ะ ? คุณคิดว่าเจ้าหญิงเลอาเป็นคนแบบไหนกัน ? เธอเป็นถึงหัวหน้าของกลุ่มกบฏ เธอคือคนที่นำพาเด็กหนุ่มที่ไม่ค่อยรู้อะไร (ลุค สกายวอล์กเกอร์) และคนมุทะลุ (ฮาน โซโล) ไปด้วย ผมเองก็รู้ว่านี่มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนที่ทำอะไรไม่ค่อยจะได้ ที่ต้องพยายามจะกอบกู้เหล่ากบฏด้วยท่าทีตลก ๆ เหล่านั้น และนั่นก็เป็นสิ่งเดียวกับที่ราชินีอมิดาลาเป็นด้วย”
“คุณไม่สามารถให้ผู้หญิงใส่กางเกงแล้วจะคาดหวังให้เธอเป็นฮีโรได้ พวกเธอจะสวมชุดเดรส พวกเธอสวมชุดอะไรก็ได้ที่พวกเธอต้องการจะใส่ แต่มันเป็นเรื่องของสมอง ความสามารถในการคิดวางแผน และตรรกะของพวกเธอต่างหาก และนั่นแหละคือสิ่งที่ฮีโรเป็น”