Release Date
12/06/2024
ความยาวหนัง
96 นาที
ประเภทหนัง
แอนิเมชัน ดราม่า
ผู้กำกับ
เคลซีย์ แมนน์ (Kelsey Mann)
ผลงานเด่นผู้กำกับ
เขียนบท 'Monster at work' (2021) The Good Dinosaur (2015)
เสียงพากย์
เอมี โพเลอร์ (Amy Phoehler) มายา ฮอว์ค (Maya Hawke)
Our score
9.4[รีวิว] Inside Out 2 – 9 อารมณ์ เรื่องราวใหม่ ใจฟู ได้ทุกวัย
9 อารมณ์ เรื่องราวใหม่ ใจฟู ได้ทุกวัย
ความชาญฉลาดในการกำหนดสถานการณ์เพื่อเล่าเรื่อง (Execution) ก็ยังคงเด็ดขาดเช่นเคย โดยในหนังภาคนี้ก็กำหนดให้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในกรอบเวลา 3 วันของค่ายฮอกกี้ ที่อยู่ดี ๆ ก็วางระเบิดด้วยการที่ไรลีย์ได้รู้ว่าความจริงว่าเพื่อนรักของเธอทั้งสองคนกำลังจะย้ายโรงเรียน ในขณะเดียวกันไรลีย์เองก็เรียกร้องการยอมรับจากรุ่นพี่นักฮอกกี้สาวสุดเท่เพื่อหาที่ยืนให้ตัวเอง บทภาพยนตร์ฉลาดมากที่เลือกเพิ่มตัวละครอารมณ์มาใหม่เพียงแค่ 4 ตัวหลักกับอีก 1 ตัวละครรับเชิญ ซึ่งทำให้ผู้ชมไม่ต้องปวดหัวกับการจดจำตัวละครเยอะเกินเหตุและยังสามารถสื่อสารถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวไรลีย์ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ความกล้าในการนำเสนอความซับซ้อนในจิตใจของไรลีย์ ที่ทำให้เหล่าอารมณ์ดั้งเดิมอย่างลั้ลลา หรือ ความสุข, เศร้าซึม, ขยะแขยง และ โกรธเกรี้ยว มีการเติบโตไปตามการเปลี่ยนแปลงของไรลีย์ โดยเฉพาะบทสรุปของหนังที่แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมในการเติบโตของมนุษย์ได้แบบไม่ยัดเยียด นอกจากจะได้ เอมี โพเลอร์ กลับมานำทีมพากย์ชุดเดิมแล้ว ตัวละครใหม่อย่าง ว้าวุ่น ยังได้ มายา ฮอว์ค มาให้เสียงพากย์ได้อย่างมีชีวิตชีวาและสื่อสารถึงคาแรกเตอร์ได้เป็นอย่างดี
จุดเด่น
- บทหนังเขียนได้อย่างลึกซึ้งน่าประทับใจไม่แพ้หนังภาคแรก
- บทหนังกล้าที่จะนำเสนอประเด็นละเอียดอ่อนด้านจิตวิทยาได้ลึกซึ้งและไม่ยัดเยียด
- เสียงพากย์คุณภาพทั้งทีมเก่าทีมใหม่
จุดสังเกต
- งานสกอร์เพลงประกอบอาจไม่โดดเด่นเท่าหนังภาคแรก
-
บทภาพยนตร์
9.5
-
เสียงพากย์
9.5
-
งานแอนิเมชัน
9.5
-
งานภาพยน IMAX With Laser 3D
9.0
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
9.5
ผ่านมา 9 ปีแล้ว หลัง ‘Inside Out’ แอนิเมชันอันเป็นที่รักของคอหนังทั่วโลกที่นอกจากเข้าไปอยู่ในหัวจิตหัวใจคนดู มันยังถูกเอาไปใช้ยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษาด้านจิตวิทยาแบบเข้าใจง่าย และในระดับบุคคลเองคุณูปการของมันก็มีมากมายหลากหลายจนคำว่า “แอนิเมชันพิกซาร์ในดวงใจ” ไม่ใช่คำกล่าวเกินเลยสำหรับ ‘Inside Out’ และในปี 2024 นี้ ‘Inside Out 2’ ได้กลับมาพร้อมหน้าตัวละครเดิม เพิ่มเติมตัวละครใหม่ แน่นอนว่านอกจากความสนุกที่ถูกคาดหวังแล้ว ความลึกซึ้งของมันยังเป็นเดิมพันในระดับยอดเขาเอเวอเรสต์ ด้วยบาร์ความคาดหวังที่ภาคแรกดันมันไปจนยากที่ใครจะ (กล้า) เลียนแบบ
สำหรับ ‘Inside Out 2’ ยังคงให้ผู้ชมอยู่กับไรลีย์ (พากย์โดย เคนซิงตัน ทอลล์แมน, Kensington Tallman) และเหล่าอารมณ์ของเธอทั้ง ลั้ลลา (พากย์โดย เอมี โพเลอร์, Amy Phoehler) เศร้าซึม (พากย์โดย ฟิลลิส สมิธ, Phyllis Smith) หยะแหยง (พากย์โดย ลิซา ลาไพรา, Liza Lapira) และโกรธเกรี้ยว (พากย์โดย ลิวอิส แบล็ก, Lewis Black) แต่ในวันที่ไรลีย์แตกเนื้อสาว พวกเขาก็ได้เผชิญกับอารมณ์หน้าใหม่ทั้ง ว้าวุ่น (พากย์โดย มายา ฮอว์ค, Maya Hawke) อิจฉา (พากย์โดย อาโย เอดีบีรี, Ayo Edebiri) เฉยชิล (พากย์โดย แอดเดล เอ็กเซอโชโพลอส, Adèle Exarchopoulos) และอ๊ายอาย (พากย์โดย พอล วอลเธอร์ เฮาเซอร์, Paul Walter Hauser) ที่ดาหน้ากันเข้ามาในวันที่ไรลีย์ต้องการการยอมรับ ทั้งจากโค้ชฮอกกี้ เพื่อนใหม่ และเพื่อนสนิทในวัยเด็ก
แน่นอนว่าจากพล็อตเรื่องคงเดาได้ไม่ยากว่าบรรดาอารมณ์ที่ถูกเพิ่มเข้ามาคือการรองรับกับการเติบโตของไรลีย์ที่มีฮอร์โมนเป็นตัวกระตุ้น และความชาญฉลาดในการกำหนดสถานการณ์เพื่อเล่าเรื่อง (Execution) ก็ยังคงเด็ดขาดเช่นเคย โดยในหนังภาคนี้ก็กำหนดให้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในกรอบเวลา 3 วันของค่ายฮอกกี้ ที่อยู่ดี ๆ ก็วางระเบิดด้วยการที่ไรลีย์ได้รู้ความจริงว่าเพื่อนรักของเธอทั้งสองคนกำลังจะย้ายโรงเรียน ในขณะเดียวกันไรลีย์เองก็เรียกร้องการยอมรับจากรุ่นพี่นักฮอกกี้สาวสุดเท่ เพื่อหาที่ยืนให้ตัวเอง
ดังนั้นอารมณ์ใหม่ ๆ ที่นำโดยว้าวุ่น (Anxiety) เลยมีบทบาทสำคัญในวัยแตกเนื้อสาวของไรลีย์ แต่หากคิดว่าบทหนังแค่เอาสิ่งที่ภาคแรกปูไว้แล้วโดยเฉพาะโลกภายในจิตใจ (Mind) ของไรลีย์ที่มีทั้งเกาะบุคลิกภาพ ลูกแก้วความทรงจำ หรือกระทั่งธารกระแสสำนึก (Stream of consciousness) มาเล่นต่อโดยไม่มีอะไรใหม่ ตรงกันข้ามบทภาพยนตร์ฉลาดมากที่เลือกเพิ่มตัวละครอารมณ์มาใหม่เพียงแค่ 4 ตัวหลัก กับอีก 1 ตัวละครรับเชิญ ซึ่งทำให้ผู้ชมไม่ต้องปวดหัวกับการจดจำตัวละครเยอะเกินเหตุ และยังสามารถสื่อสารถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวไรลีย์ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งอารมณ์อายที่ตัวเองชอบบอยแบนด์จนนำไปสู่การเสียดสีเพื่อนตัวเอง เพื่อให้ดูเจ๋งและได้รับการยอมรับจากเพื่อนใหม่ โดยมีอารมณ์ว้าวุ่นหรือวิตกกังวลและอารมณ์อิจฉาที่คอยบงการการกระทำและการตัดสินใจของไรลีย์
