La La Land หรือชื่อไทย นครดารา เป็นหนังเพลงแนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดในขณะนี้ ด้วยทั้งรางวี่รางวัลที่หนังเรื่องนี้เข้าร่วมชิงจากหลากหลายเวทีทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ทั้งกระแสคำวิจารณ์ที่แห่แหนไปทางบวกมากๆ บางคนถึงกับคาดไว้ว่าหนังจะสามารถดำเนินรอยตาม The Artist (2011) คว้าออสการ์สาขาสำคัญๆได้ในครั้งนี้ ทว่าสิบปากว่าไม่เท่าดูเอง หนังมีดีขนาดไหนสมคำสรรเสริญหรือไม่ เชิญติดตามเลยครับ
หนังเรื่องนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ผู้กำกับขวัญใจเทศกาลหนังอย่าง Damien Chazelle ที่ทำเกี่ยวกับดนตรีแจ๊ส โดยหนังสองเรื่องก่อนหน้านี้ก็มี หนังหาชมยากเพราะตระเวนฉายแค่ตามเทศกาลหนังอย่าง Guy and Madeline on a Park Bench (2009) และหนังที่แจ้งเกิดให้ผู้กำกับดังเปรี้ยงปร้างอย่าง Whiplash (2014) ที่ได้เข้าชิงหลายสาขารางวัลออสการ์นั่นเอง ซึ่งเชื่อว่าคอหนังมากมายที่ตามมาดู ลาลาแลนด์ ก็ด้วยเพราะผลบุญที่ วิปแลช สร้างไว้มากมายนี้เองครับ
ลาลาแลนด์ เป็นหนังเพลงแบบเต็มรูปแบบ ถ้า The Artist ทำมาเพื่อบูชาฮอลลีวู้ดยุคหนังเงียบ ลาลาแลนด์ ก็ทำมาเพื่อบูชาหนังเพลงในยุคค่าย MGM รุ่งเรืองนั่นเอง ไม่ว่าจะสไตล์ของงานศิลป์คอสตูมที่จัดจ้านแบบสมัยก่อน การฉายด้วยระบบ CinemaScope (อัตราส่วน 2.55:1) โครรีโอกราฟฟี่ทั้งการออกแบบท่าเต้น มูฟเม้นท์ของนักแสดงในฉากร้องเพลงและฉากต่าง โดยเฉพาะฉากเปิดเรื่องที่โชว์ของกันสุดๆกับลองเทคด้วยนักเต้นหลายสิบชีวิตบนฉากทางด่วนที่เคยใช้ถ่ายฉากรถบัสเหินหาวในหนัง Speed (1994) และถ้าสังเกตดีๆในโลโก้เปิดเรื่องของค่าย 20th Century Fox ยังนำโลโก้เวอร์ชั่นปี 1953 ที่หนังเพลงรุ่งเรืองมาใช้ด้วย (โหหหห)
นี่อาจยังต้องรวมไปถึงพล็อตเรื่องที่ว่าด้วย บอยมีทเกิร์ล ชายหนุ่มหญิงสาวตกหลุมรักกันและฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามต่างๆ โดยเฉพาะการไล่ตามความฝันในมหานครแห่งโลกมายาอย่าง L.A. ด้วย หนังเล่าเรื่องสองพาร์ทอย่างเก๋ไก๋ทีเดียวในตอนเปิดเรื่อง หลังจากฉากเต้นสุดหวือหวาบนทางด่วนที่รถติดแน่นขนัด พระเอกกับนางเอกก็ได้พบกันครั้งแรกจากการบีบแตรใส่กันด้วยความหงุดหงิด ก่อนจะชักนิ้วกลางให้กันและกันเป็นความประทับใจแรกแบบพ่อแง่แม่งอน แล้วหนังก็เริ่มจับไปเล่าชีวิตของ มีอา (Emma Stone) นางเอกที่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกที่มาทำงานบาร์เทนเดอร์ร้านกาแฟ และเฝ้าตามความฝันในการเป็นนักแสดงโด่งดังแบบน้าของเธอในฮอลลีวู้ด เธอผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับการไปออดิชั่นแคสติ้งงานต่างๆ แต่ก็ไม่เคยท้อใจ จนวันคริสต์มาสที่ทุกอย่างดูไม่เป็นใจเอาเสียเลย เธอก็ได้พบกับชายหนุ่มนักเปียโนแนวแจ๊สในคลับแห่งหนึ่ง ตอนที่เขากำลังบรรเลงเพลงแจ๊สด้นสดอย่างน่าประทับใจ
หนังตัดขวับกลับไปเล่าถึงฟากชีวิต เซบาสเตียน (Ryan Gosling) ชายหนุ่มนักดนตรีพระเอกของเรา นับตั้งแต่เขาชูนิ้วกลางให้นางเอกตอนต้นเรื่อง จากนั้นเขาก็ไปนั่งมองร้านตำนานแจ๊สที่ปัจจุบันกลายเป็นร้านอาหารดาดๆไปเสียแล้ว เขาใฝ่ฝันว่าสักวันจะเป็นนักดนตรีที่โด่งดังและมีเงินมาเปิดคลับดนตรีแจ๊สที่จะใช้ชื่อ ชิกเก้นแอนด์สติ๊ก ให้แจ๊สกลับมารุ่งเรืองให้จงได้ เราได้ทราบชีวิตอันไร้หลักของเซบาสเตียนสั้นๆผ่านการสนทนากับพี่สาวของเขาว่า เขาเป็นพวกโอตาคุแจ๊สขั้นสุดทั้งการตระเวนไล่เก็บข้าวของเครื่องใช้ของตำนานแจ๊สต่างๆที่มีคนเอามาทิ้งเป็นขยะมาสะสมที่ห้อง ทั้งความลุ่มหลงในการอธิบายความสุดยอดของแจ๊สอย่างลึกล้ำ และตอนนี้เขาถังแตกไร้งานเพราะไปขัดคำสั่งผู้จัดการร้านที่ให้เล่นเพลงปกติๆอย่างที่ร้านอื่นๆเขาทำ ในคืนวันคริสต์มาสนั้นเขาได้รับโอกาสจากร้านให้กลับไปเล่นอีกครั้งโดยมีข้อแม้ว่าห้ามเล่นแจ๊สสดเด็ดขาด และนั่นก็คือคืนที่ มีอา มาพบ เซบาสเตียนอีกครั้งนั่นเอง หลังจากนั้นหนังก็เริ่มเล่าเส้นเรื่องทั้งสองที่มาเชื่อมโยงกัน
ว่ากันตรงๆ หนังในช่วงของ มีอา นั้น แม้ว่าจะโดดเด่นด้วยฉากเต้นต่างๆ และถึงจะมีความหวือหวาขององค์ประกอบในการแสดงมากกว่า ทว่าในส่วนของบทสนทนานั้นออกจะแสนธรรมดา ความรู้สึกจับต้องได้จริงๆของตัวละครก็น้อยมาก มีอา แบบเพียวๆนับว่าเป็นตัวละครที่น่าเบื่อมาก จนเผลอคิดไปเลยว่า แย่ล่ะ นี่ตูต้องดูหนังเพลงแบบนี้ไปอีกสองชั่วโมงเหรอเนี่ย ซึ่งโชคดีที่พอหนังเข้าช่วงของ เซบาสเตียน ด้วยคาแรกเตอร์แบบนายปากร้ายพูดน้อยกัดหนัก มันทำให้หนังดูน่าสนใจขึ้นมาก และพอเมื่อทั้งสองมาประสานกันเซบาสเตียนก็ดึงด้านที่มีชีวิตชีวาของมีอาออกกมาได้มากขึ้นด้วย ทำให้กลายเป็นหนังแนวรอมคอมที่พระเอกนางเอกแกล้งใส่กันได้ตลกมากๆ
