นับตั้งแต่ที่สถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences – AMPAS) ได้จัดงานประกาศรางวัลออสการ์ (Academy Awards) เป็นครั้งแรกขึ้นในปี 1929 หรือเมื่อ 96 ปีที่แล้ว เพื่อทำการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับนักแสดง ภาพยนตร์ และบุคลากรในฮอลลีวูดที่มีผลงานยอดเยี่ยมเป็นที่ประจักษ์ในรอบปีที่ผ่านมา แต่ไม่น่าเชื่อว่าในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา กลับไม่เคยมีการมอบรางวัลในสาขาสตันต์แมนมาก่อนเลย

แต่หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีหนังแอ็กชันหลายเรื่องที่แสดงศักยภาพของงานด้านสตันต์ได้ยอดเยี่ยม จนได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์และผู้ชมมากมาย ก็มีความพยายามผลักดันและเรียกร้องให้ทางสถาบัน AMPAS เพิ่มหมวดหมู่รางวัลเกี่ยวกับสายงานด้านสตันต์แมน แบบเดียวกับที่มีการมอบรางวัลให้กับสายงานเบื้องหลังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านวิชวลเอฟเฟกต์ เครื่องแต่งกาย การแต่งหน้า ออกแบบงานสร้าง ตัดต่อ ฯลฯ เป็นประจำในทุก ๆ ปี

ล่าสุด เว็บไซต์ Empire ได้เผยแพร่ข่าว Exclusive ที่เป็นการแง้มข่าวดีให้กับชุมชนชาวสตันต์แมนที่เรียกร้องให้มีการมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้มาอย่างยาวนานนับ 10 ปีว่า สถาบัน AMPAS เองกำลังอยู่ในขั้นตอนการยกระดับ เพื่อให้สถาบันได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น และส่วนหนึ่งที่พวกเขากำลังทำก็คือ การศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มหมวดหมู่เกี่ยวกับสตันต์แมน เข้าไปในงานประกาศรางวัลออสการ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สถาบันกำลังพูดคุยกับสมาชิกของชุมชนนักแสดงสตันต์แมนที่เป็นสมาชิกของสถาบัน AMPAS เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในเรื่องนั้นครับ เราได้เพิ่มรางวัลสาขาผู้คัดเลือกนักแสดง (Casting Directors) ที่จะเปิดตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้นเราจึงเปิดกว้างในการพิจารณาสาขาต่าง ๆ อยู่ตลอด

บิล เครเมอร์ (Bill Kramer) ประธานของสถาบัน AMPAS

ตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษของการจัดงานประกาศรางวัลออสการ์ แม้ว่าจะมีสายงานในฮอลลีวูดมากมายที่ถูกจัดเข้ามาในหมวดหมู่รางวัลที่มีการมอบให้ในแต่ละปี แต่กลับไม่เคยมีการมอบรางวัลออสการ์ให้กับบุคลากรในสายงานด้านสตันต์แมน ที่นับเป็นบุคลากรที่ทำงานคู่กับวงการฮอลลีวูดมาอย่างยาวนานนับร้อยปีเลยแม้แต่ครั้งเดียว

และสายงานด้านสตันต์แมน ถือเป็นสายงานที่ต้องใช้ความสามารถ ทักษะ ความแข็งแกร่งของร่างกาย และการฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อแสดงฉากแอ็กชันที่เสี่ยงอันตรายที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตได้ แถมมักจะไม่ค่อยได้รับเครดิตแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย จนกลายเป็นความเจ็บปวดที่เรามักจะได้ทราบชื่อสตันต์แมนก็ต่อเมื่อมีข่าวการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของพวกเขาในกองถ่ายเท่านั้น (หรือโดยปกติในงานออสการ์ ก็จะมีการสดุดีบุคคลที่เสียชีวิตในรอบปี ซึ่งครอบคลุมไปถึงคนทำงานสตันต์ด้วย)

