เว็บไซต์ The Guardian ได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์ถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปัจจุบัน ที่แม้ว่า ณ ตอนนี้ ภาพรวมของฮอลลีวูดกำลังอยู่ในสภาวะเฉื่อย แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน ทั้งจากประเทศไทย และอินโดนีเซีย กลับประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
ภาพของผู้คนทั้งชาวไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่กำลังถือกระดาษทิชชูที่ใช้ซับน้ำตาในโรงภาพยนตร์ กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่พวกเขาได้เข้าชมภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ (How to Make Millions Before Grandma Dies) ภาพยนตร์ไทยจากค่าย GDH ผลงานของผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ที่กำลังสร้างปรากฏการณ์เรียกน้ำตาจากผู้ชมไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ ของเอเชีย
หลานม่า เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของ เอ็ม (บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่ตัดสินใจดร็อปเรียน ได้อาสาเข้าไปดูแลอาม่า (แต๋ว-อุษา เสมคำ) ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อหวังจะได้รับมรดก โดยหลังจากเข้าฉายในประเทศไทยมาตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน สามารถทำรายได้ประมาณการทั่วประเทศ 334 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2567) และกลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งหากรวมรายได้จากทุกประเทศที่เข้าฉาย จะทำให้หนังเรื่องนี้สามารถทำรายได้ทะลุหลัก 1,000 ล้านบาท
ถือเป็นความสำเร็จล่าสุดของภาพยนตร์ท้องถิ่นที่ผลิตในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ทั่วทั้งภูมิภาค และสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในระดับท้องถิ่นให้เติบโตขึ้นได้ ในขณะที่ฮอลลีวูดกำลังประสบภาวะเฉื่อยชาที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ประท้วงหยุดงานของบุคลากร จนทำให้การผลิตต้องล่าช้า
แรนซ์ พาว (Rance Pow) จากบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดภาพยนตร์ Artisan Gateway กล่าวว่า “โควิด-19 และปัญหาในอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตของฮอลลีวูดนั้น ได้ส่งผลให้เกิดช่วงเวลาของการเติบโตขึ้นของภาพยนตร์ในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ที่บางครั้งก็ก่อให้เกิดเป็นสถิติใหม่ขึ้น”
ในอินโดนีเซีย ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง ‘KKN di Desa Penari’ (2022) หรือ ‘อาถรรพ์หมู่บ้านนางรำ’ (KKN in Dancer’s Village) ที่เข้าฉายในปี 2022 สามารถทำยอดจำหน่ายตั๋วได้สูงถึง 10 ล้านใบตามการรายงานของสื่อท้องถิ่น กลายเป็นภาพยนตร์ท้องถิ่นที่ทำรายได้สูงที่สุดในประเทศ รวมทั้ง ‘Mai’ (2024) หรือ ‘รักของไม’ ภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดีของเวียดนาม ที่ออกฉายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลายเป็นภาพยนตร์จากเวียดนามที่ทำรายได้สูงที่สุดตลอดกาลทั้งในระดับประเทศ รวมทั้งในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป
ในขณะที่โรงภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา กำลังประสบปัญหาจนต้องปิดตัวลง Cinema XXI เครือโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน เครือโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของไทยก็กำลังจะเปิดตัวโรงภาพยนตร์แห่งใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน
รศ.ดร. อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากงบประมาณการผลิตที่สูงมากมาย รวมทั้งไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลก่อนที่หนังจะออกฉาย แต่การที่หนังเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากผู้ชม เนื่องจากหนังเหล่านี้มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งความเกี่ยวข้องกับปัญหาของสังคมที่ร่วมสมัย รวมไปถึงช่องว่างระหว่างวัย