ซึ่งก็น่าแปลกใจ เพราะว่างานก่อนหน้าอย่าง Whiplash ของผู้กำกับดาเมี่ยนนั้นหาช่วงขันแทบไม่ได้ แต่เรื่องนี้กลับวางจังหวะมุกได้โดนและเป็นงานมาก ตรงนี้ก็ยืนยันในความเป็นคนแม่นจังหวะของผู้กำกับอย่างแท้จริง นี่เป็นเหตุผลว่าไม่ว่าเขาจะได้ทำหนังแนวไหน จะฉากลุ้น ฉากดราม่า ฉากน่ารัก ก็คงสามารถดึงอารมณ์คนดูได้อยู่หมัด จึงไม่แปลกใจเลยที่ได้รับการเชิญชวนไปร่วมเขียนบทหนังที่อาศัยจังหวะสถานการณ์เน้นๆแบบ 10 Cloverfield Lane (2016) ด้วย ใครชอบดูหนังอยากให้จำชื่อของดาเมี่ยนไว้เลย เพราะเขานับเป็นรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองมากๆคนหนึ่งของฮอลลีวู้ดเลยครับ
มาด้านงานแสดงคงหนีไม่พ้นต้องยกหนังทั้งเรื่องไว้ที่ พระเอกนางเอกของเรา ตรงนี้วิจารณ์กันตรงๆว่า ไรอัน กอสลิ่ง นั้นเล่นได้น่าหยิกมาก เราอินไปกับความเป็นเซบาสเตียนได้มาก ในช่วงที่บทของเซบาสเตียนเศร้ามากๆ มันจึงเป็นฉากที่เอาอยู่แบบซัดคนดูตายไปเลย ต้องขอยกย่องความทุ่มเทในการแสดงของเขามากๆด้วย เพราะโจทย์ของเขาคือการต้องเล่นฉากลองเทคในการเล่นเปียโนแบบสดทั้งหมดของหนัง สำหรับคนที่ไม่เคยเล่นเปียโนมาก่อนในชีวิต ไรอันต้องเข้าฝึกวันละ 2 ชั่วโมงอาทิตย์ละ 6 วัน จน จอห์น เลเจนด์ นักร้องนักเปียโนมือฉมังที่ร่วมแสดงในบทเพื่อนของเซบาสเตียน ถึงกับเอ่ยปากซี้ดในความเทพของไรอันตรงนี้เลย และก็เหมือนแกล้งกันนะจอห์นก็โดนผู้กำกับสั่งให้เล่นกีตาร์เช่นกัน แน่นอนว่าเขาเล่นไม่เป็น (ฮา)
ด้านนางเอกของเรา เอมม่า สโตน ต้องยอมรับว่าเธอแสดงได้เก่งมาก ทว่าอาจด้วยตัวบทที่ใกล้ตัวเธอมากเกินไป หรือเพราะเธอต้องเล่นในการเป็นนักแสดง มันเลยไม่อินในความเป็นมีอาเท่าที่ควร คือหลังฉากการออดิชั่นของเธอในเรื่อง เราแทบแยกไม่ออกระหว่างการเป็นมีอา และการแสดงเป็นมีอา เลย พูดให้ง่ายคือทั้งเรื่องเราเห็นเซบาสเตียนเล่นอยู่กับเอมม่า มากกว่าเซบาสเตียนกับมีอาเสียอีก ตรงนี้ไม่รู้ควรโทษใครดีนะ น่าจะพลาดตั้งแต่การสร้างคาแรกเตอร์เลย แต่ตรงนี้คนอื่นอาจไม่รู้สึกก็ได้น่ะนะ เอาเป็นว่าเทียบกันไรอันเล่นได้ดีกว่าเอมม่าอยู่พอสมควรล่ะ แต่ทั้งคู่ก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีทั้งคู่
