นับเป็นระยะเวลากว่า 50 ปีแล้วที่ ‘The Sugarland Express’ (1974) หนังดราม่าอาชญากรรมสุดระห่ำ หนึ่งในผลงานยุคบุคเบิกของผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ชั้นครู สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) เข้าฉาย แม้หนังเรื่องนี้มักไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงบ่อยนักในฐานะผลงานเอกของพ่อมดฮอลลีวูด แต่ผลงานชิ้นนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผลงานเปิดประเดิมที่ทำให้เขากลายเป็นผู้กำกับหนุ่มดาวรุ่งอีกคนที่น่าจับตามองของยุคนั้น

หนึ่งในโปรแกรมไฮไลต์ของเทศกาลภาพยนตร์ทริเบกา (2024 Tribeca Film Festival) ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็คือการจัดฉายภาพยนตร์ ‘The Sugarland Express’ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการฉาย โดยส่วนหนึ่งของการฉาย มีการจัดเสวนาเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ โดยมีสปีลเบิร์กมาเล่าถึงเบื้องหลังของหนังเรื่องนี้ และมีเบรนต์ แลง (Brent Lang) บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Variety เป็นผู้ดำเนินรายการ

มีเรื่องตลกเล็ก ๆ ในระหว่างเสวนาด้วย เพราะด้วยความที่สปีลเบิร์กเองสวมใส่สมาร์ตวอตช์ Apple Watch อยู่ ในระหว่างสนทนาอยู่ดี ๆ Apple Watch ของสปีลเบิร์กก็ส่งเสียงแจ้งเตือนฉุกเฉินออกมา ผู้กำกับเลยก้มอ่านข้อความบนหน้าปัดต่อหน้าผู้ร่วมงานว่า “ดูเหมือนว่าคุณล้มแรงมาก” ก่อนจะพูดติดตลกว่า “ผมจะไม่กดมัน (ปุ่ม SOS ฉุกเฉิน)”

ก่อนจะถอด Apple Watch เจ้าปัญหาแล้วเขวี้ยงลงบนพื้นเวที พร้อมกับพูดว่า “เดี๋ยวค่อยกลับมากดทีหลัง” ก่อนที่มันจะส่งสัญญาณฉุกเฉิน แต่สุดท้ายสมาร์ตวอตช์เจ้ากรรมก็ดันส่งเสียงฉุกเฉิน จนทำให้พ่อมดฮอลลีวูดยอมเดินไปเก็บมากดปุ่ม ‘ฉันโอเค’ เพื่อปิดเสียงอยู่ดี เป็นมุกเรียกเสียงเฮฮาจากผู้เข้าร่วมงานไป 1 ขำ (Apple Watch จะส่งเสียงแจ้งเตือนและโทรหาเบอร์ฉุกเฉินโดยอัตโนมัติ หากไม่กดปุ่ม SOS ฉุกเฉิน หรือไม่มีการขยับร่างกายภายใน 1 นาที)

Goldie Hawn Steven Spielberg The Sugarland Express
Amblin

“พวกคุณถือเป็นผู้ชมกลุ่มแรกที่ได้ดู ‘The Sugarland Express’ ในรอบ 50 ปีเลยนะ” ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์ 3 รางวัลกล่าวแบบติดตลกกับผู้เข้าร่วมงาน ก่อนที่จะมีการเปิดคลิปพิเศษจากโกลดี ฮอว์น (Goldie Hawn) นักแสดงนำของหนังเรื่องนี้ ซึ่งเธอได้กล่าวย้ำว่า หนังเรื่องนี้คือช่วงเวลาสำคัญในอาชีพการงานของเธอเอง รวมถึงของสปีลเบิร์กด้วย

หลังจากที่สปีลเบิร์กได้มีโอกาสเซ็นสัญญาเป็นผู้กำกับของ Universal Studios สปีลเบิร์กได้มีผลงานหนังเรื่องแรกกับ Universal คือหนังแอ็กชันทริลเลอร์ ‘Duel’ (1971) ที่ออกฉายทางทีวี ก่อนจะมีโอกาสกำกับหนังฉายโรงเรื่องแรกอย่าง ‘The Sugarland Express’ สปีลเบิร์กเล่าถึงแรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้ หลังจากอ่านบทความในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของลอสแองเจลิส ‘The Citizens News’ ที่พาดหัวข่าวว่า ‘บอนนีย์และไคลด์ของยุคนี้’ (Modern Day Bonnie and Clyde.) (บอนนีย์และไคลด์คือชื่อของ 2 อาชญากรคู่หูชายหญิงที่ก่อเหตุปล้นและฆาตกรรมในช่วงทศวรรษ 1930)

สปีลเบิร์กเล่าถึงข่าวคดีดังของสามีภรรยาวัยรุ่น ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังเรื่องนี้ “มันเป็นเรื่องราวของคู่รักชาวเท็กซัส บ็อบบี (Bobby Dent) และอีลา เฟ เดนต์ (Ila Fae Dent) ที่ตามไล่ล่าลูกของพวกเขาคืนจากสถานสงเคราะห์เด็ก โดยมีรถตำรวจของเท็กซัสหลายคันตามไล่ล่า มันเป็นเรื่องราวที่เหลือเชื่อมาก ๆ” ก่อนที่สปีลเบิร์กจะส่งบทความไปให้เพื่อนของเขา ฮาล บาร์วูด (Hal Barwood) และแมทธิว ร็อบบินส์ (Matthew Robbins) ให้มาทำหน้าที่เขียนบท

