Release Date
30/05/2024
ความยาวหนัง
130 นาที
แนวหนัง
ดราม่า
ผู้กำกับ
ไมเคิล แมนน์ (Michael Mann)
ผลงานเด่นผู้กำกับ
็Heat (1995), The Insider (1999), Ali (2001), Collateral (2004), Miami Vice (2006),Public Enemies (2009), Black Hat (2015), Tokyo Vice (2022)
นักแสดงนำ
อดัม ไดร์ฟเวอร์ (Adam Driver), เพเนโลปี ครูซ (Penélope Cruz), เชลีน วูดลีย์ (Shailene Woodley), แพทริค เดมป์ซีย์ (Patrick Dempsey), แกเบรียล ลีโอน (Gabriel Leone)
Our score
8.8[รีวิว] Ferrari – สนามชีวิตของม้าลำพอง
'Ferrari' นับเป็นหนังคุณภาพดูสนุกอีกเรื่องที่ไม่อยากให้พลาดในปีนี้ ด้วยบทที่เขียนมาอย่างดีถ่ายทอดโดยยอดผู้กำกับอย่างไมเคิล แมนน์ ก็ทำให้ได้หนังไบโอพิคคุณภาพอีกเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่ต้องชมในโรงภาพยนตร์
-หากจะหาความเซอร์ไพร์สจากบทหนังคงยากเพราะมันได้ทับรอยทั้งประวัติศาสตร์จากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วและจากภาพที่ผู้ชมผ่านตาจากหนังมากมาย เป้าหมายตัวละครอย่าง เอนโซ เฟอร์รารี ไม่ได้ต่างจากหนังเรื่องอื่นคือการคว้าชัยในสนามแข่งรถ แต่สิ่งสำคัญที่มาร์ตินกับเยตส์ได้เลือกเป็นกระดูกสันหลังในการปรุงบทหนังให้ออกมาพิเศษแบบนี้ได้คงเป็นการให้ค่ากับเรื่องเล่าของ "เฟอร์รารี" ทั้งในฐานะนามสกุลหรือครอบครัว และ ชื่อทางธุรกิจที่แสดงออกถึงความทะเยอทะยานของเอนโซ พอบทหนังถูกหยิบใส่มือของไมเคิล แมนน์ เราก็ได้เห็นการตีความบทหนังที่ดีอยู่แล้วด้วยวิสัยทัศน์เฉพาะตัวโดยเฉพาะกับ 'Ferrari' แมนน์ยังคงไว้ลายการเป็นนักเล่าเรื่องที่นำเสนอชีวิตตัวละครได้รอบด้าน
-'Ferrari' ได้พิสูจน์และประทับตราให้อดัม ไดร์ฟเวอร์ในฐานะนักแสดงคุณภาพยุคใหม่ที่การผ่านหนังสตาร์วอร์ส (Star Wars) ไม่ได้บดบังแสงแห่งนักแสดงของเขาเหมือนคนอื่น
-เพเนโลปี ครูซ ที่ถ่ายทอดบทบาทแม่ผู้แหลกสลายผ่านสายตาและมูฟเมนต์แบบที่แทบไม่ต้องพึ่งพาคำพูด โดยเฉพาะซีนในสุสานตอนต้นเรื่องที่พาผู้ชมแหลกสลายด้วยการสื่อสารผ่านดวงตาและใบหน้าของเธอ
- ด้วยบทให้แสงและแอร์ไทม์เธอมากพอเลยทำให้ เชลีน วูดลีย์ได้ฉายเสน่ห์และสร้างความอบอุ่น พื้นที่ปลอดภัยให้เอนโซ เฟอร์รารี และทำให้ผู้ชมพอจะเห็นอกเห็นใจสถานะเมียนอกกฎหมายของเธออยู่บ้าง
- แกเบรียล ลีโอน (Gabriel Leone) นักแสดงหนุ่มที่กำลังจะรับบทนักแข่งฟอร์มูล่าวันอีกเรื่องในมินิซีรีส์ 'Senna' ทางเน็ตฟลิกซ์ ในปีนี้ ฉายเสน่ห์บนจออย่างน่าสนใจ เสียดายว่าหนังให้เวลาเขาน้อยเกินไป
จุดเด่น
- เป็นหนังไบโอพิคที่เลือกพูดถึง 'เฟอร์รารี' ได้น่าสนใจและน่าติดตาม
