โทนี วินซิเกร์รา (Tony Vinciquerra) CEO ของ Sony Pictures Entertainment ได้กล่าวในระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทโซนี่ (Sony) ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บริษัทกำลังจะมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในกระบวนการผลิตภาพยนตร์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพในการผลิตและลดงบประมาณทุนสร้าง
ตามรายงานของ The Hollywood Reporter วินซิเกร์ราได้กล่าวในที่ประชุมว่า “ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการสร้างภาพยนตร์ในปัจจุบันก็คือค่าใช้จ่าย เราจึงให้ความสำคัญกับ AI เป็นอย่างมาก เรากำลังพิจารณาในการหาวิธีใช้ AI เพื่อผลิตภาพยนตร์สำหรับโรงภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ AI เป็นหลัก”
และประเด็นเกี่ยวกับข้อมติที่เกิดขึ้นหลังจากการประท้วงหยุดงานของ SAG-AFTRA และ WGA เมื่อปี 2023 วินซิเกร์รากล่าวว่า “ข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากการนัดหยุดงานเมื่อปีที่แล้ว และข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากการเจรจาของ IATSE สมาคมแรงงานภาพยนตร์และละครเวที – International Alliance of Theatrical and Stage Employees) และสหภาพแรงงานนานาชาติแห่งทีมสเตอร์ (International Brotherhood of Teamsters) จะถูกนำมาใช้กำหนดคร่าว ๆ ว่าเราสามารถทำอะไรด้วย AI ได้บ้าง”
เมื่อช่วงฤดูร้อนปี 2023 เกิดความวุ่นวายขึ้นในฮอลลีวูด เมื่อสมาชิกสหภาพแรงงานในฮอลลีวูด ตั้งแต่สหภาพแรงงานผู้เขียนบทภาพยนตร์และบทละครของสหรัฐฯ (Writers Guild of America – WGA) จนไปถึงการรวมตัวประท้วงของสมาชิกสมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ (The Screen Actors Guild – SAG) และสหพันธ์ศิลปินโทรทัศน์และวิทยุแห่งอเมริกา (American Federation of Television and Radio Artists – AFTRA)
ทั้ง 3 สมาคมรวมตัวกันนัดหยุดงานประท้วงเป็นครั้งแรกในรอบหลายศตวรรษ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแรงงานในฮอลลีวูดกับพันธมิตรผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers – AMPTP) ที่ประกอบไปด้วยสตูดิโอเจ้าใหญ่ ๆ เกี่ยวกับประเด็นด้านสวัสดิภาพของแรงงาน โดยหนึ่งในประเด็นเหล่านั้นก็คือ การเพิ่มการคุ้มครองสิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ในวงการ ตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนบท จนถึงขั้นตอนด้านวิชวลเอฟเฟกต์ เช่นการสแกนหน้านักแสดงมาใช้ซ้ำได้ไม่จำกัด โดยไม่ได้รับความยินยอมและไม่ต้องจ่ายค่าจ้างหรือค่าชดเชยไปตลอดกาล
หลังสิ้นสุดการประท้วงที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 118 วัน การโต้เถียงเกี่ยวกับศักยภาพและความเหมาะสมในการใช้ AI ในงานโปรดักชันและสื่อต่าง ๆ ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ยังมีการถกเถียงมาโดยตลอด มีการพบว่าสตูดิโอหลายแห่งมีการนำเอา AI มาใช้ รวมทั้งการที่ OpenAI ได้เปิดตัวโมเดลใหม่ที่มีชื่อว่า Sora ซึ่งเป็น AI ที่สามารถ Generative คลิปวิดีโอจากข้อความอธิบาย (Prompt) ให้กลายเป็นวิดีโอที่สมจริงได้ภายในไม่กี่นาที จนส่งผลให้หลายฝ่ายกลัวว่าอาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อบุคลากรในสายงานด้านภาพยนตร์และวิดีโอ
กรณีหนึ่งก็คือ มีผู้ชมส่วนหนึ่งค้นพบว่า หนังสยองขวัญ ‘Late Night with the Devil’ ที่ได้รับคำตอบรับและคำวิจารณ์ชื่นชมล้นหลาม ได้มีการแทรกภาพที่สร้างขึ้นด้วย Generative AI ภายหลัง คาเมรอน แคร์นส์ (Cameron Cairnes) และโคลิน แคร์นส์ (Colin Cairnes) ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ได้ตอบโต้ประเด็นดังกล่าวกับ Variety ว่า มีการนำเอา Generative AI เพื่อสร้างภาพกราฟิกที่เป็นภาพนิ่งสำหรับใช้ในหนังเพียงแค่ 3 ภาพ และปรากฏให้เห็นในหนังเพียงสั้น ๆ
ซึ่งคล้ายกับกรณีที่มีผู้สังเกตเห็นความผิดปกติในรายละเอียดของภาพโปรโมตภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ‘Civil War’ ซึ่งเป็นภาพจินตนาการสภาพของบ้านเมืองในสหรัฐอเมริกาหลังเหตุสงครามกลางเมือง ที่ถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียของสตูดิโอ A24 จนกระทั่งแหล่งข่าวคนหนึ่งของสตูดิโอได้ออกมายอมรับกับสื่อว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่สร้างขึ้นจากการใช้ Generative AI จริง ๆ
