อย่างที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงในฮอลลีวูดมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลัง ๆ โดยเฉพาะการนำเอา Generative AI มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดหลายแขนง ตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนบท ไปจนถึงขั้นตอนงานด้าน Post-Production รวมทั้งงานด้านวิชวลกราฟิก จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในหลาย ๆ ด้าน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยี AI ก็เข้ามามีส่วนในการทำงานของฮอลลีวูดมากขึ้นด้วยเหมือนกัน จนมีข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า Sony Pictures Entertainment จะมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาปรับใช้ภายใต้เงื่อนไข เพื่อพัฒนาคุณภาพในการผลิตและลดต้นทุน ส่วนฝั่งของบริษัท AI ก็กำลังพัฒนาโมเดล Generative AI ที่สามารถ Generate วิดีโอออกมาได้เป็นธรรมชาติมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

แอชตัน คุตเชอร์ (Ashton Kutcher) อดีตนักแสดงพระเอกฮอลลีวูด ที่โด่งดังจากผลงานการแสดงมากมายหลายแนว อาทิ ‘Dude, Where’s My Car?’ (2000), ‘The Butterfly Effect’ (2004) ‘No Strings Attached’ (2011) และ ‘Jobs’ (2013) และทีวีซีรีส์ ‘That ’70s Show’ (1998–2006) ที่ตอนนี้ไม่ค่อยมีผลงานใหม่ ๆ ให้ได้เห็นกันมากนัก เพราะเขาหันเหไปเป็นนักธุรกิจและนักลงทุนแบบเต็มตัว เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทร่วมทุน A-Grade Investments ที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปหลายบริษัท อาทิ Uber และ Spotify และเคยเข้าไปรับตำแหน่ง Product Engineer ของบริษัท Lenovo ด้วย

ล่าสุด ในการเสวนาหัวข้อ ‘Humanity in the AI Era’ คุตเชอร์ได้ร่วมเสวนาหัวข้อนี้ร่วมกับเอริก ชมิดต์ (Eric Schmidt) อดีต CEO ของ Google ในประเด็นที่เกี่ยวกับ ‘มนุษยชาติในโลกยุค AI’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนา AI Visionaries ของสถาบันเบิร์กกรูน (Berggruen Institute) ที่นำเอาคนในแวดวงเทคโนโลยี และคนในวงการสร้างสรรค์มาร่วมสนทนา โดยคุตเชอร์ได้เปิดเผยในเสวนาว่า ตัวเขาเองได้มีโอกาสใช้โมเดล Sora ทดสอบ Generate วิดีโอแล้ว ซึ่งเขาได้กล่าวว่า นี่จะเป็นอนาคตของการสร้างภาพยนตร์อย่างแท้จริง

“ตัวผมลองใช้รุ่น Beta แล้ว และมันน่าทึ่งมาก ๆ ครับ คุณสามารถ Generate ฟุตเทจอะไรก็ได้ตามที่คุณต้องการ คุณสามารถสร้างคลิปวิดีโอดี ๆ ความยาว 10-15 วินาทีที่ดูสมจริงมาก ๆ ได้ แน่นอนว่ามันยังคงมีความผิดพลาด มันยังไม่ค่อยเข้าใจหลักฟิสิกส์เท่าไหร่…”

“แต่ถ้าคุณลองสังเกตดูเวอร์ชันที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว เอามาเทียบกับ Sora มันก้าวกระโดดไปอย่างมาก มันสามารถสร้างฟุตเทจที่ผมเองมองว่า มันสามารถเอาไปใช้ในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ หรือในรายการทีวีได้สบาย ๆ เลย”

คุตเชอร์ยังกล่าวย้ำอีกด้วยว่า เทคโนโลยี AI จะช่วยลดงบประมาณในการสร้างภาพยนตร์ลงอย่างมาก ชนิดที่ว่าสามารถสร้างหนังเองก็ได้ในบ้าน โดยที่ไม่ต้องไปออกกอง

“ทำไมคุณถึงจะต้องออกนอกบ้านไปถ่ายทำช็อตเปิด (Establishing Shot) ในรายการทีวีล่ะ ? ในเมื่อคุณสามารถสร้างช็อตนั้นขึ้นได้ในราคาแค่ 100 เหรียญ ถ้าต้องออกไปถ่ายทำจริง ๆ คุณอาจต้องเสียเงินหลายพันเหรียญ ยกตัวอย่างฉากแอ็กชันที่ผมกระโดดลงจากตึกอะไรแบบนี้ คุณไม่จำเป็นต้องให้สตันต์แมนไปถ่ายทำ เพราะคุณสามารถทำเองได้เลย (ด้วย AI)”