- การแสดงของ อดัม ไดร์ฟเวอร์ และ เพเนโลปี ครูซ คือส่วนสำคัญที่ทำให้หนังน่าจดจำ
- เป็นการกลับมากำกับหนังใหญ่ของ ไมเคิล แมนน์ ที่สมการรอคอยถึง 9 ปี
จุดสังเกต
- น่าเสียดายที่หนังให้เวลาตัวละคร อัลฟองโซ เดอ ปอร์ติโก น้อยไปหน่อย
- ฉากตอนไคลแม็กซ์มีภาพสยดสยอง ดังนั้นอาจต้องรับรู้เป็นข้อมูลสำหรับผู้ชมที่มีความอ่อนไหวกับภาพความรุนแรงในสนามแข่งรถ
-
โปรดักชัน
9.0
-
บทภาพยนตร์
8.5
-
การแสดง
9.0
-
ความบันเทิง
8.5
-
ความตุ้มค่าในการรับชมในโรงภาพยนตร์
9.0
ชื่อของ ‘Ferrari’ คงไม่มีอะไรที่ผิดเพี้ยนไปจากคำนิยามว่า หรูหรา แรงจัด และอันตราย ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากถ่ายทอดออกมาผ่าน Products อย่างรถสปอร์ตราคาแพงที่น้อยคนจะเอื้อมถึงแล้ว มันยังเป็นที่รู้กันดีว่าชีวิตของเอนโซ เฟอร์รารี (Enzo Ferrari) อดีตนักแข่งรถสูตรหนึ่งที่อาศัยความทะเยอทะยานมาก่อตั้งบริษัทยานยนต์ชื่อเดียวกับนามสกุลตัวเองที่เขาภูมิใจยิ่งสิ่งใด ก็ทั้งฟุ้งเฟ้อ และใช้ชีวิตแบบกล้าได้กล้าเสีย จนถีบให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักแม้กับคนที่ไม่ได้อยู่ในโลกของยนตรกรรมเอง
สำหรับหนัง ‘Ferrari’ ที่เรากำลังพูดถึงนี้จะหยิบยกเอาช่วงซัมเมอร์ปี ค.ศ. 1957 (ตรงกับ พ.ศ. 2500) ในเวลานั้นชีวิตของเอนโซ เฟอร์รารี (รับบทโดย อดัม ไดร์ฟเวอร์, Adam Driver) พุ่งความสนใจของเขาไปที่ชัยชนะในการแข่งรถฟอร์มูลาวัน สนามมิลลิ มิเกลีย (Mille Miglia) ซึ่งเขาวางเดิมพันมันด้วยอนาคตของบริษัทเฟอร์รารี ในขณะที่ลอรา (รับบทโดย เพเนโลปี ครูซ, Penélope Cruz) ภรรยาของเฟอร์รารีเองก็ยังทำใจกับการสูญเสียลูกชายคนเดียวไปไม่ได้ และสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเธอเริ่มระแคะระคายว่าสามีตัวเองกำลังนอกใจและสร้างครอบครัวลับ ๆ กับลีนา ลาร์ดี (รับบทโดยเชลีน วูดลีย์, Shailene Woodley) ซึ่งเป็นสิ่งที่เอนโซ เฟอร์รารีพยายามรักษาเป็นความลับมาตลอด แต่ในเมื่อผู้กุมชะตากรรมของบริษัทเฟอร์รารีครึ่งหนึ่งคือลอรา เอนโซจำต้องทำทุกทางเพื่อกอบกู้สถานการณ์บริษัทที่กำลังดิ่งเหว และประคองชีวิตครอบครัวที่เริ่มระหองระแหงก่อนที่รถสปอร์ตม้าลำพองเฟอร์รารีจะเหลือแต่ชื่อ
อันที่จริง ‘Ferrari’ ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่พูดถึงชีวิตของเอนโซ เฟอร์รารี แต่ก่อนหน้านี้มีทั้ง ‘Enzo Ferrari’ หนังปี ค.ศ. 2003 ที่อิตาลีสร้างเอง หรือ ‘Ferrari: Race to Immortality’ หนังสารคดีปี ค.ศ. 2017 ที่มีเหตุการณ์คาบเกี่ยวกันทั้งในแง่ชีวประวัติและเรื่องราวความหลงใหลในโลกแห่งความเร็วของเอนโซ แต่สิ่งที่น่าจะทำให้ ‘Ferrari’ ลอยตัวเหนือหนังเรื่องอื่นก็คงเป็นสไตล์การเล่าแบบไมเคิล แมนน์ (Michael Mann) ผู้กำกับที่ขึ้นชื่อในการนำชีวประวัติหรือเสี้ยวชีวิตคนดังมาเล่าได้อย่างมีสีสัน ดังที่เคยพิสูจน์มาแล้วกับ ‘Ali’ หนังปี ค.ศ. 2001 ที่เคยไปเยือนเวทีออสการ์มาแล้ว