พาร์ทดนตรีที่เป็นอีกตัวเอกของหนัง ผู้กำกับดาเมี่ยนยังใช้เซ้นส์ด้านเพลงของตนเองได้ดีเช่นเดิม ตรงนี้ยังต้องชื่นชมไปยัง Justin Hurwitz ที่มาทำเพลงทั้งหลายในเรื่องให้ด้วย ไม่ว่าจะเพลงบรรเลงและเพลงร้อง ต่างช่วยส่งเสริมตัวหนังได้ดี เพลงที่น่าจะติดหูมากสุดคงไม่พ้น City of Stars ที่เล่าความฝันเจิดจรัสของหนุ่มสาวในเมืองมายาและยังเป็นเพลงธีมของหนังด้วย อีกเพลงคงเป็น Audition (The Fools Who Dream) ในช่วงท้ายของหนังที่มีอาร้องในการออดิชั่นงาน ส่วนอีกเพลงที่ชอบไม่แพ้กันคงเป็น Someone in the Crowd และ A Lovely Night โดยเฉพาะเพลงหลังนี่เป็นฉากที่พระเอกนางเอกเข้าคู่กันได้น่ารักน่าชังมากครับ คงต้องชื่นชมไปถึงผู้แปลซับไทยอย่าง พลากร ด้วยที่พิถีพิถันมากในการแปลเนื้อเพลงออกมาอย่างงดงามทั้งยังเล่นเสียงตามเพลงด้วย ทำให้ผู้ชมชาวไทยนั้นได้รับอรรถรสเต็มที่สมดังต้นฉบับตั้งใจทีเดียว
คงต้องยอมรับว่าหนังทิ้งห้วงความคิดไว้ในหัวใจเราหลังชมพอสมควร แม้พล็อตใดๆมันจะไม่ได้ใหม่นักก็ตาม โดยอิงจากงานหนังเพลงยุคเก่าที่ทำการคารวะมาทั้ง Singin’ in the Rain (1952) Top Hat (1935) Swing Time (1936) The Band Wagon (1953) The Young Girls of Rochefort (1967) และ 8 1/2 (1963) โดยเฉพาะ The Umbrellas of Cherbourg (1964) ใครที่นิยมหนังเพลงยุคนั้นน่าจะทราบดีถึงพล็อตขาประจำของหนังแนวนี้ แต่การที่คนรุ่นใหม่ได้มาชม ทั้งยังเจอการเล่าแบบโรแมนติกคอเมดี้น่าติดตามก็คงมีอาการลุ้น และจบแบบฝังหัวไม่ต่างกัน เชื่อว่าพาร์ทหลังของหนังน่าจะเป็นส่วนที่ทำให้หนังถูกพูดถึงมากเดียว ต้องลองรับชมครับ
สรุป
ลาลาแลนด์ มีองค์ประกอบที่สามารถได้รางวัลเวทีใดๆ แบบครบเครื่องสมราคาคุยมาก อันนี้คนที่ได้ดูคงไม่ปฏิเสธ แม้จะเป็นหนังล่ารางวัลแต่ก็ยังเหมาะกับคนดูหนังทั่วไปด้วยการเล่าที่เข้าใจง่ายและมีสิ่งดึงดูดมากมายทั้งการแสดง ศิลป์ บทสนทนาและเพลง ทว่าในความสมบูรณ์แบบนี้เอง ก็ทำให้เรามองเห็นทุกอย่างในหนังเป็นสูตรไม้ตายที่ผู้กำกับตรองคิดมาอย่างละเอียดเพื่อให้มันทำงานกับนักวิจารณ์สู่ความเป็นหนังรางวัล จนจุดหนึ่งมันมากจนเราอาจรู้สึกประดิษฐ์ และขาดชีวิตและวิญญาณไป กระนั้นเชื่อว่าหนังก็มีดีพอให้ได้ออสการ์ในสาขาที่เข้าชิงอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจนัก ส่วนจะกระแทกใจผู้ชมระดับไหนต้องไปพิสูจน์กันครับ
หนังเข้ารอบพิเศษ 29 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป และจะเข้าฉายรอบปกติในวันที่ 12 มกราคมปีหน้าครับ