John Wick Chapter 4 Keanu Reeves

ในบรรดาเวทีประกาศผลรางวัลที่ได้รับการยอมรับในฮอลลีวูด มีเพียง 2 เวทีที่มีสาขาในการมอบรางวัลให้กับสตันต์แมน ได้แก่รางวัล SAG Awards (Screen Actors Guild Awards) ที่มีการมอบรางวัลทีมนักแสดงสตันต์ในภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Outstanding Action Performance by a Stunt Ensemble in a Motion Picture) และงานประกาศรางวัล ทอรัส เวิลด์ สตันต์ อวอร์ดส (Taurus World Stunt Awards) ที่เป็นงานประกาศรางวัลสำหรับสายสตันต์แมนโดยเฉพาะ ที่ก่อตั้งโดยดีทริช เมเทสซิตซ์ (Dietrich Mateschitz) มหาเศรษฐีเจ้าของและผู้ร่วมก่อตั้ง Red Bull ผู้ล่วงลับ

ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปี มีความพยายามในการเรียกร้องต่อสถาบันให้มีการเพิ่มหมวดหมู่เกี่ยวกับสตันต์แมนบนเวทีออสการ์มาโดยตลอด หลังจากที่ ‘John Wick: Chapter 4’ (2023) เข้าฉาย และได้รับคำชื่นชมในงานด้านสตันต์แมนอันยอดเยี่ยม รวมทั้งการฝึกฝนร่างกายของ คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) ที่แสดงเองในหลาย ๆ ฉาก แชด สตาเฮลสกี (Chad Stahelski) ผู้กำกับ ก็เป็นผู้ที่ออกมาสนับสนุนให้มีการมอบรางวัลออสการ์ให้แก่สตันต์แมน และตัวเขาเองยังเชื่อว่าการมอบรางวัลในสาขาสตันต์แมนอาจเกิดขึ้นในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งถัดไป หรืออย่างช้าที่สุดภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

“ไม่มีเหตุผลอะไรเลยครับที่ไม่ควรมีการมอบรางวัลสำหรับสตันต์ในงานออสการ์ ไม่มีใครปฏิเสธว่าเราเองก็เท่าเทียมเหมือนกับทุกฝ่ายอื่น ๆ อย่างน้อยที่สุด เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของหนังทุก ๆ เรื่อง เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูด เช่นเดียวกับดนตรี เครื่องแต่งกาย ด้านเทคนิค การกำกับ หรือการถ่ายภาพ”

“ผมว่าคงไม่น่ามีใครปฏิเสธในสิ่งเหล่านี้ แค่เรายังไม่เคยได้คุยกันในเรื่องนี้เท่านั้นเอง ผมว่ามันอาจเพราะมันยังมีความท้าทายบางอย่างอยู่ แผนกสตันต์มีการทำงานที่แตกต่างออกไป ในขณะที่ผู้กำกับภาพทำงานคนเดียว เหมือนกับคนออกแบบเครื่องแต่งกายหรือผู้กำกับ แล้วสตันต์คนไหนล่ะที่ควรจะรับรางวัล ?”

“ที่น่าสงสัยก็คือ เราไม่เคยมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับวิธีที่จะกำหนดว่า เราจะมอบรางวัลให้กับอะไร เช่น เราควรมอบให้สำหรับสตันต์แมนยอมเยี่ยม การออกแบบท่าทางยอดเยี่ยม ฉากแอ็กชันยอดเยี่ยม หรือทีมสตันต์แมนยอดเยี่ยมไหม แล้วควรมอบให้ผู้ประสานงานด้านสตันต์แมนด้วยไหม”

“แล้วคนออกแบบฉากคิวบู๊ ผู้ออกแบบคิวบู๊ ผู้ออกแบบศิลปะการต่อสู้ล่ะ แล้ว Stunt Double อีกล่ะ แล้วผู้กำกับ Second Unit หรือตัดต่ออีก ใครควรได้รางวัลบ้าง ? ทั้งหมดนี้มันเป็นคำถามดี ๆ ที่ต้องมีคนฉลาด ๆ จากทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งจากชุมชนสตันต์และสถาบันมานั่งถกเถียงกัน”