โดยในครั้งนี้บทหนังของทรอย เคนเนดี้ มาร์ติน (Troy Kennedy Martin) และบร็อค เยตส์ (Brock Yates) ได้จับเอาผลของการสูญเสียลูกชายของเอนโซกับลอรา เฟอร์รารี และการสร้างครอบครัวอีกครั้งกับลีนา ลาร์ดี เป็นปมที่เอนโซต้องก้าวข้ามและสะสาง คู่ขนานไปกับแผนการคว้าชัยชนะบนสนามมิลลิ มิเกรีย ที่มีอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะปมเรื่องความปลอดภัยของรถสูตร 1 ของเฟอร์รารี ที่มักจะเกิดอุบัติเหตุในระหว่างแข่งขัน จนสื่อตั้งฉายาว่าเป็น “ยานยนต์สังหารลูกชาย” ซึ่งปมความปลอดภัยของรถก็ดันไปชนกับปมสูญเสียลูกชายของเอนโซ และไม่ต่างกับสิ่งที่เอนโซรักสุดชีวิตอีกอย่างก็คือบริษัทนั่นเอง
ดังนั้นเป้าหมายตัวละครอย่าง เอนโซ เฟอร์รารี แม้จะไม่ได้ต่างจากหนังเรื่องอื่นคือการคว้าชัยในสนามแข่งรถ แต่สิ่งสำคัญที่มาร์ตินกับเยตส์ได้เลือกเป็นกระดูกสันหลังในการปรุงบทหนังให้ออกมาพิเศษแบบนี้ได้ คงเป็นการให้ค่ากับเรื่องเล่าของ “เฟอร์รารี” ทั้งในฐานะนามสกุลหรือครอบครัว และชื่อทางธุรกิจที่แสดงออกถึงความทะเยอทะยานของเอนโซ โดยบทหนังก็ทำให้เห็นว่า การแข่งขันไม่ได้มีแค่สนามแข่งรถ แต่ยังรวมถึงสนามชีวิตของเอนโซ เฟอร์รารี 2 ฝั่ง ทั้งด้านลอรา เฟอร์รารี ที่ต้องการยื้อยุดนามสกุลเฟอร์รารี โดยยังไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ของเอนโซกับลีนา ลาร์ดี อยู่ในนามสกุลเฟอร์รารีที่เธอเป็นหุ้นส่วนสร้างมากับสามีแต่แรก และในขณะเดียวกันก็คือฝั่งการแข่งรถที่เขาหลงใหลและหมายปักธงเฟอร์รารีให้ยิ่งใหญ่ในโลกยนตรกรรม
อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า หากจะหาความเซอร์ไพรส์จากบทหนังคงยาก เพราะมันได้ทับรอยทั้งประวัติศาสตร์จากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว และจากภาพที่ผู้ชมผ่านตาจากหนังมากมาย แต่พอบทหนังถูกหยิบใส่มือของไมเคิล แมนน์ เราก็ได้เห็นการตีความบทหนังที่ดีอยู่แล้วด้วยวิสัยทัศน์เฉพาะตัว โดยเฉพาะกับ ‘Ferrari’ แมนน์ยังคงไว้ลายการเป็นนักเล่าเรื่องที่นำเสนอชีวิตตัวละครได้รอบด้าน โดยเฉพาะการกำกับอดัม ไดร์ฟเวอร์ ที่ไม่ได้แค่เน้นเมกอัป แต่งตัวทำผมให้เหมือนเท่านั้น แต่การให้ไดร์ฟเวอร์ได้แสดงด้านที่เป็นมนุษย์ของเฟอร์รารี ที่มีทั้งด้านที่น่ายกย่องและน่าขยะแขยงของชายผู้อยู่เบื้องหลังรถสปอร์ตโลโก้อาชาลำพอง
