นอกจากเรื่องราวการผจญภัย การเติบโต และการเดินทางอันแสนทรหดและยาวนานของฟูริโอซ่า (Furiosa) ในหนัง ‘Furiosa: A Mad Max Saga’ ก่อนจะสร้างตำนานนักรบแห่งถนนโลกันตร์ ในฐานะอิมเพอเรเตอร์ ฟูริโอซ่า (Imperator Furiosa) ใน ‘Mad Max: Fury Road’ (2015) แล้ว
วิสัยทัศน์และวิชวลการเล่าเรื่อง ตั้งแต่การจัดองค์ประกอบภาพ การตัดต่อ และ Pace การเล่าเรื่องของผู้กำกับ เจ้าของตำนานอย่าง จอร์จ มิลเลอร์ (George Miller) ยังเป็นอีกจุดที่โดดเด่น และได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายสำนักอีกด้วย
อีกเกร็ดหนึ่งของหนังเรื่องนี้ที่หลายคนอาจจะทราบแล้วก็คือ ในภาคนี้ มิลเลอร์ตัดสินใจเปลี่ยนตัวนักแสดงผู้รับบทฟูริโอซ่า ตัวละครยอดนิยมในภาค ‘Fury Road’ จากชาร์ลิซ เธอรอน (Charlize Theron) เป็นอันยา เทเลอร์-จอย (Anya Taylor-Joy) เนื่องจากมิลเลอร์รู้สึกว่าเทคโนโลยีการย้อนวัย หรือ De-Aged ที่ฮอลลีวูดนำมาใช้ย้อนวัยนักแสดงในหนังหลาย ๆ เรื่องก่อนหน้านั้นยังทำออกมาได้ไม่น่าประทับใจนัก จึงเกิดความรู้สึกว่าเทคโนโลยีนี้อาจจะยังไม่พร้อมที่จะนำมาใช้ย้อนวัยของเธอรอนให้กลับไปเป็นวัยสาวได้ตามท้องเรื่อง
แต่เบื้องหลังของหนังสำหรับใครที่ดูมาแล้วอาจไม่ทันสังเกตก็คือ แม้ว่าตัวหนังจะเป็นการเล่าข้ามบางช่วงของหนังไปหลายปี แต่หลายคนคงสังเกตเห็นได้ถึงใบหน้าของฟูริโอซ่า 2 ช่วงวัยที่มีความคล้ายคลึงราวกับเป็นคนเดียวกัน ทั้งตอนช่วงที่ฟูริโอซ่าวัยเด็กที่ถูกแก๊งไบเกอร์ ฮอร์ด (Biker Horde) ของวอร์ลอร์ดดีเมนทัสจับตัวมา ไปจนถึงช่วงวัยสาวที่กำลังทำงานให้กับอิมมอร์ทัน โจ
ซึ่งฟูริโอซ่าวัยเด็กนั้นรับบทได้อย่างยอดเยี่ยมโดย อะไลลา บราวน์ (Alyla Browne) นักแสดงเด็กวัย 14 ปี ที่เคยร่วมงานกับมิลเลอร์มาแล้วในหนังแฟนตาซี ‘Three Thousand Years of Longing’ (2022) ซึ่งเทเลอร์-จอยได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘The Kelly Clarkson Show‘ ถึงเบื้องหลังการสร้างสรรค์เทคนิคที่นำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ผสมผสานใบหน้าของเธอกับบราวน์ (ที่ไม่เหมือนกันเลยสักนิด) ให้ออกมากลมกลืนไร้รอยต่อ
“จอร์จ มิลเลอร์ มีความคิดนี้มาตั้งแต่แรก ๆ แล้วล่ะค่ะ เพราะว่าผู้ชมเริ่มคุ้นเคยกับตัวละครฟูริโอซ่า (ใน ‘Fury Road’ ที่รับบทโดย ชาร์ลิซ เธอรอน) ไปแล้ว เขาเลยต้องการให้การเปลี่ยนแปลงของนักแสดงทั้ง 2 คน (บราวน์ และเทเลอร์-จอย) ที่รับบทเป็นฟูริโอซ่านั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ฉันก็เลยได้ใช้เวลา 2 วันในการทำสิ่งที่บ้าที่สุดเท่าที่เคยจินตนาการได้ ด้วยการเอาใบหน้าของพวกเรามาผสมเข้าด้วยกัน”
เทเลอร์-จอยเล่าเสริมว่า ในช่วงต้น ๆ ของหนัง มีการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ ด้วยการผสมใบหน้าของเธอเอง 35% มาใส่ไว้บนใบหน้าของบราวน์ แล้วค่อย ๆ ไล่ระดับเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 80% จนกระทั่งกลายเป็นใบหน้าของเธอเองในที่สุด เทเลอร์-จอยเห็นขั้นตอนเหล่านี้ถึงกับอุทานว่า “มันเป็นอะไรที่โคตรจะบ้าเลยค่ะ”
ในเวลานี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเชิงเทคนิคเกี่ยวกับการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ผสมผสานใบหน้าของนักแสดงทั้ง 2 คน แต่มีข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า บริษัท Double Negative หรือ DNEG และบริษัท Framestore 2 สตูดิโอวิชวลเอฟเฟกต์สัญชาติอังกฤษ เป็นผู้ทำงานหลักด้านวิชวลเอฟเฟกต์ให้กับหนังเรื่องนี้
รวมทั้งในเครดิตของหนังยังระบุชื่อ Metaphysic AI ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปด้านปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีในการลดอายุให้กับนักแสดง ก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ด้วยเช่นกัน
เมื่อไม่นานมานี้ ในระหว่างการประชุม AI on the Lot 2024 ที่เกี่ยวกับการพบปะพูดคุยของบุคคลในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เอ็ด อัลบริช (Ed Ulbrich) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเนื้อหาของ Metaphysic AI ได้เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างผลงานภาพยนตร์ 3 เรื่องที่จะออกฉายในปีนี้
โดยเรื่องที่ได้รับการเปิดเผยว่ามีการใช้เทคโนโลยี AI แล้วก็คือ หนังของสตูดิโอ Sony เรื่อง ‘Here’ ผลงานล่าสุดของผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเม็กคิส (Robert Zemeckis) ที่จะมีการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อ De-Aged นักแสดงนำทั้ง ทอม แฮงส์ (Tom Hanks) และโรบิน ไรต์ (Robin Wright) แบบเรียลไทม์
ในการสัมภาษณ์ดังกล่าว เทเลอร์-จอยยังกล่าวย้ำว่าตัวเองทราบดีถึงปัญหาด้านกฎหมายและจริยธรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะในวงการฮอลลีวูดที่หลายส่วนยังไม่ให้การยอมรับ อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว
“มันเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้อุตสาหกรรมของเราต้องหยุดงานประท้วง มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวจริง ๆ และฉันคิดว่า ถ้าคุณจะใช้มันจริง ๆ คุณก็ต้องซื่อสัตย์กับมัน และจะต้องได้รับความยินยอมเสมอ ในชีวิตคนเรา การไม่ได้รับความยินยอมในเรื่องใด ๆ ก็ตามนั่นแหละคือสิ่งที่น่ากลัว”