นอกจากนี้สิ่งที่พิสูจน์ว่า ‘Inside Out 2’ ไม่ได้หลับหูหลับตาเดินตามความสำเร็จของหนังภาคแรก คงยกให้กับความกล้าในการนำเสนอความซับซ้อนในจิตใจของไรลีย์ ที่ทำให้เหล่าอารมณ์ดั้งเดิมอย่างลั้ลลา หรือความสุข, เศร้าซึม, ขยะแขยง และโกรธเกรี้ยว มีการเติบโตไปตามการเปลี่ยนแปลงของไรลีย์ โดยเฉพาะบทสรุปของหนังที่แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมในการเติบโตของมนุษย์ได้แบบไม่ยัดเยียด และขอแอบบอกไว้ว่ามันยังสัมพันธ์กับข้อความในเอนด์เครดิตที่ผู้สร้างแอบหยอดไว้ให้ผู้ชมโดยเฉพาะคนเป็นพ่อเป็นแม่ได้ใจฟูอีกด้วย
ตามที่ได้กล่าวไปในย่อหน้าแรกว่า ‘Inside Out 2’ มีเดิมพันความคาดหวังที่สูงลิ่วแค่ไหน ยังไม่พอ เพราะในหนังภาคนี้ พีท ด็อกเตอร์ (Pete Docter) ผู้กำกับหนังภาคแรกยังถอยหลังไปนั่งแท่นโปรดิวเซอร์ และผลักดันเคลซีย์ แมนน์ (Kelsey Mann) ที่เคยมีเครดิตเขียนบท ‘Monster at work’ แอนิเมชันซีรีส์ของพิกซาร์มาประเดิมงานกำกับและร่วมเขียนบท ผลลัพธ์คือนอกจากแมนน์จะสานต่อความประทับใจต่อจากหนังภาคแรกได้แบบไร้ข้อกังขาแล้ว มันยังพิสูจน์ว่าพิกซาร์ให้ความสำคัญกับบทภาพยนตร์ที่นอกจากมอบความสนุกแล้ว ความลึกซึ้งด้านจิตวิทยาที่ถูกนำเสนอในหนังยังเป็นหลักฐานชั้นดีถึงการทำงานหนักของแมนน์และทีมงาน จนทำให้บทสรุปของมันไร้ข้อกังขาและสร้างความประทับใจให้ผู้ชมได้เป็นอย่างดี
อีกองค์ประกอบที่นับว่ามีบทบาทสำคัญไม่แพ้บทภาพยนตร์ คือเสียงพากย์ของเหล่าตัวละคร ซึ่งสำหรับในเวอร์ชันภาษาอังกฤษต้นฉบับนอกจากจะได้เอมี โพเลอร์ กลับมานำทีมพากย์ชุดเดิมแล้ว ตัวละครใหม่อย่าง ว้าวุ่น ยังได้มายา ฮอว์ค ลูกสาวของอีธาน ฮอว์ค (Ethan Hawk) กับอูมา เธอร์แมน (Uma Thurman) มาให้เสียงพากย์ได้อย่างมีชีวิตชีวา และสื่อสารถึงคาแรกเตอร์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้อาโย เอดีบีรี ที่เคยให้เสียงพากย์เอพริล โอ นีล จาก ‘Teenage Mutant Ninja Turtles: Mutant Mayhem’ ปีก่อนมาให้เสียง อิจฉา ที่แอบขโมยซีนอยู่ทั้งเรื่อง ส่วนตัวละครเฉยชิลก็ได้แอดเดล เอ็กเซอโชโพลอส มาโปรยเสน่ห์ด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงฝรั่งเศสน่าฟังมว๊าก
โดยสรุปแล้ว ‘Inside Out 2’ ยังคงคุณภาพทั้งงานบทภาพยนตร์และการพากย์เสียง ส่วนงานด้านภาพไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะคุณภาพระดับพิกซาร์เชื่อถือได้อยู่แล้ว จะมีเพียงงานสกอร์ของแอนเดรีย แดตซ์แมน (Andrea Datzman) ที่ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่พอนำไปเปรียบเทียบกับผลงานของไมเคิล จีแอ็คชีโน (Michael Giacchino) ที่ทำเพลงธีมในหนังภาคแรกไว้โดดเด่นมากก็อาจจะดูเป็นมวยรองไปหน่อย อีกทั้งหนังเองก็ยังอุตส่าห์ไปรีไซเคิลสกอร์เก่าของจีแอ็คชีโนมาใช้ เพราะมันกลายเป็นเสียงที่ผู้ชมคุ้นเคยและหลงรักมาตลอด 9 ปีนั่นเอง