แมนน์ให้โอกาสไดร์ฟเวอร์ในการปล่อยของไว้หลายช่วงมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านดราม่าหนักหน่วงน้ำตาแตก อย่างฉากไปเยี่ยมหลุมศพลูกชายตอนต้นเรื่อง หรือตอนที่เขาต้องรับมือกับเมียทั้งสองคนที่มีทั้งความภักดีและนับถือต่อลอรา และรักแบบสุดหัวใจกับลีนา ลาร์ดี และลูกชายของเขาที่เกิดกับเธอ ดังนั้นสิ่งที่ ‘Ferrari’ ได้พิสูจน์และประทับตราให้อดัม ไดร์ฟเวอร์ในฐานะนักแสดงคุณภาพยุคใหม่ที่การผ่านหนัง Star Wars ไม่ได้บดบังแสงแห่งนักแสดงของเขาเหมือนคนอื่น
แต่ที่เซอร์ไพรส์ที่สุดคือ เพเนโลปี ครูซ ที่ถ่ายทอดบทบาทแม่ผู้แหลกสลายผ่านสายตาและมูฟเมนต์แบบที่แทบไม่ต้องพึ่งพาคำพูด โดยเฉพาะซีนในสุสานที่ถูกเรียงต่อจากซีนของอดัม ไดร์ฟเวอร์ ในขณะที่ฝ่ายชายได้โอกาสระบายทุกอย่างเป็นคำพูด แต่ครูซกลับไม่ได้บทพูดสักไลน์ แต่แมนน์เลือกแช่กล้องที่ใบหน้าของเธอ เพื่อให้ถ่ายทอดความเจ็บปวดของลอรา เฟอร์รารี แบบไม่มีคำบรรยายใดจะสมกับความรู้สึกที่เธอมอบให้คนดูอีกแล้ว และมันก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงหวงนามสกุลเฟอร์รารียิ่งนัก เพราะมันไม่ใช่เรื่องของนามสกุลมหาเศรษฐีหรือชื่อบริษัทที่ดูอลังการ แต่มันคือนามสกุลสุดท้ายที่อยู่บนหลุมศพลูกชายที่เธอรักสุดหัวใจนั่นเอง
ส่วนเชลีน วูดลีย์ ที่ห่างหายจากภาพยนตร์ไปนาน กลับมาคราวนี้แม้บทลีนา ลาร์ดี จะสุ่มเสี่ยงกับการแสดงภาพเมียน้อยคอยรัก แต่ด้วยบทให้แสงและแอร์ไทม์เธอมากพอ เลยทำให้วูดลีย์ได้ฉายเสน่ห์และสร้างความอบอุ่น พื้นที่ปลอดภัยให้เอนโซ เฟอร์รารี และทำให้ผู้ชมพอจะเห็นอกเห็นใจสถานะเมียนอกกฎหมายของเธออยู่บ้าง โดยเฉพาะซีนที่เธอเริ่มทวงนามสกุลจากเอนโซให้กับลูกชายของเธอกับเขา
และนอกจากฝั่งครอบครัวและชู้รักของเอนโซแล้ว หนังยังมีตัวละครอีกหนึ่งตัวที่น่าสนใจคือ อัลฟองโซ เดอ ปอร์ติโก นักแข่งในทีมเฟอร์รารีรายใหม่ ที่มาพร้อมรูปโฉมหล่อเหลาและข่าวกุ๊กกิ๊กกับดาราสาวฮอลลีวูด ซึ่งได้แกเบรียล ลีโอน (Gabriel Leone) นักแสดงหนุ่มที่กำลังจะรับบทนักแข่งฟอร์มูลาวันอีกเรื่องในมินิซีรีส์ ‘Senna’ ทางเน็ตฟลิกซ์ในปีนี้ ซึ่งสำหรับลีโอนก็อาจจะต้องใช้คำว่าน่าเสียดายไปหน่อยที่หนังให้เวลาตัวละครนี้น้อยเกินไป เพราะแม้จะไม่ได้เป็นสมการหลักในชีวิตของเฟอร์รารี แต่กลับมีบทบาทในหนังอย่างยิ่งในช่วงไคลแม็กซ์สุดช็อกที่อาจทำให้หลายคนอ้าปากค้างด้วยความสยดสยอง
โดยรวมต้องบอกว่า ‘Ferrari’ นับเป็นหนังคุณภาพดูสนุกอีกเรื่องที่ไม่อยากให้พลาดในปีนี้ ด้วยบทที่เขียนมาอย่างดีถ่ายทอดโดยยอดผู้กำกับอย่างไมเคิล แมนน์ ก็ทำให้ได้หนังไบโอพิกคุณภาพอีกเรื่อง ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่ต้องชมในโรงภาพยนตร์