รศ.ดร. อุณาโลมกล่าวเพิ่มเติมว่า หลานม่าเป็นภาพยนตร์ที่ผสมผสานระหว่างความตลก แฟนตาซี และความสมจริงที่เกิดขึ้นในสังคม หนังเรื่องนี้มีการนำเสนอเรื่องราวที่เสียดสีวัฒนธรรมแบบไทย ๆ การเมือง ความเชื่อ และท้าทายบรรทัดฐานของสังคมไทย รวมทั้งการสำรวจถึงพลวัตภายในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน ทั้งการปฏิบัติต่อลูกชายและลูกสาวที่ไม่เท่าเทียมกัน ช่องว่างระหว่างคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ รวมทั้งการเลือนหายของประเพณีดั้งเดิมและภาษา
“นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมหนังเรื่องนี้จึงประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และรวมถึงประเทศอื่น ๆ (ที่มีประชากรเชื้อสายจีน) ด้วยอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของหนังเรื่องนี้มีความชัดเจนและความลึกซึ้งอย่างมาก” รศ.ดร. อุณาโลมกล่าว
วริศรา พนาเจริญสวัสดิ์ อายุ 30 ปี นักวิจารณ์ภาพยนตร์เจ้าของแฟนเพจบนโซเชียลมีเดีย Aquabbiew เป็น 1 ในผู้ที่แชร์ความรู้สึกน้ำตาซึม หลังจากที่ได้ชมหนังเรื่องหลานม่า โดยกล่าวว่าตัวเธอเองมองเห็นความคล้ายคลึงของเรื่องราวในหนังกับประสบการณ์ในครอบครัวของเธอ ซึ่งมีอาม่าที่เธอและแม่คอยดูแล ทำให้เธอรู้สึกประทับใจกับฉากที่ทำให้นึกถึงอดีต ไม่ว่าจะเป็นฉากบ้านของอาม่าที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งความทรงจำตอนที่ได้นอนข้าง ๆ อาม่า รวมทั้งพ่อแม่ของเธอเอง
วริศรากล่าวเพิ่มเติมว่า หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนตัวกลางในการสื่อสารระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า รวมทั้งอธิบายว่า ภาพเหล่านี้ยังสะท้อนถึงปัญหาสังคมภายในประเทศ ภาพของญาติ ๆ ที่ต้องถอดรองเท้าเข้าคิว และยืนเข้าแถวรอคิวในโรงพยาบาลอย่างไร้จุดหมายนั้นสะท้อนให้เห็นภาพของสวัสดิการการรักษาพยาบาลของคนไทย หากอาม่าเป็นคนรวย ก็คงจะมีชีวิตอยู่ได้นานมากกว่านี้
นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เครือโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กล่าวว่า หนังไทยกำลังมีบทบาทสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วง 10 ปีก่อนการเกิดโรคระบาด หนังไทยครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20-35% แต่ในปี 2023 ตัวเลขดังกล่าวกลับพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 60%
และในระหว่างเดือนมกราคมจนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 69% โดยการเพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นจากความสำเร็จของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ และแม้ว่าภาพรวมของหนังไทยในปัจจุบันจะยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่เท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด แต่ก็นับว่ายังอยู่ในแนวโน้มที่ดี โดย Major Cineplex มีแผนที่จะเปิดโรงภาพยนตร์สาขาใหม่ให้ครบ 15 แห่งภายในสิ้นปีหน้า
ปี 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีทองของหนังไทย ด้วยการเปิดตัวหนังสยองขวัญจักรวาลไทบ้าน ‘สัปเหร่อ’ (2566) (The Undertaker) และหนังสยองขวัญลี้ลับ ‘ธี่หยด’ (2566) (Death Whisperer) ที่สามารถทำรายได้ถล่มทลาย
รศ.ดร. อุณาโลมกล่าวว่า การที่รัฐบาลให้การสนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์มากขึ้นเพื่อรักษาความสำเร็จดังกล่าว รวมทั้งการสนับสนุนให้สามารถเข้าชิงรางวัลในระดับนานาชาติ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม
ในขณะที่วริศรากล่าวเพิ่มเติมว่า โดยส่วนตัวเธอเชื่อว่าคนไทยโดยส่วนใหญ่ มีความต้องการที่จะดูหนังในโรงภาพยนตร์ เนื่องจากมันเป็นประสบการณ์ร่วมอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากการรับชมผ่านช่องทางอื่น ๆ การได้ชมหนังสยองขวัญที่มีฉากสะดุ้งตกใจ หรือชมฉากแอ็กชันบนจอใหญ่ที่มีเอฟเฟกต์เสียง ทำให้ผู้ชมสามารถกรี๊ดไปด้วยกัน หรือในกรณีของหลานม่า ผู้ชมก็สามารถร่วมร้องไห้ไปด้วยกันได้