กรณีที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมากอีกกรณีก็คือ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Netflix ได้ปล่อยภาพยนตร์สารคดีแนว True Crime เรื่อง ‘What Jennifer Did’ ที่บอกเล่าเหตุการณ์ของเจนนิเฟอร์ แพน (Jennifer Pan) หญิงเชื้อสายเวียดนาม-แคนาดาวัย 24 ปี และแฟนหนุ่ม ที่ร่วมกันว่าจ้างมือปืนให้สังหารพ่อและแม่ของตัวเองเพื่อหวังมรดกในปี 2010
โดยมีผู้สังเกตว่า ภาพที่อ้างว่าเป็นภาพอดีตของแพนที่ปรากฏในสารคดี มีความผิดปกติในหลาย ๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณฟันและนิ้วมือของเธอ จนกระทั่งโปรดิวเซอร์ของสารคดีได้ออกมากล่าวว่า รูปถ่ายดังกล่าวเป็นของเธอจริง แต่มีการใช้ AI เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับแหล่งที่มาของภาพ ประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงว่า นี่ถือเป็นการบิดเบือนเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสารคดี ที่ผู้ชมย่อมคาดหวังความเป็นจริงของข้อมูลมากกว่าหนังประเภทอื่น ๆ หรือไม่
มุมมองของคนทำงานในฮอลลีวูดที่มีต่อเทคโนโลยี AI ก็ต่างกันออกไปด้วย เจฟฟรีย์ แคตเซนเบิร์ก (Jeffrey Katzenberg) ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ DreamWorks คาดการณ์ว่า AI จะช่วยเข้ามาลดต้นทุนของการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันได้มากถึง 90% โดยเฉพาะการลดต้นทุนด้านเวลาและบุคลากร ที่แต่เดิมต้องใช้เป็นจำนวนมาก ส่วนแคธลิน บริลฮาร์ต (Kathryn Brillhart) ผู้กำกับภาพ และ Visual Production Supervisor ของภาพยนตร์ ‘Rebel Moon’, ‘Black Adam’ (2022) และซีรีส์ ‘Fallout’ กล่าวว่า AI นั้นมีส่วนในการช่วยพัฒนาฝีมือและทักษะในสายงานได้เร็วขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
ในขณะที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการเปิดเผยการศึกษาสำรวจบุคลากรระดับหัวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง 300 คน มีรายงานว่า 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เครื่องมือ AI นั้นเป็นตัวสนับสนุนให้มีการเลิกจ้าง ลดจำนวน และควบรวมงานในบริษัทของตนเอง โดยแรงงานที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษคือ นักพากย์ ศิลปินออกแบบคอนเซปต์ (Concept Artist) ทีมงานด้านวิชวลเอฟเฟกต์ และงาน Post-Production
The Hollywood Reporter รายงานว่า มูลเหตุที่ Sony พยายามนำเอา AI มาใช้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการดิ้นรนจากความล้มเหลวด้าน Box Office ที่ขาดทุน และคำวิจารณ์หนังที่ส่งผลเสียต่อภาพรวม ตั้งแต่ ‘Madame Web’ ที่ทำรายได้เท่าทุนสร้างที่ 100 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับเมื่อย้อนกลับไปตอนที่หนัง ‘Morbius’ เข้าฉายในปี 2022 ที่ทำรายได้ 170 ล้านเหรียญ ส่งผลให้แผนการพยายามจะปั้นแฟรนไชส์ใหม่ในจักรวาล Spider-Man ของ Sony ต้องล้มเหลว
หลังจากที่มีข่าวว่า CEO ของ Sony Pictures จะมีการนำเอา AI เข้ามาเป็นตัวช่วยในการสร้างหนังในอนาคต ที่จะช่วยลดงบประมาณทุนสร้าง ผู้ที่ออกมาตอบโต้กับเรื่องนี้แบบทันควันก็คือ คริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ (Christopher Miller) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์แอนิเมชันในจักรวาล ‘Spider-Man’ ของ Sony Pictures Animation ทั้ง ‘Spider-Man: Into the Spider-Verse’ (2018) ที่ได้รับรางวัลออสการ์ และภาคต่อ ‘Spider-Man: Across the Spider-Verse’ (2023) ได้ออกมายืนยันผ่านทาง X ส่วนตัวว่า จะไม่มีการนำเอา Generative AI มาใช้ในขั้นตอนการผลิตหนังภาคจบ ‘Spider-Man: Beyond the Spider-Verse’ ที่มีกำหนดฉายในปี 2025 เป็นอันขาด
“จะไม่มีการใช้ Generative AI ใน ‘Beyond the Spider-Verse’ และจะไม่มีวันทำแบบนั้น เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ คือการสร้างสไตล์ภาพแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีสตูดิโอ CG ไหนเคยทำมาก่อน ไม่ใช่การใช้งานที่ขโมยมาจากศิลปินคนอื่น ๆ มาจนไม่มีแนวทางของตัวเอง”