‘The Sugarland Express’ เล่าเรื่องของลู จีน ป๊อปลิน หญิงสาวที่พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ครอบครัวของเธอได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง ตั้งแต่การช่วยโคลวิส ไมเคิล ป๊อปลิน ผู้เป็นสามีแหกออกมาจากคุก ลักพาตัวตำรวจทางหลวงมาเป็นตัวประกัน และเดินทางข้ามรัฐเท็กซัสเพื่อชิงตัวลูกชายไม่ให้ถูกส่งไปยังสถานสงเคราะห์ สามีภรรยาจึงต้องซิ่งเพื่อหลบหนีการจับกุมของคาราวานรถตำรวจ

สปีลเบิร์กเล่าถึงอุปสรรคแรกของหนังเรื่องนี้ นั่นก็คือการที่ Universal ไม่ยอมให้ทุนสร้างหนัง เพราะไม่มีนักแสดงที่เป็นดาราแม่เหล็ก ซึ่งตัวเขาเลือกให้ฮอว์น นักแสดงรางวัลออสการ์ที่อายุใกล้เคียงกับตัวเขาเองมารับบทเป็นคุณแม่และภรรยาหัวร้อนที่ต้องการทุกอย่างของเธอกลับคืนมา ไม่ว่าวิธีการเหล่านั้นจะระห่ำแตกสักแค่ไหน นอกจากนี้ค่าตัวของเธอก็ดูจะเหมาะสมกับงบประมาณ 3 ล้านเหรียญที่หนังเรื่องนี้ได้รับด้วย

“มีองค์ประกอบของความสงบเสงี่ยมของตัวละครตัวนี้ ที่ทำให้ผมนึกถึงความเรียบง่ายที่มีอยู่ในตัวของโกลดี เธอมีจิตใจที่บริสุทธิ์และซื่อสัตย์ หนังเรื่องนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเธอ”

นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังถือเป็นการร่วมงานครั้งแรกของประพันธกรระดับตำนานอย่าง จอห์น วิลเลียมส์ (John Williams) ซึ่งสปีลเบิร์กเป็นแฟนตัวยงเพลงสกอร์ของเขาอยู่เป็นทุนเดิม และทำให้วิลเลียมส์ได้มีโอกาสประพันธ์เพลงประกอบให้กับหนังของสปีลเบิร์กอีกนับไม่ถ้วน อาทิ ‘Jaws’ (1975), ‘E.T. the Extra-Terrestrial’ (1982), ‘Jurassic Park’ (1993), ‘Schindler’s List’ (1993) ฯลฯ

“ผมเคยเป็นแฟนตัวยงเพลงประกอบภาพยนตร์ของจอห์นมาตั้งแต่ผมยังเด็ก ผมสาบานไว้ว่า ถ้าผมมีโอกาสทำหนังยาวเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นใคร ผมคิดว่าเขาคือคนอังกฤษ ชื่อจอห์น วิลเลียมส์ ผมอยากจะให้เขามาแต่งเพลงประกอบให้กับหนังของผม และเมื่อ ‘Sugarland’ เกิดขึ้นจริง หนึ่งในคนกลุ่มแรก ๆ ที่ผมติดต่อด้วยก็คือจอห์น เราพบกันและนัดทานอาหารกลางวัน นั่นคือจุดเริ่มต้น และปีนี้คือปีที่ 51 ที่เราได้ทำงานร่วมกัน”

Amblin Steven Spielberg The Sugarland Express
Amblin

แม้หนังเรื่องนี้จะเข้าฉายในโรงหนังมากกว่า 400 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา แต่กลับทำรายได้ในประเทศเพียง 6.5 ล้านเหรียญ และทำรายได้ทั่วโลก 12 ล้านเหรียญ หลังจากเข้าฉายเป็นเวลาเพียง 2 สัปดาห์ นับเป็นผลงานหนังของสปีลเบิร์กที่ทำรายได้น้อยที่สุด

แต่ก็นับว่ายังเป็นหนังโชว์พลังของสปีลเบิร์กที่ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ จากอารมณ์อันพุ่งพล่านในสถานการณ์ตลกร้ายสุดคับขัน และมุมกล้องสุดแหวกแนว จนทำให้ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และกลายมาเป็นหนังคัลต์คลาสสิกสำหรับแฟนหนังมาจนถึงปัจจุบัน

แม้ ‘The Sugarland Express’ จะไม่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ แต่สปีลเบิร์กก็ยังคงร่วมงานกับ 2 โปรดิวเซอร์ เดวิด บราวน์ (David Brown) และริชาร์ด ซานัก (Richard D. Zanuck) (ที่ให้ยืมแฮร์ริสัน ลูกชายของเขาไปเข้าฉากเป็นลูกของลู จีน)

สปีลเบิร์กเล่าถึงการทำงานกับโปรดิวเซอร์ทั้ง 2 คน ที่หลังจากดูหนังร่างแรกจบ พวกเขาได้ยื่นกระดาษโน้ตที่ใช้จดสิ่งที่ต้องแก้ไขในหนังให้กับสปีลเบิร์ก แต่กระดาษที่ผู้กำกับหนุ่มได้รับกลับเป็นกระดาษเปล่า ก่อนที่ทั้ง 3 คนจะกลับมาร่วมงานอีกครั้งในหนังฉลามเขย่าขวัญ ‘Jaws’ (1975) ที่กลายมาเป็นหนังแจ้งเกิดให้เขากลายเป็นผู้กำกับดาวรุ่ง และกลายมาเป็นตำนานอย่างทุกวันนี้

“ผมจะไม่มีวันลืมสิ่งนั้นเลยครับ ผมทำแบบเดียวกันตอนที่แบร์รี ซอนเนนเฟลด์ (Barry Sonnenfeld) กำกับ ‘Men in Black’ แล้วเอาหนังฉบับร่างแรกมาให้ผมดู ผมก็ทำแบบเดียวกัน ผมยื่นกระดาษโน้ตเปล่า ๆ ให้เขาดู”