แม้จะไม่ประสบความสำเร็จใน Box Office แต่ ‘The Fall Guy’ หนังแอ็กชันตลกโรแมนติกที่พูดถึงชีวิตและการทำงานของคนในแวดวงสตันต์แมน ผลงานการกำกับของเดวิด ลิตช์ (David Leitch) สตันต์แมน และ Stunt Double คนจริงของฮอลลีวูด ก็ได้รับคำชมในแง่ของการเป็น Show Case งานสตันต์แมน ที่มีฉากแอ็กชันเสี่ยงตายที่แสดงโดยสตันต์แมนให้ดูกันแบบจัดเต็ม จนทำให้มีการพูดถึงการมอบรางวัลออสการ์ให้กับสตันต์แมนอีกครั้งอย่างเป็นรูปธรรม

คู่พระนาง ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) และเอมิลี บลันต์ (Emily Blunt) 2 นักแสดงนำผู้ขึ้นมาทำหน้าที่ประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 96 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการเปิดคลิปที่เป็นการสดุดีแก่บุคลากรในวงการสตันต์ที่มีมานับร้อยปี ตั้งแต่ชาร์ลี แชปปลิน (Charlie Chaplin), บัสเตอร์ คีตัน (Buster Keaton) รวมทั้ง ‘John Wick’ และทอม ครูซ (Tom Cruise) ในแฟรนไชส์ ‘Mission: Impossible’ โดยกอสลิง ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์สนับสนุนว่า เหล่าสตันต์แมนสมควรจะได้รับรางวัลออสการ์มานานแล้ว

The Fall Guy Ryan Gosling

“พวกเขาเป็นคนที่ทำงานหนักมากที่สุดในอุตสาหกรรมการแสดงเลยครับ พวกเขาเสี่ยงตายมากกว่าใคร และหนังเรื่องนี้ (‘The Fall Guy’) ก็เหมือนเป็นแคมเปญสนับสนุนให้ออสการ์หันมามอบรางวัลให้กับสตันต์แมนนั่นเอง”

“พวกเขาคู่ควรกับออสการ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วล่ะครับ งานสตันต์มันคือการวางแผนอย่างเป็นระบบ ไม่ต่างกับการออกแบบการแต่งหน้า เครื่องแต่งกาย หรือการถ่ายทำหนัง ฉากแอ็กชันก็ต้องมีการออกแบบอย่างเป็นระบบด้วยเช่นกัน”

“อ้อ แล้วก็ทอม ครูซ ด้วยนะครับ ฉากที่เขาขี่มอเตอร์ไซค์กระโดดข้ามภูเขานั่นน่ะ ทอม ครูซ สมควรจะได้รับรางวัลออสการ์เป็นอย่างยิ่งเลยครับ มันเป็นมรดกที่ชายคนนี้สร้างเอาไว้เลยล่ะ”

อย่างที่ทราบกันว่า ในเมื่ออุตสาหกรรมฮอลลีวูดมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สถาบันเองก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อตามให้ทัน ตามที่เจเน็ต หยาง (Janet Yang) ประธานกรรมการของสถาบัน AMPAS ได้เปิดเผยเพิ่มเติบ

“สถาบันก็เปรียบเหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจค่ะ เรารับฟังสมาชิกของเรา หากว่ามีการสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง และมีขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป รวมทั้งหากว่าพวกเขาเองก็สนใจด้วย และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสาขา Casting Directors ที่ผ่านมาเรามีสาขาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงหลายทศวรรษ มันจึงมีการวิวัฒนาการมาโดยตลอด เราจึงต้องปรับตัวและพัฒนาไปตามการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอยู่เสมอ”