Ashton Kutcher

แม้ว่าโมเดลการ Generate วิดีโอด้วยการพิมพ์ Prompt คำสั่ง (Text-to-Video) จะไม่ใช่ของใหม่ แต่ในปี 2024 ที่ผ่านมา โมเดลการ Generate วิดีโอเริ่มเป็นที่คึกคักและเขย่าขวัญคนในวงการฮอลลีวูดมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม Google ได้เปิดตัว Lumiere โมเดล Generate วิดีโอของตัวเองออกมา และในเดือนถัดมา OpenAI ได้เปิดตัวโมเดล Sora ที่สร้างความฮือฮาด้วยคลิป 1 นาทีที่ Generate ขึ้นได้อย่างสมจริงและเหนือจินตนาการ สามารถกำหนดองค์ประกอบภาพ มุมกล้อง การเคลื่อนกล้องได้อย่างเป็นธรรมชาติ

จนหลายฝ่ายกลัวว่า นี่อาจส่งผลกระทบต่อบุคลากรในสายงานด้านภาพยนตร์ รวมทั้งงานด้านวิชวลกราฟิก แอนิเมชัน หรือแม้แต่งานคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอในอนาคตก็เป็นได้ นี่ยังไม่นับรวมถึงข้อถกเถียงในเรื่องของลิขสิทธิ์ แรงงาน และการป้องกันการหลอกลวงจากการใช้ AI สร้างข้อมูลเท็จขึ้นมาด้วยอีกต่างหาก

คุตเชอร์เล่าว่า เขาได้มีโอกาสใช้ Sora ทดลอง Generate วิดีโอของนักวิ่งที่พยายามจะหลบหนีพายุกลางทะเลทรายได้อย่างเป็นธรรมชาติ และเขายังอ้างอิงถึงเทคโนโลยีของโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ของ Nvidia ที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมถึง 30 เท่า และนั่นก็จะช่วยเสริมให้แพลตฟอร์ม Sora สามารถสร้างวิดีโอได้ดีขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

“ผมไม่จำเป็นต้องจ้างแผนก CGI มาทำอีกต่อไป ภายในแค่ 5 นาที ผมสามารถเรนเดอร์คลิปวิดีโอนักวิ่งอัลตรามาราธอน ที่วิ่งข้ามทะเลทรายในขณะที่ถูกพายุทรายไล่หลัง และมันก็ออกมาเหมือนจริงมาก”

“ต่อไป คุณจะสามารถเรนเดอร์หนังทั้งเรื่องได้ คุณแค่คิดไอเดียสำหรับตัวหนัง มันก็จะเขียนบทมาให้คุณ จากนั้นคุณก็ใส่บทเข้าไปในตัว Generate วิดีโอ แล้วมันก็จะสร้างหนังขึ้นมา แทนที่คุณจะดูหนังที่คนอื่นคิด ผมสามารถทำหนัง แล้วดูหนังที่ตัวเองทำได้”

แม้คุตเชอร์เองจะสนับสนุนเทคโนโลยีการสร้างหนังด้วย AI ให้เกิดขึ้นในอนาคต แต่แน่นอนว่ามันก็จะมีผลกระทบตามมา นั่นก็คือ ความล้นของคอนเทนต์ที่ถูกผลิตออกมาอีกเป็นจำนวนมาก และความล้าของผู้บริโภค (Media Fatigue) ที่ไม่สามารถเสพคอนเทนต์จำนวนมากเหล่านั้นได้ทั้งหมด สิ่งนี้จึงเป็นตัวบังคับให้ฮอลลีวูดเรียนรู้การใช้ AI เพื่อยกระดับงานที่สร้างขึ้นให้ได้ หรือไม่ก็ต้องรับสภาพล้มเหลว จากการพยายามใช้ AI สร้างหนังหรือคอนเทนต์ที่ไม่มีคุณภาพออกมา

“สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ มันจะมีเนื้อหามากเกินกว่าที่ลูกตาของผู้ชมทั่วโลกจะเสพได้ทั้งหมด ดังนั้น คอนเทนต์แต่ละตัว ก็จะมีค่าเท่ากับ (จำนวนยอดการชม) ที่คุณจะสามารถทำให้คนมาดูได้ ดังนั้นมาตรฐานของการที่คอนเทนต์ 1 ตัวที่จะได้รับการพูดถึงและมองว่าดีจะถูกยกระดับให้สูงขึ้นอีกมาก เพราะว่าทำไมคุณถึงจะต้องมาดูหนังของผมล่ะ ? ในเมื่อคุณสามารถดูหนังที่คุณทำขึ้นเองได้”